วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

มันสำปะหลัง

มันสำปะหลัง (Cassava)

มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญพืชหนึ่ง เป็นพืชอาหารที่ใช้เป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต ถ้าพิจารณาจากปริมาณการผลิตพืชอาหารทั่วโลกมันสำปะหลังอยู่ในอันดับที่ 5 รองมาจากข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวและมันฝรั่ง เป็นพืชอาหารที่สำคัญของประเทศในเขตร้อน โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชียบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งปลูกมันสำปะหลังเพื่อใช้ในการบริโภคโดยตรง ปริมาณการผลิตของมันสำปะหลังทั่วโลกประมาณสองในสามส่วนใช้เป็นอาหารมนุษย์ที่เหลือใช้เลี้ยงสัตว์และใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม (Cock , 1985) จากรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พ.ศ. 2538 ทั่วโลกผลิตมันสำปะหลังได้ 163.78 ล้านตัน แหล่งผลิตที่สำคัญได้แก่ทวีปแอฟริกา ซึ่งผลิตได้ถึง 82.77 ล้านตัน รองลงมาเป็นทวีปเอเชีย ผลิตได้ 48.36 ล้านตัน ส่วนทวีปอเมริกาผลิตรวมกันได้ 32.5 ล้านตัน ส่วนมากเป็นประเทศในอเมริกาใต้หรือแถบลาตินอเมริกา ประเทศที่ผลิตได้มากที่สุดในโลก 5 อันดับแรกได้แก่ ไนจีเรีย บราซิล ไทย ซาอีร์ และอินโดนีเซีย
สำหรับประเทศไทยมันสำปะหลังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากเพราะมีเนื้อที่ปลูกมากเป็นอันดับ 4 รองจาก ข้าว ข้าวโพด และยางพารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน พ.ศ. 2532 มีเนื้อที่ปลูกมากที่สุดถึง 10.14 ล้านไร่และผลิตมันสำปะหลังได้ถึง 24.26 ล้านตัน ทำให้ผลผลิตมากเกินความต้องการราคาจึงต่ำลง เกษตรกรจึงหันไปปลูกพืชอื่นแทนทำให้เนื้อที่ปลูกมันสำปะหลังในปีต่อมาลดลงเหลือปีละ 8-9 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 17-20 ล้านตัน ซึ่งพอเพียงกับความต้องการของตลาดแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญที่สุดได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีเนื้อที่ปลูกรวมกันมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่ปลูกทั้งประเทศ รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง ซึ่งรวมภาคตะวันออกและภาคตะวันตกมีเนื้อที่ปลูกประมาณ 26 เปอร์เซ็นต์และภาคเหนือมีเนื้อที่ปลูกประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภาคใต้ไม่มีการปลูกมันสำปะหลังเลย จังหวัดมีเนื้อที่ปลูกมากที่สุดได้แก่จังหวัดนครราชสีมา มีเนื้อที่ปลูกถึง 1.7 ล้านไร่ และมีจังหวัดที่มีเนื้อที่ปลูกเกินหนึ่งแสนไร่ใน พ.ศ. 2539 รวม 24 จังหวัด
แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศที่ผลิตมันสำปะหลังมากที่สุดในโลก แต่เป็นประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมากที่สุดในโลก เพราะประเทศที่ผลิตได้มากกว่า ได้แก่ บราซิล และไนจีเรีย จะใช้บริโภคภายในประเทศหมด ส่วนประเทศไทยมีการใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังน้อยมากผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ไทยส่งออกอยู่ในรูปของมันเส้นและมันอัดเม็ดมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ตลาดที่สำคัญได้แก่ประชาคมยุโรป ส่วนที่เหลือส่งออกในรูปแป้งและสาคูไปยังประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน เกาหลี และอื่นๆ รวมมูลค่าของการส่งออกทั้งหมดมากกว่าสองหมื่นล้านบาทต่อปี
มันสำปะหลังมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกา ตั้งแต่บริเวณตอนใต้ของประเทศเม็กซิโกในทวีปอเมริกาไปจนถึงประเทศบราซิลในอเมริกาใต้ จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบเครื่องปั้นดินเผาเป็นรูปหัวมันสำปะหลังที่ประเทศเปรู แสดงให้เห็นว่าชนชาวพื้นเมืองรู้จักใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารมานานกว่า 2,500 ปี และก่อนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสจะสำรวจพบทวีปอเมริกาใน ค.ศ. 1492 (พ.ศ. 2035) นั้น ยังไม่เคยพบพืชชนิดนี้ที่ใดมาก่อนเลยมันสำปะหลังได้แพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของโลกในสมัยที่มีการล่าอาณานิคมในราวศตวรรษที่ 16 โดยชาวโปรตุเกสได้นำมันสำปะหลังจากประเทศบราซิลไปยังทวีปแอฟริกา ส่วนทวีปเอเชียนั้นชาวสเปนได้นำมันสำปะหลังจากประเทศเม็กซิโกไปยังประเทศฟิลิปปินส์ก่อนในราวศตวรรษที่ 17 และชาวดัทช์ได้นำมันสำปะหลังจากสุรินัมเข้ามายังเกาะชวาในราวต้นศตวรรณที่ 18 สำหรับประเทศไทยเชื่อกันว่ามีการนำมันสำปะหลังจากมาลายูเข้ามาปลูกในภาคใต้ราว พ.ศ. 2329 ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นมันสำปะหลังชนิดหวานใช้ทำขนมส่วนพันธุ์ชนิดขมที่ปลูกส่งโรงงานนั้นนำเข้ามาภายหลังโดยปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางพาราโดยเฉพาะที่จังหวัดสงขลามีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันและสาคูส่งออกไปยังปีนังและสิงคโปร์ เมื่อยางพาราโตขึ้นคลุมพื้นที่ทั้งหมดไม่สามารถปลูกมันสำปะหลังได้ จึงได้ย้ายแหล่งปลูกไปยังภาคตะวันออกที่จังหวัดชลบุรีและระยอง การปลูกมันสำปะหลังเป็นการค้าขนาดใหญ่นั้นเริ่มหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2489) เพราะประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาต้องการแป้งมันสำปะหลังเป็นจำนวนมากทำให้พื้นที่ปลูกขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับประเทศไทยได้ส่งกากมัน มันเส้น และมันอัดเม็ดไปยังยุโรปเพื่อการเลี้ยงสัตว์มากขึ้นจึงได้ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนกระทั่งปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
มันสำปะหลังมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Manihot esculenta Crantz. หรือ Manihot utilissima Pohl. อยู่ในตระกูล Euphorbiaceae เป็นไม้พุ่มเตี้ย อายุหลายปี
ราก มันสำปะหลังมีรากน้อยและอยู่ไม่ลึกจากผิวดิน มีราก 2 ชนิด คือ รากจริงและรากสะสมอาหาร ที่เรียกกันทั่วไป หัว มีปริมาณแป้งประมาณ 15 - 40 % มีกรดไฉโดรไซยานิก ( HCN ) หรือกรดพรัสซิก ( prussic acid ) ซึ่งมีพิษ จะมีอยู่มากในส่วนของเปลือกมากกว่าเนื้อของหัว การแช่น้ำ การต้ม จะทำให้กรดระเหยไปได้
ลำต้น มีลักษณะเป็นข้อๆ ซึ่งเป็นรอยที่ก้านใบร่วงหลุดไป สีของลำต้นส่วนยอดจะเป็นสีเขียวส่วนทางด้านล่างอาจมีสีน้ำตาล หรือสีม่วงแดงขึ้นอยู่กับพันธุ์
ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบแยกเป็นแฉกคล้ายใบปาล์มมีสีเขียว ก้านใบอาจมีสีเขียว หรือสีแดง บางพันธุ์ใบจะมีสีเหลือง หรือขาว หรือใบด่าง ที่ใช้เป็นไม้ประดับ
ดอก มันสำปะหลังมีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในช่อดอกเดียวกัน ดอกตัวผู้จะอยู่ทางส่วนปลายของช่อดอกมีขนาดเล็กกว่าดอกตัวเมีย มีกลีบดอก 5 กลีบ มีสีเหลืองหรือมีลายแดง ผลและเมล็ด ในแต่ละผลจะมี 3 เมล็ด เมล็ดจะมีสีเทาหรือลายจุดดำ

