วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

การปลูกหน่อไม้ฝรัง


หน่อไม้ฝรั่งจัดเป็นพืชผักเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากสาเหตุ 3 ประการคือ

1. ประเทศไทยมีภูมิอากาศเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหน่อไม้ฝรั่ง อุณหภูมิเฉลี่ย 25 - 30 องศาเซลเซียส หน่อไม้ฝรั่งจะเจริญเติบโตได้ดี ไม่มีการพักตัว แต่ในยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ในช่วงฤดูหนาว หน่อไม้ฝรั่งจะพักตัว จึงไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ แต่ตลาดโลกมีความต้องการบริโภคหน่อไม้ฝรั่งตลอดทั้งปี สมควรที่ประเทศไทยจะต้องพยายามช่วงชิงตลาดนี้ไว้ให้ได้ เพราะเรามีศักยภาพในการผลิตหน่อไม้ฝรั่งที่มีคุณภาพตามตลาดต้องการ

2. การปลูกหน่อไม้ฝรั่งของประเทศไทยมิได้ทำเป็นแปลงขนาดใหญ่คือ 1,000 - 2,000 ไร่ อย่างในสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องใช้เครื่องทุ่นแรง และเครื่องจักร ในการผลิตก็ใช้แรงงานคนที่มีค่าจ้างแรงงานสูง จะไม่คุ้มต้นทุน เมื่อปลูกเป็นอุตสาหกรรมในพื้นที่ขนาดใหญ่ การเก็บเกี่ยวผลผลิตบางช่วงจะล้นตลาด ทำให้มีปัญหา แต่การปลูกหน่อไม้ฝรั่งในประเทศไทย เกษตรกรแต่ละรายมีพื้นที่ปลูก 2 - 5 ไร่ หรือ 10 ไร่ การเริ่มต้นปลูกก็ทำไม่พร้อมกัน ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดได้ตลอดปี และปริมาณผลผลิตก็ทยอยออกมา ช่วงที่ประเทศไทยผลิตได้ยากคือ ช่วงที่มีฝนตกชุก และตกติดต่อกันนานหลายวัน ส่วนในฤดูหนาวจะมีผลผลิตออกมาก และมีคุณภาพสูงกว่าช่วงอื่น ๆ ซึ่งในระยะนี้ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น หน่อไม้ฝรั่งพักตัวไม่มีผลผลิตออก จึงเป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่สินค้าหน่อไม้ฝรั่งหน่อเขียวเป็นที่ต้องการของตลาดโลก

3. หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชที่เกษตรกรปลูกแล้วมีรายได้ดี ไม่ขาดทุน แต่เกษตรกรต้องเป็นผู้ที่ขยันทำงานในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หมั่นหาความรู้และประสบการณ์ด้วยตัวเอง และหาความรู้เพิ่มเติมจากผู้ปลูกแหล่งอื่น ๆ และจากนักวิชาการภาครัฐ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นต้น นอกจากนั้นเกษตรกรต้องเลือกส่งผลผลิตให้พ่อค้าคนกลาง หรือบริษัทผู้ส่งออกที่ซื่อสัตย์ และเลือกคบกับผู้ทำการค้าหน่อไม้ฝรั่งอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ประสบความสำเร็จในการปลูก และได้เงินจากการขายหน่อไม้ฝรั่ง

เนื่องจากหน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชค่อนข้างใหม่ เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยอยู่ในขั้นกำลังพัฒนา แม้ว่าจะมีการปลูกหน่อไม้ฝรั่งในประเทศไทยมานานแล้วก็ตาม แต่วิธีการปลูก พันธุ์ที่ใช้ปลูก การปฏิบัติดูแลรักษา ตลอดจนเทคนิคต่าง ๆ ในการเพิ่มผลผลิต และวิธีการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้หน่อที่มีคุณภาพดีที่สุดเป็นที่ต้องการของตลาด ยังไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก


ลักษณะทั่วไป

หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชผักประเภทใบเลี้ยงเดี่ยวที่มีอายุหลายปี ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากหน่อสีขาว หรือหน่อสีเขียว หน่อขาว หรือเขียวนี้ เรียกว่า "สเปียร์" (Spear) ซึ่งเป็นส่วนของลำต้น

หน่อไม้ฝรั่งประกอบด้วย

1. ราก

รากของหน่อไม้ฝรั่งมี 2 ชนิดคือ รากเนื้อ หรือรากแก้ว (fleshy root หรือ tuberous root) และรากฝอย (fibrous root)

1.1 รากเนื้อ เกิดจากส่วนตาของลำต้นใต้ดิน (root stock) มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1/8 - 1/4 นิ้ว ทำหน้าที่เก็บสะสมอาหารและยึดลำต้นให้ตั้งอยู่ได้ เป็นรากที่ดูดซึมอาหารได้ดีเท่ารากฝอย ที่ผิวนอกของรากเนื้อมีรากขนอ่อน (root hair) ปกคลุมอยู่ทั่วไป รากเนื้อจะแผ่ขยายได้ปีละ 1 ฟุต สำหรับความลึกของการหยั่งรากขึ้นอยู่กับความลึกของหน้าดิน ความลึกของระดับน้ำใต้ดิน และความชื้นในดิน โดยทั่วไปจะสามารถหยั่งลึกลงไปในดินได้มากกว่า 1 เมตร จึงควรเลือกปลูกหน่อไม้ฝรั่งในดินที่มีหน้าดินลึก

