วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

เผือก

เผือก (Dasheen)

ชื่ออังกฤษ : Dasheen, Eddoe, Japanese Taro, Taro

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์


เผือก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โคโลคาเซีย เอสคูเบนตา (แอล) ชอตต์ (Colocacia esculenta (L) Schott) อยู่ในตระกูลอะราเซีย (Aracea) ที่ทราบมีเผือกอยู่กว่า ๒๐๐ พันธุ์ ในเมืองไทยนั้นมีหลายพันธุ์เช่นกัน พืชอีกชนิดหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า เผือก หนังสือพันธุ์ไม้แห่งประเทศไทย เล่ม ๑ ของกรมป่าไม้เรียกว่า ลกกะเซีย (lok-ka-sia) และมีชื่ออื่น ๆ อีก เช่น ยัวเทีย (yautia) และแทนเนีย (tannia) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แซนโทโซมา ซากิตทิโฟลเลียม (Xanthosoma sagittifollium) ลกกะเซีย เป็นเผือกหัวเล็ก เนื่องมาจากหัวที่เป็นแกนใหญ่ไม่สะสมแป้ง จึงใช้เฉพาะส่วนหัวแขนงเท่านั้น เผือกเป็นพืชมีอายุอยู่ได้หลายฤดู ลำต้นใต้ดินเจริญเติบโตกลายเป็นหัว และมีหัวเล็ก ๆ ล้อมรอบ หัวมีขนาดและรูปร่างต่างกันออกไป ปกติต้นสูง ๐.๔-๒ เมตร ใบใหญ่เป็นรูปหัวใจ มีขนาดสีต่าง ๆ กัน ใบเกิดจากใต้ดิน ดอกปกติประกอบด้วย ๒-๕ ช่อดอก อยู่ในก้านใบ ช่อดอกมีก้านยาว ๑๕-๓๐ ซม. ดอกบานทยอยกันเรื่องๆ ดอกตัวเมียมักจะไม่มี ดอกตัวผู้หนึ่งดอกมีก้านเกสรตัวผู้ ๒-๓ อัน ผลมีสีเขียว เปลือกบาง ไม่ค่อยมีเมล็ดเท่าที่ทราบเผือกที่ปลูกในฮาวาย นิวกินี และโดมินิกัน สามารถติดเมล็ดได้ จังหวัดที่ปลูกมาก ได้แก่ ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชัยนาท สมุทรสาคร รองลงไป ได้แก่ ภาคใต้ ปลูกมากในจังวัดสงขลา สุราษฎร์ธานี ชุมพร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปลูกมากในจังหวัดบุรีรัมย์ มหาสารคาม ส่วนภาคเหนือปลูกเผือกน้อยกว่าภาคอื่น ๆ ปลูกมากในจังหวัดน่าน
เผือกในเมืองไทยเท่าที่มีผู้จำแนกไว้มี ๔ ชนิด ได้แก่
๑. เผือกหอม เป็นชนิดหัวใหญ่ หนักหัวละประมาณ ๒-๓ กก. มีหัวเล็กติดอยู่กับหัวใหญ่เล็กน้อย ต้มรับประทานมีกลิ่นหอม กาบใบใหญ่สีเขียว
๒. เผือกเหลือง หัวขนาดย่อม หัวสีเหลือง
๓. เผือกไม้หรือเผือกไหหลำ หัวมีขนาดเล็ก
๔. เผือกตาแดง ที่ตาของหัวมีสีแดงเข้มมีหัวเล็ก ๆ ติดอยู่รอบหัวใหญ่ เป็นกลุ่มจำนวนมาก กาบใบและเส้นใบสีแดง

ฤดูกาลปลูกเผือก

เผือก ขึ้นได้ทั้งในที่ดินที่มีความชุ่มชื้นสูง ที่ลุ่ม และในที่ดอน น้ำไม่ท่วม จึงมีการปลูกเผือกในพื้นที่ทั้งสองประเภท ในที่ลุ่มยังสามารถ ปลูกเผือกได้ทั้งในน้ำเหมือนปลูกข้าว กับปลูกบนดินที่ชื้นแต่ไม่มีน้ำขัง การปลูกในน้ำคล้ายการทำนาปฏิบัติกันมากในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา (ฮาวาย) ประเทศไทยไม่นิยม พวกที่ปลูกในที่ลุ่มริมแม่น้ำลำคลอง น้ำท่วมในหน้าน้ำนั้น หลังจากน้ำลดแล้วจึงทำการ ปลูกเผือกได้ประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และจะไปเก็บก่อนที่น้ำจะท่วมในปีต่อไป ในราวเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม พวกที่ ปลูกในที่ราบน้ำไม่ท่วม และไม่มีการให้น้ำชลประทาน ปลูกโดยอาศัยน้ำฝน ต้องปลูก ต้นฤดูฝน ประมาณเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน

การเลือกที่และการเตรียมดิน


เผือก ชอบขึ้นในที่ที่มีอุณหภูมิประมาณ ๒๑-๒๗ องศาเซลเซียส ต้องการน้ำฝนประมาณ ๑,๗๕๐-๒,๕๐๐ มม. ต่อปี ถ้าปริมาณน้ำฝนน้อยต้องมีการให้น้ำ เผือกขึ้นได้ในดินหลายชนิด ชอบดินที่มีหน้าดินลึก ระบายน้ำดี ดินร่วน มีระดับน้ำในดินสูงมี pH ๕.๕-๖.๕
การเตรียมดินเพื่อปลูกเผือก ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่จะปลูก ในรายที่ปลูกในที่ลุ่มเตรียมดินทันทีหลังจากน้ำลด โดยการไถคล้ายไถนา การเตรียมดินใช้จากน้ำลด โดยการไถคล้ายไถนา การเตรียมดินใช้แรงสัตว์มากกว่าใช้แทรกเตอร์ ตากดินไว้ประมาร ๑ เดือน จึงขุดกลับดินและย่อยดินให้ละเอียดเหมือนการเตรียมดินปลูกผัก ทำการยกร่องสูง ๓๐-๔๐ ซม. ห่างกัน ๗๐-๑๐๐ ซม ถ้าปลูกในนา คล้ายปลูกข้าวก็ไม่ต้องยกร่องเตรียมดินเหมือนเตรียมดินทำนา ในที่ดอนน้ำไม่ท่วม เตรียมดินต้นฤดูฝนประมาณ เดือน พฤษภาคม-มิถุนายน อาจใช้แทรกเตอร์ช่วยในการเตรียมดินได้ ไถ ๑ ครั้ง พรวน ๑-๒ ครั้ง ทำร่องลึก ๓๐ ซม เป็นแถวห่างกัน ๔๐-๖๐ ซม. การใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมช่วยให้เผือกเจริญงอกงามและผลผลิตสูง

วิธีการปลูกเผือก

โดยทั่วไปเผือกไม่มีเมล็ดการขยายพันธุ์ทำโดยใช้หัวเล็ก ๆ อีกวิธีหนึ่งใช้ยอดหรือส่วนบนของหัวเหมือนจุดสับปะรด การปลูกโดยใช้ หัวเล็ก ๆ ได้ปริมาณมากกว่า แต่การปลูกโดยใช้ส่วนบนของหัวขึ้นดีกว่า และได้ผลผลิตดีกว่า การปลูกในนาแบบปลูกข้าวควรใช้ยอด การปลูกด้วยหัวเล็ก ๆ จะต้องชำหัวเล็ก ๆ เหล่านี้ในแปลงที่เตรียมไว้อย่างดีให้งอกเสียก่อนวางหัวเรียงเป็นแถว เอาตาขึ้นข้างบน กลบด้วย ดินละเอียดพอมิดหัวเผือก แล้วคลุมด้วยฟางหนาประมาณ ๒-๕ ซม. รดน้ำให้ชุ่มทุกวันประมาณ ๑๐-๑๕ วัน เมื่อแตกยอดยาว ประมาณ ๑๐-๑๕ ซม. ย้ายลงปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ ปลูกโดยวางหัวเล็ก ๆ หรือยอดของหัวลงในหลุมที่เตรียมไว้ ลึกประมาณ ๑๐-๑๕ ซม. หลุมละ ๑-๒ หัว กลบดินพอมิดหัวเผือก ไม่กลบจนเต็มหลุม หลังปลูก ถ้าเป็นฤดูฝนไม่ต้องรดน้ำ ถ้าเป็นฤดูแล้งหรือไม่มีฝนต้องรดน้ำจนกว่าต้นเผือกจะตั้งตัว ถ้าปลูกในนาควรใช้ยอดและปลูกลึก ๑๗-๒๕ ซม. โดยทั่วๆ ใช้ระยะปลูก ๖๐x๖๐ ซม. จะถี่หรือห่างกว่านี้ก็ได้ เช่น ระยะแถว ๖๐-๑๒๐ ซม. ระยะหลุม ๔๐-๖๐ ซม. แล้วแต่ชนิดเผือกหัวเล็กหรือหัวใหญ่