พันธุ์


พันธุ์ มันสำปะหลังที่
ปลูกในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. พันธุ์ที่ใช้ประดับ นิยมปลูกตามบ้านเพื่อความสวยงาม เนื่องจากใบมีแถบสีขาวและเหลืองกระจายไปตามความยาวของใบจึงเรียกว่า มันด่าง และยังมีพันธุ์อีกชนิดหนึ่งเป็นพันธุ์ป่า มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดกลางถึงใหญ่ใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงาพบมากแถบจังหวัดชลบุรีและระยอง
2. พันธุ์ชนิดหวาน พันธุ์นี้จะใช้หัวเป็นอาหารมนุษย์โดยเชื่อม ต้ม ปิ้ง หรือเผา ไม่มีรสขมเนื่องจากมีปริมาณ HCN ต่ำ ที่พบในบ้านเรามี 3 พันธุ์ ได้แก่ มันสวน มันห้านาทีหรือก้านแดงและระยอง 2 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรปรับปรุงขึ้นมาใช้สำหรับทอดเป็นแผ่นบางเช่นเดียวกับ potato chips
3. พันธุ์ชนิดขม พันธุ์นี้มีเนื้อที่ปลูกมากที่สุดหลายล้านไร่เป็นพันธุ์ปลูกส่งโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด และแป้ง แต่เดิมปลูกพันธุ์เดียวคือพันธุ์ดั้งเดิมที่มีผู้นำเข้ามาในประเทศเป็นเวลานาน ผ่านการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีจนจัดเป็นพันธุ์พื้นเมือง ต่อมากรมวิชาการเกษตรได้ทำการคัดเลือกพันธุ์จากแหล่งปลูกทั่วไปพบว่าพันธุ์ที่ปลูกในจังหวัดระยองให้ผลผลิตดีที่สุดจึงตั้งชื่อใหม่ว่า พันธุ์ระยอง 1 ลักษณะทรงต้นสูงใหญ่แข็งแรงความงอกดีเก็บต้นไว้ทำพันธุ์ได้นานให้ผลผลิตค่อนข้างสูงต้านทานโรคและแมลงได้ดี แต่มีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำโดยเฉพาะในฤดูฝน ต่อมามีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังโดยหน่วยงานของราชการอย่างน้อยสองแห่งที่ดำเนินการในเรื่องนี้หน่วยงานแรกคือ กรมวิชาการเกษตรมีศูนย์วิจัยอยู่ที่จังหวัดระยองฉะนั้นพันธุ์ใหม่ๆ จึงใช้ชื่อว่า พันธุ์ระยอง เช่น ระยอง 2 ระยอง 3 ระยอง 5 ระยอง 60 และระยอง 90 ส่วนอีกหน่วยงานหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีสถานีวิจัยอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จึงใช้ชื่อพันธุ์ใหม่ว่าศรีราชา 1 และเกษตรศาสตร์ 50 ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นการร่วมฉลองในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก่อตั้งมาครบ 50 ปี ในพ.ศ. 2536

ลักษณะดีเด่นของพันธุ์ระยอง 5
ผลผลิต พันธุ์ระยอง 5 เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตหัวสด ผลผลิตมันแห้ง และผลผลิตแป้งสูงกว่าทุกๆ พันธุ์ และทุกๆ สภาพแวดล้อม เมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์ระยอง 1 ให้ผลผลิตหัวสด มันแห้ง และผลผลิตแป้งสูงกว่า 23, 32 และ 44% ตามลำดับ

