วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ผักกาดขาว

ผักกาดขาว

ผักกาดขาวเป็นผักที่อยู่ในตระกูล Cruciferae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brassica pekinensis มีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น ผักกาดขาวปลี แปะฉ่าย แปะฉ่ายลุ้ย เป็นต้น เป็นพืชอายุปีเดียว มีระบบรากตื้น ใบมีลักษณะห่อปลียาวหรืออาจห่อหลวมๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ใบมีสีขาวถึงสีเขียวอ่อน เป็นพืชวันยาวดอกมีสีเหลืองยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผักกาดขาวส่วนใหญ่มีการผสมข้ามโดยแมลงและผึ้ง

ถิ่นกำเนิดผักกาดขาว

ผักกาดขาวมีถิ่นกำเนิดในตอนเหนือของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ จากนั้นก็แพร่ออกไปสู่ประเทศในแถบเอเชีย โดยมีเส้นทางสำคัญ 2 สาย คือ ทางตะวันออก ซึ่งมีเส้นทางแพร่ไปสู่ประเทศเกาหลี แล้วแพร่เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนอีกทางหนึ่งเป็นเส้นทางแพร่กระจายผ่านภาคกลางแล้วลงสู่ภาคใต้ของประเทศจีน จากนั้นก็เข้าสู่ประเทศไต้หวันและเผยแพร่ไปสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนแหลมอินโดจีน ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เมื่อตอนก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เล็กน้อย ในศตวรรษที่ 10 มีผู้คนรู้จักผักกาดขาวพันธุ์กะเพาะงัว Shino hara (1984) อ้างถึงข้อเขียนของ Li (1981) ว่าในศตวรรษที่ 20 ที่เมืองหางโจว อันเป็นทางภาคใต้ซึ่งเชื่อมโยงกับเมืองเทียนจินนั้นผู้คนรู้จักผักกาดขาวพันธุ์กะเพาะงัว ซึ่งถือเป็นพันธุ์ต้นกำเนิดของผักกาดขาวทั้งหลายในเวลาต่อมา สำหรับปัจจุบันผักกาดขาวได้ถูกพัฒนาพันธุ์ขึ้นให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในแต่ละประเทศ แต่ละท้องถิ่น โดยรักษาให้มีคุณภาพดีและให้ผลผลิตสูง
ผักกาดขาว นับเป็นผักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากมีผู้นิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย ส่วนที่ใช้บริโภคคือ ส่วนของใบ ซึ่งมีลักษณะเป็นผืนเดียวกันตลอด มีก้านใบกว้างและแบน ผักกาดขาวนอกจากจะใช้บริโภคสด และประกอบอาหารได้หลายอย่างแล้วยังเป็นผักที่นำมาใช้แปรรูปเป็นผักตากแห้งและกิมจิ ตลอดจนเป็นผักที่ใช้ในอุตสาหกรรมรูปอื่นๆ อีก

พันธุ์ผักกาดขาว

พันธุ์ผักกาดขาวจะมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะรูปร่างของปลี สำหรับพันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทยแบ่งได้ 3 พวกใหญ่ๆ ตามลักษณะของปลี
1. พวกปลียาว ปลีมีลักษณะทรงสูง รูปไข่ ได้แก่ พันธุ์มิชิลีหรือผักกาดหางหงส์, ผักกาดโสภณ, ผักกาดขาวปลีฝรั่ง เป็นต้น
2. พวกปลีกลม ปลีมีลักษณะทรงสั้นและอ้วนกลมกว่าพวกปลียาว ได้แก่ พันธุ์ซาลาเดีย ไฮบริด, พันธุ์ทรอปิคคอล ไพรด์ ไฮบริด ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์เบา มีอายุสั้น
3. พวกปลีหลวมหรือไม่ห่อปลี ส่วนมากเป็นผักพื้นเมืองของเอเชีย ผักกาดขาวพวกนี้มักไม่ห่อเป็นปลี สามารถปลูกได้แม้อากาศไม่หนาว ฝนตกชุก สำหรับความอร่อยน่ากินและการเก็บรักษาได้นานสู้ผักกาดขาวพวกเข้าปลีไม่ได้ ทำให้ปริมาณในปัจจุบันลดลง ได้แก่ พันธุ์ผักกาดขาวใหญ่ (อายุ 45 วัน) ผักกาดขาวธรรมดา (อายุ 40 วัน) เป็นต้น
พันธุ์ผักกาดขาวที่เกษตรกรนิยมใช้ได้แก่ ตราดอกโบตั๋น ตราช้าง ตราเครื่องบิน ตราเครื่องบินพิเศษ พันธุ์เทียนจินและพันธุ์เทียนจินเบอร์ 23 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ทนร้อนได้ปานกลาง

สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม

ผักกาดขาวเป็นผักที่มีอายุปีเดียว ในประเทศไทยสามารถปลูกได้ตลอดปี แต่ปลูกได้ผลดีที่สุดอยู่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ ขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่ชอบดินร่วนที่มีการระบายน้ำดีและมีความอุดมสมบูรณ์สูง มีความเป็นกรดเป็นด่างๆ (pH) ของดินอยู่ในช่วงพอเหมาะประมาณ 6 - 6.8 ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอเพื่อให้มีการเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอและควรได้รับแสงแดดเต็มที่ตลอดวัน อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 15 - 22 องศาเซลเซียส

การเตรียมดิน

แปลงเพาะกล้า ทำการไถดินบนแปลง แล้วตากดินทิ้งไว้ประมาณ 5 - 7 วัน หลังจากนั้นหว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วให้มาก คลุกเคล้าให้เข้ากับดิน พรวนย่อยดินให้ละเอียดโดยเฉพาะผิวหน้าดิน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดผักกาดขาวซึ่งมีขนาดเล็กตกในดินลึกเกินไปเมื่อปลูกโดยวิธีหว่าน
แปลงปลูก ทำการไถดินหรือขุดดินให้ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน แล้วทำการไถพรวนดินอีกครั้ง ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วพร้อมกับคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน ถ้าดินเป็นดินทรายควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้มากขึ้น อัตราการใช้ประมาณ 2 ปี๊บต่อตารางเมตรหรือถ้าใช้มูลเป็ด ไก่ หรือสุกร ให้ลดปริมาณการใส่ลงมาเหลือตารางเมตรละ 1 ปี๊บก็พอ คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่กรณีที่ดินเป็นดินเปรี้ยวหรือดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวในอัตราประมาณ 40 กิโลกรัมต่อไร่

ระบบปลูกและระยะปลูก

ระบบการปลูกผักกาดขาวในประเทศไทยสามารถทำได้ 3 แบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่นำมาปลูกและสภาพพื้นที่
1. แบบหว่านกระจายทั่วแปลง การปลูกแบบนี้ใช้ในกรณีที่ใช้พันธุ์ผสมทั่วๆ ไปมาปลูก เมล็ดพันธุ์มีราคาไม่แพง และโดยเฉพาะในท้องที่ภาคกลางที่ยกแปลงกว้าง มีร่องน้ำ
2. แบบแถวเดียว เหมาะสำหรับการปลูกแบบโรยเป็นแถวหรือย้ายกล้า กรณีใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่มีราคาแพง ในท้องที่ที่ปลูกผักแบบไร่
3. แบบแถวคู่ เหมาะสำหรับการปลูกแบบหยอดเมล็ดหรือย้ายกล้า กรณีใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่มีราคาแพง เช่น ในเขตท้องที่ภาคเหนือที่นิยมยกแปลงปลูกแคบ
สำหรับระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับปลูกผักกาดขาวในประเทศไทยก็คือ ระหว่างแถว 50 เซนติเมตร และระหว่างต้น 50 เซนติเมตร

