วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

มะปราง

การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์

อาณาจักร พืช (Plantae)

อันดับ Sapindales

วงศ์ Anacardiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาตร์

ชื่อสามัญ Maprang, Marian plum

ชื่อวิทยาศาสตร์ Bouae burmanica Griff.

วงศ์ Anacardiaceae

ถิ่นกำเนิด พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย

ลักษณะทางพฤกษศาตร์

มะปรางเป็นไม้ผลเมืองร้อน ไม้ยืนต้นที่มีผู้รู้จักแพร่หลาย มีผลคล้ายฟองไข่นกพิราบ เมื่อดิบมีสีเขียวอ่อน เมื่อแก่มีสีเหลือง มีทั้งรสเปรี้ยว รสหวาน และรสเปรี้ยวอมหวาน (ขุนเกษตร สันทัด) ผลแก่ช่วงมีนาคม-เมษายน

ส่วนต่าง ๆ ของมะปรางมีลักษณะดังนี้

ลำต้น มะปรางเป็นไม้ผลที่มีทรงต้นค่อนข้างแหลม มีกิ่งก้านสาขาค่อนข้างทึบต้นโตมีขนาดสูง 15-30 เซนติเมตร มีรากแก้วแข็งแรง

ใบ มะปรางเป็นไม้ผลที่มีใบมาก ใบเรียว ขนาดใบโดยเฉลี่ยกว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 14 เซนติเมตร ปีหนึ่งมะปรางจะแตกใบอ่อน 1-3 ครั้ง

ดอก มะปรางจะมีดอกเป็นช่อ เกิดบริเวณปลายกิ่งแขนง ช่อดอกยาว 8-15 เซนติเมตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ (เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน) ดอกบานจะมีสีเหลือง ในไทยออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

ผล มีลักษณะทรงกลมรูปไข่และกลม ปลายเรียวแหลม มะปรางช่อหนึ่งมีผล 1-15 ผล ผลดิบมีสีเขียวอ่อน-เขียวเข้มตามอายุของผล ผลสุกมีสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม เปลือกผลนิ่ม เนื้อสีเหลืองแดงส้มออกแดงแล้วแต่ชนิดพันธุ์ รสชาติหวาน-อมหวานอมเปรี้ยว หรือเปรี้ยว-เปรี้ยวจัด

เมล็ด มะปรางผลหนึ่งจะมี 1 เมล็ด ส่วนผิวของกะลาเมล็ดมีลักษณะเป็นเส้นใย เนื้อของเมล็ดทั้งสีขาวและสีชมพูอมม่วง รสขมฝาดและขม ลักษณะเมล็ดคล้ายเมล็ดมะม่วง หนึ่งเมล็ดเพาะกล้าได้ 1ต้น (นรินทร์,2537 ; สรัสวดี และปฐพีชล,2531)

พันธุ์มะปราง

แบ่งตามลักษณะพฤกษศาตร์แบ่งได้ 3 ชนิด

1. Bouae microphylla มะปรางที่มีใบเล็ก มีรสเปรี้ยว มะปรางป่าหรือมะปริงทางภาคใต้ พวกนี้มีรสเปรี้ยวผลเล็กสำหรับทางภาคใต้นั้นมักนำมาบริโถคผลดิบ ใช้ตำน้ำพริก ใส่แกงส้ม หรือเอามาจิ้มกับมันกุ้ง มะปริงมีขึ้นอยู่ทั่วไปทางภาคใต้

2. Bouae macrophylla มะปรางใบใหญ่ ขนาดใบเกือบเท่าใบมะม่วง เป็นพันธุ์ต่างประเทศ มีการปลูกในแถวแหลมมลายู เท่านั้น

3. Bouae burmanica มะปรางที่ปลูกกันโดยทั่วไป เรียกมะปรางบ้านหรือมะปรางสวน

มะปรางที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ คือกลุ่มของ Bouae burmanica แบ่งตามลักษณะของรสชาติแบ่งได้ 3 ชนิด

1.มะปรางเปรี้ยว หมายถึง มะปรางที่ออกผลมีรสเปรี้ยวจัด แม้แต่ผลสุกก็ตาม มีทั้งผลเล็กและผลโต ชาวสวนเรียกว่า กาวาง การใช้ประโยชน์โดนการนำไปแช่อิ่มหรือดอง

