วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

พริกเหลือง

ในบรรดาพันธุ์พริกกลุ่มพริกใหญ่หรือพริกชี้ฟ้าทั้งหลาย เมื่อแบ่งตามสีของผลจะมีอยู่หลายสี และที่รู้จักกันดีคือ กลุ่มสีเขียวซึ่งมีตั้งแต่เขียวอ่อน เขียวเหลือง และเขียวเข้ม เป็นต้น ในขณะที่พริกใหญ่ที่มีสีเหลืองจะเป็นกลุ่มที่หายากและมีราคาแพงที่สุด ในขณะที่ความต้องการบริโภคพริกเหลืองของคนไทยยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเมื่อนำมาประกอบอาหารจะได้สีและรสชาติที่มีความหอมเฉพาะตัว ดังนั้น ในบางช่วงราคาของพริกเหลืองที่มีวางขายในท้องตลาดจะสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท ปัจจุบันพันธุ์พริกเหลืองที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปจะเป็นพันธุ์พริกเหลืองบางบัวทองแต่มีจุดอ่อนตรงที่ไม่ค่อยทนทานต่อโรคและผลผลิตต่อไร่ต่ำ

หลักการสำคัญที่จะทำให้การปลูกพริกประสบผลสำเร็จ

ความจริงแล้วพริกจัดเป็นพืชที่มีโรคและแมลงระบาดทำลายมาก ดังนั้น การปลูกพริกในเชิงพาณิชย์ให้ประสบผลสำเร็จนั้น ประการแรกคือ มีการจัดการที่ดี มีเกษตรกรหลายรายที่ปลูกพริกเพื่อเก็บผลสดส่งขายตลาดแล้ว ยังมีการผลิตเมล็ดพันธุ์ขายรวมถึงการแปรรูปผลผลิต ประการที่ 2 เกษตรกรจะต้องมีการคาดการณ์ว่าตลาดพริกในแต่ละปีเป็นเช่นไร จะต้องมีการวางแผนการผลิตที่ดี และประการสุดท้าย เกษตรกรจะต้องปลูกพริกไม่ตรงกับเกษตรกรรายอื่นๆ

มีตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในปลูกพริกขี้หนูหัวเรือรายหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี คือ คุณบุญเหล็ง สายแวว จะมีวิธีการปลูกพริกที่ไม่เหมือนเกษตรกรรายอื่นๆ คือจะเริ่มเพาะกล้าพริกในช่วงวันแม่ของทุกปี คือวันที่ 12 สิงหาคม ในขณะที่เกษตรกรรายอื่นๆ จะเพาะกล้าก่อนหน้านั้น โดยคุณบุญเหล็งให้เหตุผลว่า เกษตรกรที่เพาะต้นกล้าพริกในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จะมีโอกาสเสี่ยงกับน้ำท่วม ซึ่งต้นพริกอาจจะถูกน้ำท่วมตายในระยะที่ต้นเริ่มให้ผลผลิต ซึ่งเป็นช่วงฝนตกชุกพอดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ลุ่ม

คุณนรินทร์ พูลเพิ่ม นักวิชาการเกษตร 8 จากศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร ได้ปรับปรุงพันธุ์พริกเหลืองโดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพริก พันธุ์ พจ. 013 (ผลสีส้ม) กับพริกพันธุ์ พจ. 07 (ผลสีเขียวอ่อน) และได้คัดเลือกให้เป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ได้พันธุ์พริกเหลืองที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพริกเหลืองบางบัวทอง จำนวน 2 สายพันธุ์ ในขณะที่พริกเหลืองบางบัวทองจะให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,104 กิโลกรัม ส่วนพริกเหลืองที่ทางศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตรได้ปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาใหม่นั้นได้ใช้ชื่อพันธุ์ว่า พจ. 28-1-1-1 และ พจ. 29-1-1-1 (พจ. ย่อมาจาก พิจิตร) ให้ผลผลิตเฉลี่ยถึง 2,899 กิโลกรัม และ 2,453 ตามลำดับ ถ้ามีการบำรุงรักษาที่ดีจะให้ผลผลิตมากกว่า 3,000 กิโลกรัม นอกจากนั้น พริกเหลืองพันธุ์ใหม่พันธุ์ พจ. 28-1-1-1 ยังมีลักษณะที่ดีเด่นกว่าพริกเหลืองบางบัวทองตรงที่มีขนาดของผลใหญ่เรียวยาว ขนาดความกว้างของผล 1.9 เซนติเมตร ยาว 14.3 เซนติเมตร และเนื้อหนาเฉลี่ย 2.4 มิลลิเมตร ลำต้นมีสีเขียวน้ำตาล ต้นสูงประมาณ 85 เซนติเมตร ทรงพุ่มกว้าง 71.7 เซนติเมตร ลักษณะของใบมีสีเขียว ขนาดของใบเฉลี่ยกว้าง 3 เซนติเมตร ยาว 7 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว อายุการบานของดอกแรก 35 วัน หลังจากปลูก

