ผักกาดนกเขาเป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่คนทั่วไป นิยมนำมาใช้บริโภคเป็นอาหาร เช่นนำมาประกอบเป็นแกงเผ็ดประเภทแกงพุงปลา (แกงไตปลา) แกงส้ม(แกงเหลือง) และบริโภคเป็นผักเหนาะสำหรับแกล้มแกงเผ็ดและขนมจีน เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของผักกาดนกเขา
ชื่อวิทยาศาสตร์ Emilia sonchifolia DC.
ชื่ออื่น ผักกาดนกเขา มีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายชื่อ เช่น ภาคกลาง เรียกว่าหางปลาช่อน ภาคอีสานเรียก ผักลิ้นปี่ ภาคเหนือเรียก ผักบั้ง
อายุ ผักกาดนกเขา เป็นพืชฤดูเดียว มีอายุสั้น ตั้งแต่งอกจนตายประมาณ 50-60 วัน
ลักษณะของต้น ผักกาดนกเขามีลำต้นขนาดเล็ก ตั้งตรง สีเขียว มีขนอ่อนๆปกคลุม ตลอด ต้นสูงประมาณ 10- 20ซม.
ลักษณะของใบ ใบของผักกาดนกเขา มีลักษณะยาวปลายมน ขอบใบโค้งหยักเล็กน้อย เป็นประเภทใบเดี่ยว เกิดสลับตำแหน่ง-ตรงกันข้าม มีขนอ่อนๆปกคลุมทั่วใบ ก้านใบห่อหุ้มลำต้น หลังใบมีสีเขียวเข้ม ท้องใบมีสีม่วงแดง ส่วนก้านใบและยอดสีเขียวนวล
ลักษณะของดอก ดอกของผักกาดนกเขามีลักษณะ เป็นช่อ ออกปลายยอด ก้านช่อดอกยาว และมีใบเล็ก ๆ ที่ก้านช่อดอก กลีบเลี้ยงยาวเกือบปิดกลีบดอก มีสีเขียว ส่วนกลีบดอกสีม่วงอมชมพูมีเกสรสีขาวฟูเป็นฝอยฝอยคล้ายพู่
ลักษณะของเมล็ด ผักกาดนกเขามี เมล็ดขนาดเล็ก ลักษณะแบนรี สีน้ำตาล อมดำ ตรงปลายมีขนสีขาว และปลิวตามลมได้ง่าย
การขยายพันธุ์ ผักกาดนกเขาขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ฤดูกาลเก็บส่วนขยายพันธุ์ ตลอดปี
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเจริญเติบโต ผักกาดนกเขาในธรรมชาติสามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพพื้นที่ ที่มีแสงแดดส่งถึง ไม่มีน้ำท่วมขัง เช่น ทุ่งนา ทุ่งร้าง และตามไร่สวน เป็นต้น
ประโยชน์ของผักกาดนกเขา
ผักกาดนกเขา เป็นพืชที่มีรสจืดเย็น สามารถใช้ประโยชน์ได้ดังนี้
1.)ประโยชน์ทางอาหาร ยอดอ่อน ใบอ่อนกินเป็นผักเหนาะ จิ้มน้ำพริก แกงเลียง แกงคั่วพริกกับปลาย่าง
2.)ทางยา ในทางการแพทย์พื้นบ้านนิยมใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคหลายประการ ดังนี้
2.1)ใช้ลำต้นตำให้แหลกคั่นน้ำดื่มเป็นยา แก้เจ็บคอ รักษาโรค บิด และ ท้องร่วง
2.2)ใช้ทั้งต้นตำให้แหลกพอกหัวฝี และใช้ทาแก้อาการผื่นคัน
2.3) ใช้รากตำให้แหลกคั่นเอาน้ำดื่ม แก้ตานซางขโมยในเด็ก
คุณค่าทางอาหารจากผักกาดนกเขา
นักวิชาการจากกองโภชนาการกระทรวงสาธารณะสุข ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์คุณค่าทางอาหาร ในผักกาดนกเขา เฉพาะส่วนที่กินได้ ปริมาณ 100 กรัม พบว่า มีคุณค่าทางอาหารค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับขนาดของต้น ผลการศึกษาปรากฏดังรายละเอียดในตารางข้างล่าง
ผลการตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารของผักกาดนกเขา จากส่วนที่กินได้ ใน 100 กรัม
ปริมาณสารอาหาร
