วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552

งา

การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์

อาณาจักร Plantae


ส่วน Magnoliophyta


ชั้น Magnoliopsida

อันดับ Lamiales


วงศ์ Pedaliaceae

สกุล Sesamum


สปีชีส์ S. indicum


ชื่อวิทยาศาสตร์ Sesamum indicum


งา เป็นพืชล้มลุก ผลเป็นฝัก มีเมล็ดเล็กๆ สีขาวหรือสีดำ มีการเพาะปลูกมานานเพราะต้องการใช้เมล็ดงานี้เป็นอาหาร เครื่องเทศ และบีบเอาน้ำมันได้ มีการใช้เมล็ดงากันมากเป็นพิเศษในแถบตะวันออกกลาง และเอเชียเพื่อเป็นอาหาร

กลิ่นและรสของเมล็ดงาคล้ายกับถั่ว องค์ประกอบสำคัญในเมล็ดก็คือน้ำมัน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 44-60% น้ำมันงานั้นต่อต้านการเกิดออกซิไดซ์ได้ดี มีการใช้ในอาหารพวกสลัด หรือเป็นน้ำมันปรุงอาหาร และมาการีนและในการผลิตสบู่ ยา และน้ำมันหล่อลื่น และยังเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางบางชนิด

เดิมนั้นงาอาจเป็นพืชพื้นเมืองของเอเชีย หรือตะวันออกของแอฟริกา แต่ปัจจุบันพบได้ในพื้นที่เขตร้อน กึ่งร้อน และร้อนทางใต้ในทุกเขตทั่วโลก

ก่อนสมัยโมเสส ชาวไอยคุปต์ใช้เมล็ดงาป่นแทนแป้งธัญพืช ส่วนชาวจีนรู้จักงามาอย่างน้อยก็ 5,000 ปีมาแล้ว พวกเขาเผาเมล็ดงาเพื่อใช้ทำแท่งหมึกจีนที่คุณภาพดี ส่วนชาวโรมันบดเมล็ดงาผสมขนมปังเป็นอาหารรสดี ชาวไทยก็มีขนมที่ใช้เมล็ดงา เรียกว่า ขนมงาตัด ใช้งากวนกับน้ำตาล แล้วตัดเป็นแผ่น

ในบางถิ่นมีความเชื่อว่าเมล็ดงามีอำนาจอาถรรพณ์ และยังปรากฏในนิทานเรื่อง อาหรับราตรี ตอน อาลีบาบา กับโจรทั้งสี่สิบ ซึ่งมีคำกล่าวว่า เปิดเมล็ดงา (Open sesame)

ต้นงานั้นมีความสูงระหว่าง 0.5-2.5 เมตร ขึ้นกับสภาพที่ปลูก บางพันธุ์ก็มีกิ่งก้าน บ้างก็ไม่มี ที่แกนในแกนหนึ่งมีดอกราว 3 ดอก เมล็ดนั้นสีขาว ยาวราว 3 มิลลิเมตร เมื่อแห้ง เปลือกเมล็ดจะเปิดอ้า และเมล็ดจะหลุดออกมา การเก็บงาจึงต้องอาศัยแรงงานคนเพื่อมิให้เมล็ดงาร่วงหล่น ภายหลังเมื่อไม่นานมานี้ มีการพัฒนาพันธุ์มิให้เมล็ดแตะกระจาย ทำให้สามารถเก็บด้วยเครื่องจักรได้

สารอาหาร

งา เมล็ดพืชเล็กจิ๋วที่อุดมไปด้วยสารอาหาร มี 2 แบบ คือ งาดำ และงาขาว นอกจากนี้ยังมีน้ำมันงาที่ใช้ปรุงอาหารได้ดี เพราะมีกลิ่นหอมและกรดไขมันที่มีประโยชน์ สารอาหารที่มีอยู่ในเมล็ดงาล้วนแต่มีประโยชน์ทั้งสิ้น เช่น โปรตีนในงามีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย คือ กรดอะมิโนเมธิโอนีน ในถั่วเหลืองมีกรดอะมิโนที่จำเป็นตัวนี้น้อย ชาวมังสวิรัติจึงใส่งาลงไปในอาหารถั่วเหลืองที่ปรุง เพื่อให้มีสารโปรตีนสมบูรณ์มากขึ้น

ในเมล็ดงามีน้ำมันมาก จึงสกัดออกมาเป็นน้ำมันงาที่มีคุณสมบัติดีเยี่ยม คือ มีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวสูง ทั้งกรดไขมันโอเมก้า 3 กรดไขมันโอเมก้า 6 ที่มีคุณสมบัติช่วยลดคลอเลสเตอรอล จึงช่วยป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว ป้องกันโรคหัวใจ ทำให้ระบบหัวใจแข็งแรง นอกจากนี้ยังมีกรดไขมันไลโนเลอิค ซึ่งช่วยทำให้ผมดกดำ บำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื้น งายังมีวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ
ประโยชน์ของงา

ใช้ทำอาหาร ขนมแล้วยังใช้ทำน้ำมันระเหย โดยบีบจากเมล็ด ใส่บาดแผล ถูทาแก้เคล็ดขัดยอก พบว่างามีสาร beta-sitosterol ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบได้

ปัญหาของพืช ข้อจำกัด และ โอกาส

- พื้นที่ปลูกงาแปรปรวนเนื่องจากถูกจำกัดด้วยการตกของฝนว่าจะมาช้า หรือเร็ว ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณผลผลิตได้

- ในบางพื้นที่เกษตรกรปฏิบัติไม่ถูกต้องในขั้นตอนของการเก็บเกี่ยวด้วยการบ่มงาที่ความชื้นสูง ทำให้เมล็ดงาที่ได้มีคุณภาพต่ำ

- มีการระบาดของโรคพืชจากเชื้อราและแบคทีเรีย ทำให้ไม่สามารถปลูกงาติดต่อกันในพื้นที่เดิมได้ ไม่มีเครื่องจักรกลในการเก็บเกี่ยว ต้องใช้แรงงานมาก

- งาเป็นพืชเสริมรายได้ของเกษตรกร

งา : มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sesamum indicum Linn. ชื่ออื่นๆ คือ งาดำ งาขาว เป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 30-100 ซม. ลำต้นเป็นเหลี่ยม มีร่องตามยาวของลำต้น มีขนปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือสลับ ลักษณะใบเป็นรูปไข่ หรือรูปใบหอก กว้างประมาณ 2-5 ซม. ยาวประมาณ 6-10 ซม. ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีขาวหรือสีชมพู ผลเป็นผลแห้ง เมล็ดแบน รูปไข่ สีดำ น้ำตาลหรือสีขาว


