การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร Plantae
ส่วน Magnoliophyta
ชั้น Liliopsida
อันดับ Poales
วงศ์ Cyperaceae
Juss.
กกเป็นไม้ล้มลุก (herb) อยู่ในวงศ์ (family) Cyperaceae มีชื่อสามัญเรียกว่า Sedge พบกระจายอยู่ทั่วโลก มีประมาณ 4000 ชนิด ชอบที่ชื้นแฉะ ขึ้นในที่ระดับต่ำตามหนอง บึง ทางระบายคันคูน้ำและโคลนเลน ใน 46 ประเทศจัดกกเป็นวัชพืชในนาข้าว และกกทรายหรือกกหัวแดง (Cyperus iria) พบใน 22 ประเทศ มีหลายชนิดใช้เป็นอาหารเช่น Eleocharis toberosa และ Scirpus toberosus และหลายชนิดใช้สานเสื่อทำกระจาด กระเช้า หมวก เช่น Scirpus mucronatus, Lepironia mucronata, Carex brizoides เป็นต้น
ลักษณะ
กกนั้นมีรูปร่างลักษณะและนิเวศวิทยาเหมือนหญ้ามาก มีลักษณะที่แตกต่างจากหญ้าคือ กกมักมีลำต้นตัน (solid) และเป็นสามเหลี่ยมหรือสามมุม (three-amgled) บางชนิดมีผนังกั้นแบ่งเป็นห้องๆ (septate) มีกาบใบอยู่ชิดกันมาก และที่สำคัญคือเกือบไม่มีลิ้นใบ (ligule) บางชนิดไม่มีเลย ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของกกคือ ดอกแต่ละดอกจะมี glume ห่อหุ้มหรือรองรับเพียงอันเดียว กกมีไหล (rhizome) เลื้อยไปใต้ดินและจากไหลก็จะแตกเป็นลำต้นเรียกว่า culm ที่ตัน (solid) โผล่พ้นขึ้นมาเหนือดิน และเมื่อผ่าลำต้นดูตามขวาง (cross-section) จะมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหรือสามมุมดังได้กล่าวมาแล้ว ลำต้นกกจะไม่แตกกิ่งเหมือนพืชชนิดอื่น ใบของกกเหมือนกับใบของหญ้า แต่จะเรียงตัวอัดกันแน่นเป็นสามมุมหรือสามตำแหน่งรอบโคนต้นและมีกาบ (sheath) ห่อหุ้มลำต้นและไม่มีลิ้นใบ (ligule)
ช่อดอกกกจะเกิดที่ปลายลำต้นเป็นหลายแบบ เช่น panicle, umbel หรือ spike และมีดอกขนาดเล็กเป็นทั้งดอกที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์เพศ โดยมีดอกรวมเรียกว่า spikelet ซึ่งประกอบด้วยดอกย่อย (floret) หนึ่งหรือหลายดอก แต่ละดอกมี glume หรือริ้วประดับ (bract) รองรับ ส่วนกลีบดอกหรือ perianth นั้นไม่มีหรืออาจมีแต่เปลี่ยนรูปร่างไปเป็นเกล็ด (scale) หรือขนแข็งเล็กๆ (bristle) ในดอกกกจะมีเกสรเพศผู้ (filament) แยกกันอยู่ ส่วนเกสรเพศเมียจะมีก้านแยกเป็นสอง-สามแฉก หรือบางครั้งแยกเป็นสอง-สามเส้น และมีรังไข่อยู่เหนือกลีบดอก (supreior) ภายในมีห้องเดียวและมีหนึ่งเมล็ด
ชนิดของกก
Carex
Carex เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายฤดู ลำต้นตั้งตรงเป็นสามเหลี่ยม บางชนิดมีไหลเลื้อยไปใต้ดิน ใบเรียวแคบช่อดอกมีทั้ง panicle, raceme และ spike มีดอกรวมหรือ spikelet ประกอบด้วยดอกย่อย (floret) เพียงดอกเดียว หรือ spikelet เท่ากับ floret มีทั้งดอกที่มีก้านและไม่มีก้านดอก และไม่มีกลีบดอกส่วนดอกเป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ หรือมีเพศแยกกันอยู่คนละดอก แต่อยู่ในช่อดอกเดียวกันและเกสรเพศผู้มี 3 อัน เนื่องจากกกมีลักษณะคล้ายหญ้า จึงทำให้มีผู้เรียกเป็นหญ้าด้วยแต่ความจริงแล้วน่าจะเรียกว่ากกมากกว่า ซึ่งจะได้แยกออกไปจากหญ้าได้บ้าง เช่น
หญ้าคมบาง (กกคมบาง) Carex baccans Nees
หญ้าคมบาง (กกคมบาง) Carex stramentita Boot
หญ้าคมบางเล็ก (กกคมบางเล็ก) Carex indica Linn.
