วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

ครามเครือ

ครามเครือ

วงศ์ LEGUMINOSAE - PAPILIONOIDEAE
Indigofera hendecaphylla Jacq.
ชื่อสามัญ ครามเครือ (เชียงใหม่) ; จ๊าผักชี (เชียงใหม่) ; โสนนก (นครสวรรค์)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์และเกษตร เป็นพืชอายุค้างปี ต้นทอดแผ่คลุมดิน (semi-prostrate) ต้นสูง 11.76-20.74 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 1.85-2.65 มิลลิเมตร การจัดเรียงตัวของใบแบบขนนกเรียงสลับ (alternate) รูปร่างใบย่อยแบบใบหอก (lanceolate) ขนาดเล็ก โคนใบสอบปลายใบเรียวแหลม ใบยาว 2.63-3.23 เซนติเมตร กว้าง 0.24-0.36 เซนติเมตร หลังใบมีขนปกคลุมจำนวนมากกว่าหน้าใบ สีใบเขียวเข้ม ผิวใบค่อนข้างนูนเล็กน้อย ขอบใบเรียบ (entire) หูใบแบบหนาม (spinous) สีเขียวอมม่วง ลำต้นสีเขียวอมม่วงค่อนข้างเหนียว ลำต้นและก้านใบมีขนละเอียดสั้นประมาณ 1 มิลลิเมตรคลุมอยู่ปานกลาง ออกดอกเดือน พฤษภาคม – พฤศจิกายน ช่อดอกแบบช่อกระจะ (raceme) ช่อดอกออกตามซอกใบ ช่อยาว 3.49-7.05 เซนติเมตร ช่อดอกค่อนข้างแน่น ดอกรูปดอกถั่ว สีชมพู-ส้ม มี 30-47 ดอกต่อช่อ ฝักรูปกลม ยาว 2.63-3.47 เซนติเมตร กว้าง 0.2-0.3 เซนติเมตร มี 5-14 ฝักต่อช่อ ฝักแก่ไม่แตก

แหล่งที่พบและเก็บรวบรวมพันธุ์ พบขึ้นอยู่ทั่วไปในพื้นที่ค่อนข้างโล่ง ดินทราย เช่น เขตบ้านหนองแวง อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น (PC 291)

คุณค่าทางอาหาร ต้นถั่วอายุประมาณ 45 วัน ระยะเริ่มออกดอก มีค่าโปรตีน 14.45 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใย 25.05 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 1.27 เปอร์เซ็นต์ เถ้า 10.9 เปอร์เซ็นต์ คาร์โบไฮเดรท(NFE) 48.33 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใยส่วนADF 32.44 เปอร์เซ็นต์ NDF 41.66 เปอร์เซ็นต์ ลิกนิน 8.28 เปอร์เซ็นต์

การใช้ประโยชน์ เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติ สำหรับแทะเล็มของโค-กระบือ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...