การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร Plantae
ส่วน Magnoliophyta
ชั้น Magnoliopsida
อันดับ Vitales
วงศ์ Vitaceae
สกุล Vitis
L.
องุ่น เป็นพืชยืนต้น มีลักษณะเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย เนื้อแข็ง มีลำต้น (Trunk) กิ่งถาวรอายุเกิน 1 ฤดู (Cordon) กิ่งในฤดู (Shoot) กิ่งอายุ 1 ฤดู (Cane) ถ้าปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติจะเลื้อยเกาะกิ่งไม้ ใบกลม ขอบหยักเว้าลึก 5 พู โคนใบเว้าหัวใจ ดอกออกเป็นช่อแยกแขนง ดอกย่อยขนาดเล็กสีเขียว มีหมวก (Cap) จะหลุดออกเมื่อดอกบานกลีบดอกเมื่อบานสีขาว โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก 5 กลีบ เป็นผลเดี่ยวที่ออกเป็นพวง (เป็นผลเดี่ยวที่เกิดจากดอกช่อแต่ดอกไม่หลอมรวมกัน) ผลย่อยรูปกลมรี ฉ่ำน้ำ ผิวมีนวลเกาะ รสหวาน มีสีเขียว ม่วงแดง และม่วงดำ แล้วแต่พันธุ์ มี 1-4 เมล็ด
ประวัติการปลูก
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มีการบ่งบอกว่ามีการปลูกองุ่นกันมามากกว่า 5,000 ปี องุ่นสามารถเจริญเติบโตได้ดีทั้งในเขตหนาว เขตกึ่งร้อนกึ่งหนาว และเขตร้อน สำหรับประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่านำเข้ามาในสมัยใด แต่คาดว่าน่าจะนำเข้ามาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระองค์ท่านได้นำพันธุ์ไม้แปลกๆ จากต่างประเทศที่ได้เสด็จประพาสมาปลูกในประเทศไทย และเชื่อว่าในจำนวนพันธุ์ไม้แปลกๆ เหล่านั้นน่าจะมีพันธุ์องุ่นรวมอยู่ด้วย ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีหลักฐานยืนยันว่าเริ่มมีการปลูกองุ่นกันบ้างแต่ผลองุ่นที่ได้มีรสเปรี้ยว การปลูกองุ่นจึงซบเซาไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 ได้เริ่มมีการปลูกองุ่นอย่างจริงจัง โดย หลวงสมานวนกิจ ได้นำพันธุ์องุ่นมาจากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และปี พ.ศ. 2497 ดร.พิศ ปัญญาลักษณ์ ได้นำพันธุ์องุ่นมาจากทวีปยุโรปซึ่งสามารถปลูกได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นับแต่นั้นมาการปลูกองุ่นในประเทศไทยจึงการแพร่หลายมากขึ้น
ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร
องุ่น มีสารอาหารที่สำคัญคือน้ำตาล และสารอาหารจำพวกกรดอินทรีย์ น้ำตาลกลูโคส น้ำตาลซูโคส วิตามินซี เหล็ก และ แคลเซี่ยม องุ่นยังสามารถนำไปทำเป็นเหล้าองุ่น ซึ่งเป็นเหล้าบำรุง ใช้เป็นยา การรับประทานองุ่นเป็นประจำ จะมีส่วนช่วยในการบำรุงสมอง บำรุงหัวใจ แก้กระหาย ขับปัสสาวะ บำรุงกำลัง คนที่ร่างกายผอมแห้งแรงน้อย แก่ก่อนวัย ไม่มีเรี่ยวแรง ถ้ารับประทานองุ่นเป็นประจำ จะช่วยเสริมทำให้ร่างกายค่อยๆแข็งแรงขึ้นได้
สรรพคุณทางยา
ใช้ส่วนเครือและราก มีฤทธิ์ในการ ขับลม ขับปัสสาวะ รักษาโรคไขข้ออักเสบ ปวดเอ็น ปวดกระดูกและมีฤทธิ์ ระงับประสาท แก้ปวด แก้อาเจียนอีกด้วย
การปลูกองุ่นในประเทศไทย
ประเทศไทยมีการปลูกองุ่นในแถบภาคตะวันตก เช่น อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งสามารถให้ผลผลิตได้ดี แต่เกษตรกรบางรายได้เปลี่ยนจากองุ่นเป็นพืชอื่น เนื่องจากมีปัญหาโรคแมลงระบาดมาก และแมลงดื้อยาไม่สามารถกำจัดได้ ทำให้พื้นที่ปลูกองุ่นในแถบนี้ลดลง พื้นที่ปลูกองุ่นได้ขยายไปในแถบภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบ้างเล็กน้อย แต่มีปัญหาเรื่องโรคแมลงระบาดมากทำให้พื้นที่ปลูกองุ่นไม่ค่อยขยายเท่าที่ควร
พันธุ์องุ่นที่นิยมปลูก
-พันธุ์ไวท์มะละกา มี 2 สายพันธุ์ คือ ชนิดผลกลมและผลยาว ลักษณะช่อใหญ่ยาว การติดผลดีผลมีสีเหลืองอมเขียว รสหวานแหลม เปลือกหนาและเหนียว ในผลหนึ่งๆ มี 1-2 เมล็ด ช่วงเวลาหลังจากตัดแต่งกิ่งจนเก็บผลได้ประมาณ 4 เดือนครึ่ง ปีหนึ่งให้ผลผลิต 2 ครั้ง ผลผลิตประมาณ 10-15 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง
-พันธุ์คาร์ดินัล มีลักษณะช่อใหญ่ ผลดก ผลกลมค่อนข้างใหญ่ มีสีแดงหรือม่วงดำ รสหวาน กรอบ เปลือกบาง จึงทำให้ผลแตกง่ายเมื่อผลแก่ในช่วงฝนตกชุก ในผลหนึ่งๆ มีเมล็ด 1-2เมล็ด ช่วงเวลาหลังจากตัดแต่งกิ่งจนเก็บผลได้ใช้เวลา 3-3 เดือนครึ่ง ในเวลา 2 ปี สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 5 ครั้ง ผลผลิตประมาณ 10-15 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง
กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น