2.มะปรางหวาน มีผลขนาดเล็กถึงใหญ่ เรียกรวม ๆว่า มะปราง เป็นมะปรางหวานนั้นเอง มะปรางต้นที่มีชื่อที่สุดคือต้นในวังสระประทุม และมะปรางหวานที่ ต. ท่าอิฐ อ. ปากเกร็ด จ. นนทบุรี (มะปรางท่าอิฐ)

3.มะยง สามารถแยกได้ 2 ชนิด คือพวกที่มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เรียกว่า มะยงชิด และพวกที่มีรสหวานอมเปรี้ยวมากเรียกว่า มะยงห่าง (สรัสวดี และปฐพีชล,2531)

ข้อแตกต่างมะปรางกับมะยง

มะปราง

สีผล
ดิบ สีเขียวออกซีดผลใส
สุก สีเหลืองอ่อน

รสชาติ
ดิบ รสมันทานได้
สุก รสหวานสนิท

ยาง
มียางอยู่ในส่วนของผล ซึ่งรบกวนหลอดอาหาร ทำให้ระคายคอ

มะยง

สีผล

ดิบ สีเขียวจัดกว่ามะปราง
สุก สีเหลืองแกมส้ม

รสชาติ
สุก รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เปรี้ยวอมหวาน

ยาง
ไม่มียางอยู่ในส่วนของผล

พันธุ์มะปราง

มะปรางที่ปลูกในไทยมีทั้งประเภทผลเล็ก ผลใหญ่ รสเปรี้ยว รสหวาน และหวานอมเปรี้ยว (มะยง) ในด้านชื่อพันธุ์มะปราง ส่วนใหญ่เกษตรกรจะรียกชื่อพันธุ์ตามแหล่งที่ปลุก ตามชื่อเจ้าของสวน ตามลักษณะของผล ตามลักษณะของรสชาด มีหลากหลายพันธุ์ เนื่องจากมะปรางมีหลายพันธุ์ มีทั้งต้นที่ขยายพันธุ์มาจากต้นเพาะเมล็ด และจากการขยายพันธุ์จากต้นกิ่งทาบ พันธุ์มะปรางที่น่าสนใจปลูกมีดังนี้

มะปรางหวาน

พันธุ์ท่าอิฐ เนื้อหนา เมล็ดน้อย รสหวานสนิท ผลรูปไขค่อนข้างยาวรี ผลกว้าง 3.8 เซนติเมตร ยาว 6.1 เซนติเมตร จำนวนผลประมาณ 20-25 ผล/กิโลกรัม มีความหวาน 17.1 % Brix เนื้อสีเหลืองส้ม (Yellow Orange 22-A) เมล็ดหนา 0.9 เซนติเมตร ต้นอยู่ที่ท่าอิฐ อ.ปาเกร็ด จ.นนทบุรี

พันธุ์ลุงชิด มะปรางหวาน ผลใหญ่ เนื้อหนา เมล็ดเล็ก ขนาดผลกว้าง 3.7 เซนติเมตร ยาว 6.2 เซนติเมตร จำนวนผลประมาณ 18-20 ผล/กิโลกรัม มีความหวาน 17.2 % Brix เมล็ดหนา 0.9 เซนติเมตร ต้นอยู่ที่สวนนายชิด ต.ปากแคว อ.เมือง จ.สุโขทัย

พันธ์ทองใหญ่ มะปรางหวาน ผลใหญ่ เนื้อหนา ขนาดผลกว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 5.6 เซนติเมตร จำนวนผลประมาณ 18-20 ผล/กิโลกรัม มีความหวาน 17.2 % Brix เนื้อสีส้ม (Orange 24-A) เมล็ดหนา 1.0 เซนติเมตร ต้นเดิมอยู่ที่สวนผู้พันทองคำ ต.ไม้เก็ด อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี

พันธุ์สุวรรณบาท มะปรางหวาน ผลใหญ่ เนื้อหนา รสหวานสนิท ขนาดผลกว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 7.2 เซนติเมตร จำนวนผลประมาณ 18-20 ผล/กิโลกรัม มีความหวาน 17.8 % Brix เนื้อสีเหลืองส้ม เมล็ดหนา 0.6 เซนติเมตร ต้นเดิมอยู่ที่สวนนางระเบียบ หาญสวธา ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

