วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ฟัก

ชื่อ : ฟัก

ชื่อสามัญ : Wawgourd, Ashgourd

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Benincasa hispida Cogn.

วงศ์ : CUCURBITACEAE

ลักษณะทั่วไปของฟัก

ฟัก เป็นผักที่กินง่าย แสนอร่อย ละมุนลิ้นสำหรับเด็ก จึงอาจใช้เป็นผักสำหรับมือใหม่หัดรับประทาน

เด็กส่วนมากหรือแม้แต่ผู้ใหญ่มักไม่ปฏิเสธฟัก จะต้มจืด จะตุ๋นกับไก่ใส่เห็ดหอมก็โอชา คนนิยมเผ็ดจะชอบแกงเผ็ดใส่ฟัก แม้กระทั่งแกงอ่อมแบบอีสานก็นิยมใส่ฟัก

คุณค่าทางอาหาร

ฟักทำอาหารได้เรื่อย ไปจนกระทั่งของหวาน ฟักเชื่อมจนขึ้นเกล็ดน้ำตาล หรือที่เราเรียกว่าชิ้นฟัก และมักขายคู่กับพวกขนม จันอับ ถั่วตัด จะกินเป็นชิ้นหรือนำไปผสมกับของหวานอย่างอื่นๆ ก็ยังอร่อยอยู่ดี ในเต้าทึงก็ใส่ฟักเชื่อม ใส่ในน้ำเต้าหู้ก็นิยมกันนักว่าอร่อย

คนเรารู้จักฟักว่าเป็นผักที่มีรสเย็น มีน้ำมากถึง 96 % แต่กลับเก็บความร้อนได้ดีและร้อนนาน จะกินต้มจืดฟักสักครั้งก็ต้องระวังสักหน่อย เพราะน้ำแกงอาจจะเย็นลง แต่ฟักยังอมความร้อนอยู่ต้องใจเย็น ๆ

เรื่องเล่าเกี่ยวกับฟัก

การที่ฟักอมความร้อนไว้นานนี่เอง จึงมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยก่อนนั้น ถ้าจะมีการล่าจระเข้หรือจัดการกับจระเข้ที่ดุร้าย เขาจะต้มฟักให้ร้อนจัด เมื่อเผชิญหน้ากับเจ้าชาลวันตัวดุ รอให้อ้าปากเมื่อไรก็โยนฟักที่ร้อนจัดนั้นเข้าปากจระเข้ ธรรมดาจระเข้ไม่เคี้ยวอะไรก่อนลงท้องนอกจากงับ ๆ แยกเป็นชิ้น หรือถ้าชิ้นเล็กก็ลงท้องไปเลย ฟักที่ยังร้อนจัดเมื่อลงท้องไปแล้ว ก็จะยังร้อนอยู่อย่างนั้นอีกนาน คิดดูก็เป็นที่ทรมานอยู่เหมือนกัน

คราวนี้มาดูคุณสมบัติเมื่ออยู่ในภาวะปกติ คือ เป็นพืชผลที่มีความเย็นบ้างเป็นอย่างไร แถมภาคเหนือที่เคยใช้ช้างลากไม้มานาน เมื่อช้างถถึงฤดูติดสัด ก็มักเกิดอาการตกมันปั่นป่วนวุ่นวายไปหมด คราวนี้แม้กระทั่งควาญก็เอาไม่อยู่ ช้างก็ลืมหมดว่าควาญของตัวหน้าตาเป็นอย่างไร ตำราของชาวบ้านก็ต้องให้ช้างกินฟัก แต่ก็มักกินเมื่อเริ่ม ๆ จะสำแดงอาการตกมัน เห็นน้ำมันย้อยลงมาข้างหลังหูเมื่อไรก็เป็นต้องเตรียมฟัก เพราะความเย็นนี่เองที่ทำให้ช้างหนุ่มผู้รุ่มร้อนค่อยหายหน้ามืดตามัวลงได้บ้าง

ความเชื่ออื่นเกี่ยวกับฟักของคนไทยรั้นก็มีอีกหลายอย่างหลายประการ ใครที่เล่นไสยศาสตร์ มีของดีหรือมีรอยสักที่เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์อยู่ในร่างกายในสมัยก่อนนั้นต้องไม่เดินลอดค้างปลูกฟัก เพราะถือว่าพืชผลเหล่านี้เป็นพืชที่ข้างในกลวงหรือที่เรียกว่า “ปลอง” คุณไสยในตัวจะเสื่อม บางคนที่ถือมากๆ ก็ถึงกับไม่กินฟักเอาเสียเลย หรือบางทีเวลาทำขวัญเด็กเกิดใหม่ หรือขวัญเดือน หากเป็นเด็กชายก็มีฟักวางคู่กับสมุดดินสอมีนัยว่าให้โตขึ้นเป็นคนใจเย็นรู้คิดรู้ไตร่ตรองอย่างมีปัญญา

ถิ่นกำเนิดของฟัก

ฟักเป็นไม้เลื้อยที่ลำต้นยาวหลายเมตร มีขนหยาบสีขาวแข็ง ๆ ทั้งเถา มีมือเกาะ ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ เป็นแฉก ๆ มีขนสีขาวทั้งสองด้านของใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ ผลฟักมีลักษณะกลมยาว ตำราว่าฟักมีบ้านเกิดอยู่ที่เกาะชวา ในอินโดนีเซีย ปัจจุบัน ฟักได้แพร่พันธุ์เย็น ๆ ชื่นใจนี้ออกไปทั่วโลก

การปลูกและดูแล

เพราะมีเปลือกหนา จึงสามารถเก็บฟักไว้ได้นาน จะกินจึงค่อยเอามาฝาน แต่หากว่าคิดจะปลูกเป็นพืชสวนครัวคงต้องเตรียมเนื้อที่ให้มากพอสักหน่อยเพราะความใหญ่โตของเถาที่เลื้อยพันไปไกลและมีความแข็งแรง หรือบางทีก็ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน คิดจะปลูกฟัก ต้องเพราะเมล็ด อาจทำค้างไว้ให้เกาะเลื้อย ค้างก็ควรแข็งแรงเช่นกัน ชอบแดดจ้าใสสดและดินร่วนซุย ดูแลง่าย

คุณค่าทางอาหาร

ฟักเป็นพืชฝักที่มีคุณค่าทางอาหารไม่มากนัก แต่มีคุณสมบัติในทางสมุนไพร ซึ่งก็มีไม่ใช่น้อย ผักเย็นอย่างนี้ก็หนีไม่พ้นการใช้ความเย็นให้เป็นประโยชน์ รากใช้ต้มเป็นยาลดไข้ แก้กระหายน้ำ และถอนพิษ ใบใช้ตำพอกแก้ฟกช้ำ แก้แมลงกัดต่อย เมล็ดและน้ำมันจากเมล็ด ใช้ขับพยาธิ ลดไข้ เป็นยาระบาย ลดอาการอักเสบ รักษาริดสีดวงทวาร ไตอักเสบ

ประโยชน์

ผลเป็นฝักช่วยระบาย ขับปัสสาวะ แก้ธาตุพิการ

กินฟักจึงได้ผลทั้งเป็นผักและสมุนไพร โดยเฉพาะกินเป็นผักหน้าร้อยก็จะยิ่งดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...