วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ผักหวานป่า

ลักษณะของผักหวานป่า
ผักหวานป่า เป็นไม้พุ่มยืนต้นสูง 5-10 เมตร อายุหลายปี กิ่งและลำต้นมีใบประดับขนาดเล็ก ลำต้นสีน้ำตาลอ่อน ผิวขรุขระ ใบสีเขียวเข้ม ฐานใบเป็นรูปลิ่ม ก้านใบสั้น ช่อดอกเกิดตามกิ่งแก่ หรือตามลำต้นที่ใบร่วงไปแล้ว แตกกิ่งก้านคล้ายช่อดอกมะม่วงหรือดอกลำไย ดอกมีขนาดเล็กเป็นตุ่มสีเขียวอัดกันแน่นเป็นกระจุกผลเป็นผลเดี่ยว ติดกันเป็นพวง เมล็ดมีลักษณะคล้ายพุทรา ส่วนที่ใช้บริโภคคือ ยอดอ่อน

แหล่งที่ผลิตผักหวานป่า
ผักหวานป่าเป็นพืชที่ไม่ชอบแดดจัด ไม่ชอบน้ำมาก ชอบที่โล่ง ดินร่วนปนทราย พบมากตามภาคตะวัน-ออกเฉียงเหนือ บริเวณที่สูงเชิงเขาป่า เชิงเขา หรือป่าโปร่ง แหล่งที่ผลิตเป็นการค้า ได้แก่ จังหวัดลำพูน เชียงใหม่และสกลนคร
การขยายพันธุ์ผักหวานป่า
ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง เพาะชำ ไหล เพาะเมล็ด

การปลูกผักหวานป่า แบ่งได้ 3 วิธีคือ
1. การตอนกิ่ง การตอนกิ่ง ของผักหวานป่าใช้เวลานาน คือประมาณ 3เดือนขึ้นไป ผักหวานป่าจะออกรากสีน้ำตาล วิธีนี้มีข้อดีคือ กิ่งที่ได้จะมีขนาดใหญ่ตามความต้องการ
2. การเพาะ่ชำ โดยการขุดไหลผักหวานป่าที่เกิดจากต้นแม่หรือตัดรากผักหวานป่าที่อยู่ในดินซึ่งเป็นราก ที่ขยายจากต้นแม่เป็นท่อน ๆ ยาวประมาณท่อนละ 5-6 นิ้ว นำไปเพาะชำประมาณ 1 เดือนจะเริ่มแตกกิ่งและยอด
3. การเพาะเมล็ด นำเมล็ด พันธุ์ผักหวานป่าที่แก่เต็มที่ ขูดเนื้อหุ้มเมล็ดทิ้ง และขัดล้างน้ำให้สะอาด แช่น้ำแยกเมล็ดที่ลอยน้ำทิ้ง นำเมล็ดที่จมขึ้นผึ่งให้สะเด็ดน้ำ คลุกด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อรากันรา นำใส่กระด้งหรือตะแกรง คลุมด้วยกระสอบป่านที่ชุบน้ำหมาด ๆ เก็บในที่ร่วม 2-3 วัน เมื่อเปลือกเมล็ดเริ่มแตก นำไปเพาะในถุงพลาสติก ไม่ควรเจาะถุงพลาสติกด้านล่าง เพราะรากจะแทงลงดิน กดเมล็ดให้จมเสมอผิวดิน นำไปไว้ใต้ร่มเงาพรางแสง 40-50% เมื่อผักหวานป่าอายุ 2 เดือนครึ่ง ต้นผักหวานป่าจะสูงประมาณ 5-10
เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยเกร็ดสูตร 15-15-15 ผสมน้ำฉีดพ่นทุก 2 อาิทิตย์เมื่อกล้าผักหวานป่าอายุได้ 3-4 เดือน สามารถย้ายปลูกได้ในช่วงนี้รดน้ำให้น้อยลงและให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดที่ เพิ่มขึ้นทีละน้อย ละลายปุ๋ยโปแตสเซียมไนเตรท ความเข้มข้นไม่เกิน2% รดต้นกล้าก่อนย้ายปลูกประมาณ 2 อาทิตย์ และงดให้น้ำ 1 วัน ก่อนย้ายปลูก ควรเตรียมหลุมปลูกในช่วงเดือนเมษายน โดยขุดหลุมปลูกขนาด 20×20x20 เซนติเมตร ระยะปลูก 2×2 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักครึ่งปี๊บผสมกับหน้าดิน ฉีกหรือถอดถุงกล้าผักหวาน ระวังอย่าให้ดินแตกและรากขาด วางต้นกล้าลงกลางหลุมให้ต้นกล้าสูงกว่าปากหลุมประมาณ 5 เซนติเมตร แล้วพูนดินกลบโคนโดยรอบ ควรใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว โดยหว่านกระจายโดยรอบโคนต้นรัศมี 20 เซนติเมตร ต้นละปี๊บ ในช่วงฤดูฝนปีละครั้ง ไม่ควรใช้จอบขุดพรวนรอบโคนต้น

การกำจัดวัชพืช
ใช้วิธีถอน หรือใช้มีดฟันให้ราบ เมื่อผักหวานป่าเจริญเติบโตเต็มที่ก็เริ่มทำการตัดแต่ง โดยหักปลายกิ่งแขนงทิ้งไว้ให้เหลือยาว 15-20 เซนติเมตร และรูดใบแก่บางส่วนทิ้งไว้ให้เหลือติดกิ่งละ 3-4 ใบ พร้อม ๆ กับการให้น้ำพอดินชื้น เพื่อให้แตกยอด หลังการตัดยอดออกจำหน่าย ให้ใส่ปุ๋ยคอกต้นละ 1-2 ปี๊บ หว่านรอบโคนต้นแล้วรดน้ำ

