ผักกูด(Diplazium esculentum(Retz.)Swartz)
ชี่ออื่น ผักกูดขาว(เชียงใหม่) ผักกูด (กลาง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น เป็นไม้จำพวกเฟิร์น เป็นเหง้าตั้งตรง สูงมากกว่า 1 เมตร มีเกล็ดสีน้ำตาลเข้มขอบดำ ขอบเกล็ดหยักซี่ฟัน
ใบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น แผ่นใบมีขนาดต่างกัน มักยาวกว่า 1เมตร ก้านใบยาว70 ซ.ม. กลุ่มใบย่อยคู่ล่าง มักลดขนาด ปลายเรียวแหลมโคนรูปกึ่งหัวใจ หรือรูปติ่งหู ขอบหยักเว้าลึกเป็นแฉก เกือบกึ่งเส้นกลาง
ใบย่อย แฉกปลายมน ขอบหยักซี่ฟันแผ่นใบบาง กลุ่มอับสปอร์อยู่ตามความยาวของเส้นใบย่อย มักเชื่อมกับกลุ่มอับสปอร์ ที่อยู่ในแฉกติดกันซึ้งมีเส้นใบมาสานกัน
การขยายพันธุ์ สปอร์และเหง้า
ฤดูกาลเก็บส่วนขยายพันธุ์ ฤดูฝน
สภาพแวคล้อมที่เหมาะสมในการเจริญเติบโต ขึ้นหนาแน่นตามชายป่ามีแดดส่องถึง ตามบริเวณลำธารหรือบริเวณต้นน้ำ ปลูกได้ตามชายคลอง ห้วยหนองต้นจะแห้งเฉาในฤดูแล้ง และแตกหน่อใหม่ในฤดูฝน ผักกูดชอบความชื้นสูง บริเวณดินแฉะ
การใช้ประโยชน์
ทางอาหาร ใบอ่อน และช่ออ่อน มาจอผักกูด(แกงผักกูด) แกงกับปลาสด และนำมาลวกหรือสดนำมารับประทานเป็นผักจิ้มร่วมกับน้ำพริกแดง น้ำพริกปลาร้า หรือนำมาแกงแคร่วมกับผักชนิดต่างๆ
ทางยา ใบ แก้ไข้ตัวร้อน แก้พิษอักเสบ บำรุงสายตา บำรุงโลหิต แก้โลหิตจาง ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน ขับปัสสาวะ
ฤดูกาลที่ใช้ประโยชน์ ฤดูฝน
แหล่งข้อมูลจาก : ผักกูด
มีเรื่องของชาวบ้านที่ ปลูกผักกูดขาย จาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง เล่าว่า
การนิยมบริโภคพืชผักพื้นบ้านในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะผักพื้นบ้านบางชนิดจะให้คุณค่าทางอาหารด้านโปรตีนและคุณค่าทางด้าน สมุนไพรสูง นอกจากนี้ผักพื้นบ้านที่บริโภคกันส่วนใหญ่ยังเป็นผักที่ปลอดภัยจากสารพิษ ยิ่งเป็นผักที่สามารถขึ้นงอกงามได้เองตามป่าธรรมชาติแล้ว จะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่วไป
ผักกูดเป็นผักพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งที่ผู้บริโภคนิยมเก็บมาปรุงเป็นอาหาร และมีขึ้นงอกงามได้เองตามพื้นที่ลุ่มริมน้ำในหลายๆ จังหวัดของภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ริมคลองของจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง นราธิวาส และจังหวัดยะลา ผักกูดเป็นพืชตระกูลเฟิร์นที่ผู้คนในพื้นที่รู้จักเก็บมารับประทานกันมา ตั้งแต่อดีต เมื่อมีการนิยมบริโภคพืชผักพื้นบ้านเพิ่มขึ้น ผักกูดจึงกลายเป็นผักพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมสูง ชาวบ้านได้อาศัยผักกูดจากริมน้ำที่ขึ้นงอกงามอยู่ตามป่าธรรมชาติ ริมห้วยหรือหนองน้ำในหมู่บ้านมาวางขายได้ราคาดี กก.ละ 13 บาท แต่ปัจจุบันความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ผักกูดหาได้ตามแหล่งธรรมชาติมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ชาวบ้านจึงหันมาลงทุนปลูกผักกูดกันอย่างจริงจัง และสามารถเก็บออกไปขายสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวตลอดปี
นาง เผียน ฤทธิ์ศักดิ์ อายุ 67 ปี ราษฎรบ้านเลขที่ 184 หมู่ 8 ต.บ้านนา กิ่ง อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง ได้อาศัยเก็บผักกูดจากแหล่งธรรมชาติขายมีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว แต่ผักกูดที่เก็บได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่มีเพิ่มขึ้นทุกวัน จึงรวบรวมสมาชิกผู้ปลูกผักกูดในหมู่บ้าน จำนวน 16 ครอบครัว ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากโครงการพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการ (ซีอีโอ) สนับสนุนงบประมาณให้กับกลุ่มผลิตพืชผักปลอดภัยจากสารพิษ ตั้งกลุ่มปลูกผักกูดกันอย่างจริงจัง เกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกผักกูดในที่ลุ่มริมน้ำ ก็แนะนำให้ขยายพื้นที่ปลูกให้มากขึ้น ส่วนผู้ที่มีที่ดินเป็นป่าสวนยางอยู่ริมป่าไม่เหมาะสมกับการปลูกผักกูดแบบ ธรรมชาติ ก็ใช้เงินลงทุนสร้างโรงเรือน ปรับปรุงระบบน้ำนำมาใช้ปลูกผัก ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ ผักกูดที่ปลูกในโรงเรือนก็ออกยอดให้ผลผลิตสูงเช่นกัน