การปลูก

การปลูกผักกาดขาวสามารถทำได้ 2 วิธีด้วยกันคือ การปลูกลงบนแปลงปลูกโดยตรง และการปลูกโดยการเพาะกล้าก่อนแล้วย้ายไปปลูกในแปลงปลูก จะเลือกใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับความสะดวกและความเหมาะสมของปัจจัยของเกษตรกรเอง เช่น แรงงาน ลักษณะของแปลง และจำนวนเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น
การปลูกลงบนแปลงปลูกโดยตรง การปลูกผักกาดขาวด้วยวิธีนี้มี 2 แบบ คือ
1. แบบหวานโดยตรง โดยการหว่านเมล็ดพันธุ์ให้กระจายทั่วทั้งแปลง ซึ่งการปลูกแบบนี้เหมาะสำหรับกรณีที่เมล็ดพันธุ์มีราคาไม่แพง และโดยเฉพาะในท้องที่ภาคกลางที่ยกแปลงกว้าง มีร่องน้ำ การหว่านควรหว่านให้เมล็ดกระจายสม่ำเสมอ โดยทั่วไปนิยมผสมพวกทรายหรือเมล็ดผักที่เสื่อมคุณภาพแล้วที่มีขนาดพอๆ กันลงไปด้วย เพื่อให้เมล็ดพันธุ์กระจายได้สม่ำเสมอยิ่งขึ้น จากนั้นใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหว่านทับลงไปหนาประมาณ 1/2 - 1 เซนติเมตร เพื่อช่วยรักษาความชื้น เสร็จแล้วจึงคลุมด้วยฟางแห้งสะอาดบางๆ อีกชั้นหนึ่งรดน้ำด้วยบัวฝอยละเอียดให้ทั่วถึงสม่ำเสมอ หลังจากต้นกล้างอกและมีใบจริง 1-2 ใบควรถอนแยกเพื่อจัดระยะปลูกและถอนแยกครั้งสุดท้ายไม่ควรปล่อยให้กล้ามีอายุเกิน 25-30 วัน โดยจัดระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถวประมาณ 50 x 50 เซนติเมตร
2. แบบปลูกเป็นแถวหรือหยอดเป็นหลุม โดยการหยอดเมล็ดให้เป็นแถวบนแปลงปลูก โดยให้ระยะระหว่างแถวห่างกัน 50 เซนติเมตร หยอดเมล็ดลึกประมาณ 1/2 - 1 เซนติเมตร หรือทำเป็นหลุมตื้นๆ หยอดเมล็ดลงประมาณ 3-5 เมล็ด ใช้ดินกลบให้หนา 1/2 เซนติเมตร ใช้หญ้าแห้งหรือฟางคลุมบางๆ รดน้ำด้วยบัวฝอยละเอียด เมื่อต้นกล้าเริ่มมีใบจริง 2 ใบให้ ทำการถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น ให้ได้ระยะต้นในแต่ละแถวเท่ากับ 50 เซนติเมตร และถอนแยกครั้งสุดท้ายอายุไม่ควรเกิน 30 วัน
การปลูกโดยการเพาะกล้าแล้วย้ายกล้าไปปลูก การปลูกผักกาดขาวด้วยวิธีนี้จะประหยัดเมล็ดพันธุ์ได้มาก โดยเฉพาะถ้าเป็นการปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมที่มีราคาแพง
หลังจากเตรียมดินแปลงเพาะกล้าเรียบร้อยแล้ว ให้หว่านเมล็ดให้ทั่วพื้นผิวแปลง แล้วใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วหว่านกลบให้หนาประมาณ 1/2 - 1 เซนติเมตร หรืออาจใช้วิธีหยอดเมล็ดเป็นแถวห่างกันแถวละประมาณ 5-10 เซนติเมตร ลึกลงไปในดินประมาณ 1/2 - 1 เซนติเมตร เมล็ดควรโรยให้ห่างกันพอสมควร แล้วหว่านกลบด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหรือดินผสมแล้วรดน้ำด้วยบัวฝอยละเอียดให้ทั่วแปลง คลุมแปลงด้วยหญ้าแห้งหรือฟางสะอาดบางๆ เพื่อช่วยเก็บรักษาความชื้นในดินและป้องกันการกระแทกของน้ำต่อเมล็ดและต้นกล้าที่ยังเล็กอยู่
เนื่องจากกล้าผักกาดขาวค่อนข้างอ่อนแอ ดังนั้นควรย้ายชำลงถุงพลาสติกหรือกระทงก่อนเมื่อกล้าอายุประมาณ 20-25 วัน จากนั้นหมั่นดูแลรักษาและป้องกันโรคแมลงที่อาจเกิดขึ้น ก่อนการย้ายกล้าลงปลูกในแปลงควรทำให้กล้าแข็งแรง โดยการนำต้นกล้าออกตากแดดบ้าง อายุกล้าที่เหมาะสมในการย้ายปลูกคือ 30-35 วัน ไม่ควรใช้กล้าที่มีอายุมากเกินป การย้ายกล้าไปปลูกควรย้ายในช่วงบ่ายๆ ถึงเย็น หรือช่วงที่อาศมืดครึ้ม นำต้นกล้าปลูกในแปลงปลูกที่เตรียมไว้แล้ว โดยใช้ระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว 50 x 50 เซนติเมตร หลังจากปลูกเสร็จแล้วใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมดินอีกชั้นหนึ่ง เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดินและผักตั้งตัวได้เร็ว แล้วรดน้ำด้วยบัวฝอยละเอียด
การปลูกด้วยวิธีการเพาะกล้าก่อนนำไปปลูกนี้จะทุ่นค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย และปลูกได้เป็นระเบียบสวยงาม การดูแลและทำงานได้ปราณีตขึ้นทำให้ได้ผลผลิตดีขึ้น ทุ่นเวลาและแรงงานที่จะดูแลรักษาในขณะที่ยังเป็นต้นกล้าอยู่ แต่ในเวลาย้ายปลูกจะต้องใช้แรงงานมากในการปลูกให้รวดเร็ว