การดูแลรักษากิ่งพันธุ์
อายุกิ่งพันธุ์เก็บได้ไม่เกิน15วันถ้านานกว่านี้เปอร์เซ็นต์ความงอกจะลดลงต้นที่คัดไว้ทำพันธุ์ควรวางให้ส่วนยอดตั้งขึ้นและโคนต้นแตะพื้นดิน เกษตรกรควรทำแปลงพันธุ์ไว้ใช้ปลูก ในฤดูต่อไป เพื่อให้ได้ท่อนพันธุ์ที่มีคุณภาพ และเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง โดยเฉพาะเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวในฤดูแล้ง และไม่สามารถปลูกต่อได้ทันที

การเปรียบเทียบลักษณะ
การเปรียบเทียบลักษณะของมันสำปะหลังพันธุ์
ระยอง 5, ระยอง 1, ระยอง 3, ระยอง 60, ระยอง 90 และเกษตรศาสตร์ 50

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
สภาพพื้นที่ดิน มันสำปะหลังเป็นพืชที่ปลูกในเขตร้อนสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างกว้างขวางพบปลูกตั้งแต่บริเวณเส้นรุ้งที่ 30 องศาเหนือถึง 30 องศาใต้ และที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 2,000 เมตร แต่ปลูกมากระหว่างเส้นรุ้งที่ 20 องศาเหนือถึง 20 องศาใต้ ประเทศไทยอยู่ในระหว่างเส้นรุ้งที่ 6-20 องศาเหนือ จึงสามารถปลูกมันสำปะหลังได้ทุกภาค
มันสำปะหลังขึ้นได้ในดินทุกชนิด แต่ชอบดินร่วนปนทรายเพราะจะลงหัวและเก็บเกี่ยวง่ายมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง แต่สามารถขึ้นและให้ผลผลิตได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำซึ่งปลูกพืชไร่อื่นๆ เช่น ข้าวโพดและถั่วต่างๆ ไม่ได้ผล โดยทั่วไปพบว่าเขตปลูกมันสำปะหลังมักจะเป็นพื้นที่ดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์จนกระทั่งมีผู้เข้าใจผิดว่าการปลูกมันสำปะหลังทำให้ดินเสื่อมหากปลูกในดินมีความอุดมสมบูรณ์เกินไปมันสำปะหลังพันธุ์พื้นเมืองจะเจริญเติบโตทางต้นและใบมากและลงหัวน้อย แต่พันธุ์ที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ เช่น ระยอง 5 และเกษตรศาสตร์ 50 นั้นยิ่งดินดีมากยิ่งให้ผลผลิตมาก มันสำปะหลังจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินที่ไม่มีน้ำท่วมขังมี pH ระหว่าง 5.5-8.0 ทนต่อสภาพความเป็นกรดสูงได้แม้ pH ของดินจะต่ำจนถึง 4.5 ก็ไม่ทำให้ผลผลิตลดแต่ไม่ทนต่อสภาพดินที่เป็นด่างโดยไม่สามารถขึ้นถ้า pH สูงถึง 8

สภาพอากาศ มันสำปะหลังเจริญเติบโตที่อุณหภูมิ 10-35 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิที่เหมาะสมโดยเฉลี่ยต้องไม่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียสเพราะจะทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงักในเขตหนาวหรือ เขตอบอุ่นที่มีหิมะและน้ำค้างแข็งจึงไม่สามารถปลูกมันสำปะหลังได้ (Cock , 1985)
มันสำปะหลังเป็นพืชที่ทนแล้งต้องการน้ำฝนเฉลี่ย 1,000-3,000 มิลลิเมตรต่อปี เมื่องอกขึ้นมาและตั้งตัวได้แล้วจะไม่ตายแม้ฝนจะทิ้งช่วงนาน 3-4 เดือน ทั้งนี้เพราะมันสำปะหลังมีระบบรากลึก อาจลึกถึง 2.6 เมตร (CIAT , 1980) จึงสามารถหาน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ได้ แต่มันสำปะหลังไม่ทนต่อสภาพน้ำขัง เพราะจะทำให้หัวเน่าและตายได้ ถึงแม้ว่ามันสำปะหลังจะทนแล้งแต่ถ้าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยน้อยกว่า 600 มิลลิเมตรต่อปี เช่น เขตทะเลทรายก็ไม่สามารถปลูกมันสำปะหลังได้ (Cock , 1985)

ฤดูปลูก มันสำปะหลังสามารถปลูกได้ตลอดปี แต่เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกช่วงต้นฤดูฝน (เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม) ถึง 65 เปอร์เซ็นต์ และปลูกในช่วงปลายฤดูฝนหรือในฤดูแล้ง (เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์) ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือจะปลูกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม การปลูกในช่วงต้นฤดูฝนให้ผลผลิตหัวสดสูงกว่าการปลูกในช่วงอื่นๆ แต่ถ้าเป็นดินทรายการปลูกในช่วงฤดูแล้งจะให้ผลผลิตหัวแห้งสูงสุด (วิจารณ์และคณะ , 2537) การเลือกฤดูปลูกของเกษตรกรขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1. ปริมาณน้ำฝน การปลูกในช่วงต้นฤดู ปริมาณน้ำฝนยังไม่มากนักจึงมีเวลาเตรียมดินได้ดี การมีเวลาเตรียมดินอย่างดีจะทำให้จำนวนวัชพืชลดลงมาก ดินร่วนเหมาะกับการลงหัวและมันสำปะหลังจะได้รับน้ำฝนตลอดระยะเวลาของการเจริญเติบโต ถ้าปลูกช่วงปลายฤดูหรือในฤดูแล้งหลังจากมันสำปะหลังขึ้นมาแล้วจะพบกับระยะฝนทิ้งช่วง 2-3 เดือน ทำให้มันสำปะหลังชะงักการเจริญเติบโตแต่ข้อดีของการปลูกปลายฝนคือมีวัชพืชขึ้นรบกวนน้อย

2. ชนิดดิน ถ้าเป็นดินทรายสามารถปลูกได้ตลอดปีแต่เกษตรกรมักนิยมปลูกปลายฤดูฝน เช่น แถบจังหวัดระยองและชลบุรี แต่ถ้าเป็นดินเหนียวจะนิยมปลูกต้นฤดูฝน เพราะถ้าเป็นฤดูแล้งการไถพรวนจะได้ดินก้อนใหญ่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจะแห้งตายก่อนที่จะงอกเป็นต้น