พันธุ์ลุงพล มะปรางหวาน ผลใหญ่ ต่างจากชนิดอื่นตรงผิวของผล จะมีริ้วรอยสีขาวเป็นทางยางทั่วผล ขนาดผลกว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 5.3 เซนติเมตร จำนวนผลประมาณ 18-22 ผล/กิโลกรัม มีความหวาน 15.6 % Brix เมล็ดหนา 0.9 เซนติเมตร ต้นเดิมอยู่ที่สวนลุงพล ต.ปากแคว อ.เมือง จ.สุโขทัย

พันธุ์ลุงประทีป มะปรางหวาน ขนาดผลกว้าง 3.6 เซนติเมตร ยาว 5.6 เซนติเมตร จำนวนผลประมาณ 18-22 ผล/กิโลกรัม มีความหวาน 16.2 % Brix เนื้อสีเหลืองส้ม(Yellow Orange 22-A) เมล็ดหนา 1.0 เซนติเมตร เป็นต้นลูกของพันธุ์ลุงชิด ต้นเดิมอยู่ที่สวนลุงประทีป เลิศไกร ต.คลองกระจง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย (นรินทร์,2537)

พันธุ์ไข่ห่าน ผลรูปไข่ มีผลโตสุดประมาณ 11 ผล/กิโลกรัม

พันธุ์อีงอน มีผลยาวกว่าพันธุ์ไข่ห่าน ขั้วผลแหลม ผลโตสุดประมาณ 11 พันธุ์หวาสำลัก มีขนาดผล 18-20 ผล/กิโลกรัม (เคหการเกษตร,2531)

มะปรางยง

พันธุ์มะยงชิดท่าอิฐ รสหวานอมเปรี้ยว ขนาดผลกว้าง 3.9 เซนติเมตร ยาว 6.4 เซนติเมตร จำนวนผลประมาณ 15-18 ผล/กิโลกรัม มีความหวาน 17.4 % Brix เนื้อสีส้ม(Orange 24-A) เมล็ดหนา 1.0 เซนติเมตร ต้นเดิมอยู่ที่ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

พันธุ์มะยงชิดพูลศรี รสหวานอมเปรี้ยว ขนาดผลกว้าง 3.9 เซนติเมตร ยาว 6.2 เซนติเมตร จำนวนผลประมาณ 16-20 ผล/กิโลกรัม มีความหวาน 18.6 % Brix เนื้อสีส้ม(Orange 24-A) เมล็ดหนา 1.0 เซนติเมตร ต้นเดิมอยู่ที่สวนพูลศรี อ.เมือง จ.สุโขทัย

พันธุ์มะยงชิดลุงฉิม รสหวานอมเปรี้ยว ขนาดผลกว้าง 3.9 เซนติเมตร ยาว 6.4 เซนติเมตร จำนวนผลประมาณ 15-18 ผล/กิโลกรัม มีความหวาน 17.4 % Brix เนื้อสีส้ม(Orange 24-A) เมล็ดหนา 1.0 เซนติเมตร ต้นเดิมอยู่ที่สวนลุงฉิม บุญเยี่ยม บางขุนนนท์ บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

พันธุ์พระอาทิตย์ รสหวานอมเปรี้ยว ขนาดผลกว้าง 3.8 เซนติเมตร ยาว 6.2 เซนติเมตร จำนวนผลประมาณ 15-18 ผล/กิโลกรัม มีความหวาน 18.4 % Brix เนื้อสีส้ม ต้นเดิมอยู่ที่สวนนางล้วน เชตุใจ ต.ในเมือง อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พันธุ์มะยงชิดสวนนางระเรียบ ผลใหญ่ รสหวานอมเปรี้ยว ขนาดผลกว้าง 3.8 เซนติเมตร ยาว 6.2 เซนติเมตร จำนวนผลประมาณ 18-22 ผล/กิโลกรัม มีความหวาน 17.6 % Brix เนื้อสีส้ม (Orange 24-B) เมล็ดหนา 0.9 เซนติเมตร ต้นเดิมอยู่ที่สวนนางระเบียบ หาญสวธา ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

พันธุ์มะยงชิดสวนนางอ้อน รสหวานอมเปรี้ยว ขนาดผลกว้าง 4.2 เซนติเมตร ยาว 6.1 เซนติเมตร จำนวนผลประมาณ 15-18 ผล/กิโลกรัม มีความหวาน 17.4 % Brix เนื้อสีเหลืองส้ม (Yellow Orange 22-A) เมล็ดหนา 1.1 เซนติเมตร ต้นเดิมอยู่ที่สวนนางอ้อน จาดยางโทน ต.วัดพริก อ.เมือง จ.พิษณุโลก

