ธูปฤาษี
ชื่อสามัญ Lesser reedmace, Cat-tail
ชื่ออื่น กกช้าง (ภาคกลาง); หญ้าสลาบหลวง (ภาคเหนือ)
วงศ์ Typhaceae อยู่ในอันดับ Poales พืชใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ส่วนมากอยู่ในน้ำ มีเหง้าแตกแขนง ลำต้นแข็ง ใบออกจากโคนลำต้น มีกาบใบ ใบเรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปแถบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดรูปทรงกระบอก ดอกจำนวนมาก ดอกเพศผู้อยู่ด้านบน ดอกเพศเมียอยู่ด้านล่าง ดอกมีขนาดเล็ก ไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้มี 1-3 อัน มีขนล้อมรอบ ก้านเกสรเพศผู้สั้น อับเรณูมี 2 ช่อง ติดที่ฐาน แตกตามยาว รังไข่ติดบนหลอดยาว มีขนจำนวนมาก หรือมีใบประดับย่อยที่โคน ก้านเกสรเพศเมียเป็นหลอด ยอดเกสรกว้าง รูปแถบ หรือรูปใบพาย ออวุล 1 เม็ด รังไข่ที่เป็นหมันไม่มีก้านเกสรเพศเมีย ผลมีขนาดเล็ก หลุดร่วงพร้อมก้านผล เมล็ดห้อยลง เป็นริ้ว
วงศ์ธูปฤาษีมีสมาชิกเพียงสกุลเดียวคือ สกุลธูปฤาษี Typha มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วโลกในเขตร้อนและเขตอบอุ่น
ดูลักษณะสกุลที่ ธูปฤาษี, วงศ์ สกุลธูปฤาษีมีสมาชิกประมาณ 16 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียวคือ ธูปฤาษี Typha angustifolia L.
หมายเหตุ ชื่อ Typha มาจากภาษากรีก typhos แปลว่า marsh หมายถึงถิ่นที่อยู่ที่เป็นที่ชื้นแฉะ
ธูปฤาษี เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ตั้งตรง สูง 1.5-3 ม. ใบมีกาบใบ เรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปแถบ ยาว 50-120 ซม. เว้าใกล้เส้นกลางใบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดรูปทรงกระบอก ช่วงดอกเพศผู้ยาว 8-40 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางช่อ 0.2-0.7 ซม. มีใบประดับ 1-3 ใบ หลุดร่วง ช่วงดอกเพศเมียยาว 5-30 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางช่อ 0.6-2 ซม. มักแยกออกจากส่วนดอกเพศผู้ด้วยส่วนก้านช่อดอกที่เป็นหมันที่ยาว 2.5-7 ซม. ดอกมีขนาดเล็ก ไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ส่วนมากมี 3 อัน มีขนล้อมรอบ ก้านเกสรเพศผู้สั้น อับเรณูยาว 1.5-2 มม. ดอกเพศเมียมีใบประดับย่อยรูปเส้นด้าย รังไข่รูปกระสวย ก้านรังไข่เรียว ยาวประมาณ 5 มม. มีขนยาว ก้านเกสรเพศเมียยาว 1-1.5 มม. มีขนแต่สั้นกว่าบนก้านรังไข่ ยอดเกสรรูปแถบหรือรูปใบหอก ผลมีขนาดเล็ก รูปรี
ธูปฤาษีมีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วโลกในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในไทยพบทุกภูมิภาค ขึ้นตามหนองน้ำ ทะเลสาบ หรือริมคลอง ตามที่โล่งทั่วไป
ประโยชน์ ใบใช้สานเสื่อหรือตะกร้า ช่อดอกแห้งใช้เป็นไม้ประดับ ในสมุนไพรจีนอับเรณูและลำต้นใช้รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ ลำต้นยังใช้เพิ่มน้ำนมในสตรีหลังคลอดบุตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น