การทำผักหวานป่าออกนอกฤดู
ให้ริดใบทิ้ง ช่วงยอดและใบอ่อนก็จะแตกใหม่ ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม ควรปล่อยให้ต้นพักตัว

โรคแมลงที่สำคัญ
หอยทาก มีลักษณะเปลือกบางสีขาว จะอาศัยอยู่ตามพื้นดินที่มีความชุ่มชื้น จะเข้าำไปกัดกินยอดอ่อน ใบอ่อนและต้นอ่อน ในระยะต้นกล้า ถ้ามีมากจะทำความเสียหายได้ การป้องกันกำจัดใช้ส่าเหล้ารด 2-3 วันต่อครั้ง ใช้ปูนขาวโรยโดยรอบแปลงเพาะกล้า เพื่อป้องกันหอยจะเข้ามาทำลายต้นกล้าที่เพาะไว้

การเก็บเกี่ยวผักหวานป่า
เมื่อผักหวานมีอายุ 3 ปี จะเริ่มให้ผลผลิต ตัดยอดอ่อนที่แตกออกยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร มาบริโภคหรือจำหน่าย

การย้ายต้นกล้าผักหวานป่าแบบล้างราก
เนื่องจากในปัจจุบันพบว่า มีการจำหน่ายต้นกล้าเพาะเมล็ดจำนวนมาก ซึ่งมีปัญหาในการขนส่ง เนื่องจากน้ำหนักมากและเปลืองพื้นที่ จากผลการทดลองหาแนวทางส่งกล้าให้ได้จำนวนมากขึ้น และมีอัตราการชำรอดสูงอาจทำได้ ดังนี้
1. เพาะต้นกล้าในแปลงที่ทำด้วยอิฐก่อขนาด 1 x 5 เมตร ลึก 60 ซม. ใช้วัสดุเพาะดินลูกรัง ทรายหยาบ และปุ๋ยหมักอัตราส่วน 1:1:1 หรือ 1:1:2 โดยปริมาตร ร่อนด้วยตะแกรงตาถี่ครึ่งเซนติเมตรผสมกัน คลุมแปลงเพาะให้ได้รับแสงประมาณ 40-50%
2. เมื่อกล้าผักหวานป่างอกสูงประมาณ 5-10 ซม. หรือก่อนการส่งกล้าให้ลูกค้าประมาณ 2 อาทิตย์ ให้เริ่มกระตุ้นให้ต้นกล้าแข็งแรงเช่นเดียวกับก่อนการย้ายปลูกลงหลุม
3. เมื่อครบกำหนดให้ขุดต้นกล้าออกจากแปลง ระวังอย่าให้รากขาด ล้างดินออกจากรากให้สะอาด โดยใช้สายยางฉีดน้ำพร้อมกับตัดส่วนเหนือดินทิ้งให้เหลือตอสูงประมาณ 5 ซม.
4. นำต้นกล้าที่ล้างรากและตัดต้นทิ้งแล้วไปแช่ในน้ำยากันรา ประมาณ 15-20 นาที นำขึ้นผึ่งพอหมาด
5. นำกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ซึมซับน้ำได้ดี มาแบ่งเป็นคู่ ๆ ซ้อนกัน 2 ชั้น โรยด้วยขุยมะพร้าวชื้น หรือแกลบดำที่ปราศจากเชื้อโรค (อาจเตรียมได้โดยการอบหรือนึ่ง หรือราดด้วยน้ำยากันรา ก่อนนำมาใช้) ให้เป็นแถบยาวบาง ๆ ความกว้างของแถบเท่ากับ ความยาวของรากต้นกล้า ต้องระวังวัสดุที่ใช้อย่าให้แฉะ
6. นำกล้าผักหวานป่าประมาณ 50 กล้า วางเรียบบนแถบวัสดุรักษาความชื้น อย่าให้กล้าซ้อนกัน
7. ม้วนกระดาาหนังสือพิมพ์ห่อต้นกล้าให้เป็นแท่งกลมพอหลวม ๆ เหมือนห่อโรตี ปิดหัวท้ายห่อ ฉีดด้วยยากันราให้กระดาษเปียกพอหมาด ๆ
8. บรรจุในถุงพลาสติกที่เจาะรูระบายอากาศ ปิดปากหลวม ๆ แล้วบรรจุลงกล่องกระดาษลูกฟูกซึ่งเจาะรูด้านข้างและกั้นเป็นช่อง ๆ ภายในด้วยกระดาษลูกฟูก โดยวางในแนวตั้งพอหลวม ๆ
9. ผนึกภายนอกลังตรงรอยต่อด้วยเทปกระดาษ โดยเว้นช่องระบายอากาศไว้แล้วนำไปส่งไปรษณีย์
10. การส่งแบบล้างรากเช่นนี้ ต้นกล้าจะทนทานได้นานประมาณ 8-10 วัน โดยมีอัตราการรอดตายสูง 80% ทั้งนี้เมื่อได้รับต้นกล้าแล้วต้องรีบชำทันที และเลี้ยงในสภาพแสง 40-50% พร้อมกับให้ชื้นอย่างสม่ำเสมอในระยะแรกๆ
11. หลังย้ายชำแล้วอาจราดด้วยสารสตาร์ทเตอร์ ซึ่งมีขายทั่วไปในท้องตลาดตามอัตราที่แนะนำในฉลาก
12. ข้อพึงระวังในการส่งกล้าแบบนี้ จะต้องระวังเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ และรากต้องไม่ขาด การห่อและการบรรจุลังต้องไม่แน่นเกินไปและต้องเจาะช่องระบายอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...