การปฏิบัติดูแลรักษา

การให้น้ำ ผักกาดขาวต้องการน้ำมากและสม่ำเสมอเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตตลอดฤดูปลูก ดังนั้นควรให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ โดยในระยะแรกเมื่อผักกำลังงอกควรให้น้ำวันละ 3-4 ครั้ง เพื่อให้หน้าดินอ่อนสะดวกแก่การงอกของเมล็ด เมื่อผักมีอายุเกิน 7 วันไปแล้ว ก็ลดลงเหลือให้วันละ 3 ครั้ง พออายุเกิน 1 เดือนไปแล้วให้น้ำเพียงวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ไม่ควรให้น้ำในเวลาสายๆ ที่แดดจัดเพราะน้ำอาจร้อนทำให้ผักกาดขาว ซึ่งบางเสียหายได้ง่าย การให้น้ำควรใช้บัวรดน้ำหรือฉีดพ่นเป็นฝอยด้วยเครื่อง แต่อย่าให้ฉีดแรงนัก เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อผักได้ การให้น้ำผักกาดขาวระยะที่ควรระวังที่สุดก็คือ ในช่วงที่ผักกาดขาวกำลังห่อปลีไม่ควรให้ขาดน้ำอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้การห่อปลีและการเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์
การใส่ปุ๋ย เนื่องจากผักกาดขาวเป็นผักกินใบ ดังนั้นควรให้ปุ๋ยที่มีสัดส่วนของธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรแตสเซียมในอัตรา 2:1:1 เช่น ปุ๋ยสูตร 20-10-10 หรือสูตรใกล้เคียง โดยให้ในอัตราประมาณ 80-150 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและปริมาณปุ๋ยคอกที่ใช้ โดยแบ่งใส่เป็น 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกใส่เป็นปุ๋ยรองพื้นจำนวนครั้งหนึ่ง โดยใส่ตอนเตรียมดินปลูก และครั้งที่ 2 ใส่เมื่อผักกาดขาวมีอายุ 20 วัน
สำหรับผักกาดขาวพันธุ์ปลียาวและปลีกลมควรให้ปุ๋ยไนโตรเจน เช่น ยูเรียหรือแอมโมเนียมไนเตรท ในอัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อไร่เมื่อกล้าอายุได้ 30-40 วัน โดยการหว่านหรือโรยข้างต้นก็ได้ แล้วรดน้ำตามทันที แต่ระวังอย่าให้ปุ๋ยตกค้างอยู่ที่ใบเพราะจะทำให้ใบไหม้

การเก็บเกี่ยว

อายุการเก็บเกี่ยวของผักกาดขาวนั้นไม่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะประจำพันธุ์ของแต่ละพันธุ์คือ พันธุ์ที่เข้าปลีหลวมๆ มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 40-50 วัน หลังจากหว่านเมล็ด โดยเลือกเก็บเกี่ยวต้นเริ่มแก่เต็มที่ได้ขนาด สำหรับพันธุ์ปลียาวและปลีกลมมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 50-80 วันหลังจากหว่านเมล็ด โดยเก็บขณะที่ปลีห่อแน่นเต็มที่ก่อนที่ปลีจะเริ่มคลายตัวหลวมออก
วิธีการเก็บเกี่ยวโดยใช้มีดคมๆ ตัดที่โคนต้น แล้วตัดแต่งใบที่เป็นโรคถูกแมลงทำลายออกบ้างพอสมควร แต่ไม่มากนัก ควรเหลือใบนอกๆ ไว้สัก 2-3 ใบ เพื่อป้องกันการกระทบกระแทกระหว่างการขนส่ง

