วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กระวาน

กระวาน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amomum krervanh Pierre

วงศ์ : Zingiberaceae

ชื่อสามัญ : Siam Cardamom, Camphor Seed

ชื่ออื่น : กระวานดำ กระวานแดง กระวานขาว (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก) กระวานจันทร์ กระวานโพธิสัตว์

ลักษณะ : ไม้ล้มลุกสูง 1-3 เมตร ขึ้นในป่าชื้น บริเวณไหล่เขาสูง มีเหง้าใต้ดิน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 8-15 ซม. ยาว 40-50 ซม. ไม่มีก้านใบ ดอกช่อแทงจากเหง้า กลีบดอกสีขาว เป็นหลอดและพองเป็นกระเปาะ ออกดอกเมื่อต้นอายุ 2-3 ปี ผลกลมเกลี้ยง ขนาด 6-15 มม. เมื่อแก่เปลือกผลจะแห้งและแข็ง เมล็ดขนาดเล็ก 12-18 เมล็ด รวมกลุ่มเป็น 3 กลุ่ม โดยมีเยื่อบาง ๆ กั้น มีกลิ่นหอมและรสเผ็ด

ประโยชน์ทางสมุนไพร : ตำรายาไทยใช้ผลเป็นยาขับลม รักษาโรคท้องอืดเฟ้อแน่นจุกเสียด โดยใช้ขนาด 1-2 กรัม ชงน้ำดื่มและใช้เป็นเครื่องเทศแต่งกลิ่นอาหาร

ราก แก้โลหิตเน่าเสีย ฟอกโลหิต แก้ลม เสมหะให้ปิดธาตุ รักษาโรครำมะนาด
หัวและหน่อ ขับพยาธิในเนื้อให้ออกทางผิวหนัง
เปลือก แก้ไข้ผอมเหลือง รักษาโรคผิวหนัง แก้ไข้อันง่วงเหงา ขับเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ไขอันเป็นอชินโรค
แก่น ขับพิษร้าย รักษาโรคโลหิตเป็นพิษ
กระพี้ รักษาโรคผิวหนัง บำรุงโลหิต
ใบ แก้ลมสันนิบาด ขับผายลม ขับเสมหะ รักษาโรครำมะนาด แก้ไข้เซื่องซึม แก้ลม จุกเสียด บำรุงกำลัง
ผลแก่ รสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม มีน้ำมันหอมระเหย (Essentialoil) 5-9 เปอร์เซ็นต์ มีฤทธิ์ขับลมและบำรุงธาตุยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แก้ลมจุกเสียดแน่นเฟ้อ วิธีใช้แก้อาหารท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลมและแน่จุกเสียด โดยใช้ผลกระวานแก่จัดประมาณ 6-10 ผล ตากแห้งปดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1-3 ช้อนชา ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือครึ่งถ้วยแก้ว ใช้รับประทานครั้งเดียว นอกจากนี้ผลกระวานยังใช้ผสมกับยาถ่าย เช่น มะขามแขกเพื่อบรรเทาอาการไซ้ท้อง
เมล็ด แก้ธาตุพิการ อุจจาระพิการ บำรุงธาตุ
เหง้าอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักได้ มีกลิ่นหอมและเผ็ดเล็กน้อย

ถิ่นกำเนิด
กระวานมี 2 พวกใหญ่ๆ คือ กระวานแท้ หรือ กระวานเทศ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ส่วนอีกพวกคือ กระวานไทย พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถใช้แทนกระวานเทศได้ดี

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กระวานมีลำต้นเป็นเหง้าหรือหัวใต้ดิน มีข้อประมาณ 8 - 20 ข้อ กระวานเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ก้านใบโค้งมีกาบใบติดกัน ใบออกสลับกันที่โคนต้น ใบมีสีเขียวเป็นมัน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ผิวใบเรียบ ใบสูงจากพื้นดินประมาณ 2 - 12 ฟุต ดอกออกเป็นช่ออยู่ใกล้โคนต้นบริเวณผิวดิน กลีบดอกสีเหลือง ออกผลเป็นช่อ ผลกลม ช่อหนึ่งๆมีผลประมาณ 10 - 20 ผล รูปกลม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 9 - 18 เมล็ด เมล็ดมีกลิ่นหอมฉุนคล้ายการบูร มีรสเผ็ด

สารสำคัญที่พบ
ผลกระวานให้น้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วยการบูร (Camphor) และพิมเสน (Borneol) อัลฟ่า-ไพนีน (Pinene) ไลโมนีน (Limonene) เมอร์ซีน (Myrcene) ไลนาลูออล (Linalool) แป้ง และแคลเซียม ออกซาเลท ฯลฯ