การกำจัดวัชพืช

การกำจัดวัชพืชเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง หลังจากปลูกจะต้องมีการกำจัดวัชพืชประมาณ ๓-๔ ครั้ง หลังจากกำจัดวัชพืชทุกครั้ง ต้องพรวน ดินระหว่างแถวและกลบโคนต้นเผือกขึ้นมาเรื่อย จนกระทั่งดินเต็มหลุม ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา (ฮาวาย) ยากำจัดวัชพืช ใช้ได้ผล สำหรับประเทศไทยยังไม่มีกรศึกษาในเรื่องนี้ กสิกรส่วนใหญ่กำจัดวัชพืชด้วยแรงงาน ในระยะที่ต้นเผือกเจริญเติบโต จะมี หัวเล็ก ๆ เกิดรอบหัวใหญ่ ถ้าต้องการให้มีหัวขนาดใหญ่ควรตัดหัวเล็กรอบๆ ทิ้ง ใช้เสียมหรือมีดตัดไม่ให้ถูกต้นเดิม

การใส่ปุ๋ย
การปลูกเผือกส่วนใหญ่ปลูกที่ลุ่ม ดินมีความอุดมสมบูรณ์ จึงไม่สู้จำเป็นที่จะต้องใส่ปุ๋ยควรใส่ปุ๋ยคอกกันบ้างโดยใส่รองก้นหลุม และ ผสมน้ำรดเพื่อให้ผลผลิตสูง ในต่างประเทศมีการใส่ปุ๋ยกันโดยใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ปริมาณ ๗-๑๓ กก./ไร่ ฟอสฟอรัสปริมาณ ๒-๔ กก./ไร่ และโพแทสเซียมปริมาณ ๘-๑๕ กก./ไร่ โดยประมาณ

การให้น้ำ
ถ้าปลูกเผือก ในหน้าฝนไม่ต้องรดน้ำ แต่ในหน้าแล้งต้องให้น้ำตามความจำเป็น มักจะให้น้ำจนกว่าต้นเผือกตั้งตัว

โรคและแมลง

โรคที่เป็นมากแก่เผือก ที่ปลูกในที่ลุ่ม ได้แก่ โรคโคนเน่า (soft rot) สำหรับเผือกที่ปลูกในที่ดอนมีโรคหัวเน่า (tuber rot) อีกโรค หนึ่งที่เป็นกับเผือกทั่วไป ได้แก ใบจุด (leaf spot)แมลงที่พบทำลายเผือกได้แก่ เพลี้ยอ่อนทำลายใบ

การเก็บหัวและรักษา

เผือก มีอายุแตกต่างกัน ตั้งแต่ ๖-๑๐ เดือนทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่ปลูกเผือกหอม ที่ปลูกกันมากในประเทศไทย มีอายุประมาณ ๖ เดือน เมื่อใบเริ่มเหลือง เหี่ยว แสดงว่าหัวเผือกเริ่มแก่ เก็บหัวได้ การเก็บหัวใช้วิธีถอนขึ้นทั้งต้น หรือใช้เสียมหรือจอบขุด มักขุดในระยะ ที่ไม่มีฝน ขุดขึ้นมาแล้วตัดใบและราก ทิ้งเหลือแต่หัว ล้างให้สะอาดส่งตลาด ถ้าไม่ตัดยอดจะเก็บได้นานกว่าเมื่อตัดยอด หัวเผือก มีน้ำหนักหัวละประมาณ ๑-๓ กก. ถ้าต้องการเก็บรักษาหัวเผือกให้นานไม่ควรตัดยอดทิ้ง จะต้องเก็บในที่แห้ง อากาศถ่ายเทสะดวก หัวที่เก็บไว้ควรเป็นหัวที่ไม่มีบาดแผล อาจเก็บได้นาน ๔-๖ เดือน การเก็บในห้องเย็น ๑๐ องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้นานถึง ๖ เดือน ผลผลิตของเผือกแตกต่างกันตามพันธุ์ที่ปลูก โดยเฉลี่ยให้ผลผลิตประมาณ ๑-๒.๕ ตัน/ไร่ ถ้าบำรุงรักษาดี มีการให้น้ำ ให้ปุ๋ย ผลผลิตอาจถึง ๔ ตัน/ไร่




จากเว็บ http://www.vegetweb.com/


กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...