โรคและแมลง

โรคเหี่ยวของผักกาดขาว สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Fusarium oxysporum ลักษณะอาการของโรคนี้ผักจะมีใบล่างเหลืองและเริ่มเหี่ยว สังเกตได้ง่ายคือ มีใบล่างเหี่ยวแห้งซีกใดซีกหนึ่ง ทำให้ใบเบี้ยวงอไปข้างที่ใบเหี่ยวต่อมาใบทางซีกนั้นจะเหียวเพิ่มขึ้นและเหี่ยวทั่วต้นในเวลาต่อมา หรือผักเจริญเติบโตแต่เพียงซีกเดียวก่อนแล้วเหี่ยวตาย เมื่อถอนดูรากจะขาดหลุดจากลำต้นเพราะผุเปื่อยเป็นสีน้ำตาล ผักกาดขาวที่ปลูกในสภาพดินเหนียวและดินทรายมักพบโรคนี้มาก
การป้องกันกำจัด ก่อนการปลูกจะต้องเตรียมดินให้โปร่งและมีการระบายน้ำดี และต้องมีการปรับปรุงแก้ไขดินโดยใส่ปูนขาว ปุ๋ยคอก การหว่าน ปุ๋ยเม็ดในระยที่เป็นต้นกล้าจะทำให้เกิดอันตรายมาก จึงควรระมัดระวังให้มากโดยใส่แต่เพียงเล็กน้อย และควรใส่ปุ๋ยที่มีสูตรอื่นๆ ด้วยเพื่อช่วยให้ต้นกล้าเจริญแข็งแรง ควรปลูกสลับกับผักอย่างอื่นบ้างแบบพืชหมุนเวียนพืชตระกูลถั่วเพื่อบำรุงดิน ส่วนการใช้ยาป้องกันกำจัดในดินที่มีโรคนี้มักได้ผลไม่คุ้มค่า
โรคเน่าคอดิน สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Pythium sp. โรคนี้เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในแปลงเพาะกล้าเท่านั้น การหว่านกล้าที่แน่นทึบ อับลม และต้นเบียดกันมากจะเป็นหตุให้เกิดโรค ถ้าในแปลงมีเชื้อโรคอยู่แล้วต้นกล้าผักจะเกิดอาการเป็นแผลช้ำที่โคนต้นระดับดิน เนื้อเยื่อตรงแผลเน่าและแห้งไปอย่างรวดเร็ว ถ้าถูกแสงแดดทำให้ต้นกล้าหักพับ เพราะแผลช้ำที่โคนต้นระดับดิน ต้นจะเหี่ยวแห้งตายในเวลารวดเร็ว บริเวณที่เป็นโรคจะค่อยๆ ขยายวงกว้างออกไปเป็นวงกลมกว้างขึ้น สำหรับต้นกล้าที่โตแล้วจะค่อยเหี่ยวแห้งตายไป
การป้องกันกำจัด บนแปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี ไม่ควรหว่านเมล็ดผักแน่นเกินไป ใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราละลายน้ำในอัตราความเข้มข้นน้อยๆ ราดลงไปบนผิวดินบนแปลงให้ทั่วสัก 1-2 ครั้ง เช่น เทอราคลอเบนฟอร์ด ซึ่งเป็นยาป้องกันกำจัดเชื้อราในดินโดยตรงจะมีผลดียิ่งขึ้น หรือจะใช้ริคโดยมิล เอ็มแซด 72 ละลายน้ำรดก็ได้ผลดี หรือใช้ปูนใส่รดแทนน้ำในระยะที่เป็นต้นกล้า จะช่วยให้ต้นกล้าแข็งแรงและไม่ต้องใช้ยาอีกเลย
โรคใบด่างของผักกาดขาว สาเหตุเกิดจาเชื้อไวรัส Turnip mosaic ผักกาดขาวที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการใบด่างเขียวสลับเขียวเหลืองแคระแกร็น ใบมีขนาดเล็กลง ตามบริเวณเส้นใบจะพบเป็นสีม่วงปะปนอยู่ เมื่อเป็นโรครุนแรงขึ้นใบจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเหลืองทั้งใบ และมีลักษณะบิดงอเล็กน้อย ในบางครั้งใบจะเรียวยาวม้วนงอและเนื้อใบมีน้อยกว่าปกติ
การป้องกันกำจัด ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากเชื้อโรค กำจัดต้นที่แสดงอาการของโรคในระยะแรกโดยการเผาทำลาย และป้องกันกำจัดแมลงพาหนะพวกเพลี้ยอ่อนด้วยสารเคมีไดเมทโธเอท ในอัตรา 30 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร
หนอนกระทู้ผัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Spodoptera litura มักพบบ่อยมากในพืชผักพวกผักกาด จะกัดกินใบ ก้านใบหรือเข้าทำลายหัวปลีมักจะเข้าทำลายเป็นหย่อมๆ ตามจุดที่ผีเสื้อวางไข่ หนอนชนิดนี้จะสังเกตได้ง่ายคือ ลำตัวอ้วนป้อม ผิวหนังเรียบคล้ายหนอนกระทู้หอม มีสีสันต่างๆ กัน แถบสีขาวข้างลำตัวไม่ค่อยชัด หัวมักมีจุดสีดำใหญ่ตรงปล้องที่สาม แต่ถ้าหนอนมีขนาดใหญ่มักจะไม่ค่อยเห็นชัดนัก เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาด 3-4 เซนติเมตรเคลื่อนไหวช้า ระยะตัวหนอนจะกินเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จึงเข้าดักแด้ตามใต้ผิวดิน ระยะดักแด้ประมาณ 7-10 วัน ลักษณะการทำลายของหนอนกระทู้ผักจะกัดกินก้านใบ ใบ และปลีในระยะเข้าปลี
การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจดูสวนผักอยู่เสมอ เมื่อพบไข่ควรทำลายเสียเป็นการชะงักการระบาดไม่ให้ลุกลามต่อไป สำหรับสารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นได้แก่ เมโธมิล อัตรา 10-12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไตรโซฟอส อัตรา 50-60 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร
เพลี้ยอ่อน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lipaphis erysimi ตัวอ่อนของแมลงชนิดนี้ออกจากท้องแม่ได้โดยที่เพศเมียไม่ต้องผ่านมาผสมพันธุ์ ตัวอ่อนเมื่อออกจากตัวแม่ใหม่ๆ จะพบว่ามีลำตัวขนาดเล็กมาก ต้องส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ลำตัวมีสีเหลืองอ่อน นัยน์ตาสีดำ ขาทั้ง 3 คู่มีสีเช่นเดียวกับลำตัวหนวดสั้น รูปร่างคล้ายตัวเต็มวัย ระยะเป็นตัวอ่อนจะมีการลอกคราบ 4 ครั้ง ตัวอ่อนมีอายุประมาณ 5-6 วัน หลังจากนั้นก็จะเป็นตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยมีทั้งพวกมีปีกและไม่มีปีก ระยะตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6-18 วัน ตัวเต็มวัยตัวหนึ่งสามารถออกลูกได้ตลอดชีวิตประมาณ 75 ตัว
ลักษณะการทำลาย เพลี้ยงอ่อนชนิดนี้ทำลายพืชได้ทั้งในระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทั้งส่วนยอด ใบอ่อน ใบแก่และช่อดอก ลักษณะอาการที่เห็นได้ชัดคือ ยอดและใบจะหงิกงอ เมื่อเพลี้ยอ่อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พืชก็จะเหี่ยว ใบที่ถูกทำลายจะค่อยๆ มีสีเหลืองและร่วงหล่นลำต้นแคระแกร็น ถ้าทำลายช่อดอกจะทำให้ดอกร่วงหล่นหลุดไปจากต้น ทำให้ผลผลิตลดลง
การป้องกันกำจัด เมื่อพบเพลี้ยอ่อนเข้าทำลายควรใช้สารเคมีกลุ่มมาลาไธออน มีชื่อการค้าเช่น มาลาเทน, มาลาไธออน 83% ในอัตรา 30-55 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน นอกจากนี้อาจใช้ในอัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 5 กรัมต่ำน้ำ 20 ลิตร ทำการพ่นเป็นครั้งคราว ยาชนิดนี้เป็นยาที่เหมาะสำหรับสวนผักหลังบาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค



จากเว็บ http://www.doae.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...