ขณะที่พริกเหลืองบางบัวทองมีความกว้างของผล 1.6 เซนติเมตร ยาว 11.6 เซนติเมตร และเนื้อหนาเฉลี่ย 1.7 มิลลิเมตร เท่านั้น สำหรับพริกเหลืองอีกพันธุ์หนึ่งตั้งชื่อพันธุ์ว่า พจ. 29-1-1-1 คุณนรินทร์บอกว่า ให้ผลผลิตเฉลี่ยต่ำกว่าพันธุ์ พจ. 28-1-1-1 ก็จริง แต่ผลผลิตเฉลี่ยก็ยังสูงกว่าพริกเหลืองบางบัวทอง คือให้ผลผลิตประมาณ 2,453 กิโลกรัม ต่อไร่ ผลผลิตมีคุณภาพดีตรงกับความต้องการของตลาด ไม่แตกต่างจากพริกเหลืองบางบัวทอง ลักษณะประจำพันธุ์ พจ. 29-1-1-1 จะมีลำต้นมีสีเขียวน้ำตาล ต้นมีความสูงประมาณ 1 เมตร มีทรงพุ่มกว้างประมาณ 70 เซนติเมตร ขนาดของใบเฉลี่ยกว้าง 3 เซนติเมตร และยาว 6.8 เซนติเมตร ดอกมีสีขาวเช่นกัน แต่อายุการบานของดอกแรกนานกว่าพันธุ์ พจ. 28-1-1-1 คือ 39 วัน หลังจากปลูก ลักษณะของผลจะเรียวยาว ขนาดของผลผลิตเฉลี่ยกว้าง 1.8 เซนติเมตร ยาว 9.8 เซนติเมตร (ผลสั้นกว่าพันธุ์ พจ. 28-1-1-1) ความหนาของเนื้อและเปลือกเฉลี่ย 1.9 มิลลิเมตร เมื่อผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีเหลืองส้ม

เมื่อนำพริกเหลืองพันธุ์ใหม่ทั้งสองสายพันธุ์มาเปรียบเทียบภาพรวมกับพริกเหลืองที่เกษตรกรปลูกกันมากในขณะนี้คือ พริกเหลืองบางบัวทอง พริกเหลืองพันธุ์ใหม่ทั้ง 2 สายพันธุ์ ให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงกว่า เมื่อนำไปวางขายในตลาดจะเห็นความแตกต่างของขนาดผลดูจากความยาวแล้ว พริกเหลืองพันธุ์ 28-1-1-1 ยาวที่สุด พันธุ์บางบัวทองมีขนาดความยาวรองลงมา และพันธุ์ 29-1-1-1 มีความยาวของผลสั้นที่สุด