3. พันธุ์ มันสำปะหลังพันธุ์พื้นเมืองถ้าเก็บเกี่ยวในฤดูฝนจะมีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำและการขนส่งลำบากจึงนิยมปลูกปลายฤดูเพื่อการเก็บเกี่ยวและขนส่งในฤดูแล้งจะได้คุณภาพและราคาดี แต่ในปัจจุบันมีพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นให้ผลผลิตและเปอร์เซ็นต์แป้งสูงทุกฤดูจึงสามารถปลูกได้ทั้งปีเป็นการกระจายผลผลิตให้สม่ำเสมอตลอดปีได้ (ปิยะวุฒิ , 2535)

การปลูกและการดูแลรักษา

การเตรียมดิน มันสำปะหลังเป็นพืชหัวผลผลิตที่ใช้ประโยชน์คือรากที่มีการสะสมอาหารจำพวกแห้งจนขยายใหญ่ขึ้นเป็นหัวอยู่ในดิน การเลือกพื้นที่ปลูกควรเลือกที่ดอนดินเป็นดินร่วนปนทรายถ้าเป็นดินเหนียวต้องมีการระบายน้ำดีน้ำไม่ท่วมขังและต้องมีหน้าดินลึกพอสมควร ก่อนปลูกควรไถและพรวนอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ลึก 20-30 เซนติเมตร เพื่อกลบเศษซากพืชจากฤดูก่อนและทำลายวัชพืชต่างๆ ให้ลดจำนวนลง การไถด้วยผาน 3 ติดท้ายรถแทรกเตอร์ 1 ครั้ง ตามด้วยพรวนจาน 7 ผาน อีก 1 ครั้ง จะได้ผลผลิตมันสำปะหลังและกำไรสูงสุด ถ้าพื้นที่มีความลาดเทต้องไถตามแนวขวาง เพื่อป้องกันการชะล้างพังทะลายของดินและถ้าดินระบายน้ำได้ดีต้องยกร่องปลูก

การเตรียมวัสดุปลูก การปลูกมันสำปะหลังนิยมใช้ท่อนพันธุ์โดยตัดลำต้นให้เป็นท่อนปลูก 15-20 เซนติเมตร เลือกใช้ต้นพันธุ์ที่แก่มีอายุตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป โดยปกติเกษตรกรจะปลูกมันสำปะหลังและเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 10-12 เดือน หลังจากที่เก็บหัวส่งโรงงานแล้วจะเก็บต้นไว้ใช้ขยายพันธุ์ปลูกต่อไปทันที ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถปลูกฤดูต่อไปได้เมื่อใด เช่น ฝนทิ้งช่วงหรือขาดแรงงานแนะนำว่าควรเหลือพื้นที่ที่ยังไม่เก็บเกี่ยวไว้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อพร้อมจะปลูกจึงตัดเพื่อป้องกันการเสื่อมคุณภาพของท่อนพันธุ์เนื่องจากตัดต้นไว้นานเกินไป
การปลูกมันสำปะหลังโดยใช้ท่อนพันธุ์ดังกล่าวเป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ค่อนข้างช้า เมื่อเปรียบเทียบกับพืชไร่อื่น คือมีอัตราการขยายพันธุ์ประมาณไม่เกิน 10 เท่า เท่านั้น ในสมัยก่อนเกษตรกรปลูกเฉพาะพันธุ์พื้นเมืองทั่วไปจึงไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนท่อนพันธุ์ แต่ในปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์ดีขึ้นใหม่หลายพันธุ์ จึงต้องมีวิธีขยายพันธุ์ให้ได้มากเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกพันธุ์ดีให้มากขึ้นโดยเร็ว ซึ่งทำได้โดยตัดท่อนพันธุ์ให้มีขนาด 3-5 เซนติเมตร (ปกติ 20-25 เซนติเมตร) หรือมีตา 2-3 ตา นำไปปักชำในถุงพลาสติกนานประมาณ 3 สัปดาห์ก่อนย้ายลงปลูกในแปลง วิธีนี้สามารถขยายพันธุ์ได้ไม่ต่ำกว่า 40 เท่า อีกวิธีคือ การตัดต้นไปทำพันธุ์ก่อนถึงอายุเก็บเกี่ยวเหลือต้นตอไว้ให้แตกหน่อขึ้นมาเมื่อได้อายุประมาณ 6 เดือน ก็สามารถตัดไปขยายพันธุ์ได้อีกวิธีนี้สามารถขยายพันธุ์เพิ่มได้ประมาณ 24 เท่า นอกจากนี้ยังมีวิธีขยายพันธุ์ได้เป็นจำนวนมากแต่มีเทคนิคและวิธีการที่ยุ่งยากมาก เช่น การขยายพันธุ์โดยใช้ยอดอ่อนสามารถผลิตท่อนพันธุ์ที่ตัดตามความยาวปกติได้ 12,000-24,000 ท่อนและวิธีการใช้ตาข้างของก้านใบก็สามารถผลิตท่อนพันธุ์ได้ 120,000-300,000 ท่อน

