วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กานพลู

การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์

อาณาจักร Plantae
(ส่วนไม่จัดอันดับ) Angiosperms
(ชั้นไม่จัดอันดับ) Eudicots

(อันดับไม่จัดอันดับ) Rosids

อันดับ Myrtales

วงศ์ Myrtaceae

สกุล Syzygium

สปีชีส์ S. aromaticum

ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium aromaticum (L.) Merrill & Perry

ชื่อพ้อง : Caryophyllus aromatica L. ; Eugenia aromatica (L.) Baill; E.Caryophylla (Spreng.) Bullock et Harrison; E.caryophyllata Thunb.
ชื่อสามัญ : Clove Tree

วงศ์ : Myrtaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 9-12 เมตร อาจสูงได้ถึง 20 เมตร เรือนยอดเป็นรูปกรวยคว่ำ แตกกิ่งต่ำ ลำต้นตั้งตรง เปลือกเรียบ สีเทา ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก รูปรี หรือรูปไข่กลับแคบๆ กว้าง 8-11 ซม. ยาว 32-37 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบแคบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเป็นมัน มีต่อมน้ำมันมาก เส้นแขนงใบข้างละ 15-20 เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว 1-2.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกที่ปลายยอด ยาวประมาณ 5 ซม. ก้านช่อดอกสั้นมาก แต่อาจยาวได้ถึง 1 ซม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาว 2-3 มม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ โคนติดกันเป็นหลอดยาว 5-7 มม. เมื่อเป็นผลขยายออกเป็นรูปกรวยยาวประมาณ 1 ซม. ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ ยาว 3-4 มม. กลีบดอก 4 กลีบ รูปขอบขนานหรือกลม ยาว 7-8 มม. มีต่อมมน้ำมันมาก ร่วงง่าย เกสรเพศผู้จำนวนมาก ร่วงง่าย ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 7 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 4 มม. ผล รูปไข่กลับกามรูปรี ยาว 2-2.5 ซม. แก่จัดสีแดง มี 1 เมล็ด กานพลูเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของหมู่เกาะโมลุกกะ น้ำไปปลูกในเขตร้อนทั่วโลก ในปะเทศไทยนำมาปลูกบ้างแต่ไม่แพร่หลาย ชอบขึ้นในดินร่วนซุย การระบายน้ำดี ความชื้นสูง ฝนตกชุก ขึ้นได้ดีบนพื้นที่ราบถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเล 800-900 เมตร

ส่วนที่ใช้ : เปลือกต้น ใบ ดอกตูม ผล น้ำมันหอมระเหยกานพลุ

สรรพคุณ


เปลือกต้น - แก้ปวดท้อง แก้ลม คุมธาตุ

ใบ - แก้ปวดมวน

ดอกตูม - รับประทานขับลม ใช้แต่งกลิ่น
ดอกกานพลูแห้ง ที่ยังไม่ได้สกัดเอาน้ำมันออก และมีกลิ่นหอมจัด มีน้ำมันหอมระเหยมาก รสเผ็ด ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง และแน่นจุกเสียด แก้อุจจาระพิการ แก้โรคเหน็บชา แก้หืด แก้ไอ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้เลือดเสีย ขับน้ำคาวปลา แก้ลม แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้เสมหะเหนียว ขับผายลม ขับลมในลำไส้ แก้ท้องเสียในเด็ก แก้ปากเหม็น แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้รำมะนาด กับกลิ่นเหล้า แก้ปวดฟัน

ผล - ใช้เป็นเครื่องเทศ เป็นตัวช่วยให้มีกลิ่นหอม

น้ำมันหอมระเหยกานพลู - ใช้เป็นยาชาเฉพาะแห่ง แก้ปวดฟัน ฆ่าเชื้อทางทันตกรรม เป็นยาระงับการชักกระตุก ทำให้ผิวหนังชา

วิธีและปริมาณที่ใช้
แก้อาการท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม และปวดท้อง
ใช้ดอกกานพลูโตเต็มที่ ที่ยังตูมอยู่ 4-6 ดอก หรือ 0.25 กรัม
ในผู้ใหญ่ - ใช้ทุบให้ช้ำ ชงน้ำดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว
ในเด็ก - ใช้ 1 ดอก ทุบแล้วใส่ลงในขวดนม
เด็กอ่อน - ใช้ 1 ดอก ทุบใส่ในกระติกน้ำที่ไว้ชงนม ช่วยไม่ให้เด็กท้องขึ้นท้องเฟ้อได้

