บอนสี ( Caladium ) เป็นไม้ใบที่มีสีสันและลายใบสวยงาม ตลอดจนขนาดรูปใบแตกต่างมากจนได้รับการขนานนามว่า “ ราชินีแห่งไม้ใบ ” “Queen of the Leafy Plant”
สถานการณ์การผลิต
การผลิตบอนสีในต่างประเทศ มีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐฟลอริดา ที่นี่จะเป็นแหล่งผลิตหัวพันธุ์บอนสีจำหน่ายที่มีพื้นที่ประมาณ 8,000 ไร่ ในทุกปีจะมีการจัดงาน คาลาเดียม เฟสทิวัล ( Caladium Festival ) ที่รัฐฟลอริดา ในวันที่ 27-29 สิงหาคมของทุกปี นอกจากนี้ที่ประเทศศรีลังกาจะผลิตหัวบอนสีส่งขายให้กับสหรัฐอเมริกาในราคาถูก การผลิตบอนสีของประเทศสหรัฐอเมริกา และศรีลังกาจะผลิตโดยปลูกเป็นแปลงปลูกลงดิน พื้นที่กว้างแต่สายพันธุ์บอนสีของทั้ง 2 ประเทศยังมีน้อยกว่าประเทศไทย
ประเทศไทยมีการนำเข้าบอนสีจากต่างประเทศตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีการปลูกเลี้ยงและผสมพันธุ์บอนสีกันมานานมากกว่า 100 สายพันธุ์ ในสมัยก่อนการปลูกเลี้ยงบอนสีจะมีข้อจำกัด สายพันธุ์บอนสีที่ผสมพันธุ์ได้ใหม่จะมี ราคาแพงมากถึงหลักหมื่นบาท เทคนิคการปลูกเลี้ยงก็ยังไม่เผยแพร่นัก และที่สำคัญคือเป็นการเลี้ยงในตู้โดยเป็นการปลูกเลี้ยงเพื่อเน้นการประกวดให้ต้นสวยเด่น แต่เมื่อนำต้นออกมาไว้นอกตู้นานๆใบของต้นจะเหี่ยวได้ง่าย ทำให้มุมมองของคนที่จะซื้อไปปลูกเลี้ยงบอนสีมองว่าการปลูกเลี้ยงบอนสีนั้นดูแลยากต้องการการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดโดยแท้จริงการปลูกเลี้ยงบอนสีไม่ได้ยากอย่างที่คิด ถ้าเป็นการปลูกเลี้ยงบอนสีจากหัวพันธุ์จะสามารถเจริญเติบโตออกจากหัวพันธุ์เป็นต้นไม้ประดับที่สวยงามและแข็งแรงได้ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบกว่าต่างประเทศในด้านมีสายพันธุ์จำนวนมากกว่าต่างประเทศ
การผลิตบอนสีเพื่อการค้าของประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ประเภท
• การผลิตเป็นไม้กระถาง
• การผลิตเป็ไม้หัวเพื่อการส่งออก
การผลิตต้นบอนสีเป็นไม้กระถางเพื่อการค้า
แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ
• การขยายพันธุ์โดยวิธีการผ่าหัว
นำหัวจากต้นที่สมบูรณ์อายุ 6 เดือน ล้างทำความสะอาด ตัดรากเก่าออก นำหัวผึ่งในที่ร่ม 20 นาที การผ่าหัวควรหามีดที่คมบางสะอาด ผ่าหัวจากด้านบนลงมาด้านล่างเป็นชิ้นบาง ทอนเป็นชิ้นสั้นไม่เกิน 1 ซม. นำมาใส่ในภาชนะที่มีน้ำ ห้ามใช้มือล้างหัวบอนกับน้ำจะทำให้คัน ควรใช้ไม้เล็กคนเบาๆ เทน้ำทิ้ง 2-3 ครั้งให้หมดยาง นำชิ้นเนื้อบอนที่ผ่าแช่ยากำจัดเชื้อรา 10 นาที นำขึ้นมาผึ่งลมบนกระดาษหนังสือพิมพ์ นำทรายหยาบล้างน้ำให้สะอาดจนได้น้ำใสนำทรายมาใส่ในภาชนะพลาสติกหลังจากนั้นคลุมปากภาชนะด้วยพลาสติกใส วางในที่ร่มนานประมาณ 3 สัปดาห์ชิ้นบอนจะเริ่มงอก หลังจากนั้น 1 สัปดาห์จึงจะเริ่มมีใบ 1 ใบ ให้นำต้นกล้าย้ายปลูกลงกระถางพลาสติกขนาด 3-4 นิ้ว
• การปลูกบอนสีเป็นไม้กระถาง
ดินปลูกต้องเป็นดินร่วนซุยผสมใบไม้ผุ เช่นใบทองหลาง ใบก้ามปู นำดินมาตากให้แห้ง นำต้นกล้าย้ายปลูกลงกระถางพลาสติก ขนาด 3-4 นิ้ว ที่บรรจุดินปลูกกดดินให้แน่นนำกระถางแช่น้ำให้ชุ่มนำมาวางไว้ในตู้บอนซึ่งมีน้ำ วางตู้บอนที่แสงรำไร 50-70 เปอร์เซ็นต์ ตู้บอนสีควรมีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร สูง 50 ซม. และมีหลังคาจั่ว สูง 30 ซม. โครงตู้ทำจากวัสดุ เช่น ไม้ , เหล็ก, ท่อพลาสติกแล้วกรุด้วยพลาสติกใส ประโยชน์ของตู้บอนคือเก็บรักษาความชุ่มชื้นทำให้ต้นบอนสีเจริญเติบโตได้ดี ง่ายต่อการดูแลรักษาต้นบอนสีภายใน 2 เดือน สามารถจำหน่ายเป็นไม้กระถางได้