วิธีการปลูกและระยะปลูก การปลูกมันสำปะหลังโดยใช้ท่อนพันธุ์ทำได้ 2 วิธี ได้แก่
1. การปลูกแบบฝังหรือวางนอน เป็นวิธีการปลูกแบบเก่าปัจจุบันไม่นิยมปลูกด้วยวิธีนี้ เพราะต้นมันสำปะหลังจะงอกโผล่พ้นดินช้ากว่าวัชพืชทำให้การกำจัดวัชพืชลำบากมากขึ้น แต่มีข้อดีคือถ้าดินมีความชื้นน้อยการปลูกด้วยวิธีนี้จะต้องมีต้นอยู่รอดมากและไม่ต้องระวังว่าจะปลูกโดยเอายอดลงดิน
2. การปลูกแบบปัก ใช้ท่อนพันธุ์ปักลงในดินให้ลึกประมาณ จากท่อนพันธุ์ควรระวังอย่าปักส่วนยอดลงดินเพราะตาจะไม่งอกการปักตรง 90 องศา หรือปักเฉียง 45 องศากับพื้นดินให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน ข้อดีของการปลูกแบบนี้คือมันสำปะหลังจะงอกเร็วสะดวกต่อการกำจัดวัชพืชและปลูกซ่อมและลงหัวด้านเดียวเป็นกลุ่มง่ายต่อการเก็บเกี่ยวและให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกแบบฝัง 10-15 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูฝนควรปลูกแบบปักจะปักตรงหรือปักเฉียงก็ได้ใช้ท่อนพันธุ์ยาว 20 เซนติเมตร ปักลึก 5-10 เซนติเมตร แต่ถ้าเป็นฤดูแล้งควรให้ท่อนพันธุ์ยาวขึ้นเป็น 25 เซนติเมตร และปักตรงให้ลึก 15 เซนติเมตร จะทำให้มีจำนวนต้นอยู่รอดเก็บเกี่ยวและผลผลิตสูงกว่าการปลูกแบบปักเฉียงและแบบฝังในสภาพที่ดอนและน้ำไม่ท่วมขังไม่จำเป็นต้องยกร่องปลูก
มีข้อแนะนำให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังพันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์ระยอง 1 โดยใช้ระยะ 100 x 100 เซนติเมตร ซึ่งในพื้นที่ 1 ไร่จะปลูกได้ 1,600 ต้น แต่พันธุ์ใหม่ที่ปลูกในปัจจุบันมีลักษณะทรงพุ่มแตกต่างกันไปจึงควรปรับระยะปลูกให้เหมาะสม เช่น พันธุ์ระยอง 90 ควรใช้ระยะ 80 x 100 เซนติเมตร (2,000 ต้นต่อไร่) พันธุ์ระยอง 60 ซึ่งต้นขนาดเล็กกว่าควรใช้ระยะ 66 x 100 เซนติเมตร (2,400 ต้นต่อไร่) อย่างไรก็ตามระยะปลูกยังอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามวัตถุประสงค์ในการปลูก เช่น ถ้าต้องการปลูกพืชแซมหรือใช้เครื่องมือเครื่องทุ่นแรงช่วยในการกำจัดวัชพืชหรือการเก็บเกี่ยวอาจต้องขยายระยะแถวให้กว้างขึ้นเป็น 110-150 เซนติเมตร และลดระยะระหว่างต้นให้แคบลงเป็น 60-80 เซนติเมตร เพื่อสะดวกในการปฏิบัติงาน

การใส่ปุ๋ย มันสำปะหลังส่วนใหญ่จะปลูกในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ฉะนั้นจึงต้องมีการบำรุงรักษาดินมิให้เสื่อมสภาพลงการใช้ปุ๋ยเคมีจะช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและเพิ่มผลผลิตได้ การปลูกมันสำปะหลังโดยไม่ใส่ปุ๋ยจะทำให้ผลผลิตลดลงเฉลี่ยปีละ 250 กิโลกรัมต่อไร่ ดังนั้นถ้าปลูกซ้ำติดต่อกันหลายปีความอุดมสมบูรณ์ของดินจะลดลงเรื่อยๆ ให้ใส่ปุ๋ยเคมี 2 ครั้ง โดยครั้งแรกใส่สูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อมันสำปะหลังอายุ 1 เดือน ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่พร้อมปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ 15 กิโลกรัมต่อไร่ 15 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อมันสำปะหลังอายุ 3-4 เดือน โดยขุดหลุมข้างต้นในแนวทรงพุ่มใส่ปุ๋ยแล้วกลบดินแต่ แนะนำให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 25-50 กิโลกรัมต่อไร่เพียงครั้งเดียวเมื่ออายุ 1-2 เดือน การปลูกพืชหมุนเวียนโดยใช้พืชตระกูลถั่วเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน การใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสด เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดินให้ดีขึ้นรวมถึงการไถกลบเศษซากของมันสำปะหลังฤดูก่อนจะช่วยปรังปรุงคุณสมบัติของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการเพิ่มผลผลิตของมันสำปะหลังอีกวิธีหนึ่งด้วย
ในพื้นที่ที่มีความลาดเท นอกจากการบำรุงดินดังกล่าวแล้วควรอนุรักษ์ดินและน้ำควบคู่ไปด้วย โดยการไถ พรวน และยกร่องปลูกขวางความลาดเทหรือปลูกหญ้าแฝกแทรกระหว่างแถวมันสำปะหลังทุกระยะ 20 เมตร ก็จะช่วยป้องกันการชะล้างของหน้าดินได้ ควรใช้ระยะปลูกถี่ขึ้นเพื่อลดช่องว่างในระยะแรกของการเจริญเติบโต

