ผักบุ้ง
ในอดีตบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของไทยช่วงปลายฤดูฝนต่อถึงฤดูหนาว (ปลายฝน ต้นหนาว) จะมีน้ำหลากจากภาคเหนือมาท่วมท้องทุ่งนาเป็นปกติทุกปี น้ำจะท่วมอยู่นาน 3-4 เดือน ก็ค่อยๆแห้งลงไป ช่วงนี้เองตรงกับตอนแรกของสำนวนที่ว่า “น้ำท่วมทุ่ง” และเมื่อน้ำท่วมพื้นดินในท้องทุ่งก็จะเกิดพืชหลายชนิดที่เหมาะกับสภาพน้ำท่วมขึ้นงอกงามในท้องทุ่งร่วมกับต้นข้าวที่ชาวนาเพาะปลูกเอาไว้
ในบรรดาพืชที่ขึ้นในน้ำตามธรรมชาตินี้มีผักบุ้งซึ่งเป็นผักยอดนิยมของชาวบ้านขึ้นรวมอยู่ด้วย แทบทุกวันชาวบ้านมักพาย(หรือถ่อ)เรือออกไปในทุ่งเพื่อเก็บผักต่างๆมาประกอบอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือผักบุ้งนั่นเอง ดังนั้นชาวไทยในอดีตจึงเลือกผักบุ้งมาใช้ในสำนวน “น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง”
ปัจจุบันโอกาสที่จะเกิด “น้ำท่วมทุ่ง” จริงๆนั้นยากมาก เพราะมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำในภาคเหนือเอาไว้หลายเขื่อน (และกำลังจะสร้างเพิ่มอีกเรื่อยๆ) คงต้องรอให้เกิดภาวะผิดปกติที่เรียกว่า “อุทกภัย” ในภาคเหนือเสียก่อนนั่นแหละจึงจะเกิดน้ำท่วมทุ่งภาคกลางขึ้นได้ นอกจากนั้นเกษตรกร(รวมทั้งชาวนา)ยังฉีดพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชกันมากขึ้นทุกที ทำให้ผักบุ้งแทบจะสูญหายไปจากท้องทุ่งอยู่แล้ว อนาคตลูกหลานชาวไทยคงไม่มีโอกาสเห็น “น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง” อันเป็นที่เกิดของสำนวนนี้เป็นแน่
ผักบุ้ง : ผักของบุ้ง?
เชื่อว่าชาวไทยส่วนใหญ่รู้จักผักบุ้งดีกว่าผักชนิดอื่นๆ แต่หากถามว่าทำไมจึงมีชื่อว่าผัก “บุ้ง” หลายคนคงนึกไม่ออก นอกจากนั้นหลายคนคงไม่รู้จัก “บุ้ง” ด้วย เพราะคนไทยปัจจุบัน(โดยเฉพาะคนในเมือง)มีไม่มากนักที่มีโอกาสรู้จักและพบเห็น “บุ้ง” ซึ่งเป็นตัวหนอนผีเสื้อชนิดหนึ่ง มีขนยาวเป็นอาวุธป้องกันตัว ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์(พ.ศ.2516) อธิบายว่า “บุ้ง : เป็นชื่อสัตว์ตัวเล็กอย่างหนึ่ง ตัวมันเท่าด้ามปากกา(ขนไก่) สั้นสักนิ้วเศษๆ ตัวเป็นขน คนถูกมันเข้าให้บวมแลคันนัก”
บุ้งก็เช่นเดียวกับหนอนผีเสื้ออื่นๆ คือกินยอดอ่อนและใบไม้เป็นอาหาร สำหรับบุ้งคงจะชอบใบผักบุ้งเป็นพิเศษ ชาวบ้านคงพบบุ้งที่ผักบุ้งมากกว่าที่อื่น จึงตั้งชื่อผักชนิดนี้ว่า “ผักบุ้ง” ไปด้วย
