ชื่อพื้นเมือง : กระถิน กระถินไทย กระถินบ้าน (ภาคกลาง), กะเส็ดโคก กะเส็ดบก (ราชบุรี), ตอเบา สะตอเทศ สะตอเบา (ภาคใต้), ผักก้านถิน (เชียงใหม่), ผักหนองบก (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leucaena leucocephala (Lamk.) de Wit
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE-MIMOSOIDEAE
ชื่อสามัญ : White Popinac, Lead Tree
ลักษณะทั่วไป กระถินเป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ถึงไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 10 เมตร ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขา ใบ ประกอบแบบ ขนนกสองชั้น เรียงสลับ ก้านแขนงสั้น มีขน ใบย่อย เรียงตรงข้าม รูปแถบหรือรูปขอบขนานแกมรูปแถบ ปลายแหลม โคนเบี้ยว ขอบมีขน ท้องใบสีนวล ดอก ออกเป็นช่อ ช่อดอกออกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบ ช่อเป็นฝอยนุ่มมีกลิ่นหอมเล็กน้อย ผล เป็นฝัก ฝักออกเป็นช่อแบนยาว เห็นเมล็ดเป็นจุดๆ ในฝักตลอดฝัก
ประโยชน์ : ใบหมักเป็นปุ๋ย ใบ ยอด ฝัก และเมล็ดอ่อนใช้เป็นอาหารของวัว ควาย แพะ แกะ ไก่ ฯลฯ ยอดอ่อนและฝักอ่อนใช้กินเป็นผักได้ เมล็ดนำมาทำเป็นเครื่องประดับหลายชนิด เช่น สายสร้อย เข็มกลัด เข็มขัด ฯลฯ เปลือกให้เส้นใยสั้นใช้ทำกระดาษได้ แต่คุณภาพไม่ดี พันธุ์ที่ปรับปรุงใหม่เรียกว่ากระถินยักษ์ มีลำต้นสูงกว่าพันธุ์เดิม ปลูกเพื่อกันลมและบังแดดให้แก่พืชที่ปลูก เช่น ชา กาแฟ และใช้ทำฟืน
สรรพคุณทางยา
ดอก รสมัน บำรุงตับ
ราก รสจืดเฝื่อน ขับลม ขับระดูขาว และเป็นยาอายุวัฒนะ
เมล็ด ใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม (ascariasis)
โทษ : สัตว์กระเพาะเดียวที่กินใบกระถินในปริมาณสูงจะทำให้ขนร่วง เป็นหมัน เนื่องจากมีสารพวก leucenine ซึ่งเป็นพิษ แต่ไม่มีรายงานของการเป็นพิษเนื่องจากการกินกระถินเกิดขึ้นในคน มีรายงานว่ากระถินเป็นพืชที่ดูดธาตุซีลีเนียมจากดินมาสะสมไว้ได้มาก จึงทำให้เกิดพิษเนื่องจากธาตุนี้ได้อีก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น