พันธุ์ทูลถวาย ขนาดผลกว้าง 4.3 เซนติเมตร ยาว 6.1 เซนติเมตร จำนวนผลประมาณ 15-18 ผล/กิโลกรัม มีความหวาน 17.4 % Brix เนื้อสีส้ม (Orange 24-A) เมล็ดหนา 1.1 เซนติเมตร ต้นเดิมอยู่ที่สวนครูเมือง ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นครนายก

พันธุ์มะยงชิดลุงยอด รสหวานอมเปรี้ยว ขนาดผลกว้าง 3.9 เซนติเมตร ยาว 5.8 เซนติเมตร จำนวนผลประมาณ 18-22 ผล/กิโลกรัม มีความหวาน 17.2 % Brix เนื้อสีส้ม (Orange 24-A) เมล็ดหนา 1.1 เซนติเมตร ต้นเดิมอยู่ที่สวนกำนันสอด ตะฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร

พันธุ์มะยงชิดลุงเสน่ห์ รสหวานอมเปรี้ยว ขนาดผลกว้าง 3.9 เซนติเมตร ยาว 5.7 เซนติเมตร จำนวนผลประมาณ 18-22 ผล/กิโลกรัม มีความหวาน 18.0 % Brix เนื้อสีส้ม (Orange 24-A) ต้นเดิมอยู่ที่สวนลุงเสน่ห์ พลวิชัย ต.ม่านยาว อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย

พันธุ์ดาวพระศุกร์ ผลใหญ่ เนื้อหนา รสหวานอมเปรี้ยว ผลรูปไข่ ขนาดผลกว้าง 3.6 เซนติเมตร ยาว 5.6 เซนติเมตร จำนวนผลประมาณ 20-24 ผล/กิโลกรัม มีความหวาน 16.2 % Brix เนื้อสีเหลืองส้ม (Yellow Orange 24-B) ต้นเดิมอยู่ที่สวนนางล้วน เชตุใจ ต.ในเมือง อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ (นรินทร์,2537)

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

น้ำ และความชื้นสัมพัทธ์ แหล่งที่จะปลูกมะปรางเป็นการค้านั้น ควรมีฤดูฝนสลับกับฤดูแล้ง (หนาวและร้อน) ที่เด่นชัด เพราะในช่วงแล้งเป็นช่วงที่ช่วยให้มะปรางมีการพักตัว ชะงักการเจริญเติบโตทางใบและกิ่ง และช่วงดังกล่าวถ้ามีอุณหภูมิต่ำจะช่วยในมะปรางมีการออกดอกและติดผลดี การปลูกมะปรางควรเลือกพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอ เพราะในระยะที่มีการออกดอกแลติดผลนั้นเป็นช่วงที่มีผลน้อยคือในเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมีนาคม ซึ่งช่วงดังกล่าวต้นมะปรางต้องการน้ำในการเจริญเติบโตของผลและถ้ามีการขาดน้ำทำให้ผลมีขนาดเล็ก ผลร่วงและให้ผลผลิตต่ำ

อุณหภูมิ อุณหภูมิเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการแทงช่อดอก การติดผล และระยะเวลาการสุกของผลมะปราง แหล่งปลูกมะปรางที่ได้ผลดีนั้น ควรมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยตลอดปีอยู่ในช่วง 20-30 องศาเซลเซียส

แสง มะปรางเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ทั้งที่มีแสงแดดรำไร (แสงแดด 50 เปอร์เซ็นต์) จนถึงแสงแดดกลางแจ้ง (แสงแดด 100 เปอร์เซ็นต์)

ความสูงและเส้นละติจูด มะปรางเป็นไม้ผลที่สามารถเจริญเติบโตได้ในความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงความสูงระดับ 1000 เมตร แต่ความสูงที่เหมาะสมในการปลุกมะปรางนั้น ไม่ควรสูงเกิน 600 เมตร ซึ่งถ้าสูงเกินมะปรางจะไม่ออกดอก ให้ผลผลิตต่ำ นอกจากนี้ความสูงของพื้นที่มีอิทธิพลต่อระยะเวลาการออกดอกของมะปราง คือทุก ๆ ความสูง 130 เมตร มะปรางจะออกดอกช้าไป 4 วัน