พลังงาน 19 หน่วย โปรตีน 1.8 กรัม ไขมัน 0.3 กรัม คาร์โบไฮ
เดรต 2.4 กรัม กาก 0.9 กรัม แคลเซี่ยม 73มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส
43 มิลลิกรัม เหล็ก เล็กน้อย
ที่มา. กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข
คุณค่าของการปลูกผักกาดนกเขา การปลูกผักกาดนกเขา เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าหลายประการ ดังต่อไปนี้
1.คุณค่าต่อการดำรงชีพของมนุษย์ การปลูกผักกาดนกเขาเป็นผลิตพืช อาหารที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีพของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง นั้นคือผักกาดนกเขาเป็นผักที่มีคุณค่าทาง อาหาร และคุณค่าทางสมุนไพร หลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่ในตัวของมันเอง ผู้บริโภคผักกาดนกนอกจากจะได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังได้รับประโยชน์ทางยาอีกด้วย นอกจากนั้นผักกาดนกเขาซึ่งเป็นพื้นพื้นบ้านที่มีความทนทานต่อโรค และแมลงได้ดี การปลูกผักกาดนกเขาจึงเป็นการปลูกที่ปลอดการใช้สารเคมีทุกชนิด
2. คุณค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากผักกาดนกเขาเป็นผักพื้นบ้าน ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในท้องถิ่น การเก็บเมล็ดพันธุ์มาปลูกสามารถหาได้เองโดยไม่ต้องซื้อ ซึ่งเป็นการประหยัดต้นทุนในการผลิตได้เป็นอย่างมาก
3. คุณค่าต่อการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพันธุ์พืช เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันมีพันธุ์พืชหลายชนิดได้สูญพันธุ์ไปจากโลก การปลูกผักกาดนกเขาเป็นการช่วยเก็บรักษาพันธุ์พืชผักพื้นบ้านเอาไว้มิให้สูญพันธุ์
การเลือกพื้นที่ปลูกผักกาดนกเขา
ถึงแม้ว่าผักกาดนกเขาจะเป็นพืชที่สามารถขึ้นได้ดีในทุกสภาพพื้นที่ แต่การปลูกผักกาดนกเขาให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ จึงต้องมีการตัดเลือกพื้นที่ปลูกให้เหมาะสม เช่น ควรเลือกสถานที่ๆเป็นที่ดอนไม่มีน้ำท่วมขัง สภาพดินดี มีแสงแดดส่งถึงทุกเวลา และใกล้แหล่งน้ำ
หลังจากเลือกพื้นที่ที่จะปลูกผักได้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็จะต้องจัดการดายหญ้า ตัดต้นไม้ ที่ไม่ต้องการออก และทำความสะอาดพื้นที่ให้เกลี้ยง ไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนของสัตว์ที่เป็นศัตรูพืช
การเตรียมดิน
การเตรียมดินเป็นสิ่งสำคัญ หากเตรียมไม่ดีจะมีผลกระทบต่อการงอกและการเติบโตของผักที่ปลูกได้ ในการเตรียมดินสำหรับปลูกผักกาดนกเขา ควรปรับสภาพดินให้โปร่ง และร่วนซุย ด้วยการขุดย่อยดินให้ละเอียด และใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกลงไปด้วยเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ในดิน
การเตรียมดินเพาะเมล็ด หรือเพาะกล้า
ด้วยเมล็ดพันธุ์ของผักกาดนกเขา มีขนาดเล็ก ในการเตรียมดินสำหรับเพาะเมล็ดให้ ได้ผลดีจึงควรปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้