การปลูกงา

งาเป็นพืชน้ำมันที่สำคัญทางเศรษฐกิจพืชหนึ่งของประเทศ และมีแนวโน้มที่จะทวีความสำคัญขึ้นทุกปี เนื่องจากเป็นพืชที่มีศักยภาพในการผลิตและการตลาดสูง สามารถปลูกขึ้นง่าย ลงทุนน้อย ทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี เกษตรกรนิยมปลูกงาก่อนและหลังการทำนา หรือหลังจากการเก็บเกี่ยวพืชหลัก การปลูกงามีทั้งในสภาพไร่และสภาพนา ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ของแต่ละท้องถิ่น เมล็ดงาและน้ำมันงามีคุณค่าทางด้านโภชนาการสูง เมล็ดงาประกอบด้วยน้ำมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นหลายชนิดในเมล็ดงาจะมีน้ำมันงาประมาณร้อยละ 47-60 มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง จึงเหมาะที่จะนำมาใช้บริโภคเพราะช่วยกันรักษาระดับโคเลสเตอรอล ในร่างกาย ป้องกันไม่ให้เกิดหลอดเลือดแข็งตัวหรือเส้นเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหัวใจขาดเลือด

การผลิตงาของประเทศไทยพบว่ามีพื้นที่ปลูกงาประมาณ 381,000 ไร่ ผลผลิตรวม 35,000 ตัน โดยผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 55 ส่งออกไปต่างประเทศมูลค่าประมาณ 400 ล้านบาทส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 45 ใช้ภายในประเทศ การผลิตงาของประเทศไทย ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นทุกปี

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูกงา

1. สภาพภูมิศาสตร์

งาเป็นพืชเขตร้อนชอบอากาศร้อนและแดดจัด อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ประมาณ 27-30 องศาเซลเซียส ไม่ชอบอากาศหนาวเย็น ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส การงอกจะช้าลง หรือ อาจจะชะงักการเจริญเติบโต แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสจะทำให้การผสมเกสรติดยากการสร้างฝักเป็นไปได้ช้า

2. ดิน

งาสามารถขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่จะขึ้นได้ดีที่สุดในดินร่วนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร มีการระบายน้ำดีและมีความเป็นกรดเป็นด่าง ระหว่าง 6.0-6.5 ไม่ทนต่อสภาพน้ำขัง ถ้าปลูกในดินเค็มรากของงาจะชงักการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตของงาลดลง

3. น้ำ

งาเป็นพืชที่ค่อนข้างทนแล้งได้ดี ปลูกได้ในเขตที่มีปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ 300 ถึง 1,000 มิลลิเมตร หรือปริมาณน้ำฝนปานกลางถึงฝนตกชุก แต่ไม่เปียกแฉะหรือน้ำท่วมขังในฤดูปลูก งาสามารถเจริญเติบโตอยู่ได้ถ้าฝนแล้งในช่วงสั้น ๆ อัตราการใช้น้ำของงาหลังจากการงอกจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงช่วงระยะออกดอกเป็นช่วงที่งาใช้น้ำมากที่สุด ดังนั้น การขาดน้ำในระยะนี้จะมีผลกระทบต่อผลผลิตของงาเป็นอย่างมาก หลังจากระยะออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวแล้ว อัตราการให้น้ำจะลดลง

โดยปกติในฤดูฝนจะมีความชื้นเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของงาตลอดฤดูกาลปลูก แต่ถ้าปลูกในฤดูแล้งถึงแม้ว่าจะชอบอากาศร้อนและทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีพอสมควร หากจะให้ได้ผลผลิตสูงจะต้องอาศัยน้ำชลประทานเข้าช่วย เพราะการให้น้ำที่พอเหมาะไม่มากหรือน้อยจนเกินไปจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของงา


พันธุ์งาและแหล่งปลูก : งาที่ปลูกในประเทศไทยแบ่งตามสีของเมล็ดได้ 3 ชนิด ดังนี้


1. งาดำ : ที่ใช้ปลูกกันทั่วไปมี 4 พันธุ์ ได้แก่

1.1. งาดำบุรีรัมย์

เป็นพันธุ์พื้นเมืองมีลักษณะฝัก 4 กลีบ 8 พู เมล็ดมีขนาดใหญ่ สีค่อนข้างดำสนิท อายุเก็บเกี่ยว 90-100 วัน ผลผลิต 60-130 กิโลกรัมต่อไร่

1.2.งาดำนครสวรรค์

เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ปัจจุบันเป็นพันธุ์ส่งเสริม มีการแนะนำให้ปลูกในพื้นที่หลายจังหวัดมี ลักษณะการเจริญเติบโตแบบทอดยอด เมล็ดมีสีดำขนาดใหญ่และเต่ง ลักษณะฝักเป็นแบบ 4 กลีบ 8 พู ฝักแตกง่ายเมื่อสุกแก่ ลำต้นค่อนข้างสูง แตกกิ่งก้านมาก ใบมีขนาดใหญ่ค่อนข้างกลม มี 1 ฝักต่อ 1 มุมใบ การเกิดฝักจะเวียนสลับ รอบลำต้น 1 ข้อ มี 1 ฝัก อายุเก็บเกี่ยว 95-100 วัน ผลผลิต 60-130 กิโลกรัมต่อไร่ นิยมปลูกมากในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ นครราชสีมา มหาสารคาม ชัยภูมิ สระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ปราจีนบุรี และสุราษฎร์ธานี

1.3 งาดำ มก.18

เป็นพันธุ์แท้ที่มีการปรับปรุงพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้คัดเลือกพันธุ์โดยวิธีจดประวัติจากคู่ผสมระหว่าง col.34 กับงาดำนครสวรรค์ในระหว่างปี 2528-2530 มีการทดสอบผลผลิตในสถานีทดลองและในสภาพไร่เกษตรกรในปี 2534

