วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

ลองกอง

การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์

อาณาจักร Plantae

ส่วน Magnoliophyta
ชั้น Magnoliopsida

อันดับ Sapindales

วงศ์ Meliaceae

สกุล Lansium

สปีชีส์ L. domesticum

ชื่อวิทยาศาสตร์ Lansium domesticum Corrêa
ลักษณะโดยทั่วไป

ลองกอง เป็นไม้ผลที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน ดังนั้นสภาพอากาศที่ปลูกลองกองควรมีอากาศร้อนและชุ่มชื้น อุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส ความชื้นในอากาศ 70-80% ปริมาณน้ำฝน 2000-3000 มิลลิเมตรต่อปี ระดับความสูงน้อยกว่า 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ดินควรเป็นดินร่วนปนทรายมีอินทรียวัตถุสูง มีการระบายน้ำดี และต้องมีแหล่งน้ำเพียงพอที่จะให้กับลองกองตามเวลาที่ต้องการ

การปลูก
ลองกองสามารถปลูกด้วยต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ดโดยตรง หรือต้นกล้าที่เปลี่ยนยอดแล้ว การเปลี่ยนยอดทำได้หลายวิธี คือ การเสียบยอด การเสียบข้าง การทาบกิ่ง และติดตา ก่อนปลูกลองกอง ควรเตรียมพื้นที่วางระบบน้ำ และปลูกพืชให้ร่มเงาให้เรียบร้อย

การเตรียมต้นกล้า
ต้นกล้าที่ใช้ควรมีอายุตั้งแต่ 1 ปี สมบูรณ์แข็งแรง ใบยอดคู่สุดท้ายแก่เต็มที่ ก่อนปลูกค่อย ๆ งดน้ำและปุ๋ย และเพิ่มแสงให้มากขึ้นทีละน้อย

การปรับพื้นที่
ควรขุดตอและรากไม้เก่าออกให้หมด ไถตากดินไว้ 10-15 วัน แล้วปรับพื้นที่ให้เสมอ

การวางระบบน้ำ
การปลูกลองกองเป็นการค้า จำเป็นต้องมีระบบน้ำ ควรใช้ระบบพ่นฝอย (มินิสปริงเกลอร์)

ระยะปลูก
ถ้าปลูกแซมกับพืชอื่นระยะปลูกที่ใช้ขึ้นกับพืชหลัก (พืชประธาน) ถ้าปลูกเป็นพืชเดี่ยว ควรใช้ระยะระหว่างต้น 4-6 เมตร และระหว่างแถว 6-8 เมตร พืชที่ให้ร่มเงา
ปลูกในสวนที่ปลูกลองกองพืชเดี่ยว เช่น กล้วย ยอป่า ทองหลาง แคฝรั่ง และสะตอ เป็นต้น และควรมีพืชบังลม เช่น กระถิน ไผ่ และสน รอบ ๆ สวนด้วย การเตรียมหลุมปลูก ขึ้นกับสภาพของดิน และการวางระบบน้ำ
- กรณีที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ การขุดหลุมไม่จำเป็นต้องทำ หลังจากกำหนดแนวและจุดปลูกแล้วให้โรยหินฟอสเฟต 500 กรัม (ประมาณ 1.5 กระป๋องนมข้น) พรวนคลุกกับหน้าดินให้เข้ากัน
- ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ควรขุดหลุม
ขนาด กว้าง ลึก และยาว ด้านละ 50 ซม. ใส่ปุ๋ยคอก 1 ปี๊บ และหินฟอสเฟต 1.5 กระป๋องนมข้น คลุกกับดินที่ขุดหลุมแล้วกลบคืนลงในหลุม 2ใน3 ของหลุม ฤดูปลูก
ควรปลูกต้นฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) แต่ถ้ามีน้ำรดเพียงพอก็สามารถปลูกในฤดูร้อนได้

การดูแลรักษา

การปฏิบัติดูแลหลังจากปลูก
หลังจากปลูกควรมีวัสดุคลุมโคน เช่น ฟางข้าว แกลบ ใบกล้วย หรือทางมะพร้าว และทำร่มเงาโดยใช้ตาข่ายพรางแสง ทางมะพร้าว หรือปาล์มน้ำมัน

การให้น้ำ
ควรให้อย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ฝนทิ้งช่วง

