วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หนาดใหญ่

ชื่ออื่น ๆ : หนาดหลวง, คำพอง (ภาคเหนือ), พ็อบกวา, แน (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), พิมเสน, ใบฟลม, ผักชีช้าง (ภาคกลาง), จะบอ (มลายู-ปัตตานี), หนาด (จันทบุรี), ไต่ฮวงไหง่, ไหง่หนับเฮียง

ชื่อสามัญ : Ngai Camphor Tree.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Blumea balsamifera DC.
วงศ์ : COMPOSITAE

ลักษณะทั่วไป : ต้น : เป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นมีความสูงประมาณ 5-6 ฟุต ทั่วลำต้นมีขนสีขาวนุ่ม ลำต้นเป็นแก่นแข็ง

ใบ : ใบมีลักษณะเป็นรูปยาวรี ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแหลมเล็กน้อย ริมขอบใบหยักเป็นซี่ใหญ่ ไม่เท่ากัน ขนาดของใบกว้างประมาณ 1.2-4.5 ซม. ยาวประมาณ 10-17 ซม. หลังใบและใต้ท้องใบมีขนทั้ง 2 ด้าน

ดอก : ดอกออกเป็นช่อ ตามบริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของดอกย่อย มีกลีบดอกติดกันเป็นหลอ ส่วนปลายกลีบแยกออกจากกันเป็น 5 กลีบ กลีบดอกอ่อนจะมีเป็นสีเหลือง แต่พอแก่กลีบดอกก็จะเปลี่ยนกลายเป็นสีขาว

ผล : ผลมีลักษณะเป็นเส้นเล็ก ๆ มีเหลี่ยมอยู่ 10 เหลี่ยม ส่วนบนเป็นขนสีขาว ๆ

การขยายพันธุ์ : เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่มักพบขึ้นตามทีรกร้าง ทุ่งนา หรือหุบเขาทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด หรือผล

ส่วนที่ใช้ : พิมเสน (กลั่นได้จากใบและยอดอ่อน) ใบและยอดอ่อน ราก

สรรพคุณ : พิมเสน สกัดใบและยอดอ่อนด้วยไอน้ำ จะได้น้ำมันหอม ทำให้เย็น พิมเสนก็จะตกผลึก แล้วกรองแยกเอาผลึกพิมเสนมาใช้ประมาณ 0.15-0.3 กรัม นำมาป่นให้เป็นผงละเอียด หรือทำเป็นยาเม็ดกินเป็นยาแก้ปวดท้อง
ท้องร่วง หรือใช้ขับลม เมื่อใช้ภายนอกนำผงมาโรยใส่บาดแผล แผลอักเสบ แก้กลากเกลื้อน และแผลฟกช้ำ เป็นต้น

ใบ และยอดอ่อน ใช้ใบและยอดอ่อนแห้งประมาณ 10-18 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ ขับเหงื่อ แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ ปวดท้อง ขับเสมหะ แก้ริดสีดวงจมูก ขับลมในลำไส้ ขับพยาธิ แก้บิด บำรุงกำลัง หรือใช้ภายนอก ด้วยการบดให้เป็นผงละเอียดผสมสุรา ใช้พอกหรือทาแผลฟกช้ำ
ฝีบวมอักเสบ แผลฝีหนอง บาดแผลสด ห้ามเลือด แก้ปวดหลังเอว ปวดข้อ และแก้กลากเกลื้อน เป็นต้น

ราก ใช้รากสด ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้บวม ปวดข้อ ปวดท้อง ท้องเสีย ขับลม ทำให้การหมุนเวียนของโลหิตดี และแก้ปวดเมื่อยหลังคลอดแล้ว เป็นต้น

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา : สารที่ได้จากการสกัดใบ เมื่อนำมาฉีดเข้ากับสัตว์ทดลองปรากฏว่า มีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต ขยายหลอดลม ทำให้กล้ามเนื้อลายหดตัว และช่วยยับยั้ง Sympathetic nerve แต่ถ้านำมาใช้กับคนมีผลทำให้ความดันโลหิตสูง กระวนกระวายใจ และทำให้นอนไม่หลับ เป็นต้น





กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...