งาดำพันธุ์ มก.18 มี ลักษณะการเจริญเติบโตแบบทอดยอด ใบสีเขียวเข้ม ลำต้นไม่แตกกิ่งก้านและค่อนข้างสูง เมล็ดมีสีดำสนิท ลักษณะฝัก 2 พู ฝักเกิดตรงกันข้าม ดังนั้น 1 ข้อจะมี 2 ฝัก การเรียงตัวของฝักจะเป็นแบบเวียนสลับรอบลำต้น ความยาวปล้องสั้นทำให้จำนวนของฝักต่อต้นสูง น้ำหนักเมล็ด 3 กรัม ต่อ 1,000 เมล็ด อายุเก็บเกี่ยวปลายฤดูฝน 85 วัน ต้นฤดูฝน 90 วัน ผลผลิต 60-148 กิโลกรัมต่อไร่ ทนทานต่อโรคราแป้ง และทนต่อการหักล้ม

ในปีการเพาะปลูก 2538/39 กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัทคาเนมัสซุ บริษัทนานาพรรณเอ็นเตอร์ไพรร์จำกัด และสมาคมพ่อค้าข้าวโพด และพืชพันธุ์ไทย ส่งเสริมการปลูกงาดำ มก.18 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและกาญจนบุรี เพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความต้องการงาพันธุ์ มก.18 สูงถึงปีละ 10,000 - 30,000 ตัน

1.4 งาดำ มข.2

เป็นพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์มาจากงาดำพันธุ์ ซีบี 80 ของจีน ลักษณะฝักเป็นแบบ 4 พู เมล็ดสีดำสนิท ไม่ไวต่อช่วงแสงแตกกิ่ง 3-4 กิ่งต่อต้น ต้นสูง 105-115 เซนติเมตร น้ำหนักเมล็ด 2.77 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด ปลูกได้ดีทั้งต้นฝนและปลายฤดูฝน มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น 70-75 วัน ผลผลิต 80-150 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานต่อโรคเน่าดำและทนแล้งได้ดี เขตส่งเสริมการปลูก ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ และมหาสารคาม


2. งาขาว : ที่ใช้ปลูกกันทั่วไปมี 6 พันธุ์ ได้แก่

2.1 พันธุ์เมืองเลย

มีขนาดเมล็ดเล็ก เรียกว่า งาไข่ปลา ลักษณะฝัก 2 กลีบ 4 พู แตกกิ่งก้านมาก ตอบสนองต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน ผลผลิต 60-90 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ เพราะนำไปสกัดน้ำมันมีกลิ่นหอม ปลูกมากที่จังหวัดเลยและบริเวณชายแดนไทย-ลาว ช่วงจังหวัดเลยถึงอุตรดิตถ์

2.2. พันธุ์เชียงใหม่

- มีลักษณะฝัก 2 กลีบ 4 พู มีขนาดเมล็ดเล็ก แต่ใหญ่กว่าพันธุ์เมืองเลยเล็กน้อย เมล็ดมีรูปร่างคล้ายหัวใจ ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน ผลผลิต 60-90 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกมากที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่

2.3. พันธุ์ชัยบาดาลหรือสมอทอด

มีลักษณะฝัก 2 กลีบ 4 พู เมล็ดมีขนาดปานกลาง อายุเก็บเกี่ยว 80-85 วัน ผลผลิต 50-80 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกมากที่จังหวัดเพชรบูรณ์และลพบุรี แต่ปัจจุบันมีปริมาณน้อยมาก

2.4. พันธุ์ร้อยเอ็ด 1

เป็นพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรปรับปรุงคัดเลือกพันธุ์ สีเมล็ดขาวสม่ำเสมอ ลำต้นตรงไม่แตกกิ่ง ลักษณะฝัก 4 กลีบ 8 พู เมล็ดมีขนาดปานกลางอายุเก็บเกี่ยว 70-75 วัน ผลผลิต 50-120 กิโลกรัมต่อไร่ เหมาะสำหรับปลูกเป็นแถว ไม่ต้านทานต่อหนอนห่อใบงาและหนอนผีเสื้อหัวกะโหลก ฝักแตกง่าย จะต้องเก็บเกี่ยวทันที ที่ครบอายุเก็บเกี่ยว

2.5. พันธุ์ มข.1

เป็นพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นปรับปรุงมาจากงาขาวซีดับบลิว 103 ของจีน ลักษณะฝักเป็นแบบ 2 พู ไม่ไวต่อแสงช่วงแสง ไม่แตกกิ่งก้าน ฝักมีการเรียงตัว เป็นแบบตรงกันข้าม ฝักดก 3-7 ฝักต่อซอกใบ เมล็ดสีขาวค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักเมล็ด 2.79 อายุเก็บเกี่ยว 70-75 วัน ผลผลิต 80-150 กิโลกรัมต่อไร่ ไม่ต้านทานหนอนห่อใบงาและหนอนผีเสื้อกะโหลก

2.6. พันธุ์มหาสารคาม 60

เป็นพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรปรับปรุงพันธุ์จากพันธุ์ที-85 ของประเทศอินเดียลักษณะฝัก 2 กลีบ 4 พู ต้นโปร่ง ไม่แตกกิ่งฝักมีการเรียงตัวเป็นแบบตรงกันข้าม มี 1ฝักต่อ 1 ซอกใบ ขนาดเมล็ดโตสีขาว น้ำหนัก 2.90 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด อายุเก็บเกี่ยว 80-85 วัน ผลผลิต 107 กิโลกรัมต่อไร่ ไม่ต้านทานโรคราแป้ง เขตางเสริมการปลูก ได้แก่ จังหวัดสระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และกาญจนบุรี


3. งาดำ-งาแดง : หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า งาเกษตร ที่ใช้ปลูกมี 3 พันธุ์ ได้แก่

3.1. พันธุ์พื้นเมืองพิษณุโลกและพันธุ์พื้นเมืองสุโขทัย

ลักษณะฝักมี 2 กลีบ 4 พู แตกกิ่งก้านมาก ขนาดเมล็ดโต สีของเมล็ดมีทั้งสีดำและสีน้ำตาลแดงปนอยู่ด้วยกันอายุเก็บเกี่ยว 80-85 วัน ผลผลิต 60-90 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกมากที่จังหวัดเพชรบูรณ์ นครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย ลพบุรี สระบุรี อุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน

3.2. งาแดงอุบลราชธานี 1

คัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตร จากงาพันธุ์ นานนี 25/160/85-9 ของประเทศพม่า ได้รับการรับรองพันธุ์เมื่อ 19 มกราคม 2536 มีขีดเมล็ดโตสม่ำเสมอ น้ำหนักเมล็ด 3.16 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด ลักษณะฝักเป็นแบบ 2 พู ต้นแตกกิ่ง 3-5 กิ่ง อายุเก็บเกี่ยว 80-85 วัน ผลผลิต 141 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานโรคเหี่ยวหนอนห่อใบงา ไรขาว และมวนฝิ่น ใช้เป็นพันธุ์แนะนำให้เกษตรกรปลูกแทนพันธุ์พื้นเมือง

3.3. งาแดงพันธุ์ มข.3

คัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากงาพันธุ์นานนี ของประเทศพม่า ลักษณะฝักเป็นแบบ 2 พู เมล็ดโตสีแดง น้ำหนักเมล็ด 3.12 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด แตกกิ่ง 4-6 กิ่งต่อต้น ต้นสูง 130-150 เซนติเมตร อายุเก็บเกี่ยว 80-85 วัน ผลผลิต 100-180 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกได้ทั้งต้นฝนและปลายฤดูฝนเหมาะที่จะปลูกแบบหว่าน ค่อนข้างต้านทานโรคและแมลง


ฤดูปลูกงา

1. ต้นฤดูฝน

เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน-มิถุนายน ส่วนใหญ่จะปลูกในพื้นที่นาก่อนการปลูกข้าว มีพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ปลูกงาทั้งประเทศ แหล่งปลูกงาต้นฤดูฝนได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครราชสีมา สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย ลำพูน น่าน และสุราษฎร์ธานี

2. ปลายฤดูฝน

เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ส่วนใหญ่จะปลูกในสภาพพื้นที่ไร่หรือที่ดอน ปลูกหลังการเก็บเกี่ยวพืชไร่ มีพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ปลูกงาทั้งประเทศ แหล่งปลูกงาปลายฤดูฝนที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี พิษณุโลก สพรรณบุรี เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และเลย


การเลือกพื้นที่ปลูกงา

1. เป็นดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี และมีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร

2. เป็นพื้นที่ดอนหรือสูง สามารถระบายน้ำได้สะดวกไม่มีน้ำขังแฉะ

3. ความเป็นกรด-ด่างของดิน ควรอยู่ระหว่าง 5.5-6.5 ไม่เป็นดินเปรี้ยวหรือดินเค็ม

4. ไม่เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกงาติดต่อกันมาเป็นเวลานานหลายๆ ปี เพราะจะทำให้งาเกิดโรคระบาดได้ง่าย


การเตรียมดินปลูกงา

การเตรียมดินเป็นปัจจัยที่สำคัญในการปลูกงาเนื่องจากเมล็ดงามีขนาดเล็ก ควรมีการเตรียมดินให้ร่วนซุย จะช่วยให้งางอกได้ดีและมีความสม่ำเสมอ การไถพรวนจะมากหรือน้อยครั้งขึ้นอยู่กับโครงสร้างและชนิดของเนื้อดินถ้าเป็นดินร่วนทรายจะไถ 1-2 ครั้ง ส่วนดินเหนียวจะต้องไถมากครั้งกว่าดินร่วนโดยไถ 1-2 ครั้ง ส่วนดินเหนียวจะต้องไถมากครั้งกว่าดินร่วนโดยไถ 2-3 ครั้ง เพื่อย่อยดินให้ละเอียดจะให้ผลผลิตสูงกว่าไถเพียงครั้งเดียว

การปลูกงาต้นฤดูฝนโดยอาศัยน้ำฝนช่วงเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม ปริมาณความชื้นในดินมีน้อย จะต้องรอให้ในตกเสียก่อนจึงไถเตรียมดินปลูก สังเกตได้โดย เมื่อฝนตกทำให้ดินเปียกชื้นลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 20 เซนติเมตร หรือลองใช้จอบขุดลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 20 เซนติเมตร หรือลองใช้จอบขุดลึกลงไปประมาณ 1 หน้าจอบ และพบดินยังมีความเปียกชื้นอยู่ สามารถไถพรวนปลูกงาให้เสร็จได้ภานใน 3 วัน โดยไถดะ 1 ครั้ง แล้วหว่านเมล็ดงา และคราดกลบทันทีจะเป็นผลดีกับการปลูกงา เพราะว่าหลังจากนั้นดินจะแห้งเร็วความชื้นจะไม่เพียงพอที่จำทำให้งางอกได้

การปลูกงาช่วงกลางฤดูฝน-ปลายฝน ปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอทำให้เตรียมดินได้สะดวก โดยไถประมาณ 2-3 ครั้ง ก่อนการหว่านเมล็ดงาหลังจากนั้นจังไถกลบอีก 1 ครั้ง จะทำให้งางอกได้สม่ำเสมอ แต่วิธีนี้จะใช้เมล็ดพันธุ์มากกว่าการไถหว่าน-คราดกลบ ประมาณ 2 เท่าตัว

สำหรับในเขตที่มีแหล่งน้ำหรือในเขตชลประทาน ใช้วิธีปล่อยน้ำเข้าในแปลงปลูก ดินร่วนทรายปล่อยทิ้งไว้ 2 คืน ดินเหนียวทิ้งไว้ 1 คืน ตากดินไว้ 1-3 แดด แล้วจึงไถเตรียมดินปลูกต่อไป

*** การเตรียมดินปลูกงาหลังจากไถพรวนดินดีแล้วควรแบ่งพื้นที่ปลูกแปลงย่อย กว้างแปลงละ 3-5 เมตร เพื่อให้สามารถเดินเข้าไปปฎิบัติดูแลรักษาได้สะดวก และช่วยระบายน้ำ เมื่อมีฝนตกชุกจะช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมขัง ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น