หนังสืออักขราภิธานศรับท์อธิบายผักบุ้งเอาไว้ว่า “เป็นต้นผักเกิดในน้ำแลในที่ลุ่มๆ ไม่มีน้ำบ้าง เขาเก็บเอามาต้มแกงแลดองกินกับข้าวนั้น”
ผักบุ้งนับว่าเป็นพืชที่ปรับตัวเข้ากับสภาพน้ำได้ดีมาก จนได้ชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Ipomoea aquatica Forsk. จะเห็นว่าชื่อชนิด(species)คือ aquatica หมายถึงน้ำหรือชอบขึ้นในน้ำนั่นเอง ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษคือ Water cabbage(หรือผักกาดน้ำ) ก็เน้นเกี่ยวกับน้ำเช่นเดียวกัน
ผักบุ้งเป็นพืชจำพวกเถาเลื้อย ลำต้นกลมเป็นปล้อง ข้างในกลวงคล้ายลำไผ่ ปล้องที่กลวงนี้ช่วยให้ผักบุ้งลอยอยู่ในน้ำได้ดี ใบและยอดแตกออกตามข้อ(รวมทั้งราก) ก้านใบยาวกลวง ใบลักษณะคล้ายหัวลูกศร ดอกบานเป็นปากแตร กลีบดอกสีม่วงหรือขาว(ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) ผลกลมขนาดเล็ก ในลำต้นและก้านใบมียางสีขาว ผักบุ้งมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเขตร้อนน้ำท่วมขังของทวีปเอเชีย ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย ชาวไทยจึงรู้จักคุ้นเคยกับผักบุ้งมาแต่โบราณกาล
บริเวณที่ราบลุ่มซึ่งไม่แห้งแล้งเกินไปจะพบผักบุ้งขึ้นตามธรรมชาติอยู่ทั่วไป ชาวชนบทที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง นิยมนำผักบุ้งมามัดเป็นแพลอยอยู่ในแม่น้ำลำคลองบริเวณชายตลิ่ง เพื่อเอาไว้เก็บมาบริโภคโดยไม่ต้องไปเก็บไกลบ้าน แพผักบุ้งช่วยป้องกันคลื่นจากเรือที่ผ่านไปมามิให้กระแทกเซาะดินที่ตลิ่งอีกด้วย นอกจากนั้นบริเวณใต้แพผักบุ้งยังมีสัตว์น้ำหลายชนิดชอบมาอาศัย เช่น ปลา กุ้ง หอย เจ้าของผักบุ้งสามารถจับมาเป็นอาหารได้ตลอดปี
ผักบุ้งในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ คือ ผักบุ้งไทยและผักบุ้งจีน ผักบุ้งไทยคือผักบุ้งสายพันธุ์ธรรมชาติที่ขึ้นเองหรือชาวบ้านนำมามัดเป็นแพลอยอยู่ตามแม่น้ำลำคลอง ผักบุ้งไทยลำต้นมีสีเข้ม เขียวอมม่วง ทนทานแข็งแรง มียางมากกว่าพันธุ์ผักบุ้งจีน
ผักบุ้งจีนเป็นพันธุ์ที่นำมาจากต่างประเทศ ปัจจุบันผลิตเมล็ดได้เองในประเทศไทย นิยมปลูกเป็นการค้า ลำต้นค่อนข้างขาว ใบสีเขียวอ่อน ดอกสีขาว มียางน้อยกว่าผักบุ้งพันธุ์ไทย เกษตรกรปลูกผักบุ้งพันธุ์จีนขายเป็นส่วนใหญ่
ผักยอดนิยม : เพียบพร้อมด้วยรสชาติและคุณค่า