การควบคุมวัชพืช มันสำปะหลังมีโรคและแมลงรบกวนน้อยมากปัจจัยที่มีผลทำให้ผลผลิตลดลงมากที่สุดได้แก่วัชพืช เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่มีระยะปลูกค่อนข้างห่างและมีการเจริญเติบโตในระยะแรกช้ามากต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 เดือน จึงจะสร้างพุ่มใบให้ชนกันจนครอบคลุมพื้นที่ได้ทั้งหมด ฉะนั้นในระยะแรกจะมีวัชพืชขึ้นรบกวนมากและระยะเวลาวิกฤติในการกำจัดวัชพืชจะอยู่ที่ 2-3 เดือนแรก เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่มันสำปะหลังกำลังลงหัวหลังจาก 4 เดือนไปแล้วมันสำปะหลังจะไม่มีการสร้างหัวเพิ่ม แต่จะขยายขนาดหัวให้ใหญ่ขึ้นถ้ามีวัชพืชขึ้นรบกวนในช่วงนี้มากจะทำให้ผลผลิตลดลง การเริ่มกำจัดวัชพืชครั้งแรกต้องรีบกระทำอาจเริ่มที่ 15 วันหลังจากปลูกยิ่งล่าช้าออกไปผลผลิตจะยิ่งลดลงควรกำจัดวัชพืชครั้งแรกให้เสร็จภายใน 1 เดือนหลังจากปลูกและอาจต้องกำจัดวัชพืชอีก 2-3 ครั้ง จนกว่าพุ่มของใบมันสำปะหลังจะชิดกัน
การควบคุมวัชพืชในมันสำปะหลังมีหลายวิธีสำหรับพื้นที่ขนาดเล็กอาจใช้แรงงานคนภายในครอบครัวโดยใช้จอบถาก ถ้าพื้นที่มากขึ้นอาจใช้แรงงานสัตว์ เช่น โค หรือกระบือ ลากไถเข้าพรวนดินระหว่างแถวซึ่งเรียกว่าการเดี่ยวร่องและใช้จอบถากในระหว่างต้นซึ่งจะลดพื้นที่ในการถากหญ้าได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และช่วยให้กำจัดวัชพืชได้เร็วขึ้น ถ้าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ต้องใช้เครื่องพรวนดินระหว่างแถวติดท้ายรถแทรกเตอร์เข้าทำงานแทนแรงงานสัตว์ การกำจัดวัชพืชด้วยแรงคนหรือสัตว์มีข้อจำกัดหลายประการเช่น แรงงานหายากทำงานได้ช้าและการกำจัดวัชพืชในฤดูฝนวัชพืชบางส่วนจะไม่ตาย ดังนั้นอาจต้องใช้สารกำจัดวัชพืชร่วมด้วย ซึ่งสารที่ใช้มี 2 ประเภท ได้แก่

ประเภทสารคุม (pre-emergence herbicides) ฉีดพ่นสารทันทีที่ปลูกเสร็จ ก่อนที่มันสำปะหลังและวัชพืชจะงอกสามารถควบคุมการงอกของวัชพืชได้นาน 45-60 วัน สารเหล่านี้ได้แก่ อะลาคลอร์ (alachlor) เมโตคลอร์ (metolachlor) ไดยูรอน (diuron) และอ๊อกซีฟลูออร์เฟน (oxyfluorfen)

ประเภทสารฆ่า (post-emergence herbicides) ฉีดพ่นสารภายหลังจากที่วัชพืชและมันสำปะหลังงอกขึ้นมาแล้วแต่ยังมีขนาดเล็กเรียกว่า early post-emergence ซึ่งต้องเลือกใช้สารที่ไม่เป็นอันตรายต่อมันสำปะหลังและเป็นสารที่กำจัดเฉพาะวัชพืชใบแคบเท่านั้น เช่น อาโลซี่ฟอพ (halosyfop) โปรปาควิซาฟอพ (propaquizafop) และฟลูอะซีฟอพ (fluazifop) สารดังกล่าวจะได้ผลในขณะที่วัชพืชมีขนาดเล็กมีเพียง 3-4 ใบ เท่านั้น เมื่อมันสำปะหลังมีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไปเรียกว่า late post-emergence หากยังมีวัชพืชขึ้นรบกวนต้องใช้สารอีกกลุ่มหนึ่งเช่น พาราควอท (paraquat) ไกลโฟเสท (glyphosate) ซัลโฟเสท (sulfosate) และกลูโฟซิเนท (glufosinate) พ่นโดยระวังอย่าให้ละอองสารปลิวไปถูกต้นและใบมันสำปะหลัง เพราะจะเป็นอันตรายได้
การควบคุมวัชพืชในไร่มันสำปะหลังให้ได้ผลดีที่สุดควรใช้วิธีผสมผสานทั้งการถากหญ้าใช้สารคุมและการใช้สารฆ่าจากการทดลองพบว่าการใช้จอบถาก 1 ครั้ง ตามด้วยสารฆ่า 2 ครั้ง หรือการใช้สารคุมตามด้วยจอบถาก 2 ครั้ง จะให้ผลผลิตและรายได้สุทธิสูงกว่าการใช้จอบถาก 3 ครั้ง

การเก็บเกี่ยว
มันสำปะหลังได้เปรียบพืชไร่ชนิดอื่นที่สามารถยืดหยุ่นอายุการเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังตามความจำเป็น เช่น ราคา และแรงงาน แต่โดยปกติจะเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 11-12 เดือน เพราะผลผลิตมันสำปะหลังจะมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าอายุมากเกินไปแม้จะให้ผลผลิตหัวสดสูง แต่คุณภาพจะลดลงเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำลงสัดส่วนของเส้นใยจะสูงขึ้นและถ้ายึดอายุเก็บเกี่ยวออกไปมากจะไปกระทบต่อการปลูกในปีต่อไปด้วย วิธีการเก็บเกี่ยวจะใช้แรงงานคนถอนหรือใช้จอบขุด แต่ถ้าดินมีความชื้นน้อยอาจใช้เครื่องมือที่เกษตรกรคิดขึ้นเองเรียกว่า ดั๊ม ลักษณะเป็นเหล็กคล้ายกับหัวค้อนถอนตะปูติดกับคานงัดซึ่งจะช่วยทุ่นแรงได้มาก ในปัจจุบันมีปัญหาเรื่องแรงงานมากจึงมีการประดิษฐ์เครื่องขุดมันสำปะหลังติดท้ายรถแทรกเตอร์ขึ้นซึ่งมีหลายแบบ จากการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของเครื่องขุดมัน 4 แบบ สรุปได้ว่าเครื่องขุดมันมีความสามารถทำงานได้ระหว่าง 2.27-2.85 ไร่ต่อชั่วโมง ประสิทธิภาพการทำงานระหว่าง 71.74-80.79 เปอร์เซ็นต์ และมีค่าการสูญเสียจากผลผลิตที่หลงเหลือในดินระหว่าง 2.27-17.04 เปอร์เซ็นต์ ส่วนค่าใช้จ่ายจะต่ำกว่าการใช้แรงงานคนประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ และลดแรงงานได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์
หลังจากขุดหัวมันสำปะหลังจะต้องตัดเหง้าและต้นออกและรีบส่งหัวมันสดเข้าโรงงานทันทีหรืออย่างช้าไม่เกิน 3 วัน มิฉะนั้นหัวมันจะเริ่มเน่าส่วนลำต้นต้องเก็บทันทีเพื่อใช้ทำพันธุ์ต่อไปโดยนำไปกองรวมกันแบบตั้งขึ้นให้โคนติดพื้นดินส่วนยอดตั้งขึ้นจะเก็บไว้กลางแจ้งหรือในร่มไม้ก็ได้ วิธีนี้สามารถเก็บต้นได้นานถึง 30 วัน ถ้าทิ้งต้นไว้ในไร่นานจะถูกแดดเผาจนต้นแห้งตายไม่สามารถไปปลูกได้