หญ้าคมบางขาว (กกคมบางขาว) Carex cruciata Vahl
หญ้ากระทิง (กกกระทิง) Carex thailandica T. Koyama
หญ้าดอกดิน (กกดอกดิน) Carex tricephala boeck.
สกุล Carex มีหลายชนิดที่ใช้ประโยชน์ได้แต่ไม่มีในเมืองไทย เช่น
Carex atherodes ในทวีปอเมริกาใช้ทำหญ้าแห้ง (hay)
Carex brizodies ในยุโรปใช้สานกระจาด กระเช้า
Carex dispalatha ในญี่ปุ่นใช้ทำหมวก
Cyperus
Cyperus เป็นไม้ที่มีอายุฤดูเดียวและหลายฤดู มีทั้งต้นตั้งตรง ลำต้นตันเป็นสามเหลี่ยม บางครั้งก็กลม ใบเหมือนใบหญ้า ใบที่อยู่แถบโคนต้นจะเปลี่ยนเป็นเกล็ดหรือแน่นห่อหุ้มโคนต้นและไหล ช่อดอกเกิดที่ปลายต้นเป็นหลายแบบ ดอกรวม (spikeltet) ประกอบด้วยดอกย่อย (floret) ดอกเดียวหรือหลายดอกและเป็นดอกที่สมบูรณ์เพศ มีเกสรเพศผู้ 1-3 อัน เกสรเพศเมีย 2-3 แฉก พืชสกุลนี้มีหลายชนิดเป็นวัชพืช เป็นสมุนไพร ประกอบยารักษาโรค เป็นอาหารและใช้ทำภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ Cyperus ชนิดต่างๆ ได้แก่
กกขนาก cyperus differmis L. เป็นวัชพืชในนาข้าวและพืชไร่ ลักษณะคล้ายกกทั่วไป แต่ที่สังเกตง่ายคือ ดอกมีขนาดเล็กจะรวมกันอยู่เป็นกลุ่มคล้ายหัวกลมๆ
กกทรายหรือกกหัวแดง Cyperus iria เป็นวัชพืชพบในนาข้าวและพืชไร่เช่นเดียวกับกกขนาก ลักษณะที่เด่นของวัชพืชนี้คือรากมีสีแดงปนเหลือง ช่อดอกสีเหลืองกระจายกว้าง ใบประดับอันล่างสุดที่รองรับช่อดอกมีความยาวกว่าช่อดอก
กกชนิดอื่นที่เป็นวัชพืชยังมี เช่น
กกขี้หมา (Cyperus polystachyos Roxb)
กกนาCyperus haspan Linn.)
กกรังกา (Cyperus digitatus Roxb.)
กกรังกาป่า (Cyperus cuspidatus Kunth.)
กกลังกา (Cyperus alternifollius Linn.)
กกเล็ก (Cyperus pulcherrimus Willd. & Kunth)
กกบางชนิดที่ใช้เป็นสมุนไพรประกอบยารักษาโรคได้ ได้แก่
กกขี้หมา (Cyperus polystachyos Roxb.)
กกสามเหลี่ยม (Cyperus malaccensis Lamk.)
ใช้ไหล (rhizome) แก้โรคกระเพาะและแก้อาการท้องผูก
กกหลายชนิดที่ใช้เป็นอาหารได้แต่ไม่มีในเมืองไทย เช่น Cyperus esculentus ภาษาอังกฤษเรียกว่า Chuta earth almond, tiger nut หรือ rush nut มีไหลซึ่งเป็นที่เก็บอาหารใช้กินได้ มีกกอีกหลายชนิดใช้ประโยชน์ได้แต่ไม่พบในเมืองไทย เช่น Cyperus articulatus และ Cyperus longus ภาษาอังกฤษเรียก galin gale มีไหลที่มีกลิ่นหอมใช้ในอุตสาหกรรมทำน้ำหอมได้ Cyperus malacopsus และ Cyperus tegetiformis ภาษาอังกฤษเรียก Chinese mat grass ใช้ทำเสื่อเช่นเดียวกับกกสานเสื่อหรือกกจันทบุรี(Cyperus corymbosus) ซึ่งมีปลูกกันแพร่หลายในเมืองไทย ส่วนกกอียิปต์ (Cyperus papyrus Linn.) ภาษาอังกฤษเรียก papyrus หรือ paper reed นั้น แพร่เข้ามาในเมืองไทยนานแล้ว ชอบขึ้นในที่มีน้ำขังมีลำต้นกลมผิวลำต้นเขียวเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อกระจุกกลมๆ ที่ปลายต้นช่อดอกแต่ละช่อจะมีก้านเป็นเส้นเล็กฝอยชูช่อยาวออกไปเหมือนคนผมยุ่ง ในอียิปต์ในโบราณใช้ลำต้นทำกระดาษ แต่ในปัจจุบันเลิกใช้แล้ว
