วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553

ครามใหญ่

ครามใหญ่

วงศ์ PAPILIONOIDEAE

Indigofera suffruticosa Mill.

ชื่อสามัญ ครามผี , ครามเถื่อน ( เชียงใหม่ ); ครามใหญ่ ( อุบลราชธานี )

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์และเกษตร เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก (shrub) อายุหลายปี ต้นสูง 129.81- 192.19 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 18.02- 26.04 มิลลิเมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ (odd pinnately) ใบเรียงตรงข้ามกัน (opposite) รูปร่างใบย่อยแบบรูปรี (elliptic) โคนใบรีกลม ปลายใบแหลมติ่ง (cuspidate) ใบยาว 1.9- 2.78 เซนติเมตร กว้าง 0.75- 0.95 เซนติเมตร ก้านใบย่อยยาว 0.67- 0.83 เซนติเมตร ก้านใบรวมยาว 6.74- 8.96 เซนติเมตร หน้าใบมีขนสีขาวสั้นๆยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตรปกคลุมปานกลาง หลังใบมีขนสีขาวยาวประมาณ 1 มิลลิเมตรปกคลุมอยู่หนาแน่น ใบสีเขียวเข้ม ผิวใบค่อนข้างนุ่ม เส้นกลางใบ (mid rib) ด้านหน้าเป็นร่องจากโคนใบถึงปลายใบเห็นชัดเจน เส้นใบ (vein) ไม่ชัดเจน ขอบใบหยักแบบขนครุย (ciliate) มีขนสีขาวสั้นๆ ลำต้นสีน้ำตาลอมม่วงมีขนสีขาวคลุมบางๆ ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม ช่อดอกแบบช่อกระจะ (raceme) ออกที่ตาข้างจำนวนมาก ช่อดอกยาว 3.75- 10.49 เซนติเมตร ดอกเดี่ยวรูปดอกถั่ว สีชมพู มีก้านดอกสั้นประมาณ 1 มิลลิเมตรมี 14-36 ดอกต่อช่อ ฝักอยู่รวมกันเป็นช่อฝักรูปกลมโค้งงอคล้ายรูปเคียวมีรอยคอดระหว่างข้อตื้นๆปลายยอดฝักชี้ลง มี 12-34 ฝักต่อช่อ ฝักยาว 0.18- 1.52 เซนติเมตร กว้าง 0.19- 0.29 เซนติเมตร เมล็ดรูปทรงกระบอกปลายตัด มี 3-4 เมล็ดต่อฝัก เมล็ดยาว 2- 2.5 มิลลิเมตร กว้าง 1- 1.5 มิลลิเมตร สีน้ำตาลดำ ฝักแก่แตกเป็นสองซีก

แหล่งที่พบและเก็บรวบรวมพันธุ์ พบขึ้นอยู่ทั่วไปในพื้นที่โล่ง ดินร่วนปนเหนียว พื้นที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 35 เมตร เช่นเขตตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช (SN 198)
คุณค่าทางอาหาร เฉพาะส่วนใบ มีค่า โปรตีน 25.69 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใยส่วน ADF 27.73 เปอร์เซ็นต์ NDF 35.21 เปอร์เซ็นต์ แคลเซียม 2.26 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัส 0.35 เปอร์เซ็นต์ โปแตสเซียม 2.25 เปอร์เซ็นต์ แทนนิน 0.38 เปอร์เซ็นต์

การใช้ประโยชน์ เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติสำหรับแทะเล็มของโค กระบือ แพะ และสัตว์ป่า สรรพคุณ ใบ รสเย็นฝาดเบื่อ ดับพิษ แก้ไข้ตัวร้อน เปลือกต้น รสเย็นฝาดเบื่อ แก้พิษฝี แก้พิษงู ฆ่าพยาธิ แก้โลหิต น้ำมันจากเมล็ด ทาแก้หิด สารสำคัญใบ มี rutin และ rutinoid ประมาณ 0.65-0.80 เปอร์เซ็นต์ มีไนโตรเจนสูง เหมาะใช้ทำปุ๋ย ทำยาฆ่าแมลง ( วงศ์สถิตย์และคณะ , 2543)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...