ยาแก้ปวดฟัน
ใช้นำมันจากการกลั่นดอกตูมของดอกกานพลู 4-5 หยด ใช้สำลีพันปลายไม้ จุ่มน้ำมันจิ้มในรูฟันที่ปวด จะทำให้อาการปวดทุเลา และใช้แก้โรครำมะนาดก็ได้ หรือใช้ทั้งดอกเคี้ยว แล้วอมไว้ตรงบริเวณที่ปวดฟันเพื่อระงับอาการปวด หรือใช้ ดอกกานพลูตำพอแหลกผสมกับเหล้าขาวเพียงเล็กน้อยพอแฉะใช้จิ้มหรืออุดฟันที่ปวด

ระงับกลิ่นปาก
ใช้ดอกตูม 2-3 ดอก อมไว้ในปาก จะช่วยทำให้ระงับกลิ่นปากลงได้บ้าง

สารเคมี : Eugenol, Cinnamic aldehyde Vanillin น้ำมันหอมระเหย Caryophylla - 3(12)-6-dien-4-ol

การขยายพันธุ์

กานพลูสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การตอน การทาบกิ่ง หรือการชำกิ่งอ่อน แต่วิธีที่นิยมกันมากที่สุด คือ วิธีการเพาะเมล็ด เนื่องจากจะทำให้ได้กานพลูที่มีระบบรากแข็งแรง เมล็ดกานพลูจะมีการสูญเสียความงอกได้เร็วมาก เมล็ดที่ได้จากผลที่เก็บเกี่ยวใหม่ๆ จะมีความงอกประมาณร้อยละ 90 หลังจากนั้นความงอกจะลดลงอย่างรวดเร็ว การเพาะเมล็ดจึงควรทำทันที โดยมีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้

1. เลือกเมล็ดพันธุ์กานพลูจากต้นที่มีผลผลิตสูง ทรงพุ่มสวย เลือกเก็บผลสุกสีดำสมบูรณ์ ไม่มีแมลงเข้าทำลาย โดยเลือกเก็บเฉพาะผลที่อยู่บนต้นเท่านั้น ไม่ควรนำเมล็ดที่หล่นใต้ต้น เหี่ยวแห้งแล้วมาเพาะ

2. นำเมล็ดกานพลูดังกล่าวไปแช่น้ำ นานประมาณ 3 ชั่วโมง แล้วลอกเอาเนื้อหุ้มเมล็ดออก

3. นำไปเพาะในกระบะทราย รดน้ำเช้า เย็นพอชื้น และควรเพาะในเรือนเพาะชำ

4. เมล็ดกานพลูจะงอกหลังจากเพาะเมล็ดได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ต้นกานพลูงอกสูงประมาณ 5 – 7 ซม. จึงควรทำการย้ายลงชำในถุงพลาสติกที่บรรจุดินผสม (ดิน : แกลบ : ปุ๋ยคอก ในอัตรา 3: 2 : 1)

5. ใช้เวลาประมาณ 12 เดือน ต้นกานพลูจะสูงประมาณ 50 ซม. จึงทำการย้ายลงแปลงปลูก แต่ก่อนที่จะนำต้นกล้ากานพลูไปปลูก ต้องหมั่นเอาต้นกล้ากานพลูออกรับแดดบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรง และทนทานต่อสภาพแวดล้อมดีขึ้น

การเตรียมดิน

ควรทำก่อนฤดูฝน โดยกำหนดระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถว 8 x 8 เมตร อัตราการใช้พันธุ์ 25 ต้นต่อไร่ แล้วทำการขุดหลุมปลูกขนาดประมาณ 50 x 50 x 50 ซม. ตากดินไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อกำจัดโรคแมลงบางส่วนที่ติดอยู่ในดิน นำหญ้าแห้งมารองก้นหลุมเพื่อช่วยระบายน้ำ ใส่ปุ๋ยคอก 5 กก. ต่อหลุมผสมคลุกเคล้ากับดินรองที่ก้นหลุม การเตรียมหลุมควรเตรียมล่วงหน้าก่อนปลูก 2-4 สัปดาห์

การปลูก

นำกล้ากานพลูที่แข็งแรงมาปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ ควรทำไม้ค้ำเพื่อป้องกันลมพัด จากนั้นหาใบมะพร้าวหรือวัสดุอื่นมาให้ร่มเงาในระยะแรกที่ปลูกใหม่ เพื่อลดความแรงของแสงแดด อาจปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่น เช่น หมาก จันทน์เทศ เพื่อช่วยพรางแสงให้ร่มเงา เพราะที่แจ้งกิ่งกานพลูจะแห้งง่าย

