วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2553

กระท้อน

กระท้อน

กระท้อนจัดเป็นไม้ผลยืนต้นที่มีการเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนหรือมีสภาพภูมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้น สามารถทนต่อลมและความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี มีการเจริญแตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นพุ่มตั้งแต่ขนาดกลางจนถึงใหญ่ ต้นกระท้อนที่เจริญเติบโตมาจากเมล็ดจะได้ลำต้นและทรงพุ่มที่ใหญ่มาก และมีอายุที่ยาวนานนับ 100 ปี

พันธุ์กระท้อน
ถิ่นกำเนิดยาวนานมากว่า 100 ปี คือที่ ตำบลบางกรวย อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เป็นกระท้อนหวานพันธุ์ดีมีผู้นิยมรับประทาน ต่อมาจึงได้มีการนำพันธุ์ไปปลูกขยายต่อไปในบริเวณใกล้เคียง เช่น ตำบลบางเลน อำเภอบางใหญ่ ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และได้ขยายออกไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียง และปลูกมากในปัจจุบัน ได้แก่ ปราจีนบุรี ชลบุรี พิษณุโลก และสุราษฎร์ธานี
กระท้อนได้ถูกขยายพันธุ์สืบต่อกันมาเรื่อย ๆ โดยใช้วิธีการขยายพันธุ์แบบต่าง ๆ กันโดยเฉพาะการใช้เมล็ดที่กระทำกันมาตั้งแต่ดั้งเดิม ซึ่งมักจะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ง่าย พบว่าพันธุ์กระท้อนมีอยู่หลายพันธุ์ด้วยกัน เช่น ขันทอง ตาอยู่ เทพรส อีล่า หลังห่อ นิ่มนวล ไหว อีเมฆ บัวขาว เมล็ดในไหว เขียวหวาน ทับทิม ทองหยิบ เทพสำราญ อินทรชิต อีจืด ทองใบใหญ่ ไกรทอง บางกร่าง ปุยฝ้าย บัวลอย อีแป้น ทองหยอด

กระท้อน สามารถแบ่งออกเป็น 2 พันธุ์ คือ กระท้อนเปรี้ยวและกระท้อนหวาน (กระท้อนห่อ)

กระท้อนเปรี้ยว เป็นกระท้อนพันธุ์พื้นเมืองที่มีขึ้นอยู่ทั่วไปมากมายในทุกภาคของประเทศไทย ลักษณะมีลำต้นสูงใหญ่เป็นทรงพุ่มหนาแน่น ผลมีรสฝาดและเปรี้ยว
กระท้อนหวาน ได้แก่ กระท้อนห่อที่ชาวสวนนิยมปลูกกันอยู่ในปัจจุบัน มีอยู่มากมายหลายพันธุ์ ปัจจุบันพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมาก ได้แก่ พันธุ์ทับทิม พันธุ์อีล่า พันธุ์ปุยฝ้าย