1.) ทำการขุด หรือไถดินให้ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร เป็นแปลงรูป
สี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ประมาณ 1 เมตร ยาวตามต้องการ แล้วตากดินไว้ประมาณ 1 สัปดาห์
2.) ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ที่สลายตัวดีแล้ว ลงไปด้วยการโรยปุ๋ยให้ทั่วแปลง
3.) ใช้จอบสับย่อยดินให้ละเอียด พร้อมคลุกเคล้าปุ๋ยให้เข้ากันดินจนทั่วแปลง
4.) เกลี่ยหน้าดินให้เรียบ ยกขอบแปลงให้สูงกว่าทางเดินประมาณ 10 เซนติเมตร
การเตรียมดินปลูก
ผักกาดนกเขาเป็นพืชที่มีระบบรากตื้น การเตรียมดินปลูกจึงควรทำการปรับสภาพ ของดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต เช่นเดียวกับการเตรียมแปลงเพาะเมล็ด ทุกประการ
การเพาะเมล็ดผักกาดนกเขา
เมล็ดพันธุ์ผักกาดนกเขาไม่มีขายในท้องตลาด เกษตรกรผู้ปลูกต้องเก็บ รวบรวมเมล็ดพันธ์จากธรรมชาติ ซึ่งการเก็บเมล็ดพันธุ์ผักกาดนกเขามีหลักการดังต่อไปนี้
1.เลือกเก็บเมล็ดพันธุ์ที่แก่จัด จากต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์มีเป็นโรค และแมลงรบกวน
2. เมล็ดผักกาดนกเขามีขนาดเล็ก ที่ปลายมีขน และปลิวตามลมได้ง่าย จึงควรเก็บในช่วงเวลา ที่ลมสงบ เช่น เช้าตอนเช้าตรู่ หรือตอนเย็น
3. นำเมล็ดพันธุ์ที่เก็บรวบรวมมากระจายใส่ภาชนะที่โปร่งตากให้แห้ง ในร่มประมาณ 1 สัปดาห์
ขั้นตอนการเพาะเมล็ด
การเพาะเมล็ดผักกาดนกเขา ที่เกษตรกรนิยมทำกันมากคือ การเพาะเมล็ดในแปลง
ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้
1.ทำการย่อยดินในแปลงให้ละเอียด แล้วขุดยกแปลงให้สูงจากทางเดินประมาณ 10 เซนติเมตร เก็บเศษไม้เศษหญ้าออกให้หมด ตามขนาดที่ต้องการ
2.ใส่ปุ๋ยคอกเก่า และแห้งลงไปในแปลงเพาะ ใช้จอบสับคลุกเคล้าให้ปุ๋ยเข้ากับดินจนทั่ว แล้วเกลี่ยหน้าดินให้เรียบ
3. นำเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้มาโรยลงในแปลงให้เมล็ดกระจายทั่วแปลง ในการโรยเมล็ดไม่ควรโรยให้สูงจากพื้นดิน และควรทำในตอนเย็นที่ลมสงบ
4. หลังจากโรยเมล็ดพันธุ์เสร็จแล้ว ให้โรยปิดทับหน้าแปลงเพาะบางๆด้วยขี้เถ้า หรือดินร่วนที่ละเอียดอีกครั้งเพื่อช่วยรักษาความชื้น
5.รดน้ำให้ทั่วแปลงเบาๆด้วยบัวรดน้ำหรือสายยาง หรือใช้หัวฉีด พ่นน้ำเป็นละอองฝอย
การดูแลรักษาแปลงเพาะเมล็ด
การรดน้ำ หลังจากหว่านเมล็ดแล้วจะต้องดูแลควบคุมความชื้นในแปลงเพาะอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการรดน้ำด้วยฝักบัวเป็นละอองฝอยอย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง ตามสภาพของอากาศในช่วงเวลานั้นๆ
การใส่ปุ๋ย หลังจากเมล็ดงอกแล้วประมาณ 7-10 วัน ในระยะนี้ควรให้ปุ๋ยเร่งการเจริญเติบและปุ๋ยที่ใช้ควรเป็นปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจนสูง และละลายน้ำได้ดี เช่น ปุ๋ยยูเรีย สำหรับการใส่ปุ๋ยให้ต้นกล้ามักจะใส่ด้วยวิธีละลายน้ำรด โดยใช้ปุ๋ยยูเรียประมาณ 1 ช้อนโต๊ะละลายน้ำ 20 ลิตรรดให้ทั่วแปลง
