วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

พลับพลา

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Microcos tomentosa Smith.

ชื่อวงศ์ TILIACEAE

ชื่ออื่น
กะปกกะปู สากกะเบือดง สากกะเบือละว้า หมากหอม ลาย พลา คอม กอม (ภาคเหนือ), คอมส้ม ก้อมส้ม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), พลองส้ม คอมเกลี้ยง (ภาคตะวันออก), มลาย (ภาคตะวันออกเฉียงใต้) พลับพลา ขี้เถ้า (ภาคกลาง), จือมือแก (มลายู-ภาคใต้), น้ำลายควาย พลาขาว พลาลาย (ภาคใต้)

ลักษณะทั่วไป

ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลักษณะใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่กลับ มีขนสากทั่วไป ปลายหยักคอดเป็นติ่งสั้นหรือเว้าแหว่งเป็นริ้ว กว้าง 4-8 ซม. ยาว 8-17 ซม. ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ 4-8 เส้น เส้นใบย่อยเป็นแบบเส้นขั้นบันได เห็นได้ชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว 0.5-1 ซม. ช่อดอกออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว 3-15 ซม. ดอกอ่อนกลมหรือป้อม กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ ด้านนอกของกลีบเลี้ยงมีขน ด้านในเกลี้ยง ส่วนกลีบดอกเกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน ขนาดกลีบดอกจะสั้นกว่ากลีบเลี้ยงประมาณเท่าตัวและร่วงง่าย เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบจะแยกเป็นอิสระ เกสรเพศผู้มีจำนวนมากและล้อมรอบรังไข่ ผิวรังไข่ มีขนสากคลุมแน่น ผิวของผลมีขนทั่วไป ผลกลมหรือรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. เมื่อแก่สีเหลือง ออกดอกและติดผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน ผลแก่กินได้ เส้นใยจากเปลือกใช้ทำเชือกหยาบๆ
ส่วนที่ใช้ประโยชน์ : ผลพลา สุกกินได้ เนื้อไม้, แก่น ต้มน้ำดื่ม แก้หืด

หมายเหตุ : ไม้พลาเป็นเชื้อเพลิงที่ติดไฟได้แม้เป็นไม้สด ปักษ์ใต้ในสมัยก่อนจึงใช้ไม้พลาเป็น
เชื้อเพลิงในการเผาศพ และในการอยู่ไฟของหญิงคลอดบุตรใหม่ นอกจากนั้น ผลแก่ของพลา
เด็กในชนบทปักษ์ใต้ยังใช้เป็นลูกกระสุนของ "ฉับโผง" ( ปืนเด็กเล่นซึ่งทำจากกระบอกไม้ไผ่ป่า )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...