วิธีการปลูกงา : วิธีการปลูกงามี 2 วิธี คือ

1. การปลูกแบบหว่าน

เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกงาด้วยวิธีนี้ โดยหลังจากเตรียมดินดีแล้ว จะใช้เมล็ดงาหว่านให้กระจายสม่ำเสมอ ในแปลงปลูก แล้วคราดกลบทันทีเพราะถ้ารอจนหน้าดินแห้ง หรือเมล็ดถูกแดดเผานานๆ เมล็ดงาจะตกมัน ทำให้ไม่งอกหรืองอกไม่สม่ำเสมอ สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่หว่านจะใช้ประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นอยู่กับสภาพการเตรียมดินและความเคยชินของเกษตรกร ในการหว่านอาจใช้ทรายละเอียด ขี้เถ้า แกลบ หรือมูลสัตว์ ผสมในอัตร 1:1 เพื่อช่วยให้เมล็ดงากระจายสม่ำเสมอมากขึ้น ปัจจุบันมีการนำเครื่องปลูกงาแบบหว่านมาใช้ในเขตจังหวัดลพบุรี เป็นเครื่องปลูกที่ใช้ติดท้ายรถแทรกเตอร์ ตัวเครื่องประกอบด้วยผาน 4 ผาน ถ้าบรรจุเมล็ดพันธุ์และมีช่องปล่อยเมล็ดพันธุ์ให้งาออกตามอัตราที่กำหนดไว้ เมื่อเมล็ดงาตกลงพื้นดินผานทั้ง 4 ผานจะไถดินตาม ทำให้เมล็ดถูกกระจายออกและถูกดินกลบ ต้นงาที่งอกขึ้นมาจะกระจายตัวคล้าย ๆ กับการหว่าน เครื่องปลูกงา เมื่อพ่วงกับรถไถเดินตามขนาดเล็ก จะใช้เวลาปลูกประมาณ 20 นาทีต่อไร่ หากพ่วงกับรถไถขนาดใหญ่จะใช้เวลาเพียง 10 นาที ต่อไร่


2. การปลูกแบบโรยเป็นแถว

ในการทำร่องสำหรับโรยเมล็ด ส่วนใหญ่ใช้คราดกาแถว จะช่วยให้ทำแถวปลูกได้เร็วขึ้น ระยะแถวปลูก 50x10 เซนติเมตร หรือใช้เครื่องปลูกชนิด 4 แถว ระยะปลูก 30x10 เซนติเมตร หรือในแถวยาว 1 เมตร ให้มีต้นงา 10-20 ต้น หลังจากปลูกแล้ว 15-20 วัน ให้ทำการถอนแยกให้ได้ระยะต้นตามความต้องการ อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อไร่ การปลูกด้วยวิธีนี้จะใช้เมล็ดพันธุ์มากกว่าวิธีหว่าน เสียเวลาและแรงงานมากต้องกำจัดวิชพืชระหว่างแถวปลูก แต่จะสะดวกในการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช การปลูกแบบเป็นแถวนี้จะให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกด้วยวิธีหว่าน


การใส่ปุ๋ยงา

ปุ๋ยเคมีที่ใช้กับงา ในดินทรายหรือดินร่วนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 20-30 กิโลกรัม/ไร่ สำหรับดินร่วนปนดินเหนียว ใช้ปุ๋ยสูตร 20-20-0 ในอัตรา 20-25 กิโลกรัม/ไร่ การใส่ปุ๋ยในโตรเจนควรใส่ขณะที่งาจะออกดอก ในปริมาณที่ไม่มากเกินไปเพราะปปุ๋ยในโตรเจนจะทำให้งาแก่ข้าและปริมาณน้ำมันในเมล็ดลดลง


วิธีการใส่ปุ๋ยเคมีให้แก่งา : พิจารณาจากวิธีการปลูกดังนี้

1. ปลูกแบบหว่าน - ให้ใช้ปุ๋ยหว่านแล้วคราดกลบก่อนปลูก


2. ปลูกแบบโรยเป็นแถว - ให้ใช้ 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1. โดยใช้ปุ๋ยทั้งหมดโรยก้นร่องแถวปลูกก่อนปลูก

วิธีที่ 2. โดยแบ่งให้ 2 ครั้ง ครั้งละเท่า ๆ กัน

- ครั้งแรก : โรยก้นร่องของแถวปลูกก่อนปลูก

- ครั้งที่สอง : โรยข้างแถวปลูกเมื่องาอายุไม่เกิน 15 วัน หลังจากงอก

*** ควรมีการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือไถกลบปุ๋ยพืชสด ในดินในช่วงเตรียมดินก่อนปลูกงาจะทำให้ได้ผลผลิตสูง เพราะ งาตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ได้ดีกว่าปุ๋ยเคมี


การดูแลรักษางา

งาเป็นพืชที่ต้องการการดูแลรักษาน้อยกว่าพืชชนิดอื่นเพียงแต่เตรียมดินให้ถูกวิธีและเหมาะสม และปลูกงาให้งอกอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถจะให้ผลผลิตพอสมควรแล้วส่วนใหญ่เกษตรกรที่ปลูกงาเมื่อหว่านเมล็ดงาแล้วก็ปล่อยทิ้งจนถึงเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตาม หากได้มีการปฏิบัติดูแลรักษาบ้างก็จะช่วยให้ผลผลิตสูงขึ้น ทั้งนี้ควรจะเริ่มจากการปลูกงาเป็นแปลงใหญ่ ๆ ขนาด 3-5 เมตร ให้มีร่องระหว่างแปลงเพื่อจะได้ตรวจแปลงได้สะดวกเมื่อมีโรคและแมลงระบาดสามารถที่จะป้องกันกำจัดได้ง่ายและรวดเร็ว


การเก็บเกี่ยวงา

การสังเกตระยะสุกแก่ของงา เมื่องาเจริญเติบโตเต็มที่ถึงระยะสุกแก่จะต้องรีบเก็บเกี่ยว เนื่องจากฝักงาโคนต้นที่แก่ก่อนจะแตกออกทำให้เมล็ดร่วงเสียหาย การสุกแก่ของงาสามารถสังเกตได้ดังนี้

ดอก เมื่อถึงอายุเก็บเกี่ยวดอกสุดท้ายจะร่วง

ใบ จะมีสีเหลืองและร่วงเกือบหมด

ฝัก เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง ประมาณ 1 ใน 4 ของต้น

เมล็ด มีลักษณะค่อนข้างเต่งตึงและเปลี่ยนสีตามพันธุ์ สำหรับงาดำให้แกะฝักที่ 3 จากยอดออกมาดู ถ้าเมล็ดมีสีน้ำตาลแสดงว่าแก่เก็บเกี่ยวได้

