วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553

สังวาลพระอินทร์

ชื่อ อื่น ๆ : เขืองคำโคก (เลย), เขียงคำ, เขียวคำ (อุบลราชธานี), ผักปลัว (ประจวบคีรีขันธ์), ช้องนางคลี่ (ภาคใต้), เซาะเบียง (เขมร), รังนกกระสา (จันทบุรี), บ่อเอี่ยงติ้ง (จีน-แต้จิ๋ว)

ชื่อสามัญ : Love Vine

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassytha filiformis Linn.

วงศ์ : SANTALACEAE

ลักษณะ ทั่วไป :


ต้น : เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยที่กึ่งกาฝาก ลำต้นจะเลื้อยพันต้นไม้อื่น ยอดอ่อนของเถามีขนนุ่ม ๆ ปกคลุมอยู่ ลักษณะของลำต้น หรือลำเถานั้นเป็นเส้นกลม ๆ ยาว ไม่ใหญ่ มีสีเขียวหรือเขียวออกเทา ๆ ส่วนกลางหรือโคนลำเถาไม่มีขนหรืออาจจะมีบ้างเล็กน้อย

ใบ : มีขนาดเล็กมาก ๆ เลย แทบจะไม่มีเสียด้วยซ้ำ ใบที่ฝ่อเล็กเป็นเกล็ด

ดอก : ดอกออกเป็นช่อ ไม่มีก้านดอก ดอกมีสีขาว และมีกลีบดอกอยู่ 6 กลีบ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ๆ ละ 3 กลีบ ลักษณะรีกลมมน กลีบเลี้ยงสีเขียวเล็ก

ผล : มีขนาดเล็กมาก ประมาณ 7 มม. สีเขียว เป็นลูกทรงกลม มีเนื้ออยู่ภายในผล

การขยายพันธุ์ : เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่ชอบอาศัยเกาะพาดพันต้นไม้อื่น ๆ ชอบความชื้นบ้าง ขึ้นได้ในดิน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

ส่วนที่ใช้ : ต้น (ใช้สดหรือแห้งก็ได้)

สรรพคุณ : ต้น มีรสชุ่ม ขม เย็น ปรุงเป็นยาแก้พิษไข้หวัด แก้แผลเรื้อรัง แก้นิ่ว บำรุงตับและไต ไอเป็นเลือด แผลบวมอักเสบ แผลถูกความร้อน ขับปัสสาวะ โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ดีซ่าน บิดมูก เลือดกำเดาออก

ข้อห้าม ใช้ : พืชชนิดนี้หากขึ้นพาดพันต้นไม้ที่เป็นพิษ เช่น ยี่โถ ลำโพง เป็นต้น ไม่ควรนำมาปรุงเป็นยา เพราะอาจจะทำให้เป็นอันตรายได้ และสตรีที่มีครรภ์ห้ามรับประทาน

ตำรับยา : 1. เป็นผดผื่นคัน หรือแผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง นำต้นสดมาต้มแล้วใช้น้ำชะล้าง

2. แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เอาต้นสดไปผิงไฟให้แห้ง แล้วนำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำมันพืชทา

3. หกล้มเลือดออก ใช้ต้นสดตำพอก

4. ตกเลือด ใช้ต้นสด 120 กรัมต้มกับน้ำตาลทรายแดงกิน

5. บิดมูก ใช้ต้นสด 30 กรัม ต้มกับน้ำกิน

6. เด็กเป็นดีซ่าน นำต้นสด 15-30 กรัมตุ๋นกับเต้าหู้ 2 ชิ้น กิน

7. นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ใช้ต้นสด 60 กรัมกับบักทง เต็งซิมเช่าและเปลือกรากเกากี ไฉ่ อย่างละ 12 กรัม ต้มน้ำกิน

8. ไตอักเสบเรื้อรัง นำต้นสด หญ้าไผ่หยอง และฉั่งกีอึ๊ง อย่างละ 30 กรัม ต้มน้ำกิน

9. เลือดกำเดาออกบ่อย ๆ ใช้ต้นสดเหล้าและเนื้อหมู นำมาอย่างละเท่า ๆ กันตุ๋นกิน

ข้อมูล ทางเภสัชวิทยา : สารอัลคลอยด์ในพืชชนิดนี้ ถ้าในขนาดมาก ๆ จะทำให้สัตว์ตายได้ แต่ถ้าในขนาดน้อย ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อของสัตว์ที่ทดลองหดตัว และชักเป็นตะคริว

สารเคมีที่พบ : ทั้งต้นมีสารอัลคาลอยด์ cassythidine, cassyfiline (cassythine), laurotetanine และมีอัลคาลอยด์อื่นอีกเล็กน้อย



กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...