วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ย่านาง

ชื่อ ย่านาง

วงศ์ MENISPERMACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ Tiliacora triandra Diels

ชื่อพื้นเมือง จอยนาง ผักจอยนาง

ส่วนที่เป็นผัก เถาและใบ (ใช้เป็นเครื่องปรุงรส) คั้นน้ำต้มกับหน่อไม้เพื่อลดรสขื่นขมของหน่อให้มีรสหวาน

ฤดูกาล / รส ตลอดปี-ฤดูฝน / รสจืด

การขยายพันธุ์ หัว เพาะเมล็ด

ประโยชน์ทางยา ราก-แก้ไข้ เช่น ไข้พิษ สุกใส ฝีดาษ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ย่านางเป็นไม้เลื้อย กิ่งอ่อนมีขนอ่อนปกคลุม เมื่อแก่แล้วผิวค่อนข้างเรียบ รากมีขนาดใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกติดกับลำต้นแบบสลับ รูปร่างใบคล้ายรูปไข่หรือรูปไข่ขอบขนานปลายใบเรียว ฐานใบมน ขนาดใบยาว 5 - 10 ซม. กว้าง 2 - 4 ซม. ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 1 ซม. ดอกออกตามซอกโคนก้านใบเป็นช่องยาว 2 - 5 ซม. ช่อหนึ่ง ๆ มีดอกขนาดเล็กสีเหลือง 3 - 5 ดอก ดอกแยกเพศอยู่คนละต้นไม่มีกลีบดอก ผลรูปร่างกลมรีขนาดเล็ก สีเขียว เมื่อแก่กลายเป็นสีเหลืองอมแดงและกลายเป็นสีดำ

การปลูก

ย่านางเป็นพืชที่พบในแหล่งธรรมชาติบริเวณป่าผสมผลัดใบ ป่าดงดิบและป่าโปร่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาคอื่นก็มีกระจายทั่วไป ย่านางเป็นพืชที่ขึ้นในดินทุกชนิดและปลูกได้ทุกฤดู ขยายพันธุ์โดยการใช้หัวและการเพาะเมล็ด
ประโยชน์ทางยา ราก รสจืด สรรพคุณแก้ไขทุกชนิด เช่น ไข้ผิดสำแดง ไข้พิษ ไข้เหนือ ไข้หัวจำพวกเหือดหัด สุกใส ฝีดาษ ไข้กาฬ เป็นยากระทุ้งพิษ

ประโยชน์ทางอาหาร

ส่วนที่เป็นผัก/ฤดูกาล เถาและใบของย่านางนิยมใช้เป็นเครื่องปรุงรส มีมากในฤดูฝนและมีทุกฤดูกาล

การปรุงอาหาร

ชาวอีสานใช้เถาใบอ่อน ใบแก่ ตำคั้นเอาน้ำสีเขียวและนำไปต้มกับหน่อไม้ปรุงเป็นแกงหน่อไม้ หรือซุบหน่อไม้ บางแห่งนำไปแกงกับขี้เหล็กเป็นการปรุงอาหารที่เชื่อว่าย่านางจะช่วยลดรสขื่นขมของหน่อไม้ได้ดี ทำให้หน่อไม้มีรสหวาน อร่อย นอกจากนี้น้ำคั้นจากย่านาง ยังนำไปใส่แกงขนุนแกงอีลอก อ่อมและหมกซึ่งเป็นอาหารอีสานอีกด้วย

รสและประโยชน์ต่อสุขภาพ

รสจืด ใบย่านาง 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 95 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย เส้นใย 7.9 กรัม แคลเซียม 155 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม เหล็ก 7.0 มิลลิกรัม วิตามินเอ 30625 IU วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.36 มิลลิกรัม ไนอาซิน 1.4 มิลลิกรัม วิตามินซี 141 มิลลิกรัม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...