วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

โปรงขาว

โปรงขาว (Ceriops decandra Ding Hou)

วงศ์ : RHIZOPHRACEAE

ชื่ออื่น : โปรง, โปรงหนู, ปะโลง, โหลง (กลาง); กระปูโลง, โปลง, โปรง (เพชรบุรี); แหม (ภูเก็ต); แสมมาเนาะ (สตูล)

ลักษณะทั่วไป

เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กกึ่งไม้พุ่ม สูง ๒ – ๗ เมตร โคนต้นมีพูพอนเล็กน้อยพองขยายออก รากหายใจรูปคล้ายเข่า อ้วนสั้น กลม ยาว ๖ – ๑๓ ซม. เหนือผิวดิน เรือนยอดกลม แน่นทึบ เปลือกสีเทาอ่อน เรียบถึงแตกเป็นสะเก็ด ช่องอากาศสีน้ำตาลอมชมพู

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับทิศทาง เป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง แผ่นใบรูปไข่กลับ หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับถึงรูปขอบขนานแกมรูปรี ขนาด ๓ – ๗ x ๕ – ๑๒ ซม. เป็นมัน ปลายใบป้านมน กลม หรือเว้าตื้น ๆ ฐานใบรูปลิ่ม ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้ม ท้องใบสีซีด ก้านใบยาว ๑ – ๓ ซม. หูใบยาว ๒ – ๓ ซม.

ดอก ออกเป็นช่อตามง่ามใบ แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ก้านช่อดอกหนาสั้น ไม่มีก้านดอกย่อย ดอกอยู่เป็นกระจุกที่ปลายก้านช่อดอก วงกลีบเลี้ยงยาว ๐.๕ – ๐.๗ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่แหลม ขนาด ๐.๒ – ๐.๓ x ๐.๓ - ๐.๕ ซม. ตรงหรือโค้งขึ้น กลีบดอกสีขาวก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล

ผล เป็นผลแบบงอกตั้งแต่ยังติดอยู่บนต้น ลำต้นใต้ใบเลี้ยงหรือ “ฝัก” เป็นรูปทรงกระบอกเรียว ขนาด ๐.๗ – ๑ x ๘ – ๑๕ ซม. สีเขียว โคนสีม่วงเข้ม มีสันตามยาว ส่วนโคนชี้ไปทางปลายกิ่งไม่เป็นระเบียบ ออกดอกและผลเกือบตลอดปี มักพบตามพื้นที่ป่าชายเลนที่เป็นที่ดอนแห้งและจะมีลักษณะเหมือนไม้พุ่มหากขึ้นในสภาพที่ไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโต







กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...