ชื่ออื่น ๆ : แนะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ขนุนทอง, ยานัด, ย่านนัด (ใต้), บ่อนัด (เชียงใหม่), เนะซะ (กะเหรี่ยงตาก), ม้าเนื่อ (เขมร), มะขะนัด, มะนัด (เหนือ), หมากเก็ง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), สับปะรด (กรุงเทพฯ), ลิงทอง (เพชรบูรณ์)
ชื่อสามัญ : Pineapple
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ananas comosus (Linn.) Merr.
วงศ์ : BROMELIACEAE
ลักษณะทั่วไป : ต้น : เป็นพรรณไม้ล้มลุก ที่มีอายุอยู่หลายปี ลักษณะของลำต้นนั้นจะแตกออกมาเป็นกอ ใหญ่ ไม่มีกิ่งก้านใด ๆ ทั้งสิ้น จะมีก็แต่เพียงกาบใบที่ห่อหุ้มลำต้นไว้ มีปล้องสั้น ๆ สูงประมาณ 1-3 ฟุต
ใบ : แตกออกมาเป็นกอ เรียงแบบบันไดเวียนอย่างหนาแน่นและจะไม่มีก้านใบเลย ลักษณะของใบเรียวยาว ปลายแหลม โคนใบจะเป็นกาบห่อหุ้มลำต้นอยู่ ขอบใบมีหนามบ้างเล็กน้อย ผิวใบเรียบ ด้านบนจะเป็นสีเขียวเข้มและทางสีแดง ส่วนด้านล่างนั้นจะออกสีขาวปนน้ำเงิน
ขนาดของใบกว้างประมาณ 2.5 นิ้วยาว 1 เมตร
ดอก : เป็นช่อ โผล่ออกมาจากกลางกอ ช่อดอกนี้ใหญ่มีดอกหนาแน่นและก้านช่อก็ใหญ่แข็งแรงยาวประมาณ 3-6 นิ้วกลีบดอกมี 3 กลีบ มีขนาดเล็กด้านบนสีฟ้าอมม่วง ด้านล่างสีขาวมีเกสร 6 อันเรียงกันเป็น 2 ชั้น
ผล : จะเกิดจากช่อดอกที่เจริญร่วมกัน ผนังจะเชื่อมติดกัน โดยมีแกนกลาง ลักษณะของผลเป็นรูปมนรี ตรงโคนจะกว้างกว่าส่วนปลาย และปลายผลจะมีใบเป็นกระจุกสีเขียวเข้ม และผลโตประมาณ 6 นิ้วยาว 8 นิ้วมีตาอยู่รอบผลด้วยเมื่อยังอ่อนเป็นสีเขียว พอแก่กลายเป็นสีเหลืองสดและฉ่ำน่าทานมาก
การขยายพันธุ์ : เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่ขึ้นได้ดีในดินปนทราย มีความทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดีมาก ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำตะเกียงหรือส่วนที่อยู่ตรงปลายของผล และอาจจะใช้วิธีการนำหน่อไปปลูก แต่จะต้องกลบดินให้แน่นอย่าให้น้ำขังควรปลูกให้ลึกประมาณ 4 นิ้ว
ส่วนที่ใช้ : ใบสด ผล (ดิบและสุก) ราก เปลือก ยอดอ่อนสับปะรด
สรรพคุณ : ใบสด เป็นยาขับปัสสาวะ แก้กระษัยทำให้โตมีสุขภาพดีและใช้เป็นยาถ่ายหรือฆ่าพยาธิในท้อง
ผล แก้ไอ แก้เสมหะ ระงับอาการอักเสบ น้ำลายเหนียว ขับปัสสาวะฟอกเลือด แก้บวม และถ้าเป็นผลดิบจะใช้ห้ามเลือด ขับระดู ฆ่าพยาธิ และถ้าเป็นผลสุกใช้ขับปัสสาวะ แก้หนองใน มุตกิด ช่วยย่อยอาหาร ขับเหงื่อบำรุงกำลัง
ราก ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้มุตกิดระดูขาว แก้หนองใน แก้ขัดข้อ แก้กระษัย กัดและล้างทางเดินปัสสาวะ
เปลือก แก้กระษัยทำให้ไตมีสุขภาพดี ขับปัสสาวะ ถ้าผสมกับสมุนไพรอื่นจะแก้ขัดเบายอดอ่อนสับปะรด แก้นิ่ว แก้นิ่วเลือด
ถิ่นที่อยู่ : เป็นพรรณไม้ทางตะวันออกของอเมริกาใต้ แต่ปัจจุบันมีปลูกมากทางเขตร้อนและเขตใกล้เขตร้อน
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา : 1. ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ย่อยโปรตีน โดยทำการสกัดรากด้วยน้ำผลพบว่าไม่สามารถยับยั้งเอนไซม์ย่อยโปรตีนได้
2. ฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยการนำรากมาสกัดด้วยน้ำ และน้ำที่สกัดได้นั้นนำไปฉีดเข้าทางช่องท้องหนูขาว ผลที่ออกมาสามารถลดการอักเสบได้
กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น