การใส่ปุ๋ย
ควรใส่ทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี หว่านปุ๋ยบริเวณใต้ทรงพุ่มโดยรอบ ห่างจากโคนต้นประมาณ 20-30 ซม. และพรวนดินกลบ และใส่หลังจากตัดแต่งกิ่งและกำจัดวัชพืช ปริมาณที่ใส่ขึ้นกับอายุและขนาดของต้น
ปีที่ 1: ใส่ปุ๋ยคอก 5 กก./ต้น ปุ๋ย 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตรา 150-200 กรัม/ต้น
ปีต่อ ๆ ไป (ยังไม่ให้ผลผลิต) ใส่ 2 ครั้ง/ปี ต้นและปลายฤดูฝน โดยใส่ปุ๋ยคอก 15-50 กก./ต้น/ครั้ง และปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 0.5-3.0 กก./ต้น/ครั้ง โดยใช้ระยะจากโคนต้นถึงชายพุ่ม 1.0 เมตร ใส่ปุ๋ย 1.0 กก.
ระยะที่ให้ผลผลิตแล้ว ควรใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 3-5 กก./ต้น แต่ถ้าการแตกใบอ่อนไม่สม่ำเสมอ หรือแตกช้า ควรพ่นด้วย 46-0-0 อัตรา 100 กรัม/น้ำ 20 ลิตร.

การตัดแต่งกิ่ง
ควรตัดแต่งกิ่งแห้ง เป็นโรค และกิ่งกระโดงออก

การป้องกันกำจัดโรคและแมลง

การกำจัดวัชพืช
ควรใช้วิธีการตัด หรือถาก ขุด หรือถอน หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี
แมลง
- หนอนชอนใต้เปลือกผิว ป้องกันกำจัดโดย
1. ใช้ไส้เดือนฝอยพ่น ความหนาแน่น 2,000 ตัว/น้ำ 1 มล. จำนวน 3-5 ลิตร สำหรับต้นเล็ก และ 5-7 ลิตร สำหรับต้นใหญ่ ต้องพ่นตอนเย็น (หลัง 5 โมงเย็น) และพ่นน้ำเปล่าให้ต้นลองกองเปียกก่อนจึงจะพ่นไส้เดือนฝอย
2. ขุดผิวเปลือกออก แต่ต้องเป็นบริเวณที่ไม่มีตาดอก
3. ใช้ศัตรูธรรมชาติ เช่น มดง่าม กระแต กระรอก และตัวห้ำ
- แมลงวันทอง ป้องกันกำจัดโดยใช้สารฟีโรโมนล่อ พ่นสารยีสต์โปรตีนไฮโดรไลซีส ใช้กับดักกาวเหนียว และการห่อผล เป็นต้น
- ผีเสื้อมวนหวาน เข้าทำลายเมื่อผลลองกองสุก แก้ไขโดยใช้หลอดไฟล่อแมลง กรงกับดัก การรมควันไล่ และการห่อผล เป็นต้น
- เพลี้ยแป้ง ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยไวท์ออย


โรคที่สำคัญ ได้แก่
- โรคราดำ เกิดจากเชื้อรา เชื้อราจับที่ผลทำให้ผลมีสีดำ คล้ายเขม่าติดอยู่ ระบาดมากในสภาพอากาศแห้ง และเย็น ป้องกันกำจัดโดย พ่นด้วยกำมะถันผง หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ และเมื่อผลโตพ่นด้วยคาร์เบนดาซิม
- โรคราแป้ง ระบาดในสภาพอากาศชื้น เชื้อราปกคลุมบริเวณขั้วผล และกระจายไปทั่วผล คล้ายแป้งสีขาว ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยกำมะถันผง และคาร์เบนดาซิม
- โรคราสีชมพู ทำให้ใบและยอดแห้งตาย มีราสีขาวแกมชมพูเจริญรอบกิ่งที่ตายและเปลือกล่อนจากกิ่งป้องกันกำจัดโดย ตัดแต่งกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ และกิ่งที่ตายออก ทำให้ทรงพุ่มโปร่ง แล้วพ่นด้วย แมนโคเซป หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์

การตัดแต่งช่อดอก
ควรทำในระยะที่ช่อดอกยาว 5-10 ซม. (สัปดาห์ที่ 3-5) ตัดให้เหลือ 1 ช่อต่อหนึ่งจุด (โดยให้แต่ละช่อห่างกัน 10-15 ซม.) แล้วเลือกตัดช่อบริเวณปลายกิ่งที่มีขนาดเล็ก (เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 3 ซม.) ช่อที่ชี้ขึ้นบน ช่อที่สั้นและไม่สมบูรณ์ออก จำนวนช่อต่อต้นขึ้นกับขนาดทรงพุ่ม อายุ ความสมบูรณ์ ของต้น

การตัดแต่งช่อผล
ควรทำเมื่อผลมีอายุ 2-3 สัปดาห์ หลังดอกบานตัดช่อที่มีผลร่วงมาก ช่อที่ผลเจริญเติบโตช้า และควรตรวจช่อผลถ้าหากมีผลแตก หรือผลที่แคระแกร็นควรเด็ดออก เพื่อให้ผลในช่อมีขนาดสม่ำเสมอ






กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...