การกำจัดวัชพืช วัชพืช คือพืชที่ไม่พึงประสงค์ จะงอกแซมขึ้นมาแข่งกับต้นกล้า อาจทำให้ต้นกล้าที่เพาะไว้ชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นจึงต้องกำจัดวัชพืชออกไปให้หมดด้วยการถอนทิ้ง
ถอนแยกต้นกล้า เมื่อต้นกล้างอกแล้วประมาณ 7-10 วัน ควรทำการถอนแยกต้นกล้าที่ไม่สมบูรณ์ และต้นที่งอกชิด ติดกันทิ้ง เพื่อปรับระยะห่างของต้นกล้าให้เหมาะสม และสามารถรับอาหาร แสงแดด ได้ทั่วถึง ซึ่งจะทำให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์ ทนทานต่อโรค
การปลูกผักกาดนกเขา
ผักกาดนกเขา เป็นพืชที่นิยมปลูกด้วยการย้ายต้นกล้า ซึ่งหมายถึงการนำเอาต้นพันธุ์ที่เพาะไว้มาปลูกลงในแปลงปลูก การปลูกด้วยวิธีการย้ายต้นกล้ามีขั้นตอนดังนี้
การคัดเลือกต้นกล้ามาปลูก ต้นกล้าผักกาดนกเขาที่จะนำมาปลูกในแปลง ควรคัดเลือกเอาต้นที่มีใบจริง 3- 4 ใบ หรือมีอายุประมาณ 10-15 วัน และเป็นต้นที่สมบูรณ์ ไม่เป็นโรค และแมลงรบกวน
การถอนย้ายต้นกล้า การถอนย้ายต้นกล้ามาปลูกมีหลักการดังนี้
1.รดน้ำแปลงเพาะกล้าให้ชุ่มก่อนถอนต้นกล้า
2. ถอนด้วยความระมัดระวังให้ต้น ใบ บอบช้ำ และรากขาด
3.เมื่อถอนจากแปลงเพาะแล้วควรนำปลูกทันที
4. การถอนย้ายต้นกล้าไปปลูกควรทำในตอนเย็น
วิธีปลูก และระบบปลูก การปลูกผักกาดนกเขา ให้ได้ผลผลิตดี มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด ควรปลูกเป็นกลุ่ม ซึ่งมีหลักการปลูกดังต่อไปนี้
1.รดน้ำแปลงที่จะปลูกให้ชุ่ม
2. ขุดหลุมปลูกเป็นกลุ่มๆละ5หลุม สำหรับปลูกได้ 5 ต้น เว้นระยะห่างระหว่างกลุ่มประมาณ 15 เซนติเมตร ต่อกันเป็นแถวยาวจนสุดแปลง ระหว่างแถวเว้นระยะห่างกันประมาณ15 เซนติเมตร การปลูกแบบนี้จะได้ผลผลิตที่ดี เป็นที่ต้องการของตลาด
3. เวลาปลูกควรตั้งให้ต้นกล้าตั้งตรงไม่เอียง แล้วกดดินรอบโคนต้นให้แน่นพอสมควร
4. เมื่อปลูกเสร็จควรรีบรดน้ำทันที
5. ควรปลูกในตอนเย็น
การบำรุงรักษาผักกาดนกเขา
การรดน้ำ ผักกาดนกเขาที่ปลูกใหม่ จะต้องรดน้ำให้ชุ่ม และควรทำหลังคาพรางแสงให้สัก 2-3 วัน จะทำให้ผักที่ปลูกตั้งตัวได้เร็ว เมื่อผักกาดนกเขาตั้งตัวได้แล้ว ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น ช่วงเวลาในการให้น้ำที่เหมาะสมของแต่ละวัน คือเวลา 07.00 และ 17.00 น.ของทุกวัน
การพรวนดิน หลังย้ายกล้าปลูกแล้วประมาณ 7-10 วัน ควรทำการพรวนดินรอบโคนต้น เพื่อช่วยให้ดินในแปลงโปร่งขึ้น และช่วยกำจัดวัชพืชไปในตัวได้อีกด้วย ตามปกติการพรวนดินมักจะทำควบคู่ไปกับการใส่ปุ๋ย และกำจัดวัชพืช
การกำจัดวัชพืช วัชพืชที่งอกในแปลงปลูกผักกาดนกเขาจะคอยแย่งน้ำ และธาตุอาหารในดิน ทำให้ผักกาดนกเขาที่ปลูกแคระแกร็น เติบโตช้า และทำให้แปลงผักมีความชื้นสูงอันเป็นต้นเหตุให้ผักกาดนกเขาเป็นโรคได้ง่าย