การใช้ประโยชน์
1. ใช้เป็นอาหารมนุษย์ โดยนำหัวสดไปต้ม นึ่ง ปิ้ง เผา หรือเชื่อม สำหรับประเทศที่บริโภคมันสำปะหลังเป็นอาหารหลักจะมีวิธีการปรุงแต่งโดยเฉพาะ เช่น Gari อาหารของชาวไนจีเรีย หรือ Bononoka ของชาวมาดากัสกา นอกจากนี้ยังนำแห้งมันสำปะหลังไปปรุงเป็นอาหารทั้งคาวและหวานอีกหลายชนิด
2. ใช้เป็นอาหารสัตว์ ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในรูปมันเส้นและมันอัดเม็ด ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ส่งออกทั้งหมด เพื่อการเลี้ยงสัตว์ของประเทศในกลุ่มประชาคมยุโรปสำหรับการเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยใช้มันสำปะหลังน้อยมาก แม้ว่ามันสำปะหลังสามารถใช้เลี้ยงสัตว์ทุกชนิด แต่ผู้ใช้จะต้องปรับสูตรอาหารให้เหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์แต่ละชนิด ข้อดีของการใช้มันสำหรับเป็นอาหารสัตว์คือราคาถูกและยังไม่เคยพบสาร aflatosin จึงปลอดภัยต่อการบริโภค แต่มีข้อเสียบ้างที่ว่าการใช้มันสำปะหลังต้องป่นให้ละเอียดและต้องผสมกากน้ำตาลซึ่งวิธีการผสมค่อนข้างยุ่งยาก
3. ใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะนำแป้งดิบ (native starch) มาใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอื่นๆ เช่น ผลิตผงชูรส และไลซีน สารให้ความหวานเช่น glucose dextrose sorbital manitol และ inositol และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น สารดูดน้ำ (polymer) พลาสติกที่สลายได้ทางชีวภาพ ผลิตเชื้อไรโซเบียม ผลิต flexible foam สำหรับทำที่นอนและเฟอร์นิเจอร์ ผลิต rigid foam เพื่อการบรรจุหีบห่อและตกแต่งภายใน นอกจากนี้ยังนำไปผลิตแป้งแปรรูป (modified starch) โดยการนำเอาแป้งดิบมาผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงโมเลกุลของแป้งให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมเฉพาะอย่างเช่น อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมไม้อัด อุตสาหกรรมทำกาวและอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์

โรคและการป้องกันกำจัด
มันสำปะหลังที่ปลูกในประเทศไทยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงรบกวนน้อยมาก อาจเนื่องมาจากส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมืองซึ่งปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีและมีความต้านทานต่อโรคและแมลงอยู่แล้ว แต่เมื่อนำพันธุ์ใหม่เข้ามาปลูกโดยไม่มีการควบคุมที่ดีพออาจมีโรคร้ายแรงติดเข้ามาระบาดในประเทศได้ ดังนั้นการนำพันธุ์เข้ามาใหม่จึงควรมีการระวังป้องกันอย่างเข้มงวดโรคที่พบระบาดในประเทศไทยมีดังนี้

โรคใบจุดสีน้ำตาล (brown leaf spot)
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Cercosporidium henningsii
อาการ : อาการที่พบจะเป็นจุดที่ใบโดยเฉพาะใบแก่รอยแผลจะเป็นเหลี่ยมตามเส้นใบมีขอบชัดเจนสีเหลืองตรงกลางแผลจะแห้งโรคนี้พบได้ในทุกพันธุ์ พันธุ์พื้นเมืองซึ่งเป็นพันธุ์ต้านทานปานกลางโรคนี้ทำให้ผลผลิตลดลง 14-20 เปอร์เซ็นต์
การป้องกันกำจัด : การป้องกันกำจัดโดยใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชไม่คุ้มค่า

โรคใบไหม้ (Cassava bacterial blight , CBB)
เชื้อสาเหตุ : เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas camprestris pv. Manihotis
อาการ : อาการจะเกิดขึ้นที่ใบ เริ่มแรกเป็นจุดเหลี่ยมฉ่ำน้ำแล้วขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นใบไหม้ ใบเหี่ยว ร่วงหล่น มียางไหล ต่อมาเกิดอาการยอดเหี่ยวและแห้งตายลงมา (die back) เป็นโรคที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่งซึ่งจะทำความเสียหายให้มันสำปะหลังได้ถึง 30-90 เปอร์เซ็นต์
การแพร่ระบาด : ในประเทศไทยพบอาการต้นเป็นโรคแต่ไม่ระบาดรุนแรง อาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมในการระบาดและพันธุ์ที่แนะนำส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างต้านทานต่อโรคนี้
นอกจากนี้ยังสามารถพบโรคอื่นๆ ได้ เช่น โรคใบจุดไหม้ (blight leaf spot) เกิดจากเชื้อรา Cercospora viscosae โรคใบจุดขาว (white leaf spot) เกิดจากเชื้อรา Phaeoramularia manihotis โรคลำต้นเน่า (stem rot) เกิดจากเชื้อ Glomerella cingulata และโรคหัวเน่า (root rot) ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อราหลายชนิดมักจะเกิดขึ้นเมื่อหัวมันสำปะหลังเป็นแผล
แมลงและการป้องกันกำจัด แมลงที่ทำลายมันสำปะหลังมักจะพบระบาดมากในช่วงที่อากาศค่อนข้างแห้งแล้งมักจะเป็นแมลงพวกปากดูด ได้แก่
ไรแดง (red spider mite)
ที่พบทำความเสียหายให้มันสำปะหลังมี 2 ชนิดได้แก่ ไรแดงหม่อน (Tetranychus truncatus) จะดูดกินน้ำเลี้ยงตามใต้ใบล่างๆ แล้วลามขึ้นสู่ยอดและไรแดงมันสำปะหลัง (Oligonychus biharensis) จะดูดกินน้ำเลี้ยงบนหลังใบส่วนยอดแล้วขยายปริมาณลงสู่ส่วนล่างของต้น ถ้าไรแดงระบาดมากๆ ใบจะเหลืองซีด ม้วนงอ ส่วนยอดงองุ้มถ้ามันสำปะหลังมีขนาดเล็กอาจตายได้
การป้องกันกำจัด : หากระบาดมากต้องพ่นสารกำจัดแมลงและศัตรูพืชเป็นจุดเฉพาะบริเวณที่ระบาดรุนแรงสารที่ใช้ได้แก่ ฟอร์มีนาเนท (formetanate)