อายุ โดยนับอายุของงาแต่ละพันธุ์ เช่น งาขาว พื้นเมืองเลย อายุ 110-120 วัน งาขาวพื้นเมืองพันธุ์ชัยบาดาลอายุ 80-85 วัน งาขาวพันธุ์ร้อยเอ็ด 1 อายุ 70-75 วัน งาขาว พันธุ์มหาสารคาม 60 อายุ 80-85 วัน งาดำนครสวรรค์ อายุ 95-100 วัน งาดำ มก.18 อายุ 85-90 วัน งาดำ มข.2 อายุ 70-75 วัน งาแดงพันธุ์อุบลราชธานี 1 มข.3 พิษณุโลก และสุโขทัย อายุ 80-85 วัน เป็นต้น การพิจารณาอายุของงานี้จะต้อง พิจารณาความชื้นของอากาศขณะนั้นประกอบด้วยถ้าฝนตกชุกอากาศมีความชื้นสูงงาจะสุกแก่ช้า แต่ถ้าอากาศแห้งจะเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าอายุจริง 5-10 วัน เช่น งาขาวพันธุ์ร้อยเอ็ด 1 ถ้าอากาศแห้งแล้งจะเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 60-65 วัน เป็นต้น


วิธีการเก็บเกี่ยวงา

การเก็บเกี่ยวใช้เคียวหรือมีดเกี่ยวต่ำกว่าฝักล่างเล็กน้อยถ้าปลูกในดินทรายหรืองาต้นเล็กจะใช้วิธีถอนทั้งต้นก็ได้ ทั้งนี้พยายามอย่าให้ดินทรายเกาะติดต้นงา เพราะจะปนอยู่กับเมล็ดมากเวลาเคาะ ทำให้คุณภาพของงาลดลง ปัจจุบันมีเครื่องเกี่ยวงาแบบวางราย ทำให้เกี่ยวได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น


วิธีการบ่มงา

หลังจากการเก็บเกี่ยวงาแล้วนำมาบ่มโดยนำต้นงามากองรวมกัน หันปลายยอดเข้าหากัน วางซ้อนเป็นชั้น ๆ ขึ้นไปเรื่อย ๆ ให้ฝักปลายยอดเหลื่อมกันเล็กน้อย (กองบ่มทั่วไปมีขนาดกว้าง x ยาว x สูง ประมาณ 2 x 3 x 1 เมตร) กองบ่มควรอยู่ในที่กลางแจ้งและที่สูงในแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมและอากาศถ่ายเทสะดวก เมื่อกองเรียบร้อยแล้วนำฟางข้าว ใบไม้ ใบหญ้า ปิดทับกองประมาณ 5-7 วัน ถ้าอากาศแห้งเกินไปควรรดน้ำกองบ่มบ้าง หลังจากการบ่มแล้วฝักจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลปนดำเสมอกัน ส่วนใบจะเปลี่ยนเป็นสีดำและหลุดร่วงไป จากนั้นจึงทำการมัด ตาก เคาะ และทำความสะอาดเมล็ดต่อไป

ข้อดีของการบ่มงา

1. การปลูกงาจำนวนมาก ๆ ถ้าเก็บเกี่ยวช้าฝักจะแตกเมล็ดร่วงเสียหาย การบ่มจะช่วยให้เกษตกรมีเวลาเก็บเกี่ยวงาได้มากขึ้น สามารถเก็บเกี่ยวพร้อม ๆ กัน ได้ในพื้นที่ขนาดใหญ่

2. การบ่มงาทำให้ใบร่วง สะดวกต่อการมัดเป็นกำและตั้งตากได้ง่าย

3. การบ่มทำให้สามารถเคาะได้เร็วขึ้น เพราะงาที่บ่มจะแห้งเร็ว เนื่องจากใบร่วงหมด และใช้เวลาตากน้อยประมาณ 1-2 วันก็สามารถเคาะได้ แต่งาที่ไม่บ่มต้องใช้เวลาตากถึง 4-5 วัน

4. การบ่มช่วยให้ฝักงาส่วนโคนต้นและส่วนปลายอ้าออกพร้อมกัน จึงประหยัดเวลาแรงงานในการเคาะ โดยเคาะ เพียง 1-2 ครั้งก็ได้เมล็ดงาเกือบทั้งหมด แต่ถ้าไม่บ่มจะต้องเคาะ 3-4 ครั้ง เนื่องจากฝักงาอ้าออกไม่พร้อมกัน

5. การบ่มงาช่วยลดความเสียหายอันเนื่องจากมีฝนตกในขณะตากงา เพราะการบ่มงาจะใช้เวลาตากน้อยกว่าไม่บ่ม

การบ่มงานี้จะทำการบ่มเฉพาะงาดำและงาดำแดงส่วนงาขาวมีสีหมองคล้ำคุณภาพเมล็ดต่ำ สำหรับงาที่จะนำไปบริโภคเป็นอาหารไม่ควรบ่มเช่นงาดำพันธุ์ มข.18 เพราะจะทำให้มีกลิ่นดิน เศษพืชติดไปกับเมล็ดงา หากเกษตรกรเก็บเกี่ยวงาครบอายุเก็บเกี่ยวให้นำไปตาก 3-4 แดด แล้วเคาะนวดได้ทันที

*** การมัด ตาก เคาะ และทำความสะอาดเมล็ดงา หลังจากบ่มแล้ว ทำการเคาะให้ใบร่วงออกหมดเหลือแต่ฝักและต้นงา ใช้ตอกหรือเชือกฟางมัดงาเป็นกำ ๆ ขนาดกำมือแล้วนำงา 3 กำ มามัดที่ปลายต้นงารวมเป็นมัดเดียวกันแล้วนำไปตั้งตาก ซึ่งจะแยกมัดงาเป็น 3 ขา ช่วยพยุ่งไม่ให้มัดงาล้มเวลาตั้งตาก หรือจะใช้วิธีการทำราวตากโดยมัดงาเป็นกำขนาดใหญ่แล้วแบ่งครึ่ง แขวนตากไว้บนราว วิธีนี้จะได้เมล็ดงาที่สะอาดกว่าวิธีแรก เพราะต้นงาไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นดิน หลังจากตากไว้ 2-3 วัน ก็นำไปเคาะ โดยนำมัดงาที่ตากจนฝักแห้งและปลายฝักอ้าออกแล้วคล่ำมัดงาลงภาชนะที่เตรียมไว้ ใช้ไม้เคาะมัดงาเบา ๆ เมล็ดงาก็จะร่วงลงบนภาชนะโดยง่าย นำไปตากแดดอีก 1-2 แดด แล้วนำไปเคาะใหม่อีกครั้งหนึ่ง จากนั้นทำความสะอาดเมล็ดงาโดยฝัดแยกเอาสิ่งเจือปนออกแล้วบรรจุลงกระสอบนำไปเก็บหรือจำหน่ายต่อไป