วิธีใช้ในการประกอบอาหาร
นำผลกระวานที่แก่จัดไปตากแห้ง เพื่อใช้เป็นเครื่องเทศในน้ำพริกแกงเผ็ด มัสมั่น แกงกะหรี่ ฯลฯ ใช้แต่งกลิ่นและสีของอาหารหลายชนิด เช่น เหล้า ขนมปัง เค้ก คุ้กกี้ ตับบด ไส้กรอก แฮม อาหารหมักดองและผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ผลอ่อนและหน่ออ่อนใช้รับประทานเป็นผักสด

สภาพอากาศที่เหมาะสม
กระวานเป็นพืชเมืองร้อนประเภทไม้ล้มลุก มีอายุยืน เป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินร่วนปนทราย มีอินทรีย์วัตถุสูง มีการระบายน้ำดี กระวานต้องการความชื้นสูง ที่ร่มรำไร หรือต้นไม้ยืนต้นอื่นให้ร่มเงา กระวานจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 500 - 800 ฟุต ขึ้นไป ปริมาณน้ำฝนประมาณ 3,000 - 3,500 มิลลิเมตรต่อปี และฝนตกกระจายตลอดปี

วิธีปลูก
การปลูกกระวานควรปลูกเป็นพืชแซมไม้ผล ไม้ยืนต้นเพื่อให้ร่มเงา การขยายพันธุ์ควรใช้เหง้า ซึ่งเป็นวิธีขยายพันธุ์ที่นิยมเพราะกระวานจะให้ดอกผลเร็วกว่าการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดปลูก เหง้าที่ใช้เพาะปลูกควรแยกออกจากกอแม่ที่มีอายุไม่น้อยกว่า 18 เดือน ถึง 2 ปี และเหง้าที่แยกออกมาควรมีหน่อติดมาด้วยประมาณ 2 - 3 หน่อ และหน่อที่ใช้ควรมีความสูงประมาณ 1 - 2.5 ฟุต หลุมปลูกกระวานควรมีขนาด กว้าง x ยาว x ลึก ประมาณ 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้นและแถว 2 x 2 เมตร ไม่นิยมปลูกชิดมาก ต้องเว้นพื้นที่ว่างไว้ให้หน่อได้ขยายเพิ่มขึ้นทุก ๆปี ฝังหน่อลึกประมาณ 3 - 4 นิ้ว รดน้ำให้ความชุ่มชื้น

การดูแลรักษา
กระวานเป็นพืชที่ไม่ต้องดูและรักษามาก ควรกำจัดวัชพืชบ้าง ที่สำคัญควรทำการริดใบ โดยตัดใบและลำต้นที่แห้งแก่ตายหรือมีลักษณะที่ไม่สมบูรณ์ออกให้หมด เพื่อให้สะดวกในการเก็บเกี่ยว การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ปกติกระวานไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวนมากนัก นอกจากโรคใบไหม้ซึ่งอาจจะเกิดจากการได้รับแสงแดดมากเกินไป ส่วนศัตรูอื่น ได้แก่ หนู กระรอก และกระแต ซึ่งจะกัดทำลายเมล็ดในระยะรอเก็บเกี่ยว การตัดหน้อกระวานออกจากต้นแม่เพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นนั้น จะมีผลกระทบกระเทือนต่อการติดผลของกระวาน

การเก็บเกี่ยวและผลผลิต
กระวานจะให้ผลผลิตหลังปลูก 2 - 3 ปี ตามปกติกระวานจะออกดอกตลอดปี แต่ผลผลิตจะมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนสิงหาคม โดยช่วงเวลาตั้งแต่ออกดอกจนผลแก่ประมาณ 5 เดือน การเก็บเกี่ยวควรเก็บเมื่อผลแก่ซึ่งจากโคนไปหาปลายช่อ หากไมาสามารถเลือกเก็บได้ การเก็บทั้งช่อควรเก็บเมือ่ผลแก่ 3 ใน 4 ของช่อ ผลกระวานทำให้แห้งโดยการตากแดดในภาชนะที่สะอาดและมีการรองรับ 5 - 7 แดด กระวาน 1 ไร่ ให้ผลผลิตแห้ง 30 - 50 กิโลกรัม โดยมีอัตราแห้งคือผลกระวานสด 3 กิโลกรัม จะได้ผลกระวานแห้ง 1 กโลกรัม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...