นางเผียน กล่าวว่า ได้ลงทุนสร้างโรงเรือนปลูกผักกูดบนเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่เศษ ซึ่งเป็นที่ดินข้างบ้าน ใช้ไม้ปักเป็นเสาและสร้างร่มเงาด้วยตาข่ายพลาสติก (ซาแลน) กรองแสงประมาณ 60% และติดตั้งระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ นำหน่อผักกูดพันธุ์พื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นผักกูดพันธุ์คลองหาหูน พันธุ์ห้วยลำทับหรือพันธุ์คลองเขาคราม แต่ละสายพันธุ์ก็สามารถหาได้จากริมคลองข้างบ้าน ปลูกในพื้นที่โรงเรือนไร่ละ 8,300 ต้น ใช้เวลาบำรุงรักษาด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ประมาณ 4 เดือน ผักกูดก็จะออกยอดและเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งขายได้ประมาณ 60-70 ยอด/กิโลกรัม ในราคาที่พ่อค้ามารับซื้อถึงแปลง กก.ละ 13 บาท และสามารถเก็บผักกูดขายได้ครั้งละ 100 กิโลกรัม ต้องเก็บขายวันเว้นวัน
การลงทุนสร้างโรงเรือนปลูกผักกูดนั้น จะให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกแซมในสวนผลไม้และสวนยางพารา ประมาณ 40% การดูแลบำรุงรักษาก็ไม่ยุ่งยาก ใช้แรงงานในครอบครัวคอยให้น้ำให้ปุ๋ยอินทรีย์เพราะต้นผักกูดจะไม่ตอบสนองต่อ ปุ๋ยเคมีและสารเคมี กำจัดวัชพืชและตบแต่งโคนต้นให้สมบูรณ์ ผักกูดก็จะออกยอดให้เก็บอย่างสม่ำเสมอ เริ่มลงทุนจากเงินงบประมาณสนับสนุนจากงานยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด ปีงบประมาณ 2548 จำนวน 160,000 บาท เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2548-พฤษภาคม 2549 รวมเวลาเก็บผักกูด 1 ปี ได้ผลผลิตประมาณ 16 ตัน ส่งขายได้ประมาณ 2 แสนบาทเศษ และที่สำคัญการลงทุนปลูกผักกูด เมื่อได้รับการดูแลบำรุงรักษาให้สมบูรณ์ ก็สามารถเก็บผลผลิตขายได้ตลอดไป โดยไม่ต้องลงทุนรอบใหม่เหมือนกับลงทุนปลูกผักชนิดอื่น และในพื้นที่กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ มีเกษตรกรลงทุนปลูกผักกูดเก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้แล้วประมาณ 70 ไร่
นายสุรศักดิ์ สุวรรณวงศ์ เกษตรจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า สภาพดินบริเวณเชิงเขาบรรทัดตลอดแนวของจังหวัดพัทลุง มีความเหมาะสมที่จะลงทุนปลูกผักกูดเป็นอาชีพเสริมและอาชีพหลัก เนื่องจากมีแหล่งน้ำจากธรรมชาติเพียงพอและที่สำคัญบริเวณเชิงเขามีห้วยหนอง คลองบึงจะเป็นดินร่วนปนทราย เป็นป่าโล่งแจ้งที่มีน้ำชื้นแฉะตลอดปี ถือเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ อยู่ห่างไกลจากมลพิษและสถานที่ปนเปื้อนสารเคมี เพื่อพัฒนาส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรปลูกพืชผักสร้างรายได้ ทางจังหวัดพัทลุง มีแผนพัฒนาอาชีพปลูกพืชผักปลอดภัยจากสารพิษหลายโครงการ โดยเฉพาะการปลูกผักกูดในโรงเรือน ปลูกในที่ลุ่มริมคลองและปลูกแซมในสวนยางพาราสวนผลไม้ ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมของเกษตรกรในอำเภอกงหรา ตะโหมด และกิ่ง อ.ศรีนครินทร์ แต่อย่างไรก็ตามปริมาณของผลผลิตที่เก็บออกมาขายได้ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ทางจังหวัดจะได้สนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่หลายอำเภอที่อยู่บริเวณ เชิงเขาบรรทัดปลูกผักกูดเพิ่มขึ้น ซึ่งอนาคตจังหวัดพัทลุงจะมีพืชผักส่งออกไปขายต่างจังหวัดได้อีกชนิดหนึ่ง
ไสว รุยันต์/พัทลุง
blogger social network ฟังเพลงสากล billy1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น