1.ใส่รองพื้นก่อนปลูก การใส่ปุ๋ยรองพื้นก่อนปลูกผักกาดนกเขานั้นจะใส่เมื่อตอนที่ทำแปลงปลูก ปุ๋ยที่ใช้สำหรับรองพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกผักกาดนกเขาคือปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ไม่นิยมใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งปุ๋ยประเภทนี้จะช่วยปรับสภาพของดินให้มีความโปร่ง ร่วนซุย ช่วยทำให้ต้นกล้าแตกรากไว ตั้งตัวได้เร็ว นอกจากนี้ปุ๋ยคอก และปุ๋ยหมัก ยังช่วยรักษาความชื้นในดินได้อีกด้วย
2. ใส่บำรุง ปุ๋ยที่ใส่เพื่อบำรุงผักกาดนกเขามักใช้ปุ๋ยเคมี และแบ่งใส่เป็น 2 ครั้ง คือครั้งแรกใส่เมื่อหลังจากปลูกไปแล้ว 1 สัปดาห์ และครั้งที่ 2 หลังจากใส่ครั้งแรกผ่านไป 2 สัปดาห์ ปุ๋ยที่ใส่เพื่อบำรุงผักกาดนกเขาในครั้งครั้งนี้ นิยมใช้ ปุ๋ยเคมีสำหรับใส่ผักทั่วไป เช่นปุ๋ยสูตร 13-13-21 ใส่ด้วยการโรยบางๆระหว่างแถว แต่ต้องระวังอย่าให้ปุ๋ยชิดโคนต้นเพราะจะทำให้ผักตายได้ ตามปกติการใส่ปุ๋ยมักจะทำพร้อมๆกับการพรวนดิน และหลังใส่ปุ๋ยแล้วควรรดน้ำตามทันทีเพื่อให้ปุ๋ยละลาย ส่วนครั้งที่ 2 นั้นนิยมใช้ปุ๋ยยูเรียประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะละลายน้ำ 20 ลิตร รดให้ทั่วแปลง
ศัตรูของผักกาดนกเขา
ผักกาดนกเขาเป็นผักพื้นบ้านที่มีความทนทานต่อโรคและแมลง แต่ก็พบว่าผักกาดนกเขา มีศัตรู ที่สำคัญมีอยู่ 2 ประเภท
โรคพืช โรคที่พบบ่อยในผักกาดนกเขาคือโรคโคนเน่า รากเน่า เป็นโรคที่เกิดกับพืชชนิดต่างๆ ทั้งพืชล้มลุกและพืชยินต้น อาการที่สังเกตเห็นมีดังนี้ แรกเริ่มใบจะเป็นสีเหลือง และเ***่ยวตาย ต่อมาจะมีอาการโคน และรากเน่าเปื่อยเป็นสีน้ำตาลอมดำ มีเส้นใยของเชื้อราสีขาวบริเวณโคนต้น
การป้องกัน ที่ใช้ได้ผลดีมาแล้ว คือ
1.ใส่ปูนขาวลงในแปลงปลูก เพื่อปรับสภาพของดินที่เป็นกรดให้เป็นกลาง
2. ไม่ปลูกซ้ำที่เดิม ควรปลูกสลับกับพืชอื่นหมุนเวียน
สัตว์ที่เป็นศัตรู หนอนใยผัก หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า หนอนน้ำค้าง
ลักษณะ ตัวขนาดเล็กหัวแหลม ท้ายแหลม ที่ท้ายมีปุ้มยื่นออกมา 2 แฉก ตอนเล็กสีเขียวอ่อน ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเทาอ่อน และเขียวปนเหลือง
การทำลาย การทำลายของหนอนชนิดนี้ จะกัดกินผิวใบด้านล่างจนเป็นรูพรุน
การป้องกัน ไม่ควรทิ้งผักไว้ในแปลง ให้เป็นแหล่งอาหารของเมล็ด
การเก็บเกี่ยว
ผักกาดนกเขาเป็นพืชที่มีอายุสั้น เก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังจากย้ายกล้ามาปลูกแล้วประมาณ 20 วัน ตามปกติผักกาดนกเขาที่ปลูก 1 แปลงขนาดกว้าง 1 เมตรยาว 4 เมตรจะได้ผลผลิตประมาณ 2-3 กิโลกรัม หรือประมาณ 1200-1800 กิโลกรัมต่อไร่
วิธีการเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวผักกาดนกเขาทำได้ด้วยการใช้มีดคมๆตัดต้นผักให้ชิดผิวดิน แล้วนำมาล้างจนสะอาด ตกแต่งด้วยการตัดเอาใบล่าง และก้านดอกแก่ออกให้หมด มัดเป็นกำๆละ
ประมาณ 0.7 ขีด ผักกาดนกเขา 1 กิโลกรรม แบ่งเป็นกำได้ประมาณ 13 กำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น