ดิน มะปรางสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพดินปลุกหลายชนิด แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด ควรเป็นดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์ มีหน้าดินลึก มีความเป็นกรด-ด่างอยู่ระหว่าง 5.5-7.5

การเตรียมดินและการปลูกมะปราง

การขุดหลุมหลังจากเตรียมพื้นที่เรียบน้อยแล้ว

ให้ขุดหลุมกว้าง 75 เซนติเมตร ลึก 100 เซนติเมตร อย่างน้อยสุด 50 เซนติเมตร (1 ศอก) แยกดินเป็น 2 ส่วน ชั้นบนและชั้นล่าง ตากดินไว้ 15-20 วัน จากนั้นนำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกมาใส่ในหลุม ๆ ละ 2-3 ปี๊บ ผสมให้เข้ากัน

ระยะปลูก ในพื้นที่ราบหรือที่ดอน ควรใช้ระยะห่างระหว่างต้น 8 เมตร ระหว่างแถว 8 เมตร หรือปลูกแถวชิดระยะ 4 เมตร และแถว 4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ระยะ 8X8 เมตร จะปลูกมะปรางได้ 25 ต้น ระยะชิด 4X4 เมตร จะต้องใช้ต้นพันธุ์ 50 ต้นต่อไร่ ส่วนการปลูกสวนยกร่อง ควรใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 6 เมตร ระหว่างแถว 6 เมตร ปลูกแถวเดี่ยวใน 1 ไร่ปลูกได้ 45 ต้น

การเตรียมต้นพันธุ์

ต้นพันธุ์ควรมีลักษณะแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่มีโรคแมลงรบกวน และมีการชำอยู่ในถุงพลาสติกสีดำ หรืออยู่ในวัสดุเพาะชำอย่างน้อย 2-3 เดือน

การปลูก

ฤดูที่เหมาะสมที่สุดในการปลูกมะปรางควรปลูกต้นฤดูฝน ส่วนเวลาปลูกนั้น ควรปลูกในตอนเช้าหรือตอนเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อน วิธีปลูกให้นำกิ่งต้นพันธ์วางปากหลุม ถ้าเป็นกิ่งทาบควรใช้มีดกรีดพลาสติกที่พันโคนต้นออก แต่ถ้าเป็นกิ่งพันธุ์ที่ชำอยู่ในถุงพลาสติกสีดำ ใช้มีดกรีดด้านข้างก้นถุงโดยรอบ ก้นถุงพลาสติกจะหลุดออก ต่อจากนั้นยกต้นมะปรางไปปลูกลงหลุม กลบดินลงหลุมเล็กน้อย แล้วดึงถุงดำที่เหลือขึ้นมา ใช้มีดตัดออก กลบดินปลูกลงหลุมให้สูงกว่าระดับเดิมเล็กน้อย ใช้มือกดรอบ ๆ โคนต้นให้แน่น นำหลักไม้ไผ่มาปักโคนต้น ผูกต้นมะปรางกับหลักเพื่อกันลมโยก หลังจากนั้นรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ (นรินทร์,2537)

การปฏิบัติดูแลรักษาต้นมะปราง

ในการปลูกมะปรางเพื่อการค้า ผู้ปลุกควรปฏิบัติดูแลรักษามะปรางดังต่อไปนี้

1.การให้น้ำ โดยปกติมะปรางเป็นไม้ผลที่ค่อนข้างทนทานต่อความแห้งแล้ง แต่ถ้ามะปรางขาดน้ำก็จะไม่มีการแตกยอดใหม่ ทำให้มะปรางชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นมะปรางจึงมีความจำเป็นในการใช้น้ำ ในระยะแรกปลูก 2-3 เดือน ควรมีการให้น้ำให้ชุ่มอยู่เสมอเฉลี่ย 3-5 วันต่อครั้ง อายุ 3-6 เดือน ให้น้ำ 7-10 วันต่อครั้ง เว้นแต่ช่วงฝนตกงดการให้น้ำมะปรางที่อายุ 1 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง ควรมีการรดน้ำ 15-20 วันต่อครั้ง (นรินทร์,2537)
ประเภทของน้ำที่ใช้กับต้นมะปรางนั้น น้ำที่ได้มาจากแม่น้ำ, ลำคลอง, หนอง, บึง เมื่อนำมารดจะได้ประโยชน์มากกว่าน้ำบาดาล เพราะมีแร่ธาตุอาหารปนมาด้วย โดยปกติแล้วน้ำที่จะนำมารดให้กับต้นมะปราง ควรมีค่า pH 6.5-7.0 กล่าวคือควรมีสภาพเป็นกลาง (ทวีศักดิ์,2537)

