วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

ชายผ้าสีดา

วงศ์ Polypodiaceae

ชื่อวิทยาศาสตร์ Platycerium wallichii Hook.

ชื่อท้องถิ่น ห่อข้าวสีดา ห่อข้าวย่าบา ตองห่อข้าวย่าบา หัวเฒ่าอีบา กระฌอโพน่า
กระปรอกหัวหมู กระปรอกใหญ่ ปีกผีเสื้อ (กทม.)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ลำต้นแบบเหง้าเป็นแท่งเลื้อยสั้น เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ปกคลุมแน่นด้วยเกล็ดแข็ง เกล็ดเป็นเส้นยาว สีน้ำตาลเข้ม ยาว 1 เซนติเมตร กว้าง 0.4 เซนติเมตร บริเวณกลางเกล็ดสีอ่อน ทั่วทั้งต้นมีขนนุ่มสั้นทั่วไป ขนสีขาวนวล ใบหนานุ่มมือ เส้นใบปูดนูน มองเห็นได้ชัดเจน ใบกาบชูตั้งขึ้นเป็นตะกร้า หรือมงกุฏ มีขนาด 40 เซนติเมตร ทั้งด้านตั้งและด้านข้าง มีขนาดเท่ากัน ใบกาบตั้งขึ้นและปลายขอบเป็นแฉกลึก เกือบถึงครึ่งของขนาดใบ แตกแฉกเป็นคู่มากกว่า 1 ครั้ง ปลายแฉกมนกลมถึงแหลม มองเห็นเส้นใบปูดนูนทั้งสองด้านของใบในต้นที่โตเต็มที่ เส้นใบหลักแตกสาขาเป็นกิ่งคู่ เส้นใบรองเป็นร่างแห ใบส่วนบนเนื้อใบบาง ใบส่วนล่างหนาได้มากกว่า 1 เซนติเมตร ใบกาบเจริญออกมาทีละ 1 คู่ ใบชายผ้าเจริญออกมาเป็นคู่เช่นเดียวกัน ใบชายผ้าห้อยลง มีความยาวได้ถึง 50 เซนติเมตร ในต้นใหญ่อายุมาก ใบชายผ้าช่วงโคนออกมาเป็นแผ่นแผ่กว้าง ปลายใบแผ่สยายเป็นแฉกริ้วห้อยลง แตกเป็นแฉกหลัก 3 ชุด แต่ละชุดแตกเป็นแฉกกิ่งสาขาเป็นคู่ๆ ได้หลายครั้ง ปลายแฉกแคบ ขอบเรียบ เส้นใบหลักแตกกิ่งสาขาเป็นคู่ ปูดนูนบนผิวใบด้านหน้า ส่วนเส้นใบย่อยเล็กไม่สามารถสังเกตได้ชัดเจนนัก ใบเป็นแผ่นหนา ปกคลุมแน่นด้วยขนรูปดาว กลุ่มอับสปอร์ เป็นแผ่นกลมนูนติดอยู่ที่ใต้ใบชายผ้า บริเวณส่วนเว้า ปลายใบ มี 2 กลุ่มบนแต่ละใบชายผ้า มีเยื่อ paraphyses รูปดาวปกคลุม สปอร์แก่มีสีเขียวอมน้ำตาล หรือสีเขียวขี้ม้า (ธีระพล, 2546 ; Smitinand, T. and K. Larsen, 1989)

การใช้ประโยชน์ เป็นไม้ประดับหายากแล้ว ใช้ใบชายผ้าของห่อข้าวสีดาต้มน้ำดื่มลดไข้ และแก้อ่อนเพลียของสตรีอยู่ไฟหลังคลอด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...