วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

ครามขน

ชื่อสามัญ ครามขน ( เชียงใหม่ )

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์และเกษตร เป็นพืชล้มลุก (annual) ออกดอกติดฝักเมล็ดแก่ร่วงงอกใหม่ในฤดูฝนต่อไป ทรงต้นเป็นกอพุ่ม (herb) ขนาดเล็ก ปลายยอดตั้ง ความสูงของต้น 62- 68 เซนติเมตร ลำต้นสีเขียวมีขนสีน้ำตาลยาว 3-4 มิลลิเมตรปกคลุมหนาแน่น (abundant) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 12.5- 16.1 มิลลิเมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ (odd pinnate) เรียงตรงข้ามกัน (opposite) ใบเป็นแบบรูปไข่กลับ (obovate) โคนใบสอบเรียว (attenuate) ปลายใบติ่งหนามสั้น (macronulate) ขนาดใบยาว 3.1- 4.96 เซนติเมตร กว้าง 1.48- 2.48 เซนติเมตร หน้าใบและหลังใบมีขนสีขาวยาวประมาณ 1 มิลลิเมตรปกคลุมหนาแน่น ใบสีเขียวนวล ผิวใบนุ่ม (tender) เส้นกลางใบ (mid rib) เล็กยาวจากโคนถึงปลายใบ เส้นกลางใบด้านหลังมีขนสีน้ำตาลยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตรขึ้นเรียงตามกัน เส้นใบ (vein) แตกแบบขนนก (pinnate) ขอบใบหยักแบบขนครุย (ciliate) มีขนสีขาวปนสีม่วงแดงยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ก้านใบรวมยาว 5.2- 6.8 เซนติเมตร ก้านใบย่อยยาว 0.2-0.3 เซนติเมตรและมีขนสีน้ำตาลแดงยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตรคลุมอยู่หนาแน่น หูใบ (stipule) รูปแหลม (filiform) สีเขียวยาว 1-2 เซนติเมตรและมีขนขึ้นเรียงถี่ๆ ออกดอกช่วงเดือนกรกฎาคม ช่อดอกออกที่ปลายยอดและซอกใบแบบช่อกระจะ (raceme) ช่อดอกยาว 12.39- 23.35 เซนติเมตร ส่วน Head ยาว 5.11- 12.17 เซนติเมตร ดอกรูปดอกถั่วสีชมพูอมแดง มีฐานรองดอกแยกเป็น 5 แฉกและมีขนคลุม ดอกยาว 0.67- 0.95 เซนติเมตร มี 67-130 ดอกต่อช่อ ฝักรูปทรงกระบอก กลม มีขนยาว 1-2 มิลลิเมตรคลุมหนาแน่น ปลายฝักมีติ่งหนามแหลมแข็งยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ฝักยาว 1.85- 2.01 เซนติเมตร กว้าง 0.2- 0.3 เซนติเมตร มี 76-120 ฝักต่อช่อ ฝักแก่แตกเป็นสองซีก เมล็ดสีน้ำตาลรูปกรวย

แหล่งที่พบและเก็บรวบรวมพันธุ์ พบขึ้นอยู่ทั่วไปในพื้นที่โล่ง ป่าละเมาะ ดินเหนียวปนลูกรัง ดินเหนียว เช่น เขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เขตอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ( LP 38 )

คุณค่าทางอาหาร ส่วนใบรวมก้านใบและยอดอ่อน อายุประมาณ 45 วันก่อนมีดอก มีค่า โปรตีน 15.95 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใย 22.08 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 6.21 เปอร์เซ็นต์ เถ้า 8.90 เปอร์เซ็นต์คาร์โบไฮเดรท (NFE) 46.86 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใยส่วน ADF 26.27 เปอร์เซ็นต์ NDF 33.18 เปอร์เซ็นต์ ลิกนิน 4.91 เปอร์เซ็นต์

การใช้ประโยชน์ ระยะก่อนออกดอกเป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติสำหรับแทะเล็มของโค กระบือ ยาพื้นบ้านอีสาน ใช้ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม บำรุงโลหิต สับเป็นท่อนๆวางไว้ที่ปากไหปลาร้า ป้องกันหนอนขึ้น ( จิรายุพินและคณะ , 2542)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...