2.การใส่ปุ๋ย มะปรางขึ้นได้ในดินหลายชนิดทั้งดินเหนียว ดินร่วน และดินร่วนปนทราย ถ้าปลูกมะปรางในแหล่งอุดมสมบูรณ์สูง มีธาตุอาหารอย่างพอเพียง ต้นมะปรางจะเจริญได้ดี ปัจจุบันแหล่งดินที่อุดมสมบูรณ์หายาก วิธีที่จะปรับปรุงคุณภาพของดินคือการใส่ปุ๋ยบำรุงดิน (นรินทร์,2537)
ในการใส่ปุ๋ยให้ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยหมักเป็นหลัก ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นรองโดยถือว่า

1.ระยะพืชกำลังเจริญเติบโตควรใช้ปุ๋ยที่มี N-P-K ในสัดส่วน 1:1:1 เช่นปุ๋ยเกรด 15-15-15 เพื่อเสริมสร้างและทดแทนส่วนที่พืชนำไปใช้ในการแตกยอด ใบ กิ่งก้าน

2.ระยะใกล้ออกดอก ควรใช้ปุ๋ยที่มีสัดส่วนของฟอสฟอรัสสูง เช่นปุ๋ยเกรด 8-24-24

3.ระยะที่พืชติดผลแล้ว ให้ใช้ปุ๋ยที่มีธาตุโปแตสเซียม เช่นปุ๋ยเกรด 13-13-21 หรือ 12-17-2 เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต (ฐานเกษตรกรรม,2538)

4.การพรวนดินและคลุมโคนต้น ควรหาฟางข้าวหรือเศษหญ้ามาคลุมบริเวณโคนต้นที่ทำการพรวนดินเพื่อรักษาความชื้น การพรวนดินรอบ ๆ โคนต้นควรทำทุกปี ปีละ 3 ครั้ง คือช่วงต้นฝน ปลายฤดูฝน(ต้นฤดูหนาว) และฤดูร้อน ถ้าเป็นไปได้การพรวนดินและคลุมโคนต้นนั้นควรทำพร้อม ๆ กันกับการใส่ปุ๋ย

5.การกำจัดวัชพืช วิธีป้องกันกำจัดวัชพืชดำเนินการได้หลายวิธี ได้แก่ การถากหญ้ารอบโคนต้น การใช้มีดฟันหญ้า การใช้เครื่องตัดหญ้า การใช้สารเคมีคลุมวัชพืชหรือฆ่าวัชพืช

6.การพรางแสง มะปรางขึ้นได้ทั้งในที่มีแดดรำไรและในแสงแดดจ้า แต่การปลูกในที่พรางแสง จะมีการเจริญเติบโตได้ดีกว่าการปลุกกลางแจ้ง ฉะนั้นการสร้างสวนมะปรางเพื่อการค้า ในระยะ 1-3 ปีแรก ควรมีการปลุกกล้วยเป็นพืชแซม

7.การตัดแต่งกิ่ง ควรมีการตัดแต่งกิ่งมะปราง กิ่งที่หัก กิ่งที่เป็นโรค หรือกิ่งที่แห้งตายออกทุกปีด้วย

8.การตัดแต่งผล มะปรางที่มีการออกดอกเป็นช่อยาว 8-15 เซนติเมตร ในช่อหนึ่งอาจติดผลตั้งแต่ 1-5 ผล ควรมีการตัดแต่งผลมะปรางที่มากเกินไปออก เหลือช่อละ 1 ผล

9.การห่อผล วิธีห่อผล ใช้กระดาษแก้วสีขาวที่ใช้ทำว่าว หรืออาจใช้กระดาษฟางสีขาว พับเป็นถุงเล็ก ๆ นำไปห่อมะปรางตั้งแต่ผลยังเขียว การห่อผลจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง

10.การเก็บเกี่ยว ในการเก็บเกี่ยวมะปรางแต่ละครั้ง ไม่ว่าผลแก่หรือผลอ่อน ควรเก็บเกี่ยวด้วยความระมัดระวัง ถ้าไม่ระวังผลมะปรางอาจจะกระทบกระเทือน ผลจะช้ำ

วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตมะปราง ถ้าต้นไม่สูงควรใช้กระดาษตัดเป็นฝอยปูรองก้นตะกร้าใส่มะปราง แล้วใช้กรรไกรตัดขั้วผล นำมะปรางมาใส่ ถ้าต้นสูงเกินไป ควรใช้บันไดปีน หรือใช้ตะกร้อสอยมะปราง เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จควรนำไปไว้ในที่ร่ม

11.การบรรจุหีบห่อ ควรเก็บมะปรางในที่ร่ม ตัดผลที่มีบาดแผล มีจุดดำ หรือเน่าเสียออก ไม่ให้ปะปนกับผลที่ดี การส่งมะปรางไปขายตามแหล่งใหญ่ ควรมีการห่อผลมะปรางด้วยทิชชูหรือตาข่ายโฟม บรรจุกล่องกระดาษ 1-2 กิโลกรัม เพื่อเพิ่มคุณค่าผลไม้ (นรินทร์,2537)

การขยายพันธุ์มะปราง

มะปรางเป็นไม้ผลที่เติบโตช้า ขยายพันธุ์ได้ยาก และใช้เวลาขยายพันธุ์ยาวนานกว่าไม้ผลที่สำคัญบางชนิด การขยายพันธุ์ที่นิยมกันมาก

การเพาะเมล็ด การขยายพันธุ์วิธีนี้ง่าย และสามารถทำได้จำนวนมาก มีข้อเสียที่มีการกลายพันธุ์ และให้ผลผลิตช้า ประมาณ 7-8 ปี

อุปกรณ์ที่ใช้เพาะเมล็ด

1.เมล็ดพันธุ์มะปรางที่สมบูรณ์

2.ถุงพลาสติกสีดำขนาด 4X7 นิ้ว หรือ 5X9 นิ้ว

3.ดินปลูก ดินร่วนผสมปุ๋ยคอก ขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 3:1:2

4.บัวรดน้ำ

5.ผ้าพลาสติกปูพื้น

6.ปุ๋ยทางใบ

7.สารเคมีป้องกันแมลง

8.เครื่องพ่นสารเคมี

ขั้นตอน

1.ผสมดินปลูก ดินร่วน 3 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 2 ส่วน

2.นำผลมะปรางที่จะเพาะล้างเอาเนื้อออก ผึ่งในร่ม ก่อนเพาะควรนำไปจุ่มสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราก่อน การเพาะควรใช้ไม้ไผ่กลมเล็กแทงลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร แล้วนำเม็ดมะปรางมายอดในแนวนอน กลบเมล็ดด้วยดินเพาะ ประมาณ 5-10 วัน เมล็ดจะงอก

3.เมื่องอกเป็นต้นกล้า ควรมีการรดน้ำ และให้ปุ๋ยทางใบ (นรินทร์,2537)

4.การตอนกิ่ง ควรเริ่มทำการตอนกิ่งช่วงต้นฤดูฝน ควรใช้ขุยมะพร้าวหุ้มดีกว่าใช้ดิน เพราะอุ้มน้ำดีกว่า

วิธีการตอน

1.เลือกกิ่งที่เป็นกิ่งเพสลาด คือผิวเปลือกสีน้ำตาลปนเขียว ลักษณะใบต้องสมบูรณ์ไม่เป็นโรค

2.ควั่นกิ่งตอน โดยหางจากปลายกิ่ง 40 เซนติเมตร โดยเปิดแผลกว้าง 2-3 เซนติเมตร แกะเปลือกออก ขูดเยื่อเจริญออก อาทิ้งแผลไว้ 7 วัน

3.หุ้มกิ่งตอนด้วยขุยมะพร้าว ให้มิดรอยแผล แล้วเอาผ้าพลาสติกหุ้มต้นตออีกขั้นหนึ่ง จากนั้นเอาเชือกรัดหัวท้ายให้แน่นพอควร

4.ทิ้งไว้ 45-55 วัน ก็จะเกิดราก รอจนรากเดินดี จึงตัดไปชำ

5.ชำกิ่งตอน ควรทำในที่ร่มรำไร กิ่งตอนควรเลี้ยง 1-2 เดือน จึงนำไปปลูก อย่าลืมเอาถุงพลาสติกออกก่อนที่จะนำกิ่งลงชำ