การดูแลรักษา

1. การตัดแต่ง โดยทั่วไปจะไม่มีการตัดแต่งทรงพุ่ม ยกเว้นในกรณีที่มีกิ่งกระโดงเกิดขึ้นต้องตัดทิ้ง เพื่อให้ลำต้นมีต้นหลักเพียงต้นเดียว จะทำให้ทรงพุ่มแผ่กระจายได้ดีและให้ผลผลิตสูง

2. การทำร่มเงา ในช่วงระยะเริ่มปลูก โดยใช้ทางมะพร้าวเพื่อช่วยลดความแรงของแดด และลดการคายน้ำของพืช หรือการปลูกพืชร่วม เช่น กล้วย และตัดทิ้งเมื่อกานพลูอายุ 3 ปี

3. การให้น้ำ ควรมีการให้น้ำในระยะแรกที่มีการปลูก ในหน้าแล้งหรือช่วงที่ฝนทิ้งช่วง

4. การให้ปุ๋ย หลังจากปลูกได้ประมาณ 4 เดือน ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอัตราต้นละ ½ - 1 ปี๊บ เมื่อต้นกานพลูโตมากขึ้น การใส่ปุ๋ยก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ต้นกานพลูมีอายุได้ 2 ปี หลังจากปลูกลงแปลงจะเริ่มมีทรงพุ่มและความสูง ประมาณ 1 เมตร ในช่วงนี้ควรใส่ปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยใช้ปุ๋ยคอก 1 – 3 ปี๊บต่อต้น ส่วนปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 ควรใส่ประมาณ 1 – 2.5 กิโลกรัมต่อต้น โดยแบ่งใส่ปีละ 2 - 3 ครั้ง

การเก็บเกี่ยวและผลผลิต

กานพลูจะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่อายุ 5-6 ปีขึ้นไป และจะให้ผลผลิตสูงสุดเมื่อประมาณ 15-20 ปี และจะคงให้ผลผลิตถึง 60 ปี กานพลูจะให้ดอกในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน และจะโตเต็มที่เก็บเกี่ยวได้ราวเดือนธันวาคม ถึง มกราคม ใช้เวลาตั้งแต่ออกดอกถึงเก็บเกี่ยวดอกตูมเป็นเวลาประมาณ 4 – 5 เดือน และหากปล่อยให้ดอกเจริญเป็นผล ผลจะสุกประมาณเดือนพฤษภาคม

การเก็บเกี่ยวดอกตูม ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม คือ เมื่อดอกเริ่มเปลี่ยนจากเขียวเป็นแดง มีสีชมพูเรื่อๆ ดอกตูมเกินไปหรือบานจะมีคุณภาพไม่ดีสรรพคุณทางยาลดลงมาก กานพลูออกดอกที่ปลายกิ่งเป็นช่อ แต่ละช่อมีดอก 3 - 20 ดอก และดอกแก่ไม่พร้อมกัน ใช้กรรไกรหรือมีดคมๆ ตัดทีละดอก เลือกเก็บเฉพาะดอกตูมที่โตเต็มที่แล้วก่อนที่จะบาน การเก็บอย่าให้กิ่งได้รับความกระทบกระเทือน หากกิ่งได้รับความบอบช้ำจะทำให้กานพลูออกดอกน้อย หรือไม่ออกดอกเลยในปีต่อไป ควรใช้พะองหรือบันไดเก็บดอกกานพลู เพื่อหลีกเลี่ยงการโน้มกิ่งแรง ผลผลิตกานพลูสดเฉลี่ย 6 - 10 กก.ต่อต้นต่อปี หรือประมาณ 150 - 250 กก. ต่อไร่ และจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้เมื่อมีอายุมากขึ้น

วิธีการปฏิบัติการหลังการเก็บเกี่ยว

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวพืชเครื่องเทศที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นมากเพื่อรักษาคุณภาพของสี กลิ่น ของเครื่องเทศให้คงอยู่เมื่อนำไปใช้และมีสารสำคัญออกฤทธิ์ทางสมุนไพร

