วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553

กูดใบเล็ก

วงศ์ Pakeriaceae

ชื่อวิทยาศาสตร์ Adiantum zollingri Mett. ex Kuhn

ชื่อพื้นเมือง กูดใบเล็ก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ลำต้น สั้นตั้ง มีเกล็ดปกคลุมแน่น เกล็ดรูปยาวแคบ ยาว 6 มิลลิเมตร ขอบเรียบ มีสองสี ก้านใบยาว 12 เซนติเมตร สีน้ำตาลแดงเข้มเกือบดำ มีขนปกคลุมแน่นตลอด ขนสีน้ำตาล เป็นขนแบบหลายเซลล์ประกอบกัน (multicellular) ช่วงโคนก้านมีเกล็ด ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ยาว 30 เซนติเมตร กว้าง 4 เซนติเมตร ใบอาจตั้งตรงหรืออ่อนโค้งเล็กน้อย ซอกใบหยักเป็นพู ทอดนอนไปกับพื้น ตัวใบรูปแคบยาว ผิวด้านบนแกนกลางใบมีขนปกคลุมแน่น ผิวด้านล่างเกลี้ยงเกลา ในต้นที่โตเต็มที่ส่วนปลายแกนกลางใบอาจยืดยาวไม่มีแผ่นใบ และสามารถเกิดรากและต้นอ่อนเจริญออกมา แผ่นใบย่อยด้านข้างแกนกลางใบสองข้างเจริญเยื้องสลับกัน ใบย่อยทางด้านบนมีขนาดใหญ่กว่า ขนาดค่อยๆ เล็กลงสู่ปลายใบ และอยู่ห่างกันใบย่อยคู่ล่างใกล้โคนใบมีขนาดเล็กกว่าใบย่อยช่วงบนและทำมุมชี้ลง ใบย่อยที่มีขนาดใหญ่มักไม่มีก้าน ตัวแผ่นใบย่อย รูปร่างกึ่งสี่เหลี่ยมขอบขนาน ปลายมนกลม ขอบล่างส่วนมากตัดตรง ขอบด้านในชิดแกนทำมุมรูปลิ่มแคบกับขอบด้านล่าง ขอบด้านบนและด้านนอกเป็นหยัก ส่วนมาก ระยะหยักลึก 1/3 ของความกว้างใบ มีส่วนเว้าระหว่างหยักเห็นได้ชัด ส่วนหยักมนกลมหรือเป็นรูปช้อน ปลายของส่วนหยักมนกลม กึ่งตัดตรง หรือหยักเป็นซี่ฟัน แต่ละหยักมีปลายเส้นใบ 5-7 เส้น แผ่นใบนุ่มและบางเหมือนกระดาษ ส่วนมากผิวเกือบเกลี้ยง หรือมีขนประปรายบริเวณเส้นใบหรือที่ขอบใบ และที่ริมขอบใบ เส้นใบค่อนข้างไม่ชัดเจน ทั้งผิวด้านบนและด้านล่าง กลุ่มอับสปอร์ เกิดบริเวณปลายของหยัก ขอบใบพับลงมาปิดอับสปอร์เป็นรูปกลม หรือรูปรียาว ผิวเกลี้ยง หรือมีขนประปรายมีใบย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก (ธีระพล, 2546 ; Smitinand, T. and K. Larsen, 1989)

การใช้ประโยชน์ มีสรรพคุณใช้ทำยารักษา อาการไอ ไอเนื่องจากหืด เยื่อหุ้มปอด อักเสบ ขับปัสสาวะ แก้ดีซ่าน นิ่วอุดตันในไต ช่วยละลายเสมหะ แก้จุกแน่นหน้าอก แก้ขัดเบา ลดไข้ รูมาติสซัม ลดกรดในกระเพาะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...