3.การทาบกิ่ง เป็นวิธีขยายพันธุ์มะปราง/มะยงชิด ที่เมาะสมที่สุด เพราะมะปรางมีระบบรากแก้วที่แข็งแรง เหมาะที่ทนสภาพแล้งได้ดี การทาบกิ่งนิยมทาบแบบประกบ คือเฉือนต้นกิ่งพันธุ์ดีเป็นแผลยาว 2-3 นิ้ว เฉือนเข้าเนื้อไม้เล็กน้อยเฉียง 30 องศา ต้นตอใช้วิธีตัดยอดออก เฉือนเป็นปากฉลาม นำต้นตอที่เตรียมไว้ สอดเข้าแผลกิ่งพันธุ์ดี ต้นตอควรได้จาการเพาะเมล็ด อายุต้นตอ 1-2 ปี หรือต้นขนาดหลอดกาแฟ (ปฐพีชล,2529)

4.การเปลี่ยนยอด ควรเปลี่ยนยอดในช่วงฤดูฝน ส่วนฤดูอื่นต้องรดน้ำโคนต้นอยู่เสมอ

วัสดุอุปกรณ์

1.กรรไรแต่งกิ่ง

2.มีดตอนที่สะอาด

3.ผ้าพลาสติกใส

4.ถุงพลาสติก

5.ต้นมะปราง ต้นเพาะเมล็ดที่ปลูกในสวนอายุ 1-3 ปี

6.กิ่งหรือยอดพันธ์ดี ที่มีตาที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะเป็นยอดใหม่

7.กิ่งไม้ทำเพิงชั่วคราว บังขณะต่อยอด

วิธีเปลี่ยนยอด

1.ใช้กรรไกรตัดยอดมะปรางพันธุ์ดีที่เราต้องการ มาเปลี่ยนยอดพันธุ์ไม่ดี ที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ตัดยอดพันธุ์ที่จะต่อยาว 7-15 เซนติเมตร ตัดใบออกให้หมด

2.เมื่อถึงที่สวน ใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่ง ตัดยอดต้นมะปรางที่สมบูรณ์ นำใบมีดโกนที่คมและสะอาดผ่ายอดต้นตอเป็นรูปลิ่ม 2-3 เซนติเมตร

3.นำยอดพันธุ์ดีของมะปราง ที่จัดเตรียมไว้แล้ว มาตัดยอดเหลือยาว 5-7 เซนติเมตร แล้วใช้ใบมีดโกนที่คมและสะอาด เฉือนกิ่งพันธุ์ดีทั้งสองด้านเป็นรูปปากฉลาม แผลยาว 2-3 เซนติเมตร แล้วนำไปเสียบบนยอดต้นตอ ในแนวเยื่อเจริญ

4.นำผ้าพลาสติกใสมาพันแผลบริเวณรอยต่อให้สนิท

5.นำซองพลาสติก หรือซองใส่ยามาคลุมบริเวณที่ต่อยอดมะปรางให้เลยรอยแผลเล็กน้อยใช้มือรัดปากถุง

6. หลังจากการเปลี่ยนยอดมะปราง ให้ตัดยอดที่เหลือทิ้งให้หมดเพราะอาหารจะได้มาเลี้ยงยอดใหม่ได้เต็มที่

7. หลังจากเปลี่ยนยอดได้ 30 วัน มะปรางจะมีการแตกใบอ่อนให้เลื่อนปากถุงขึ้นไปข้างบนที่ละน้อยเพื่อให้ยอดมะปรางแทงได้สะดวก และเมื่อเห็นยอดมะปรางปรับตัวเข้ากับอากาศภายนอกได้ดีแล้วให้นำซองยาออกได้ (เคหการเกษตร, 2537)

การวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารของมะปราง

1. พลังงาน 60.0 หน่วย
2. ความชื้น 83.0 เปอร์เซ็นต์
3. โปรตีน 0.8 กรัม
4. ไขมัน 0.1 กรัม
5. คาร์โบไฮเดรต15.7 กรัม
6. เส้นไย
7.แคลเซียม 12.0 มิลลิกรัม
8. ฟอสฟอรัส22.0 มิลลิกรัม
9. เหล็ก 0.9 มิลลิกรัม
10. วิตามิน เอ400 ไอย
11. วิตามิน บี 1 0.04 มิลลิกรัม
12. วิตามิน บี 2 0.04 มิลลิกรัม
13. วิตามิน ซี 107 มิลลิกรัม
14. ไนอาซีน 0.4 มิลลิกรัม










กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...