1. การทำความสะอาด และคัดแยกผลผลิตที่ได้มาตรฐาน

1.1 เด็ดดอกกานพลูออกจากก้าน แยกดอกตูม และก้าน

1.2 คัดแยกดอกบานที่ปะปนมาออก

1.3 คัดแยกสิ่งปลอมปน เช่น ดิน ทราย ส่วนของพืชที่ปะปน

1.4 คัดแยกส่วนที่เน่าเสีย มีโรคแมลงออกจากส่วนที่มีคุณภาพดี

1.5 หากมีสิ่งสกปรกติดมา ควรล้างทำความสะอาด ชำระสิ่งสกปรกและสิ่งที่ติดมากับพืชขณะทำการเก็บเกี่ยวออกให้หมด ผึ่งให้แห้งและนำไปทำแห้งโดยเร็ว

2. การทำให้แห้ง เครื่องเทศส่วนใหญ่แล้ว จะใช้ในรูปแห้ง ซึ่งจะต้องทำให้แห้งสนิทปราศจากเชื้อรา โดยที่ยังรักษาคุณภาพของสี และกลิ่นให้มากที่สุด วิธีการทำแห้งโดยการตากแห้งหรืออบแห้ง จนเหลือความชื้นที่เหมาะสมแก่การเก็บรักษา ซึ่งโดยทั่วไปควรมีความชื้นไม่เกินร้อยละ 12 การตากแดด ควรตากในภาชนะโปร่งสะอาด มีลานตากยกจากพื้น มีหลังคาพลาสติกคลุม เพื่อป้องกันการเจือปนของฝุ่นผง ดอกกานพลูเมื่อแห้งแล้วจะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีน้ำตาลปนแดง การอบแห้งหรือตากแดดควรระวังไม่ให้ดอกแห้งเร็วเกินไป เพราะจะทำให้ดอกมีลักษณะเหี่ยวย่น และเปราะหักง่าย อัตราการทำแห้ง ดอกสด 3 กิโลกรัมได้ดอกแห้ง 1 กิโลกรัม (1 กิโลกรัมดอกแห้งเท่ากับ 8,000 ดอก )

3. การเก็บรักษา ควรเก็บในที่สะอาด เย็น ไม่อับชื้น มีอากาศถ่ายเทได้ดีหรือเก็บในห้องเย็น

เก็บในภาชนะที่ปิดสนิท เช่น ถุงพลาสติก ถุงฟลอยด์ โดยทั่วไปไม่ควรเก็บนานเกินกว่า 1 ปี เพราะจะสูญเสียกลิ่น สี ที่ต้องการไป

ตลาดและคุณภาพ

คุณภาพกานพลูที่ต้องการ คือ ดอกตูมสีน้ำตาลแดง ความยาว 2 – 2.3 เซนติเมตร ไม่ดำ กลิ่นหอมแรง รสเผ็ด ดอกไม่เหี่ยวย่น หรือเปราะ แตกหักง่าย ไม่มีกลิ่นอับ

การซื้อขายกานพลู ยังไม่มีการจัดชั้นคุณภาพ แต่แยกเป็นชนิดก้านดอก และดอกแห้ง ตลาดรับซื้อหลัก ได้แก่ ร้านขายยาแผนโบราณ ร้านขายส่งสมุนไพรตลาดจักรวรรดิ ตลาดทรงวาดและโรงงานแปรรูปเครื่องเทศ ราคาขายที่ร้านค้าส่งจักรวรรดิ ดอกกานพลูแห้ง 300 บาทต่อกิโลกรัม ผง 350 บาทต่อกิโลกรัม

เนื่องจากแหล่งผลิตกานพลูในประเทศไทยไม่แพร่หลาย แต่กานพลูมีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องเทศและอุตสาหกรรมสมุนไพร จากความต้องการใช้นี้จึงมีการนำเข้ากานพลูจากต่างประเทศและมีปริมาณเพิ่มขึ้นตลอดมา ในปี 2550 มีปริมาณการนำเข้า 93 ตัน มูลค่าการนำเข้า 9.57 ล้านบาท จากประเทศอินโดนีเซีย (ร้อยละ 86 ของมูลค่าการนำเข้า) บัลแกเรีย อินเดีย จีน และอื่นๆ

ตลาดต่างประเทศมีการซื้อขายกานพลูทั้งดอกกานพลู ก้านดอกกานพลู น้ำมันใบกานพลูกลั่นด้วยไอน้ำจากต้น กิ่ง ใบ น้ำมันกานพลู น้ำมันก้านดอกกานพลู และน้ำมันโอริโอเรซินของกานพลู สกัดจากดอกหรือใบกานพลู การนำเข้ากานพลูของโลกคิดเป็นร้อยละ 3 ของการนำเข้าเครื่องเทศของโลก โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสำคัญ รองลงมาได้แก่ มาดากัสกา แทนซาเนีย โคโมรอส เคนยาและจีน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...