เพลี้ยแป้ง (stripped mealy bug)
เป็นแมลงปากดูดทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่างๆ และถ่ายมูลเหลวไว้ทำให้เกิดราดำ ถ้าระบาดมากต้นจะแคระแกร็นยอดแห้งตายหรือแตกพุ่ม
การป้องกัน : ถ้าพบต้องตัดต้นไปทำลาย การใช้สารกำจัดแมลงมักไม่คุ้มค่า
แมลงหวี่ขาว (white fly)
เป็นแมลงปากดูดจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนใต้พืชและถ่ายมูลเหลวออกมาทำให้เกิดราดำ มักเกิดควบคู่กับการเข้าทำลายของไรแดงและเพลี้ยแห้ง
แมลงปากกัดอื่นๆ
พบบ้างแต่ไม่ทำความเสียหายมากนัก เช่น แมลงนูนหลวง ตัวหนอนจะทำลายกัดกินราก ต้นมันสำปะหลังที่มีขนาดเล็กอาจตายได้ ด้วงหนวดยาว ตัวหนอนจะกัดกินภายในเหง้าและต้นทำให้ต้นหักล้ม

ปัญหาในการผลิตและแนวทางการแก้ไข

ปัญหา
1. ปริมาณการผลิตไม่แน่นอน ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเฉลี่ย 8-9 ล้านไร่ต่อปี ได้ผลผลิตหัวมันสด 20-21 ล้านต้น แต่ปริมาณความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศรวมกันประมาณปีละ 19 ล้านตัน (ใช้ภายในประเทศเพียง 3-4 ล้านต้น) ฉะนั้นถ้าปีใดผลิตได้มากจะเกิดปัญหาการล้นตลาดและราคาตกต่ำ ถ้าปีใดพื้นที่ปลูกลดลงผลผลิตไม่เพียงพอราคาจะสูง
2. ประสิทธิภาพการผลิตค่อนข้างต่ำ คือเฉลี่ย 2.2-2.3 ตันต่อไร่ สาเหตุเนื่องมาจากการใช้พันธุ์พื้นเมืองซึ่งให้ผลผลิตไม่สูงนักและเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ การดูแลรักษาไม่ถูกวิธีขาดการบำรุงดินและการใช้ปุ๋ยเคมีหรือใช้อย่างไม่ถูกต้องทำให้ดินเสื่อมสภาพเร็วและส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง
3. ความไม่แน่นอนของตลาดต่างประเทศ เนื่องจากไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังส่วนมากในรูปมันเส้นและมันอัดเม็ดไปยังประเทศกลุ่มประชาคมยุโรปเพื่อการเลี้ยงสัตว์ ฉะนั้นถ้าในปีใดประเทศเหล่านั้นผลิตธัญพืชได้มากก็จะซื้อมันสำปะหลังจากไทยน้อยหรือกดราคา แต่ถ้าปีใดขาดแคลนธัญพืชก็จะหันมาใช้มันสำปะหลังจากไทยมากขึ้นทำให้ราคาสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อราคาหัวมันสดภายในประเทศ

แนวทางแก้ไข
1. ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยใช้พันธุ์ดีที่แนะนำ เช่น ระยอง 5 , ระยอง 90 และเกษตรศาสตร์ 50 ซึ่งพันธุ์เหล่านี้ให้ผลผลิตสูง 3.1-4.2 ตันต่อไร่ และมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงถึง 20-24.9 ซึ่งระหว่างพ.ศ. 2536-2540 กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตและการตลาดในเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับมันสำหรับมันสำปะหลัง 26 จังหวัดซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด และภาคตะวันออก 7 จังหวัด โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ดีให้ได้ถึง 1.56 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชนได้แก่ มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลัง ซึ่งมีโครงการที่จะขยายมันสำปะหลังพันธุ์ดีให้กับเกษตรพร้อมกับให้การฝึกอบรมด้านการปลูกมันสำปะหลังด้วย โดยกำหนดเป้าหมายที่จะปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ดีเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านไร่ภายในพ.ศ. 2540
2. ลดพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง โดยพยายามจำกัดให้ปลูกมันสำปะหลังเฉพาะในเขตเศรษฐกิจสำหรับมันสำปะหลัง 26 จังหวัดเท่านั้น พร้อมทั้งจะต้องลดพื้นที่ปลูกทั่วประเทศลงให้ได้ 1.2 ล้านไร่ภายใน 3 ปี (พ.ศ. 2537-2539) พร้อมไปกับการส่งเสริมให้ปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อการผลิตเยื่อกระดาษ และการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แทน เช่น โคเนื้อ และโคนม
3. ส่งเสริมการให้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้มากขึ้น โดยการใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารสัตว์ภายในประเทศมากขึ้นหาตลาดส่งออกมันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันชนิดแป้งดิบและแป้งแปรรูปเพิ่มขึ้นและส่งเสริมการวิจัยเพื่อหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากมันสำปะหลัง เช่น สารดูดน้ำพลาสติกที่สลายได้และภาชนะบรรจุอาหาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...