1.2 รากฝอย เป็นรากที่แตกออกจากรากเนื้อ ทำหน้าที่ดูดซึมอาหารในดิน (absorbtive root) และยึดเหนี่ยวให้ดินตั้งอยู่ได้ ปกติจะทำหน้าที่ได้เพียง 1 ปี ก็จะหายไป

2. ลำต้นและใบ

ส่วนของลำต้นใต้ดิน (root stock หรือ rhizome หรือ crown) ติดอยู่กับส่วนราก ส่วนของลำต้นเหนือดินจะเจริญมากจากตาข้างของลำต้นใต้ดิน เมื่อเจริญขึ้นมาเป็นยอดแล้วเรียกว่า ตายอด (bud shoot) หรือสเปียร์ หรือหน่อ ปลายของหน่อจะปกคลุมด้วยใบแท้ ซึ่งต่อมาเมื่อหน่อเจริญขึ้น จะเห็นใบแท้เป็นเกล็ดบาง ๆ อยู่บริเวณข้อ ลำต้นเหนือดินจะมีความสูงประมาณ 90-120 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายเฟิร์น ส่วนที่เห็นว่าเป็นใบนั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่ใบจริง ๆ แต่เป็นกิ่งก้านที่เปลี่ยนไป ทำหน้าที่แทนใบ เรียกว่า คลาโดด (cladodes) หรือคลาโดฟิล (cladophyll) ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างอาหารให้แก่ต้น

3. ดอกและผล

หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชที่มีต้นตัวผู้และต้นตัวเมียแยกต้นกันคือ มีต้นที่ให้ดอกตัวผู้ และต้นที่ให้ดอกตัวเมียอย่างละเท่า ๆ กัน ซึ่งต้องอาศัยแมลงเป็นตัวช่วยผสมเกสร สำหรับต้นตัวผู้อาจให้ดอกที่เป็นดอกสมบูรณ์เพศ แต่น้อยมาก ในประเทศที่มีอากาศร้อนชื้นเช่นในประเทศไทยนั้น ต้นกล้าหน่อไม้ฝรั่งจะเจริญเติบโตเร็วมาก ภายในเวลา 4 เดือน นับจากวันงอก ต้นหน่อไม้ฝรั่งก็จะออกดอก การจำแนกว่าต้นใดเป็นตัวผู้ และต้นใดเป็นตัวเมีย สังเกตดูได้จากลักษณะดอกดังนี้

3.1 ดอกตัวผู้ มีลักษณะเป็นรูประฆัง มีสีเขียวแกมเหลือง มีขนาดดอกใหญ่ และยาวกว่าดอกตัวเมีย ดอกส่วนใหญ่จะอยู่ตามข้อ และอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ละ 2-3 ดอก ภายในดอกประกอบด้วยอับเรณู 6 อัน และเกสรตัวเมียที่ไม่สมบูรณ์

3.2 ดอกตัวเมีย มีขนาดเล็ก มองเห็นได้ชัดเจน และมีไม่มากเหมือนดอกตัวผู้ ประกอบด้วยเกสรตัวผู้ 6 อัน ที่ไม่สมบูรณ์ รังไข่ 3 พู และก้านเกสรตัวเมียขนาดสั้น ดอกตัวเมียและดอกสมบูรณ์เพศจะให้ผลแบบเบอรี่ (berry) ขนาดเล็ก ขณะที่ผลยังอ่อนอยู่จะมีสีเขียว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดง ผลมีรูปร่างค่อนข้างกลม โดยปกติแต่ละผลจะมี 3 เมล็ด บางผลมีถึง 6 เมล็ด เมล็ดมีสีดำรูปร่างกึ่งกลมกึ่งเหลี่ยม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1/8 นิ้ว

โดยปกติต้นหน่อไม้ฝรั่งที่ให้ดอกตัวผู้ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ต้นตัวผู้ โดยเฉลี่ยจะได้หน่อสดมากกว่า และนานกว่าต้นตัวเมีย แต่ต้นตัวเมียจะให้หน่อสดที่มีขนาดเฉลี่ยแล้วใหญ่กว่าหน่อสดของต้นตัวผู้

ประเภทของหน่อไม้ฝรั่ง

หน่อไม้ฝรั่งที่นิยมปลูกกันในประเทศไทยมี 2 ลักษณะคือ ปลูกแบบหน่อเขียว และปลูกแบบหน่อขาว