ชาวไทยรู้จักนำผักบุ้งมาประกอบอาหารตั้งแต่โบราณกาล นับได้ว่าเป็นผักสำหรับคนทุกระดับชั้น ตั้งแต่เศรษฐีไปจนถึงยาจก เพราะเก็บเอาเองได้โดยไม่ต้องซื้อหา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมีบันทึกในพงศาวดารว่า ครั้งหนึ่งมีการเก็บภาษีผักบุ้งจากราษฎรทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว จนมีผู้ร้องเรียนพระเจ้าแผ่นดิน ในที่สุดภาษีผักบุ้งก็ถูกยกเลิกไป การที่มีบันทึกในพงศาวดารเช่นนี้แสดงว่าผักบุ้งมีความสำคัญต่อชีวิตของคนในสมัยนั้นมาก ยากจะหาผักชนิดใดเปรียบเทียบได้ แม้ในปัจจุบันความสำคัญของผักบุ้งก็มิได้ลดลงแต่อย่างใด
คนไทยใช้ผักบุ้งประกอบอาหารได้หลายชนิด ตั้งแต่กินสดๆ กับน้ำพริก ปลาร้า ส้มตำ ฯลฯ หรือต้มให้สุก ดองเป็นผักดองก็ได้ นำไปแกง เช่น แกงส้ม แกงเทโพ ฯลฯ ก็ดี แต่ตำรับอาหารจากผักบุ้งที่นับว่ายอดนิยมและรู้จักดีที่สุดเห็นจะได้แก่ ผัดผักบุ้งไฟแดงที่มีไฟลุกท่วมกระทะนั่นเอง ยิ่งกว่านั้นร้านอาหารบางแห่งยังคิดค้นวิธีเสิร์ฟผักบุ้งไฟแดงด้วยวิธีพิเศษเรียกว่า “ลอยฟ้า” โดยเหวี่ยงจากกระทะลอยไปหาจาน (ซึ่งมีคนคอยรับ) ห่างออกไปนับสิบเมตรจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก
นอกจากรสชาติแล้วผักบุ้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูงอีกด้วย เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม และฟอสฟอรัส มีสูงกว่าผักชนิดอื่นๆ ทั้งยังมีวิตามินเอและซีมากด้วย คนไทยเชื่อว่าผักบุ้งช่วยบำรุงสายตา(กินผักบุ้งแล้วตาหวาน)น่าจะเป็นความจริง เพราะผักบุ้งมีวิตามินเอและคาโรทีนอยด์ซึ่งเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้อยู่สูง
ประโยชน์ด้านอื่นๆของผักบุ้ง
ผักบุ้งใช้เลี้ยงสัตว์ได้ดี เช่น หมู เป็ด ไก่ กระต่าย และปลา เป็นต้น นอกจากนี้ผักบุ้งยังมีคุณสมบัติด้านสมุนไพรหลายประการ เช่น
น้ำคั้นจากลำต้น(สด) : ทำให้อาเจียน ถอนพิษเบื่อเมาต่างๆ เช่นสารหนู ฝิ่น และพิษงู เป็นต้น
ต้น : ต้มกับเกลือ อมแก้เหงือกบวม(รำมะนาด) ต้มกับน้ำตาล ดื่มแก้ริดสีดวงทวาร และตำสดๆ พอกรักษาริดสีดวงทวาร
ต้นและใบ : ต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาระบาย
ใบ : รสจืดเย็น กินแก้ตาฟาง บำรุงประสาทตา
ดอกตูม : รักษากลากเกลื้อน
ผักบุ้งเป็นผักพื้นบ้านที่ปลูกง่ายที่สุดอย่างหนึ่ง ปลูกได้ทั้งในน้ำ บนดิน และในกระถาง ปลูกครั้งเดียวเก็บได้นานเพราะตัดยอดแล้วงอกใหม่ได้อีกหลายครั้ง โรคแมลงน้อย เมล็ดหาได้ง่าย จึงเป็นผักที่น่าปลูกเอาไว้ในบ้านเรือนเป็นอย่างยิ่ง
เวลาผัดผักบุ้งจะไม่ให้เหลืองต้องทำอย่างไร
ตอบลบ