วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2553

ละมุด

การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์

อาณาจักร Plantae

ส่วน Magnoliophyta

ชั้น Magnoliopsida

อันดับ Ericales

วงศ์ Sapotaceae

สกุล Manilkara

สปีชีส์ M. zapota

ชื่อวิทยาศาสตร์
Manilkara zapota (L.) P. Royen

ละมุด เป็นต้นไม้ผลขนาดกลาง ไม่สลัดใบ สูงประมาณ ๑๕-๒๐ เมตร ต้นแผ่กิ่งก้านสาขาแข็งแรง กิ่งเหนียวไม่หักง่าย เมื่อต้นยังไม่แก่ เปลือกจะเรียบมีสีน้ำ ตาลอ่อน มียางสีขาวอยู่ทั่วทุกส่วนของลำต้น ซึ่งยางของละมุดนี้มีประโยชน์สำหรับทำไคเคิลกัม (Chicle gum) หรือชิวอิ่งกัม (Chewing gum) ใช้ทำหมากฝรั่ง เมื่อต้นแก่เปลือก จะแยกแตกออกจากกัน ใบมีสีเขียวเข้มค่อนข้างแข็ง หนา เรียบ รูปรี ปลายใบแหลมเล็กน้อย ยาว ประมาณ ๑๐-๑๕ เซนติเมตร กว้าง ประมาณ ๓-๗ เซนติเมตร ด้านบนใบเป็นมัน ใต้ท้องใบสีเขียวอ่อน ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ เปลือกผลบาง มีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อมีทั้งกรอบและนิ่ม ผลขณะยังดิบอยู่จะมียางสีขาว แต่เมื่อสุกจะไม่มียาง และเนื้อผลจะมีสีน้ำตาลปนแดง เมล็ดมีลักษณะแข็งสีดำเป็นมัน รูปร่างยาวเรียวประมาณ ๔ เซนติเมตร ในผลหนึ่ง ๆ มีเมล็ดประมาณ ๒-๖ เมล็ด

ละมุดที่ปลูกกันอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่ใน ประเทศไทย มี 2 ชนิด คือ


1. ละมุดไทยหรือละมุดสีดา มีลักษณะทรงพุ่มโปร่ง โคนใบเรียว ปลายใบมนผลมีขนาดเล็ก อีกชนิดหนึ่งคือ ละมุดฝรั่ง มีอยู่หลายพันธุ์คือ พันธุ์มะกอก เป็นละมุดผลใหญ่ เนื้อนิ่มช้ำง่าย ติดผลไม่ค่อยดก ใบยาวรี แคบ สีเขียวเข้มเป็นมัน ผลสุกมีสีน้ำตาลอมขาว มีเนื้อผลแข็งและกรอบ พันธุ์ไข่ห่าน ปลายใบยาวรี ปลาย ใบแคบ สีเขียวอ่อน ขนาดผลใหญ่ใกล้เคียงกับพันธุ์มะกอก ผลสุกเนื้อในค่อนข้างหยาบแต่ไม่แข็งกรอบ พันธุ์กระสวย มีขนาดผลเล็ก รูปร่างยาวรี ก้นผลแหลม ผลสุกมีเนื้อสีแดง รสหวาน ให้ผลดก ปัจจุบันไม่นิยมปลูก

2. พันธุ์ฝาชี ผลสุกมีลักษณะคล้ายฝาชี ผิวของผลมีขุย เนื้อผลสุก หยาบ และไม่หวาน จึงไม่เป็นที่นิยมปลูก ปัจจุบันนิยมปลูกพันธุ์มะกอกและไข่ห่าน การปลูกและดูแลรักษา การขยายพันธุ์นิยมใช้วิธีตอนกิ่งและเพาะเมล็ด กิ่งตอนจะให้ผลเมื่ออายุครบ 3 ปี ส่วนการเพาะเมล็ดให้ผลเมื่ออายุ 6 ปี หลังจากตัดกิ่งตอนจากต้นแม่ ควรชำไว้ในถุงเพาะชำ พักไว้ในโรงเรือน 1-2 เดือน ก่อนนำไปปลูกในแปลง ระยะปลูกใช้ระยะ 8x8 เมตร หลุมปลูกขนาดกว้างและลึก 30 เซนติเมตร เท่ากัน คลุกดินล่างกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 1 ปุ้งกี๋ คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วเกลี่ยลงหลุม

ปลูกกิ่งตอนหรือต้นกล้าและกลบดินให้แน่น รองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟตหรือโดโลไมต์ จะทำให้ต้นละมุดเจริญเติบโตได้ดี ปักหลักผูกติด กับต้นกันลมพัดโยก รดน้ำพอชุ่ม ถ้าต้องการให้อัตรา การตายต่ำควรปลูกในต้นฤดูฝน ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นไป ครบ 3 ปี กิ่งตอนเริ่มให้ผลผลิต ละมุดออกดอกระหว่างเดือนมิถุนายนจนถึงกรกฎาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนธันวาคม จนถึงเดือนมกราคม อายุ 3 ปี ให้ผล 100-200 ผลต่อต้น หลังเก็บเกี่ยวผลแล้วควรตัดแต่งกิ่งที่แห้งและเป็นโรค เผาทำลายทิ้ง ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง ต้นฤดูและปลายฤดูฝน พร้อมปุ๋ยคอกเก่าอีก 1-2 ปุ้งกี๋ ต่อต้น หากฝนไม่ตกต้องรดน้ำตามทันที ปีที่ 4-6 จะให้ 300-500 ผลต่อต้น และปีที่ 7-10 ให้ผล 600-900 ผลต่อต้น

ศัตรูสำคัญของละมุดคือ หนอนเจาะลำต้น เป็นตัวอ่อนของแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง ตัวเต็มวัยมีความยาว 3-5 เซนติเมตร ปีกมีสีดำและสีเหลืองส้มคาดกลางปีก วิธีป้องกันกำจัด ให้หมั่นตรวจดูแลต้นละมุดในสวน วิธีเก็บผลให้เขย่ากิ่งเบา ๆ รองรับด้วยสวิง รวบรวมผลได้ตามต้องการ ล้างน้ำให้สะอาด วางกระจายในร่มบนแคร่ไม้ให้แห้ง บ่มให้สุกในตุ่ม ที่รองก้นด้วยใบตอง วางผลละมุดเป็นชั้น ๆ เกินครึ่งตุ่มเล็กน้อย ปักธูปที่จุดแล้วจำนวน 10 ดอก คลุมด้วยผ้าหรือกระสอบที่ปากตุ่ม ครบ 2 คืน ละมุดจะสุกพร้อมกัน นำผลออกจำหน่ายได้




ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 มิถุนายน 2551



กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...