1. หน่อเขียว คือ หน่อไม้ฝรั่งที่มีการปล่อยให้หน่ออ่อนงอกพ้นเหนือดิน และได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ จึงทำให้ได้หน่อที่มีสีเขียว ปกติจะใช้บริโภคสด หรือแช่แข็ง เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ การปลูกหน่อไม้ฝรั่งแบบหน่อเขียวนี้ จะแตกต่างจากการปลูกแบบหน่อขาว เนื่องจากผู้ปลูกต้องควบคุมคุณภาพของหน่อให้ได้มาตรฐานคือ ต้องให้หน่อมีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร และให้มีความเขียวของหน่อวัดจากปลายยอดลงมาไม่ต่ำกว่า 18 เซนติเมตร นอกจากนี้ปลายของหน่อ ซึ่งมีก้านใบเล็ก ๆ จะต้องไม่บาน หน่อไม่โค้งหรือคดงอ และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 0.8 เซนติเมตร จึงจะขายได้ราคาดี

2. หน่อขาว คือ หน่อไม้ฝรั่งที่มีการใช้ดิน หรืออินทรีย์วัตถุกลบ หรือคลุมโคนต้น เพื่อไม่ให้หน่ออ่อนถูกแสงแดด จึงทำให้หน่อที่ได้เมื่อถอนออกมามีสีขาว หน่อขาวไม่จำเป็นต้องรักษาคุณภาพในเรื่องรูปร่าง และขนาดมากเหมือนกับหน่อเขียว เนื่องจากหน่อขาวจะต้องนำมาลอกเปลือก หรือตัดส่วนที่มีตำหนิออกก่อนที่จะนำไปบรรจุลงในกระป๋อง ดังนั้นหน่อขาวจึงขายได้ราคาถูกกว่าหน่อเขียว

ปัจจุบันนี้ พื้นที่ปลูกหน่อขาว (สุพรรณบุรี กุยบุรี ระยอง) ได้เปลี่ยนมาปลูกหน่อเขียวมากขึ้น เนื่องจากหน่อขาวต้องปลูกเป็นอุตสาหกรรม เพื่อส่งโรงงานบรรจุกระป๋อง โรงงานต้องการผลผลิตในแต่ละวันที่คงที่ และมีปริมาณมาก 1-2 ตันต่อวัน แต่ไม่สามารถขยายพื้นที่ปลูกได้ เกษตรกรและโรงงานจึงต้องเลิกกิจการนี้ เพราะทำแล้วไม่คุ้มทุน

พันธุ์หน่อไม้ฝรั่ง

พันธุ์หน่อไม้ฝรั่งที่เกษตรกรใช้ในการปลูกมี 5 พันธุ์คือ

1. แมรี่วอชิงตัน (Mary Washington) เป็นพันธุ์แรกที่ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย พันธุ์นี้ให้ผลดีพอสมควร เหมาะที่จะปลูกทั้งแบบหน่อขาวและหน่อเขียว แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากให้ผลผลิตต่ำกว่าพันธุ์อื่น ๆ

2. แคลิฟอร์เนีย 500 (California 500) พันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตใกล้เคียงกับพันธุ์แมรี่วอชิงตัน จากรายงานของต่างประเทศ หน่อไม้ฝรั่งพันธุ์นี้มีอายุเก็บเกี่ยวเร็ว สามารถปลูกได้ทั้งแบบหน่อขาว และหน่อเขียว

3. แคลิฟอร์เนีย 309 (California 309) พันธุ์นี้จากการทดสอบของศูนย์วิจัยพืชผักเขตร้อน พบว่าเป็นพันธุ์ที่แข็งแรง มีแนวโน้มในการให้ผลผลิตที่ดีกว่า และขนาดของหน่อใหญ่กว่าสองพันธุ์แรกเล็กน้อย พันธุ์นี้สามารถปลูกได้ทั้งแบบหน่อขาว และหน่อเขียว

4. ไฮบริดอิมพีเรียล (Hybrid Imperial) เป็นพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 2 ให้ผลผลิตค่อนข้างสูงกว่า 3 พันธุ์ที่กล่าวมา พันธุ์นี้สามารถปลูกได้ทั้งแบบหน่อขาวและหน่อเขียว

5. บร็อคอินพรู๊ฟ (Brock's Improved) เป็นพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 ซึ่งให้ผลผลิตสูงกว่า 4 สายพันธุ์ที่กล่าวมา จึงทำให้เมล็ดพันธุ์มีราคาแพงมาก เกษตรกรทั่วไปนิยมใช้พันธุ์นี้ปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในเขตจังหวัดนครปฐม ทั้งนี้เพราะทำให้ได้หน่อไม้ฝรั่งที่มีรูปร่าง และขนาดใหญ่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน และให้ผลผลิตสูง เกษตรกรสามารถขายได้ทุนคืนในปีแรก และให้ผลกำไรที่ดีในปีต่อ ๆ มา พันธุ์นี้ปลูกได้ทั้งแบบหน่อขาว และหน่อเขียวเช่นกัน

ในปัจจุบันได้มีการนำหน่อไม้ฝรั่งเข้ามาทดลองปลูกอีกหลายพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่ใช้ปลูกทั้งแบบหน่อขาวและหน่อเขียว เช่น เจนลิม แฟรงค์ลิม ยูซี 157 บูนลิม แบคลิม และพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งยังอยู่ในช่วงของการทดสอบผลผลิตอยู่




กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...