วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553

กูดฮอก

กูดฮอก

วงศ์ Polypodiaceae

ชื่อวิทยาศาสตร์ Drynaria sparsisora (Desv.) S.Moore.

ชื่อท้องถิ่น กูดฮอก (เหนือ) พังงา (มลายู-ใต้) ว่านงูกวัก ว่าว (ใต้)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ลำต้นเป็นเหง้าเลื้อย เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร ปกคลุมแน่นด้วยเกล็ดสีน้ำตาล เกล็ดรูปกลม ด้านในสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ริมนอกสีน้ำตาลอ่อน ยาว 3 มิลลิเมตร กว้าง 2 มิลลิเมตร โคนมนหรือกลม ขอบหยักซี่ฟัน ปลายเรียวแหลมยาวคล้ายหาง ใบมี 2 แบบ ใบประกบลำต้น รูปร่างกลมรี 17-23 เซนติเมตร กว้าง 16-22 เซนติเมตร โคนรูปหัวใจ ปลายแหลม ขอบหยักเป็นแฉกลึกประมาณ 1/4 ของความยาวเส้นกลางใบ ขอบแฉกเรียบ ปลายแหลม เนื้อใบหนาไม่หลุดร่วง เส้นกลางใบและเส้นกลางใบนูนชัดเจนทั้งสองด้าน เส้นใบร่างแห ใบแท้หยักแบบขนนก ก้านใบยาว 12-18 เซนติเมตร กว้าง 6-4 มิลลิเมตร สีน้ำตาล เกล็ดปกคลุมหนาแน่นบริเวณโคนก้าน แผ่นใบ รูปขอบขนาน ยาว 40-50 เซนติเมตร กว้าง 25-35 เซนติเมตร โคนใบเฉียงแผ่ออกเป็นปีกสั้นๆ ขอบใบหยักลึกเป็นแฉกแบบขนนกจนเกือบถึงเส้นกลางใบ จำนวน 6-8 แฉก รูปขอบขนาน ขอบเรียบ ปลายแฉกเรียวแหลม เนื้อใบหนาคล้ายหนัง สีเขียวเข้ม มีรอยต่อระหว่างแผ่นใบกับเส้นกลางใบ เส้นกลางใบแผ่ออกเป็นปีกแคบ เส้นใบร่างแหปลายปิด กลุ่มอับสปอร์มีขนาดเล็ก เป็น 2 แถว อยู่ระหว่างเส้นกลางใบ จัดเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ กลุ่มอับสปอร์ กระจายไม่เป็นระเบียบบนเส้นใยใบร่างแห (ธีระพล, 2546 ; Smitinand, T. and K. Larsen, 1989)

การใช้ประโยชน์ นิยมนำมาปลูกประดับสวน ทำให้ดูเหมือนเป็นป่าธรรมชาติ อีกทั้งปลูกเลี้ยงง่าย ไม่ต้องดูแลมาก ในตำราสมุนไพรจีน ใช้สำหรับบำบัดอาการป่วยเนื่องจากกระดูกแตกและเส้นเอ็นฉีกขาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำดำเขียว ใช้สำหรับบำบัดอาการปวดหลังและหัวเข่า แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ปวดฟัน ในตำราสมุนไพรไทยโบราณ ใช้เหง้าต้มดื่ม แก้โรคหืดหอบ เหง้าของ Drynaria มีรสขม มีสรรพคุณช่วยให้โลหิตหมุนเวียน แก้อาการมือเท้าเย็น ขยายหลอดเลือด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...