แหล่งผลิตต้นบอนสีกระถางจะอยู่ในภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ อยุธยา พื้นที่การผลิตประมาณ 50 ไร่ โดยมีปริมาณการผลิตประมาณ 300,000 กระถาง / ปี โดยผู้ปลูกเลี้ยงบอนสีจะนำต้นบอนสีกระถางที่ผลิตได้ไปขายที่ตลาดจตุจักร, ตลาดสนามหลวง 2, ตลาดมีนบุรี ฯลฯ เป็นต้น
การจำหน่ายบอนสีกระถาง
เมื่อได้ต้นบอนสีที่มีจำนวนใบตั้งแต่ 5 ใบขึ้นไป และใบดูแข็งแรง สามารถนำออกจำหน่ายได้ โดย หรือ
ผู้จำหน่ายควรมีการให้ความรู้แก่ผู้ซื้อในเรื่องของการดูแลรักษา โดยนำกระถางต้นบอนสีวางแช่น้ำในถาดรองกระถาง และให้น้ำโดยการรถน้ำลงบนดินให้ชุ่มชื้น
การผลิตบอนสีเป็นหัวเพื่อการส่งออก
หัวบอนสีเพื่อการส่งออกควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหัวตั้งแต่ 2 ซม.ขึ้นไปจึงจำเป็นที่จะต้องปลูกบอนสีลงดินนาน 7 เดือน เพื่อจะได้หัวที่มีขนาดใหญ่ โดยแบ่งขั้นตอนเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้
1. การเตรียมพื้นที่ปลูก ควรเตรียมในช่วงเดือนเมษายน เป็นดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี ดินทีค่าความเป็นกรด-ด่าง 6.5-7.0 การเตรียมพื้นที่ควรเก็บซากพืชในแปลงเผาทิ้ง ไถดินตากดินนาน 30 วัน ไถและคราดเก็บวัชพืชออกจากแปลงใช้ยูเรียผสมปูนขาวอัตราส่วน 1 : 10 ปริมาณ 880 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ลงดินก่อนไถครั้งที่ 2 แล้วจึงไถพรวนยกแปลงสูง 30 ซม. กว้าง 1.2 ม. เว้นช่องทางเดิน 0.5 ม. ย่อยหน้าดินพร้อมผสมใบไม้ผุหรือแกลงดิบเก่า กำหนดระยะปลูก 30 x 30 ซม. จำนวนต้นพันธุ์ประมาณ 10,000 ต้นต่อไร่
2. การปลูกลงแปลงในช่วงเดือน พ.ค. กรณีที่หัวบอนสีมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1 นิ้วเป็นต้นไป สามารถนำหัวมาผ่าเป็น 4-6 ชิ้นล้างน้ำแล้วแช่น้ำยาฆ่าเชื้อรา ลงปลูกในแปลงได้เลย แต่กรณีที่หัวบอนสีมีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2 ซม. ให้นำหัวบอนผ่าแล้วปลูกเลี้ยงให้ได้ต้นพันธุ์ มีอายุประมาณ 2.5 เดือน จึงนำต้นกล้ามาปลูก ให้หลุมปลูกที่รองก้นหลุมปลูกด้วยฟูราดาน กดดินให้แน่นบริเวณโคนต้น ใช้ฟางแห้งคลุมหน้าดินในระยะปลูกใหม่ควรให้น้ำเช้าเย็น จนบอนสีเจริญเติบโตได้ดี หลังจากปลูกแล้ว 1 เดือน (เดือน มิ.ย.) ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ ใส่โคนต้น อย่าให้ถูกต้นจะทำให้ต้นไหม้ หลังจากนั้นเดือนถัดไปใส่ปุ๋ยสูตร 13-21-21 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ เดือนละ 1 ครั้ง จำนวน 3 ครั้ง (เดือน ก.ค.,ส.ค.,ก.ย.) หลังจากนั้น (เดือน ต.ค.) ไม่ต้องใส่ปุ๋ย เนื่องจากต้นบอนสีเริ่มพักตัว
ศัตรูพืช
ต้นบอนสีเป็นพืชที่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลง โรคที่พบส่วนใหญ่จะเป็นโรคเกี่ยวกับเชื้อราและแมลงที่พบจะได้แก่ เพลี้ยอ่อน และหนอนกินใบ
การเก็บเกี่ยวหัวบอนสี
ในช่วงเดือนต.ค. เริ่มเข้าฤดูหนาว ต้นบอนสีจะเริ่มพักตัว โดยจะค่อยๆทิ้งใบใบจะเหลืองจนไม่มีใบเหลือ ช่วงนั้นต้นบอนสีจะเข้าสู่การพักตัวควรงดการให้น้ำและขุดหัวมาล้างทำความสะอาด ชุบด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อรา ผึ่งในที่ร่มให้แห้งแล้วจึงนำเก็บไว้ในตะกร้า เพื่อรอการจำหน่ายต่อไป
การจำหน่ายหัวบอนสีส่วนใหญ่จะส่งออกไปต่างประเทศ ต้นบอนสีที่งอกจากหัวบอนสีจะทำให้ต้นแข็งแรงสามารถปลูกเป็นไม้กระถางและง่ายต่อการดูแลรักษาได้ง่าย
การตลาด
- บอนสีกระถาง ตลาดส่วนใหญ่เป็นตลาดภายในประเทศ เช่น จตุจักร, สนามหลวง 2, ตลาดต้นไม้ทั่วไป ฯ
- หัวบอนสี ตลาดส่วนใหญ่เป็นตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, เนเธอร์แลนด์, สหรัฐอเมริกา ฯ
กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น