วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

มะเขือพวง

มะเขือพวง

ชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Solanum Torvum Sw.

อยู่ในวงศ์ Solanaceae ซึ่งเป็นวงศ์ของพืชพวกพริกและมะเขือต่าง ๆ นั่นเอง มะเขือพวงมีลักษณะพิเศษบางประการต่างจากมะเขือชนิดอื่น ๆ คือเป็นไม้พุ่มยืนต้นข้ามปี ไม่ใช่พืชล้มลุกเหมือนมะเขือชนิดอื่น ๆ นอกจากนั้นยังมีขนาดใหญ่โตกว่ามะเขือชนิดอื่น ๆ ด้วย เพราะมีทรงพุ่มสูงถึงกว่า 1 เมตร ขึ้นไปถึง 2 เมตรทีเดียว

ตรงข้ามกับขนาดใหญ่โตของลำต้น มะเขือพวงกลับมีผลขนาดเล็กที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับมะเขือชนิดอื่น ๆ และมีผลออกรวมกันเป็นกลุ่มหลาย ๆ ผล อยู่บนช่อเดียวกันจึงได้ชื่อว่า มะเขือพวง เพราะมีผลรวมอยู่เป็นพวงนั่นเอง

มะเขือพวงมีดอกขนาดเล็กกลีบดอกสีขาวหรือม่วง เกสรสีเหลืองผลกลมขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านผลยาวอยู่รวมกันเป็นช่อกลม ผลอ่อนมีเปลือกสีเขียวหนาเหนียว ผลแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อสุกเป็นสีแสดแดง ภายในผลมีเมล็ดมากมายแทบจะไม่มีเนื้อในผลเลย
มะเขือ พวงนับเป็นมะเขือโบราณที่ยังมีลักษณะเป็นพืชป่าอยู่มาก เพราะไม่มีการปรับปรุงพันธุ์ดังเช่นมะเขือชนิดอื่น ๆ ดังเช่นผลขนาดเล็ก เปลือกที่หนาเหนียวเมล็ดมีมากมาย และหนามตามลำต้นและกิ่งก้าน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความทนทานแข็งแรงต่อดินฟ้าอากาศและโรคแมลงต่าง ๆ เหนือกว่ามะเขืออื่น ๆ โดยเฉพาะลักษณะยืนต้นข้ามหลาย ๆ ปี และลำต้นทรงพุ่มใหญ่โตเป็นพิเศษ ซึ่งไม่พบในมะเขือชนิดที่ปรับปรุงพันธุ์แล้ว

จึงอาจกล่าวได้ว่า มะเขือพวงเป็นมะเขือโบราณที่มีทวิลักษณะคือ ลักษณะที่ขัดแย้งกัน 2 อย่างคือ ความใหญ่โตของทรงพุ่ม ซึ่งใหญ่ที่สุดในบรรดามะเขือด้วยกัน และขนาดเล็กของผลซึ่งเล็กที่สุดในบรรดาผลมะเขือนั่นเอง

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมะเขือพวงคือ ในเขตร้อน (tropical) แต่ไม่สามารถเจาะจงได้ว่าอยู่ที่ใดโดยเฉพาะ พบขึ้นอยู่ทั่วไปในเขตร้อน ทั้งขึ้นเองตามธรรมชาติ และถูกนำมาเพาะปลูกในพื้นที่เกษตร
มะเขือพวงมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไปตามท้องถิ่น เช่น มะเขือพวง (กลาง) มะแคว้งกุลา (เหนือ) หมากแข้ง (อีสาน) มะเขือละคร (โคราช) เขือน้อย เขือพวง ลูกแว้ง เขือเทศ (ใต้) และมะแว้งช้าง (สงขลา) เป็นต้น

