วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

ขางครั่ง

ขางครั่ง

วงศ์ LEGUMINOSAE - PAPILIONOIDEAE
Dunbaria bella .

ชื่อสามัญ ขางครั่ง (ลำพูน) ; ดอกครั่ง (เชียงใหม่) ; เถาครั่ง (เลย)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์และเกษตร เป็นพืชอายุค้างปี ลำต้นเป็นเถาเลื้อยพัน (twinning) ลำต้นยาวประมาณ 3-5 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 2.83-9.47 มิลลิเมตร ใบมี 3 ใบย่อย (trifoliate-pinnately) รูปร่างใบย่อยแบบขอบขนาน (oblong) ใบกลางปลายใบมน โคนใบกลม (rounded) ใบข้างขอบใบด้านล่างเบี้ยว (unequal) ความยาวใบกลาง 5.94-8.88 เซนติเมตร กว้าง 2.05-2.73 เซนติเมตร ใบข้างยาว 5.11-6.61 เซนติเมตร กว้าง 1.8-2.14 เซนติเมตร ก้านใบรวมยาว 1.01-2.91 เซนติเมตร ก้านใบข้างสั้นมากยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร หน้าใบและหลังใบมีขนละเอียดสั้น ๆ ปกคลุมหนาแน่น ผิวใบนุ่ม (tender) สีใบด้านหน้าเขียวอมเหลืองอ่อน ถึงเขียวเข้ม ค่อนข้างมัน สีใบด้านหลังเขียวอมเหลืองเข้มกว่าด้านหน้าและผิวด้านเล็กน้อย เส้นใบ (vein) ด้านหลังนูนขึ้นเป็นสันเล็กน้อย เส้นใบแตกแบบขนนก (pinnate) ขอบใบมีรอยหยักแบบขนครุย (ciliate) ก้านใบมีขนปกคลุมหนาแน่น ลำต้นสีเขียวอมน้ำตาลมีขนละเอียดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตรคลุมอยู่มาก หูใบแหลม (filiform) สั้น 0.5-1 มิลลิเมตร ออกดอกเดือน พฤศจิกายน – มกราคม ดอกออกที่ตาข้างช่อดอกแบบช่อกระจะ (raceme) ยาว 6.43-14.29 เซนติเมตร ดอกรูปดอกถั่ว จำนวน 6-35 ดอกต่อช่อ เกิดเรียงสลับรอบแกนช่อดอก กลีบดอกด้านนอกสีเขียวอมเหลือง กลีบดอกด้านในสีม่วงอมแดงเข้ม ผลเป็นฝักยาวค่อนข้างแบน มีขนคลุม

แหล่งที่พบและเก็บรวบรวมพันธุ์ พบขึ้นอยู่ในพื้นที่มีร่มเงาเล็กน้อย ดินเหนียว เนื้อดินละเอียด เช่น พื้นที่ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา (PC 591)

คุณค่าทางอาหาร ส่วนใบและเถาอ่อน มีค่าโปรตีน 13.34 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใย 29.14 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 2.18 เปอร์เซ็นต์ เถ้า 6.87 เปอร์เซ็นต์ คาร์โบไฮเดรท(NFE) 48.47 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใยส่วนADF 33.38 เปอร์เซ็นต์ NDF 45.11 เปอร์เซ็นต์ ลิกนิน 9.88 เปอร์เซ็นต์

การใช้ประโยชน์ เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติ สำหรับแทะเล็มของโค-กระบือ ยาพื้นบ้าน ล้านนา ใช้ใบหรือรากผสมใบโผงเผง บดเป็นผงละเอียดปั้นเป็นยาลูกกลอนกินแก้ไข้ (วงศ์สถิตย์และคณะ, 2539)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...