วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

กาวกะปอม

กาวกะปอม

วงศ์ LEGUMINOSAE - PAPILIONOIDEAE
Rhynchosia minima (L.) DC.

ชื่อสามัญ กาวกะปอม (สระบุรี) ; Rhynchosia ; least rhynchosia ; burn mouth vine

ลักษณะทางพฤษศาสตร์และเกษตร เป็นพืชอายุหลายปี ลำต้นเลื้อยและตั้งขึ้นเล็กน้อย (sub-erect) ความสูงของต้น 8.33-12.79 เซนติเมตร ลำต้นสีม่วงแดง มีขนละเอียดปกคลุมปานกลาง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 1.33-1.71 มิลลิเมตร ใบมี 3 ใบย่อย มีก้านใบ (pinnately-trifoliate) ใบบนรูปไข่ (ovate) โคนใบสอบ (cuneate) แผ่นใบกว้างไปส่วนปลายลักษณะรูปใบคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด (rhomboidal) ปลายใบบางใบจะเว้าลงเล็กน้อย บางใบแหลม ใบบนยาว 2.14-2.48 เซนติเมตร กว้าง 2.19-2.75 เซนติเมตร ใบข้างรูปไข่ ปลายใบแหลมขอบใบด้านในเบี้ยวเล็กน้อย (unequal) ใบข้างยาว 1.6-2.4 เซนติเมตร กว้าง 1.4-2.5 เซนติเมตร เส้นใบจัดเรียงแบบร่างแห (reticulate) สีใบเขียวเข้ม หน้าใบ หลังใบไม่มีขน ขอบใบเรียบ ผิวใบนุ่มปานกลางและมีรอยย่น (rugosa) ก้านใบยาว 2.48-3.36 เซนติเมตร มีขนปานกลาง หูใบ (stipule) เป็นแบบหนามหรือแหลม (spinose or filiform) ออกดอกตลอดปี ดอกออกที่ซอกใบดอกแบบช่อกระจะ (raceme) ช่อดอกยาว 8.6-11.8 เซนติเมตร ช่อดอกมีลักษณะหลวม ๆ ดอกเดี่ยวในช่อดอกเกิดขึ้นห่าง ๆ มี 7-10 ดอกต่อช่อ ดอกสีเหลืองขนาดเล็ก ฝักรูปขอบขนาน (oblong) ยาว 1.4-1.8 เซนติเมตร กว้าง 0.46-0.52 เซนติเมตร มีขนละเอียดปกคลุมจำนวนมาก มี 4-9 ฝักต่อช่อ แต่ละฝักมี 1-2 ข้อ ฝักแก่มีสีดำ เมล็ดมีสีดำ และน้ำตาล

แหล่งที่พบและเก็บรวบรวมพันธุ์ พบขึ้นทั่วไปในพื้นที่โล่ง สภาพดินที่มีเนื้อดินหนัก ดินร่วน ดินเหนียว เช่น อำเภอเถิน อำเภอสามเงา จังหวัดลำปาง (LP 045, LP 046) อำเภอสีคิ้ว อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา (PC 021, PC 032, PC 046, PC 082, PC 216) อำเภอม่วงค่อม อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี (PC 192, PC 231)

คุณค่าทางอาหาร อายุ 60 วัน มีโปรตีน 12.14 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใย 29.86 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 2.59 เปอร์เซ็นต์ เถ้า 7.18 เปอร์เซ็นต์ NFE 54.65 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใยส่วน ADF 38.43 เปอร์เซ็นต์ NDF 42.50 เปอร์เซ็นต์ ลิกนิน 11.92 เปอร์เซ็นต์

การใช้ประโยชน์ เป็นแหล่งอาหารสัตว์สำหรับโค กระบือ แกะ ทนต่อการแทะเล็ม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...