สภาพพื้นที่ปลูกพริกเหลืองในเชิงพาณิชย์

คุณนรินทร์ได้แนะนำสภาพพื้นที่ปลูกพริกเหลืองควรจะเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง (ถ้าเกษตรกรจะปลูกแบบสวนครัว ควรจะมีการเตรียมแปลงปลูกที่ให้ต้นพริกได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน) สำหรับผู้ที่จะปลูกพริกเหลืองในกระถางเพื่อไว้บริโภคสำหรับผู้ที่มีพื้นที่น้อย แต่วิธีการปลูกพริกในกระถางสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดก็คือ วัสดุปลูกจะต้องมีการระบายน้ำที่ดี แนะนำให้ใช้กาบมะพร้าว ใบก้ามปูและดินเป็นวัสดุปลูกเมื่อปลูกลงกระถางแล้ว จะต้องนำกระถางที่ปลูกพริกไปวางไว้กลางแดดเช่นกัน จะต้องมีการให้น้ำอย่างน้อยวันละครั้ง (บางครั้งพบสาเหตุที่ดอกพริกร่วง เนื่องจากน้ำที่ใช้รด มีปริมาณของสารคลอรีนมากเกินไป หรือรดน้ำในขณะที่มีสภาพอากาศร้อนเกินไป) กรณีที่ปลูกพริกในกระถางจะใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 16-16-16 ใส่ให้อัตรากระถางละ 10 เม็ด ทุกๆ 10 วัน ไม่จำเป็นจะต้องใช้ปุ๋ยประเภทละลายช้า เนื่องจากจะเป็นการสิ้นเปลืองจนเกินไป

สภาพพื้นที่ปลูกพริกเหลืองไม่ควรมีน้ำท่วมขัง คุณนรินทร์ไม่แนะนำให้ปลูกพริกเหลืองซ้ำที่เดิม ควรจะปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียนบ้าง เนื่องจากพริกเหลืองจะอ่อนแอต่อโรคมากกว่าพริกใหญ่พันธุ์อื่นๆ ในการเพาะต้นกล้าพริกเหลืองควรจะเพาะในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน และปลูกในช่วงเดือนตุลาคมจะเหมาะที่สุด ต้นพริกเหลืองที่มีการบำรุงรักษาที่ดีพอสมควรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานถึง 6 เดือน

สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพริกในเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นพริกชนิดใดก็ตาม แต่สำหรับพริกเหลืองแล้วจะต้องยอมรับในประการแรกว่า ค่อนข้างจะอ่อนแอต่อโรคกว่าพริกพันธุ์อื่นๆ จึงทำให้พริกเหลืองมีราคาค่อนข้างแพงกว่าพริกทั่วไป จากได้กล่าวมาแล้วว่าในบางช่วงพริกเหลืองจะมีราคาแพงมากราคาขายถึงผู้บริโภคเป็นพริกเหลืองสด กิโลกรัมละ 100 บาท ดังนั้น สิ่งที่มีความสำคัญสำหรับเกษตรกรที่จะปลูกพริกจะต้องดูที่ต้นทุนในการผลิตประกอบด้วย กล่าวโดยสรุปว่า การปลูกพริกในเชิงพาณิชย์จะมีต้นทุนในการผลิตสูงชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นพืชที่มีการบำรุงรักษาที่ยาวนาน คือมีต้นทุนเฉลี่ยกิโลกรัมละอย่างน้อย 15 บาท ต่อกิโลกรัม แต่ถ้ามีการจัดการที่ดีพื้นที่ปลูกพริกเหลือง 1 ไร่ อาจจะสร้างรายได้ถึงไร่ละ 100,000 บาท ซึ่งดีกว่าปลูกพืชอื่นหลายๆ ชนิด

สำหรับวิธีการปลูกพริกในรูปแบบเกษตรอินทรีย์จะเป็นได้ยากมากสำหรับภาคการผลิตของเกษตรกรไทย แต่ถ้าจะผลิตแบบปลอดสารพิษมีความเป็นไปได้ แต่จะยุ่งยากมากกว่าการผลิตพืชผักชนิดอื่นๆ อย่างกรณีของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษได้ทำการศึกษาและวิจัยการผลิตพริกพันธุ์จินดาดำ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ไม่เหมาะต่อการบริโภคสด เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะต่อการแปรรูปเป็นซอสพริกมากกว่า เนื่องจากผลสด (ผลยังไม่สุกจะมีสีเขียวเข้ม) คนไทยไม่นิยม ในขณะที่ปัจจุบันราคาซื้อ-ขายพริกจินดาดำมีราคาขายที่สูงกว่าพริกขี้หนูพันธุ์หัวเรือ (พริกขี้หนูหัวเรือ เป็นพริกขี้หนูเม็ดใหญ่) แต่ประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการซอสพริกที่ผลิตจากพริกจินดาดำปริมาณมาก แต่มีเงื่อนไขว่าการปลูกพริกจินดาดำเพื่อผลิตเป็นซอสพริกและส่งขายเข้าประเทศญี่ปุ่นจะต้องใช้ระบบการปลูกแบบปลอดสารพิษ ซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างยุ่งยากสำหรับการผลิตของเกษตรกรไทย

