วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

มะขามแขก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna alexandrina P. Miller

วงศ์ FABACEAE (LEGUMINOSAE)

ชื่ออังกฤษ Alexandria senna, Alexandrian senna Indian senna, senna, Tinnevelly senna

ลักษณะพืช มะขามแขก เป็นไม้พุ่ม ขนาดเล็ก ใบเป็นใบประกอบคล้ายมะขามไทย แต่รูปร่างยาวเรียว และปลายใบ แหลมกว่า ดอกเป็นช่อสีเหลือง ฝักคล้ายถั่วลันเตา แต่ป้อมและแบนกว่าฝักอ่อนมีสีเขียวใส และเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่

การปลูก มะขามแขก ชอบดินร่วนซุย อุดมสมบูรณ์พอสมควร ไม่สามารถทนน้ำขังได้ รากจะเน่า เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี และมี อายุสั้นเพียง 1-2 ปี จำเป็นต้องปลูกทดแทนต้นเก่าที่โทรมไป

วิธีปลูก ใช้หยอดเมล็ดลงหลุมในระยะแรกควรให้ความชุ่มชื้นเสมอ

การดูแลรักษา ดูแลความชุ่มชื้นในระยะ 1 เดือนแรก กำจัดวัชพืช ปุ๋ยที่ควรให้ เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยไนโตรเจน กำจัดแมลงรบกวน เช่น ด้วงปีกแข็งสีดำ หนอนเขียวข้างเหลือง หนอนเจาะลำต้น

การเก็บเกี่ยว การเก็บใบ ควรตัดยอดเหนือใบแก่ เพื่อให้แตกกิ่งเป็นพุ่มใหญ่ขึ้น เริ่มเก็บใบได้ เมื่อมีอายุ 50 วัน การเก็บฝัก เก็บฝักที่มี
อายุประมาณ 20-23 วัน เพื่อนำไปผึ่งให้แห้ง

ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบแห้งและฝักแห้ง

สรรพคุณยาไทย ใบและฝักใช้เป็นยาถ่าย แต่ใบจะทำให้มีอาการไซ้ท้องมากกว่า

1. สารสำคัญในการออกฤทธิ์เป็นยาถ่าย
มีการศึกษาพบฤทธิ์เป็นยาถ่าย สารที่ออกฤทธิ์ คือ sennoside A และ B, aloe emodin, dianthrone glycoside ซึ่งเป็น anthraquinone glycoside สาร anthraquinone glycoside จะยังไม่มีฤทธิ์เพิ่มการขับถ่ายเมื่อผ่านลำไส้เล็ก เมื่อผ่านเข้าไปในลำไส้ใหญ่ Sennoside A จึงถูก hydrolyze ได้ sennoside A-8-monoglucoside และถูก hydrolyzed โดย bata-glycosidase จากแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ และอุจจาระได้แก่ Bacillus, E. Coli ได้ sennidin A ส่วน sennoside B ก็จะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยกระบวนการเช่นเดียวกันได้ sennidin B ทั้ง sennidin A & B จะเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ และถูกเปลี่ยนต่อไปเป็น rheinanthrone ซึ่งออกฤทธิ์ต่อลำไส้ส่วน colon โดยตรง สารสำคัญนี้จะกระตุ้นกลุ่มเซลล์ประสาทซึ่งอยู่ใต้ชั้น Submucosa ทำให้เกิดการบีบตัวของลำไส้

2. ฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้
มีผู้พบฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ใหญ่ได้ และมีการศึกษาในอาสาสมัคร 12 คน โดยให้ดื่มชาชงมะขามแขก เปรียบเทียบกับการใรับประทานยา erythromycin และทำการถ่ายภาพลำไส้ใหญ่ด้วยวิธี Magnetic Resonance Imaging (MRI) ก่อนและหลังได้รับชาชงหรือยา พบว่ากลุ่มที่ได้รับชาชงมะขามแขกจะทำให้ลำไส้ใหญ่ส่วน colon มีการเคลื่อนไหวมากกว่ากลุ่มที่ได้รับ erythromycin อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

3. การทดลองทางคลินิกใช้รักษาท้องผูก
ทำการศึกษาในผู้ป่วยหลังผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ที่มีอาการท้องผูก จำนวน 92 คน อายุระหว่าง 43-82 ปี โดยให้ผู้ป่วย 61 คน รับประทานยาแคลเซียมเซนโนไซด์ ซึ่งเป็นแคลเซียมฟอร์มของเซนโนไซด์จากใบมะขามแขกที่ใช้เป็นยาระบาย ขนาดเม็ดละ 15 มก. 2 เม็ด ก่อนนอนทุกคืน หลังผ่าตัดในวันที่ 1 และให้รับประทานติดต่อกันจนถึงวันที่ 7 หลังการผ่าตัด และคนไข้อีก 31 คน เป็นกลุ่มควบคุม ไม่ได้รับยาระบายใดๆ พบว่าผู้ป่วยที่รับประทานยาแคลเซียมเซนโนไซด์ ถ่ายอุจจาระคล่องตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 4 หลังรับประทานยา คิดเป็นร้อยละ 90 การถ่ายอุจจาระเฉลี่ยวันละ 1.23 ครั้ง/คน ส่วนกลุ่มควบคุมมีเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น ที่ถ่ายอุจจาระคล่อง