มะเขือพวงในฐานะผัก

ส่วนของมะเขือพวงที่นำมาใช้เป็นผักก็คือผลอ่อนที่มีสีเขียว หากใช้เป็นผักจิ้มนิยมทำให้สุกโดยการเผา ปิ้ง หรือย่าง พอให้ผิวกรอบหรือไหม้บางส่วน จะทำให้รสชาติดีขึ้น และผลนิ่มกว่าเมื่อยังดิบ นอกจากนี้ยังอาจนำไปลวกหรือต้มให้สุกก็ได้ แต่ไม่ค่อยนิยมกัน
ผลอ่อนดิบ นำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงป่าต่าง ๆ (ไก่ เนื้อ นก ปลา) แกงคั่ว (ไก่ ปลาไหล) แกงเขียวหวาน (ไก่ ลูกชิ้นปลา) แกงอ่อม (ปลาดุก) ซุปอีสาน และเครื่องจิ้มต่าง ๆ เช่น น้ำพริกมะเขือพวง น้ำพริกแมงดา น้ำพริกกะปิ น้ำพริกขี้กา น้ำพริกกุ้งสด น้ำพริกหอยแมลงภู่ น้ำพริกไข่เค็ม และปลาร้าทรงเครื่อง เป็นต้น

มะเขือพวงทำให้กลิ่นรสของเครื่องจิ้มต่าง ๆ มีความพิเศษออกไปจากปกติ นับเป็นความริเริ่มที่ชาญฉลาดของแม่ครัวไทยในอดีต ที่ยังคงสืบทอดมาจนทุกวันนี้ ทำให้เครื่องจิ้มของไทยมีความหลากหลาย สามารถตอบสนองรสนิยมของผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง อันเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทยที่ทำให้ได้รับความนิยมไปทั่วโลกนั่นเอง

ประโยชน์ด้านอื่นของมะเขือพวง

ผลดิบของมะเขือพวงใช้เป็นยาแก้ไอ ขับปัสสาวะ และช่วยย่อยอาหาร การกินผลมะเขือพวงดิบเป็นอาหาร (เช่น ในเครื่องจิ้มชนิดต่าง ๆ) ก็คงมีสรรพคุณทางยาด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนรากของมะเขือพวงใช้รักษาโรคฝ่าเท้าแตก หรือโรคตาปลา

ในด้านการเกษตร

มะเขือพวงนับเป็นมะเขือที่เหมาะกับการเกษตรแบบยั่งยืนที่ไม่ใช้สารเคมี (ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาปราบวัชพืช ฯลฯ) เพราะเป็นมะเขือที่ทนทาน แข็งแรง ต้นสูงใหญ่ และอายุยืนหลายปี ไม่ต้องปลูกและดูแลรักษามากเหมือนมะเขือชนิดอื่น การเก็บผลมะเขือพวงใช้แรงงานมาก เพราะผลเล็กอยู่บนต้นขนาดใหญ่ จึงเหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่ใช้แรงงานเป็นทุนหลัก ดังจะเห็นว่าในหมู่ชนพื้นเมืองดั้งเดิม เช่น ชาวไทยภูเขาต่าง ๆ นิยมปลูกมะเขือพวงไว้ในระบบเกษตรพื้นบ้าน เช่น วนเกษตร หรือไร่หมุนเวียนในเขตป่าภาคเหนือและภาคตะวันตก

สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกผักสวนครัว เอาไว้บริโภคเองในครอบครัว ก็อาจปลูกมะเขือพวงเอาไว้สักต้นก็จะเก็บผลไปประกอบอาหารได้นานหลายปี โดยไม่ต้องปลูกใหม่หรือเอาใจใส่มากเท่าพืชหรือมะเขือชนิดอื่น
มะเขือพวงยังเป็นอาหาร ที่ดีสำหรับนกหลายชนิดอีกด้วย ผลมะเขือพวงสุกมีสีแสดแดงสะดุดตาดึงดูดนกมากิน และนำเมล็ดไปถ่ายไว้ในที่ต่าง ๆ เป็นการขยายพันธุ์มะเขือพวงตามธรรมชาติ เมื่อมะเขือพวงมีขนาดทรงพุ่มสูงใหญ่พอสมควรก็จะมีนกมาทำรังออกลูกเพาะพันธุ์กันบนต้นมะเขือพวงได้อีกด้วย ซึ่งผู้ปลูกจะได้รับความเพลิดเพลินจากการสังเกตศึกษาชีวิตนก พร้อมกับได้บุญกุศลไปด้วย สมกับคำพังเพยที่ว่า "เสียกระสุนนัดเดียว แต่ได้นกหลายตัว" นั่นเอง ผิดกับคำพังเพยนิดเดียวตรงที่ นกหลายตัวจากการปลูกมะเขือพวงนั้นเป็นนกที่มีชีวิตและมีความสุข มิใช่นกที่ถูกยิงตายจากกระสุนนัดเดียวดังเช่นคำพังเพย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...