การจัดการแปลงปลูกพริกเหลือง

ยังมีเกษตรกรที่ปลูกพริกอีกเป็นจำนวนมากที่มักจะเข้าใจผิดในการปลูกพริกเหลือง เรื่องของการให้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิต การใส่ปุ๋ยให้ต้นพริกที่ถูกต้องควรใส่ในช่วงที่ต้นพริกตั้งท้องคือ มีอายุต้นได้ประมาณ 3 เดือน นับจากเริ่มเพาะกล้า ขณะที่ต้นพริกติดผลอยู่เต็มต้น ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ย เนื่องจากจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคกุ้งแห้งและโรคแอนแทรกโนส (ถ้าพบการระบาดของโรคนี้ ควรฉีดพ่นด้วยสารป้องกันและกำจัดเชื้อรา เช่น แอนทราโคล) โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน คุณนรินทร์แนะนำให้ฉีดสารเคมีป้องกันและกำจัดโรคกุ้งแห้งอย่าปล่อยให้โรคระบาดทำลายก่อน สำหรับเคล็ดลับในการเพิ่มผลผลิตในการปลูกพริกเหลืองนั้น มีคำแนะนำของทางราชการว่าเมื่อมีการฉีดพ่นสารแพลนโนฟิกซ์ อัตรา 0.5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ในช่วงที่ต้นพริกกำลังออกดอกและติดผลจะช่วยให้ต้นพริกมีการติดผลได้ดกขึ้น

วิธีการปลูกพริกเหลืองในเชิงพาณิชย์ สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพริกเหลืองแบบแถวเดี่ยว ทางราชการแนะนำให้ใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 100 เซนติเมตร (ประมาณ 1 เมตร) ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร (ประมาณครึ่งเมตร) ในพื้นที่ปลูก 1 ไร่ จะปลูกพริกเหลืองได้ประมาณ 3,200 ต้น ก่อนที่เกษตรกรจะย้ายกล้าลงปลูก คุณนรินทร์แนะนำให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 4,000-5,000 กิโลกรัม (4-5 ตัน) ต่อ 1 ไร่ (หรือจะใช้วิธีการรองก้นหลุมโดยใช้ปุ๋ยคอก หลุมละ 2-3 กำมือ) ใส่พร้อมปุ๋ยเคมี สูตร 16-16-16 อัตรา 25 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือประมาณ 1 ช้อนชา ต่อหลุม ถ้าจะให้ดีจะต้องใส่สารคาร์โบฟูราน อัตราหลุมละ 0.2-0.5 กรัม คลุกเคล้าไปพร้อมกับปุ๋ยเคมี

เกษตรกรที่ต้องการเก็บพันธุ์พริกเหลืองไว้ขยายพันธุ์ต่อจะต้องทำอย่างไร? คุณนรินทร์แนะนำให้เกษตรกรเก็บผลผลิตพริกเหลืองจากต้นที่มีความแข็งแรงและสมบูรณ์ มีลักษณะของต้นที่มีความทนทานต่อโรค เป็นต้นที่ให้ผลผลิตดก แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรมักจะเข้าใจผิด มักจะเก็บผลพริกไว้เพื่อทำพันธุ์ต่อ โดยดูจากลักษณะของผลที่สวยและมีขนาดผลใหญ่เท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง

*"เมล็ดพริกเหลืองพันธุ์ดี" มีแจกฟรีพร้อมคู่มือการปลูก เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ 15 บาท ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/200 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, 650-145 และ (01) 886-7398



จากเว็บ http://www.agric-prod.mju.ac.th/web-veg/article/new159.htm



กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...