สัดส่วนของการถ่ายอุจจาระคล่อง ในผู้ป่วยที่รับประทานยาแคลเซียมเซนโนไซด์มากกว่า ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในผู้ป่วยหลังผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก จำนวน 81 ราย อายุระหว่าง 52-86 ปี โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มควบคุม ซึ่งไม่ได้รับยา กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับยาเม็ดมะขามแขก 2 เม็ด ก่อนนอนทุกคืน หลังผ่าตัดในวันที่ 1 ติดต่อกันนาน 14 วัน กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ได้รับยาระบาย Milk of Magnesia (MOM) 30 มล. ก่อนนอน นาน 14 วัน จากนั้นทำการบันทึกลักษณะอุจจาระ และจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระ พบว่าสัดส่วนของผู้ที่มีอาการท้องผูกและท้องเสียมีความแตกต่างกันระหว่าง 3 กลุ่ม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มควบคุมถ่ายอุจจาระไปทางแข็งที่ไม่พึงประสงค์มากกว่ากลุ่มมะขามแขกและกลุ่ม MOM ในขณะที่กลุ่ม MOM ถ่ายไปในทางเหลวและน้ำมากกว่ากลุ่มมะขามแขก ดังนั้นจากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าการใช้ยาเม็ดมะขามแขกในผู้ป่วยหลังผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก จะช่วยให้การถ่ายอุจจาระในลักษณะที่พึงประสงค์ (ปกติและเหลว) ได้ดีกว่าการใช้ยา MOM

การศึกษาในผู้ป่วย 100 คน อายุระหว่าง 40-60 ปี โดยเป็นโรคเบาหวาน 30 คน โรคอ้วน 40 คน และไขมันในเลือดสูง 30 คน ซึ่งผู้ป่วยทุกคนมีปัญหาเรื่องท้องผูก การศึกษานี้ไม่มีกลุ่มควบคุม ให้ผู้ป่วยรับประทานยาน้ำ Agiolax ที่มีส่วนผสมของเมล็ดเทียนเกล็ดหอย และฝักมะขามแขก ขนาด 2 ช้อนชา ทุกเย็น วันละ 1 ครั้ง นาน 3 เดือน พบว่าผู้ป่วยตอบสนองยาน้ำ Agiolax ได้ดีถึง 88% คือผู้ป่วยมีการถ่ายอุจจาระที่ดีขึ้น และช่วยลดอาการท้องผูก นอกจากนี้ยังมีการศึกษาผู้ที่มีอาการท้องผูก (ถ่ายอุจจาระน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3ครั้ง/สัปดาห์) จำนวน 42 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานเทียนเกล็ดหอย ขนาด 7.2 กรัม/วัน กลุ่มที่2 ให้รับประทานเทียนเกล็ดหอยร่วมกับมะขามแขก ขนาด 6.5 + 1.5 กรัม/วัน พบว่ายาถ่ายทั้ง 2 ชนิด เพิ่มจำนวนครั้งในการถ่ายอุจจาระ แต่ในกลุ่มที่ได้รับเทียนเกล็ดหอยร่วมกับมะขามแขกมีจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระ อุจจาระมีความชุ่มชื้นได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับเทียนเกล็ดหอยอย่างเดียว มีการจดสิทธิบัตรยาที่มีส่วนผสมของสารสกัดใบมะขามแขก 30-40 ส่วน สารสกัดว่านหางจระเข้ 30-40 ส่วน สารสกัดหมาก 20-30 ส่วน oryzanol 3-4 ส่วน calcium lactate 20-30 ส่วน ว่าสามารถป้องกันและรักษาอาการท้องผูกในคนได้โดยไม่มีพิษและผลข้างเคียงใดๆ


วิธีใช้ มะขามแขก เป็นยาถ่ายที่ดี ใช้รักษาอาการท้องผูก โดยใช้ใบแห้ง 1-2 กำมือครึ่ง ต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้วิธีบดหรือผงชงน้ำดื่ม หรือใช้ฝัก 4-5 ฝัก ต้มกับน้ำดื่ม บางคนดื่มแล้วเกิดอาการไซ้ท้อง แก้ไขได้ โดยใช้ร่วมกับยาขับลม จำนวนเล็กน้อย (เช่น กระวาน กานพลู เป็นต้น) มะขามแขกเหมาะกับคนแก่ที่ท้องผูกเป็นประจำ แต่ควรใช้เป็นครั้งคราว หญิงตั้งครรภ์ หรือมีประจำเดือน ห้ามรับประทาน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ มะขามแขก เป็นยาถ่าย ที่มีประวัตินานเกือบ 100 ปี สารแอนทราควิโนน ในใบและฝักมะขามแขก จะมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ทำให้ถ่ายท้องได้ และการค้นคว้าศึกษา พบว่า การใช้มะขามแขกนาน ๆ จะทำให้เกิดการขาดสารโพแตสเซียมได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรรับประทานโพแตสเซียมเสริมด้วย กองวิจัยและพัฒนาสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานว่า มะขามแขกไม่มีพิษเฉียบพลัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...