Fimbristylis
Fimbristylis เป็นไม้ล้มลุกอายุฤดูเดียวและหลายฤดู มีไหลสั้นๆ ลำต้นตั้งตรงมีทั้งต้นกลมและเป็นเหลี่ยม ใบรวมกันอยู่ที่โคนต้น ช่อดอกเกิดที่ปลายต้นคล้ายสกุล Cyperus มีดอกรวม (spikelet) ประกอบด้วยดอกย่อย (floret) ตั้งแต่หนึ่งถึงหลายดอกและเป็นดอกที่สมบูรณ์เพศมีเกสรเพศผู้ 1-3 อัน เกสรเพศเมียมี 2-3 แฉก กกสกุลนี้ป่วนมากเป็นวัชพืช พวกที่ใช้เป็นสมุนไพรประกอบยารักษาโรค เช่น กกรัดเขียด (หญ้าหนวดแมว) (Fimbristylis milliaces Vall) และกกหัวขอ (หญ้าหัวขอ) (Fimbrilstylis aestivalis Vahl) ใช้ทาแผลงูกัดและแก้โรคผิวหนัง ตามลำดับ สำหรับพวกที่เป็นวัชพืชและพบบ่อยในนาข้าวและแปลงปลูกพืช เช่น กกเปลือกกระเทียมทราย (Fimbristylis acuminata Vahl) กกนิ้วหนู (Fimbristylis dichotoma Vahl) กกกุกหมู (Fimbristylis monostachyos Hassk.) เป็นต้น
Scirpus
Scirpus เป็นไม้อายุฤดูเดียวและหลายฤดูมีไหลใต้ดิน ลำต้นตั้งตรงเป็นเหลี่ยมบางครั้งเกือบกลม บางชนิดจมอยู่ใต้ดินหรือลอยที่ผิวน้ำ ใบมีรูปร่างแตกต่างกันออกไป บางครั้งก็ไม่มีช่อดอกเกิดที่ปลายต้นหรือบางครั้งเกิดที่ด้านข้างของลำต้นแต่ค่อนไปทางส่วนยอด ดอกรวม (spikelet) ประกอบด้วยหลายดอกย่อย (floret) และเป็นดอกที่สมบูรณ์เพศมีเกสรเพศผู้ 1-3 อัน และเกสรเพศเมีย 2-3 แฉก พวกที่เป็นวัชพืชและรู้จักกันดีคือ กกสามเหลี่ยมหรือกกตะกรับ (Scirpus grosus L.f) มีลำต้นตั้งตรงมีขนาดใหญ่และเป็นสามเหลี่ยม ผิวลำต้นเรียบเป็นมัน ช่อดอกเกิดที่ปลายต้น ในสมัยอินเดียโบราณใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย และลำต้นใช้สานเสื่อและทำเชือกได้ ส่วนกกทรงกระเทียม (Scirpus articulatus Linn.) ใช้เป็นยาระบายหรือยาขับถ่าย อีกชนิดหนึ่งมีปลูกกันมากในจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย คือ กกกลมหรือกกยูนนาน (Scirpus mucronatus Linn.) ใช้ทำเชือกและสายเสื่อโดยเฉพาะมีลำต้นเกือบกลม ตั้งตรงมีความสูงกว่ากกกลมเล็กน้อย แต่ที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือ ช่อดอกจะเกิดเป็นช่อกระจกทางด้านข้างของลำต้นและค่อนไปทางส่วนปลายต้น ช่อดอกเกิดจากจุดเดียวกันและกระจายออกไปรอบด้านเหมือนรูปดาว ชาวบ้านจะแยกไหลจากคอเดิมไปขยายพันธุ์และจะตัดเมื่อมีอายุราว 3 เดือน ก่อนที่ต้นจะออกดอกใช้เวลาตากแดด 4-5 วัน ในต่างประเทศ เช่น อเมริกาเหนือและใช้ลำต้นของ Scirpus lacustris สานทำกระจาดที่นั่ง และสานเสื่อ อีกชนิดหนึ่ง คือ Scirpus tatara ใช้ทำแพและเรือคานู (canoe) ส่วนในจีนและญี่ปุ่นใช้กินหัวของ Scirpus tuberosus ทั้งสามชนิดดังกล่าวไม่มีในบ้านเรา
กกชนิดต่าง ๆ
Becca
Blysmus
Bolboschoenus
Carex
Cladium
Cyperus
Desmoschoenus
Eleocharis
Eleogiton
Elyna
การกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา
เขตศูนย์สูตรของทวีปเอเชีย พบทั่วไปตามชายริมบึงที่น้ำตื้นชื้นแฉะและในนาข้าว
จากเว็บ วิกิพีเดีย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น