วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กระแจะ

ชื่อพื้นเมือง : กระแจะ กระแจะจัน ขะแจะ (ภาคเหนือ), ตุมตัง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), พญายา (ภาคกลาง, ราชบุรี), พินิยา (เขมร)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson

ชื่อวงศ์ : RUTACEAE

ลักษณะ : ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น หรือไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูง 2-10 ม. ตามลำต้น และกิ่งก้านมีหนามแหลมยาวทั่วไป เปลือกสีขาวปนเขียว แตกสะเก็ดเล็กๆ เป็นร่องตื้นๆ ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ออกเป็นช่อเดียวหรือเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2-3 หรือ 4 ช่อ เรียงสลับ มีใบย่อย 1-3 คู่ เรียงตรงข้าม ปลายแกนกลางใบประกอบมีใบย่อยเดี่ยวๆ ที่ไม่มีก้านใบติดกับใบย่อยคู่ปลาย ใบย่อยคู่อื่นๆ ไม่มีก้าน ตามก้าน และแกนกลางใบประกอบมีครีบลักษณะคล้ายแผ่นใบแผ่กว้างมากหรือน้อยปรากฎอยู่ทั้ง 2 ด้าน ใบย่อยรูปรี รูปไข่ หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ ปลายแหลมมนหรือเว้าเล็กน้อย โคนสอบ ขอบจักมนห่างๆ แผ่นใบ และครีบของแกนกลางใบประกอบมีต่อมน้ำมันโปร่งแสงกระจัดกระจายทั่วไป ช่อดอกออกเดี่ยวๆ ตามกิ่งด้านข้างหรือออกมาจากกลุ่มใบประกอบ บางครั้งมีเพียง 1-2 ดอก ดอกเล็ก สีขาวอมเหลือง กลิ่นหอมเย็น กลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ แยกกันเป็นอิสระ มีต่อมน้ำมันทั่วไป เกสรเพศผู้ 8 อัน ผลกลม มีเนื้อ เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7-1.2 ซม. มีต่อมน้ำมันทั่วไป สุกสีดำ รสเปรี้ยว มี 1-4 เมล็ด

ประโยชน์ : เนื้อไม้สีน้ำตาลปนเหลืองอ่อน เป็นมันเลื่อม เนื้อหยาบแต่สม่ำเสมอ แข็ง หนักปานกลาง ค่อนข้างเหนียว ใช้ในงานแกะสลัก ทำตู้ และหีบใส่ของที่ต้องการกันตัวแมลง เปลือก และไม้ใช้ฝนกับน้ำเป็นเครื่องหอมประทินผิวแบบโบราณ ในพม่ายังนิยมใช้เปลือกและไม้ฝนผสมกับไม้จันทน์ (sandalwood) จนถึงปัจจุบัน (Rodger, 1963) รากใช้ทำยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...