พันธุ์อีล่า
นายกุล แย้มแพ ได้นำเมล็ดกระท้อนพันธุ์อีไหวมาปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 หลังจากที่กระท้อนออกดอกและติดผลแล้ว ปรากฎว่าพันธุ์ดังกล่าวให้ผลดีกว่าเดิม แต่มีข้อเสียประจำพันธุ์ คือ มักจะออกผลได้ช้ากว่ากระท้อนพันธุ์อื่น ๆ จึงได้ตั้งชื่อใหม่ว่า "พันธุ์อีล่า"
ลักษณะประจำพันธุ์ โดยสภาพทั่ว ๆ ไป จะมีลักษณะคล้ายกับกระท้อนพันธุ์อื่น ๆ แต่เด่นออกไป คือ ขนาดของใบจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ให้ผลดก ในต้นอายุ 4 ปี จะให้ผลได้ประมาณ 150-200 ผล มีผลขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดากระท้อนด้วยกัน (ผลใหญ่หนักถึง 1.3 กิโลกรัม) ผลเมื่อแก่จะค่อย ๆ เปลี่ยนสีและเมื่อแก่ใกล้สุกพร้อมที่จะเก็บผลได้ ผิวเปลือกจะเป็นสีเหลืองเข้มหรือออกน้ำตาลอ่อน ๆ มีเปลือกบางมาก ต้นที่ให้ผลในปีแรก ต้นสาวหรือที่เรียกว่า "สอนเป็น" มักจะให้ผลมีลักษณะหัวนูนขึ้น แต่พอต้นแก่ การให้ผลครั้งใหม่ ส่วนที่นูนจะลดน้อยลงจนเกือบเสมอคล้ายพันธุ์ปุยฝ้ัาย ลักษณะเนื้อภายในจะนิ่ม มีรสหวาน เนื้อปุยยาวฟูสีขาวน่ารับประทาน ในผลหนึ่งจะมีเมล็ดประมาณ 5 เมล็ด และมีขนาดเล็กมาก

พันธุ์ปุยฝ้าย
เข้าใจว่ากระท้อนพันธุ์นี้กำเนิดจากพันธุ์ทองหยิบ เนื่องจากมีลักษณะของผลที่คล้ายคลึงกันมาก ลักษณะประจำพันธุ์มีผลทรงแป้นขนาดใหญ่ ไม่มีจุก บริเวณขั้วผลจะแบน ผิวผลจะเนียนและละเอียด รสหวานจัด เนื้อในมีปุยสีขาวคล้ายปุยฝ้าย แต่มีข้อเสียคือ ติดผลน้อยกว่าพันธุ์อีล่า ส่วนขนาดของผลก็มีขนาดไล่เลี่ยกัน
ฤดูกาล เก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนมิถุนายน

พันธุ์ทับทิม
ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นพันธุ์ที่ให้ผลดก และแก่เร็ว ประมาณเดือนพฤษภาคม ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ขนาดผลค่อนข้างเล็ก น้ำหนักประมาณ 200 กรัมต่อผล ทรงผลกลมแป้น มีขั้วยาว ผิวเปลือกเรียบบาง มีสีเหลืองนวล เนื้อบางนิ่ม ปุยหนา มีปุยแทรกเนื้อเมล็ด มีขนาดโตปานกลาง เนื้อมีรสหวานอมเปรี้ยว แต่มีปุยหุ้มเมล็ด มีรสหวานจัด ข้อเสียถ้าแก่จัดผลจะแตกง่ายและถ้ามีฝนชุกจะทำให้ไส้แดง
ฤดูกาล เก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนมิถุนายน

พันธุ์นิ่มนวล
ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นพันธุ์ที่ให้ผลดก มีอายุเก็บเกี่ยวปานกลาง จะเก็บเกี่ยวผลได้ประมาณ เดือนมิถุนายน ผลมีขนาดปานกลาง น้ำหนักผลประมาณ 300-600 กรัมต่อผล ทรงผลกลมแป้น มีขั้วสั้น ผิวเปลือกเรียบมีสีเหลืองอมน้ำตาล เปลือกบางเนื้อหนา นิ่มไม่กระด้าง มีปุยแทรกเนื้อ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ปุยหุ้มเปลือกหนาฟู รสหวานจัด เมล็ดมีขนาดกลาง
ฤดูกาล เก็บเกี่ยวช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนกรกฎาคม

พันธุ์เทพรส
ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นพันธุ์ที่ให้ผลดก มีอายุเก็บเกี่ยวปานกลาง จะแก่ช้ากว่าพันธุ์ทับทิมเล็กน้อย ประมาณเดือนมิถุนายน ผลมีขนาดกลาง น้ำหนักประมาณ 250-500 กรัมต่อผล ทรงผลกลมสูงเล็กน้อย มีขั้วสั้น ผิวเปลือกเรียบ มีขนอ่อนที่ผิวนุ่มมือ ด้านข้างผลจะมองเห็นชั้นนูนขึ้นมาตามฟูของเมล็ดชัดเจนกว่าพันธุ์อื่น ๆ เปลือกสีน้ำตาลเข้ม เนื้อหนานิ่มไม่กระด้างมีปุยแทรก เนื้อมีรสหวานจัด เมล็ดมีขนาดโต
ฤดูกาล เก็บเกี่ยวช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนกรกฎาคม

พันธุ์ทับทิมทอง
ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นพันธุ์เบาสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนพฤษภาคม ผลมีขนาดกลางถึงค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักผลประมาณ 400-800 กรัมต่อผล ทรงผลกลมสูงเล็กน้อย ด้านก้นเรียบ ผิวมีรอยขรุขระเล็กน้อย แต่ด้านขั้วผลขรุขระมาก ขั้วสั้น เปลือกบาง ผิวเปลือกมีสีเหลืองทอง เนื้อหนาแน่น มีปุยแทรกเนื้อ รสหวาน
ฤดูกาล เก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤษภาคม

การเตรียมพื้นที่


สภาพภูมิอากาศ กระท้อนจัดเป็นไม้ผลที่มีความสามารถในการเจริญเติบโตได้เกือบทุกสภาพแวดล้อมและทุกสภาพพื้นที่ ตั้งแต่ใต้สุดไปจนเหนือสุดของประเทศไทย
ดิน ควรเป็นดินร่วนปนทราย มีการถ่ายเทอากาศดี มีหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร ความเป็นกรดเป็นด่างของดินควรมีประมาณ 5.0-6.5 จะเหมาะสมที่สุด

ระยะการปลูก ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน เช่น ลักษณะและขนาดของทรงพุ่ม ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และที่สำคัญลักษณะหรือรูปแบบของการปลูก ดังนั้นในแต่ละแหล่งปลูก จึงใช้ระยะปลูกที่แตกต่างกัน การปลูกกระท้อนในที่ลุ่ม จะใช้ระยะปลูกระหว่างต้นห่างกันตั้งแต่ 8-10 เมตร

การให้ปุ๋ย กระท้อนเล็กปกติกำลังอยู่ในช่วงที่มีการเจริญเติบโตทางด้านราก ควรจะเป็นสูตร 15-15-15 ส่วนอัตราการให้ในต้นอายุ 1 ปี ควรจะให้ประมาณ 2-3 กำมือต่อต้น และควรใส่อย่างน้อยปีละ 2-3 ครั้ง ตามความเหมาะสม ส่วนกระท้อนที่ให้ผลแล้ว การให้ปุ๋ยเคมีควรกระทำอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ครั้งแรกจะเริ่มตั้งแต่ภายหลังจากที่ได้ทำการเก็บเกี่ยวผลเสร็จ

การใส่ปุ๋ยครั้งที่สองจะกระทำภายหลังจากที่ใส่ครั้งแรกแล้วประมาณ 3-4 เดือน หรือในช่วงเดือน พฤศจิกายน ในระยะดังกล่าวจะเป็นช่วงที่กระท้อนใกล้เกิดดอก การให้ปุ๋ยจึงควรลดธาตุอาหารพวกไนโตรเจนลง สูตรที่เหมาะสม เช่น 9-24-24 เพื่อช่วยให้เกิดดอกดีขึ้น หลังจากนั้นประมาณ 4 เดือน คือประมาณเดือนมีนาคม กระท้อนจะติดดอกและกำลังติดผลที่จะเป็นผลแก่ ทำการให้ปุ๋ยอีกครั้งเพื่อปรับปรุงคุณภาพของผลให้ดียิ่งขึ้น สูตรที่เหมาะสม เช่น 13-13-21 หรือ 13-13-24 เป็นต้น



จากเว็บ http://www.watchari.com


กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...