ข้าวโพดฝักอ่อน
พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่ดี เป็นปัจจัยที่สำคัญข้อหนึ่งที่จะได้ผลผลิตคุณภาพดี คือมีปริมาณฝักเสียไม่ได้มาตรฐานน้อย ตามความต้องการของโรงงานแปรรูป ขณะเดียวกันพันธุ์นั้น ก็ควรให้ผลผลิตสูง และง่ายต่อการจัดการของเกษตรกรผู้ปลูกด้วย พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่เกษตรกรใช้มีดังนี้
- พันธุ์ผสมเปิดต่างๆ ได้แก่ สุวรรณ 1 สุวรรณ 2 สุวรรณ 3 รังสิต 1 และเชียงใหม่ 90 เป็นต้น จะสังเกตได้ว่า นอกเหนือจากพันธุ์รังสิต 1 เชียงใหม่ 90 และพันธุ์ข้าวโพดหวานแล้ว พันธุ์สุวรรณ 1, 2, 3 ต่างเป็นพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อใช้ในการผลิตเป็นข้าวโพดไร่ มีข้อดีคือ มีความต้านทานโรคราน้ำค้าง การเจริญเติบโตและปรับตัวดี และเมล็ดพันธุ์มีราคาถูก แต่มีข้อควรระวังคือ ฝักอ่อนจะโตเร็วควรเก็บเกี่ยวฝักอ่อนในระยะที่เหมาะสม มิฉะนั้นจะทำให้ฝักอ่อนมีขนาดโตเกินมาตรฐานที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องการ
- พันธุ์ลูกผสมของทางราชการและบริษัทเอกชนต่างๆ พันธุ์ข้าวโพดอ่อนเหล่านี้มีข้อดี คือ มีความสม่ำเสมอของทรงต้น และอายุเก็บเกี่ยวตลอดจนจำนวนฝักอ่อนได้มาตรฐานสูงกว่าพันธุ์ผสมเปิด ทั้งนี้ ต้องมีการดูแลรักษาที่ดีด้วย เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสม แม้จะมีราคาสูง แต่ในการผลิตข้าวโพดฝักอ่อน ปัจจุบันซึ่งเป็นการผลิตเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งต้องคำนึงถึงคุณภาพ ความสม่ำเสมอของผลผลิต และปัญหาค่าแรงงานการเก็บเกี่ยวสูงแล้ว การใช้พันธุ์ลูกผสมก็มีความจำเป็นมากขึ้น
ข้าวโพดฝักอ่อนบุกตลาดโรงงาน
ข้าวโพดฝักอ่อนจัดเป็นพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจพืชหนึ่งของประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี การส่งออกอยู่ในรูปฝักสดและบรรจุกระป๋อง พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่เหมาะสมกับการแปรรูปและบรรจุกระป๋องจึงมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมข้าวโพดฝักอ่อนของประเทศ บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มุ่งมั่นในการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมข้าวโพดฝักอ่อนของประเทศ และได้ทำการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนอย่างต่อเนื่อง
ข้าวโพดฝักอ่อนพันธุ์ดีควรมีลักษณะอย่างไร
·ผลผลิตสูงทั้งผลผลิตทั้งเปลือก และผลผลิตปอกเปลือก
นอกจากนี้ผลผลิตฝักมาตรฐานต้องสูงด้วย คือมีจำนวนฝักดีตรงตามมาตรฐานมาก
(ฝักยาว 4-11 ซ.ม. และ กว้าง 1-1.5 ซ.ม.) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งเกษตรกรผู้ปลูก
และโรงงานแปรรูป
·ลักษณะทรงฝักเรียวยาว ปลายฝักแหลมไม่เปราะ การเรียงไข่ปลาตรง และ ไข่ปลาเล็ก
ฝักตรงไม่คดงอ ไม่มีฝักที่เป็นคอขวดหรือดอกหญ้า
· มีระบบรากและลำต้นแข็งแรงไม่หักล้ม และต้นสามารถนำมาเลี้ยงสัตว์ได้ดี
· มีฝักดก จำนวนฝักต่อต้นอย่างน้อยต้องมี 2 -3 ฝักต่อต้นขึ้นไป
·สามารถปลูกได้ทุกฤดู
พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน
ปัจจุบันทางโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน สามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมแปซิฟิค 283 และเริ่มจำหน่ายเมล็ดพันธุ์สู่เกษตรกรในปี 2543 เมื่อเกษตรกรปลูกแล้วก็พบว่าเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงทั้งผลผลิตทั้งเปลือกและปอกเปลือก นอกจากนี้ผลผลิตฝักมาตรฐานยังสูงมากอีกด้วย จำนวนฝักเสียหรือฝักที่ไม่ได้มาตรฐาน มีน้อยมาก เกษตรกรทางภาคตะวันตกโดยเฉพาะในจังหวัดกาญจนบุรีได้ให้ชื่อพันธุ์แปซิฟิค 283 ว่าเป็น “ พันธุ์ปลดหนี้ ” เพราะปลูกแล้วได้ผลผลิตสูง เกษตรกรบางรายสามารถได้ผลผลิตฝักมาตรฐานสูงถึง 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ (จากการสัมภาษณ์เกษตรกร) นอกจากให้ผลผลิตที่สูง แล้วรูปทรงฝักยังสวย ปลายฝักแหลม สีเหลืองเหมาะสำหรับโรงงานแปรรูป ปัจจุบันพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมแปซิฟิค 283 เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรและโรงงานแปรรูปเลือกที่จะปลูกเป็นอันดับหนึ่ง
เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมพันธุ์แปซิฟิค 283
อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์
จำนวน 4-5 ก.ก./ไร่
การเตรียมดิน
ไถดะด้วยผาน 3 หรือ ผาน 4 ให้ลึกประมาณ 30 ซ.ม. เพื่อพลิกหน้าดิน
ตากดินไว้ 3-5 วัน จากนั้นไถแปรด้วยผาน 7 เพื่อย่อยดินให้ร่วนซุย
การปลูก มี 2 วิธี
การปลูกแบบแถวเดี่ยว
ใช้ระยะปลูก 75 X 30 ซ.ม. ปลูกลึก 4-5 ซ.ม. หยอดหลุมละ 3 เมล็ด
การปลูกแบบแถวคู่
ใช้ระยะระหว่างร่อง120 ซ.ม. โดยการยกร่องแล้วปลูกข้างร่องทั้งสองข้าง
ระยะระหว่างหลุม 30 ซ.ม. หยอดหลุมละ 3 เมล็ด กลบดินหนา 4-5 ซ.ม.