การเก็บเมล็ดพันธุ์งา

โดยปกติเมล็ดพืชน้ำมันจะเสื่อมความงอกในช่วงระยะเวลาอันสั้นแต่เมล็ดงานั้นสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน จากการทดสอบพบว่า เมล็ดงาสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 17 เดือน โดยเก็บไว้ในถุงพลาสติกชนิดหนาปิดปากถุงด้วยความร้อน เมล็ดยังมีความงอกถึง 82 เปอร์เซ็นต์ และเก็บใส่ถุงปุ๋ย ถุงผ้า และถุงกระดาษ นาน 8 เดือน เมล็ดงายังมีความงอกมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

เมล็ดงาที่จะเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์ ควรเป็นเมล็ดที่มีคุณภาพดี ที่ได้จากการเคาะเคาะครั้งแรก เพราะเมล็ดจะแก่และสมบูรณ์เต็มที่ จากนั้นนำไปตากให้แห้งก่อนเก็บในภาชนะปิดที่มีความชื้นต่ำ


การป้องกันกำจัดวัชพืชในแปลงงา

1. ใช้วิธีเขตกรรม

1.1. เลือกช่วงเวลาของการปลูกงา ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนกุมภาพันธุ์-เมษายน จะปัญหาเรื่องวัชพืชน้อยเพราะอากาศแห้งแล้ง ดินมีความชื้นน้อย วัชพืชงอกได้ในปริมาณไม่มากนัก ถ้าปลูกในช่วงปลายฝนระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จะมีวัชพืชมากจนอาจเก็บเกี่ยวงาไม่ได้เลยถ้าไม่มีการกำจัดวัชพืช

1.2. ปลูกงาให้ขึ้นสม่ำเสมอ แปลงงาที่งอกสม่ำเสมอจะไม่ค่อยมีปัญหาวัชพืช แต่แปลงที่งางอกห่างจะมีวัชพืชขึ้นมากโดยเฉพาะการปลูกงาแบบโรยเป็นแถวหรือ หยอดเป็นหลุมดังนั้นจึงต้องมีการพรวนดินดายหญ้าบ้าง

1.3. ไถเตรียมดินก่อนปลูกให้ดี โดยเฉพาะในการปลูกงาปลายฝนจะต้องไถเตรียมดินให้ดีกว่าในช่วงต้นฝน


2. ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืช ได้แก่

- พาราควอท จำนวน 300 ซีซี. ต่อไร่ พ่นวัชพืช ให้ตายก่อนปลูกงา

- อะลาคลอร์ เช่น แลสโซ่ อโรซาล หรืออลาเน็ท ในอัตรา 350-550 ซีซี.ต่อไร่ หรือเมโทลาคลอร์ เช่น ดูอัลในอัตรา 400-600 ซีซี.ต่อไร่ ฉีดพ่นหลังจากปลูกงาเสร็จแล้วประมาณ 3-5 วัน ก่อนงาและวัชพืชจะงอกขึ้นมา
คุณค่าทางโภชนาการของงา

งาเป็นพืชที่มีคุณค่างทางโภชนาการสูงชนิดหนึ่ง เมล็ดงามีไขมันประมาณ 35-57 เปอร์เซ็นต์ และมีโปรตีนประมาณ 17-25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบงากับถั่วเหลืองและไข่แล้วพบว่า งามีไขมันสูงกว่าถั่วเหลืองประมาณ 3 เท่า และสูงกว่าไข่ ประมาณ 4-6 เท่า มีโปรตีนสูงกว่าไข่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ต่ำกว่าถั่วเหลืองประมาณ 2 เท่า นอกจากนี้โปรตีนในงายังแตกต่างจากพืชตระกูลถั่วและพืชให้น้ำมันอื่น ๆ เพราะมีกรดอะมิโนที่จำเป็นซึ่งพืชดังกล่าวขาดแคลน เช่น เมธไธโอนินและซีสติน แต่งามีไลซีนต่ำ ดังนั้นอาจใช้งาเป็นอาหารเสริมพวกอาหารถั่วต่าง ๆ เมื่อใช้เป็นอาหาร หรือใช้เสริมโปรตีนจากเนื้อสัตว์ซึ่งมีราคาแพง นอกจากนี้ยังใช้เสริมอาหารพวกธัญพืชกล้วย และอาหารแป้งอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี


การผลิตงา

ผลผลิตงาของโลกปี 2544 มีพื้นที่เก็บเกี่ยวรวม 45,805,380 ไร่ ผลผลิตประมาณ 2,893,114 ตัน ประเทศอินเดียมีพื้นที่เก็บเกี่ยวมากที่สุด แต่จีนผลิตงาได้ีผลผลิตต่อหน่วยสูงกว่าถึง 165 กก./ไร่ และได้ผลผลิตงามากที่สุด 790,619 ตัน


การแปรรูปงา

1. การสกัดน้ำมันงา

การสกัดน้ำมันงาโดยใช้แรงงานสัตว์ เป็นอีกวิธีการหนึ่งซึ่งชาวไทยใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบันนี้ วิธีการนี้ทำได้โดยนำเมล็ดงาที่ตากแดด 5 – 6 วันให้ร้อน นำไปใส่ในครกไม้ซึ่งมีความจุประมาณ 22 – 25 ลิตร (ประมาณ 15 กิโลกรัม) แล้วใช้แรงงานจากวัวหรือควายลากสากให้หมุนเป็นวงกลมไปรอบ ๆ ครก สากไม้จะบีบให้เมล็ดงาเบียดกับครกจนป่นและมีน้ำมันซึมออกมา พอเริ่มถึงชั่วโมงที่สองเติมน้ำร้อนลงไปครั้งละประมาณ 150 มิลลิลิตร จำนวน 7 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 10 นาที (ใช้น้ำ 3 กระป๋อง/งา 1 ครก) ในชั่งโมงที่ 3 จะสังเกตเห็นน้ำมันลอยแยกขึ้นมาข้างบน เปิดช่องซึ่งอยู่ส่วนบนของครกให้น้ำมันไหลออกสู่ภาชนะรองรับ ในการสกัดน้ำมันแต่ละครั้งจะได้น้ำมัน 7 – 8 ขวด (ขนาด 750 ซีซี.) และใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงพัฒนานำเครื่องจักรและมอเตอร์ไฟฟ้ามาใช้ โดยเป็นระบบไฮโดรลิคและเกลียวอัด ซึ่งสามารถทำงานได้ต่อเนื่องตลอดเวลา น้ำมันงาที่ได้จะเป็นน้ำมันงาบริสุทธิ์ (virgin oil) โดยอาจเป็นน้ำมันงาดิบ ซึ่งได้จากงาที่ไม่ผ่านการคั่ว เป็นน้ำมันที่เหมาะที่จะใช้สำหรับทาภายนอกแก้อาการปวดเมื่อย หรือเป็นน้ำมันงาที่ได้จากเมล็ดงาที่ผ่านการคั่วให้มีกลิ่นหอม ซึ่งน้ำมันที่ได้จะมีสีคล้ำ เหมาะสำหรับใช้ปรุงแตงรสอาหาร

ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเครื่องบีบน้ำมัน ถ้าจะทำให้น้ำมันออกหมดต้องใช้สารละลายนอร์มอล เฮกเซน ละลาย น้ำมันที่เหลือให้มารวมตัวกับสารละลาย แล้วจึงกลั่นไล่สารละลายเฮกเซนออกให้หมด ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยากและอันตรายเนื่องจากสารละลายเฮกเซนเป็นสารไวไฟ จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติงาน แต่กากงาที่ได้จากวิธีนี้มีน้ำมันหลงเหลืออยู่น้อยกว่า 0.5%

น้ำมันที่ได้มาจากกรรมวิธีการสกัดต่าง ๆ นี้ยังมีสิ่งเจือปน จำเป็นต้องทำให้บริสุทธิ์ปราศจากสิ่งเจือปน สารยางเหนียว กรดไขมันอิสระ สีและกลิ่น โดยผ่านกรรมวิธีการกำจัดในขั้นตอนการตกตะกอน การกำจัดกรด การล้างน้ำมัน การฟอกสีและการกำจัดกลิ่น

2. การทำแป้งงา

หลังจากสกัดน้ำมันออกหมดด้วยสารละลายเฮกเซน ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสกัดน้ำมัน แล้วอบไล่สารละลายเฮกเซน โดยใช้อุณหภูมิ 80oC ภายใต้ความดันประมาณ 15 มม. ปรอทนาน 30 นาที จะได้กากงาที่มีคุณภาพสูง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นกากที่ได้จากเมล็ดงาที่ลอกเปลือกออกแล้ว จะได้กากงาที่ไม่มีรสขม)

เมื่อนำกากงาที่ได้ไปบดเป็นแป้ง และนำไปผสมกับแป้งถั่วเหลืองที่ได้จากกรรมวิธีเดียวกัน ในสัดส่วนที่พอเหมาะแล้วนำเข้าเครื่อง Extruder จะได้ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชที่มีคุณภาพดีเท่าเทียมกับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เพราะงามีปริมาณกรดอะมิโนไลซีนต่ำ ประมาณ 0.19 กรัม/ปริมาณโปรตีน 1 กรัม ขณะที่ถั่วเหลืองมีถึง 0.42 กรัม แต่มีเมทไธโอนีนสูง 0.14 กรัม/โปรตีน 1 กรัม ขณะที่ ถั่วเหลืองมีกรดอะมิโนดังกล่าว 0.04 กรัม/โปรตีน 1 กรัม

ผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ได้อีกมาก หรือนำไปใช้เป็นส่วนผสมเพิ่มโปรตีนในขนมปัง ขนมอบกรอบ อาหารโปรตีนจากพืชเป็นอาหารที่ร่างกายย่อยได้ง่าย เหมาะที่จะใช้เป็นอาหารบำรุงสำหรับคนไข้

3. การทำงาขัด

งาขัด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่างาล้าง คือ เมล็ดงาที่แยกเปลือกออกทำให้ได้เมล็ดงาสีขาวน่ารับประทาน และไม่มีรสขม เนื่องจากเปลือกงาซึ่งมีแคลเซี่ยมออกซาเลท และเยื่อใยอยู่สูงถูกกำจัดออกไป งาขัด นิยมใช้โรยหน้า หรือปรุงแต่งขนมต่าง ๆ หลายชนิด นอกจากนี้การส่งออกเมล็ดงาไปยังต่างประเทศก็มักส่งออกในรูปงาขัด เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีความต้องการใช้งาขาว แต่ประเทศไทยผลิตได้น้อย พ่อค้าส่งออกจึงนำงาเมล็ดสีดำ หรือสีน้ำตาลมาลอกเปลือกออกให้เป็นสีขาว

4. การทำงาคั่ว

นำเมล็ดงามาทำความสะอาดเอาเศษ หิน ดิน หรือวัสดุต่าง ๆ ที่เจือปนออก หลังจากนั้นนำไปล้างในน้ำสะอาด 2 – 3 ครั้ง โดยอาจล้างบนตะแกรงร่อนแป้งซึ่งมีรูตาข่ายเล็กละเอียด หรือในถุงผ้าตาข่ายละเอียดเพื่อให้เศษฝุ่นผงดินต่าง ๆ เล็ดลอดออกไป เหลือเฉพาะเมล็ดงาที่สะอาดปราศจากสิ่งเจือปน จากนั้นนำไปผึ่งแดดให้แห้งพอหมาด แล้วนำไปคั่วโดยใช้ไฟปานกลางและคนตลอดเวลา การคั่วแต่ละครั้งควรใช้งาครั้งละไม่มาก เช่น งา 1 กิโลกรัม ควรแบ่งคั่วประมาณ 3 ครั้ง คั่วจนเมล็ดงาเริ่มแตกและมีกลิ่นหมอแสดงว่าสุกได้ที่ เติมน้ำเกลือโดยพรมให้ทั่ว คนต่อเล็กน้อยแล้วยกลงจากเตาไฟ ท้งไว้จนมีอุณหภูมิปกติจึงบรรจุในภาชนะที่ปิดฝาสนิท การทำงาบดควรแบ่งบดครั้งละไม่มาก เพื่อให้ได้งาบดที่มีรสชาติหอมอร่อยน่ารับประทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...