การใส่ปุ๋ย
ครั้งที่ 1 ใส่ปุ๋ยรองพื้น สูตร 15-15-15 หรือ 25-7-7 อัตรา 50 ก.ก./ไร่
ครั้งที่ 2 ข้าวโพดอายุ 15-25 วัน ใส่ปุ๋ย สูตร 46-0-0 อัตรา 25 ก.ก./ไร่
การดูแลรักษา
ถอดช่อดอกตัวผู้ (ดอกหัว) เมื่อข้าวโพดอายุ 41-45 วัน
การดูแลให้น้ำสม่ำเสมอ ในช่วงถอดช่อดอกตัวผู้ ถึงเก็บเกี่ยวจะทำให้ได้ผลผลิตสูง
การเก็บเกี่ยว
สามารถเก็บเกี่ยวฝักที่ 1 และ 2 หลังจากถอดช่อดอกตัวผู้แล้ว 3-5 วัน และจะต้องเก็บเกี่ยวให้หมดภายใน 5-7 วัน
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นและวิธีการแก้ไข
ข้าวโพดไม่งอก
สาเหตุ
· ปลูกขณะที่ดินมีความชื้นไม่พอ(ดินสองหน้า) แล้วฝนไม่ตกซ้ำ
· ฝนตกหนักน้ำท่วมขังจนทำให้เมล็ดเน่าตาย
· การเตรียมดินไม่ดี ดินเป็นก้อนใหญ่เกินไป
· หนูกัดกินเมล็ด
· เมล็ดพันธุ์มีความงอกไม่ดี
วิธีแก้ไข
· ปลูกเมื่อดินมีความชื้นเพียงพอต่อการงอก
· ระบายน้ำออกไม่ปล่อยให้ท่วมขังในแปลง
· เตรียมดินให้มีความร่วนซุย
· วางกับดักหนูหรือวางยากำจัดหนู
· เพาะเมล็ดตรวจสอบความงอกก่อนปลูก
ต้นเหลืองแคระแกร็น
สาเหตุ
· ขาดธาตุอาหาร
. น้ำท่วมขังข้าวโพดเป็นเวลานาน
วิธีการแก้ไข
· ควรใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำ
ระบายน้ำออกไม่ปล่อยให้น้ำท่วมขังในแปลง
ข้าวโพดไม่ติดเมล็ด
สาเหตุ
· มีฝนตกชุกในช่วงที่ดอกกำลังบาน ทำให้ฝนชะล้างละอองเกสรไปหมด
· ฝนแล้งมากในช่วงออกดอก ทำให้ฝักไม่ออกไหมหรือออกช้าไม่ทันเกสรตัวผู้
โรคราน้ำค้าง (ใบลาย)
สาเหตุ
· มีเชื้อโรคเข้าทำลาย
· พันธุ์มีความอ่อนแอต่อโรค
วิธีป้องกันและแก้ไข
· ปลูกพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคหรือเมล็ดพันธุ์ที่คลุกยา ridomil (ริโดมิล) ป้องกันโรค
· ตัดต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลาย ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ
โรคโคนเน่า
สาเหตุ
· มีเชื้อโรคเข้าทำลาย ซึ่งมีทั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย
· พันธุ์มีความอ่อนแอต่อโรค
วิธีป้องกันและแก้ไข
· ไถตากดินเพื่อลดจำนวนเชื้อโรค
· เผาทำลายต้นที่เป็นโรค
· ถ้าโรคระบาดรุนแรงอาจต้องพ่นยาป้องกัน เช่น
โรคที่เกิดจากเชื้อรา ควรพ่นป้องกันด้วยสารแมนโคเซป
โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ควรพ่นป้องกันด้วยยาสเตรปโตมัยซิน หรือ คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์
โรคฝักเน่า
สาเหตุ
· มีเชื้อโรคเข้าทำลาย
· ฝนตกมาก อากาศชื้นมีความเหมาะสมในการเข้าทำลายของเชื้อโรค
· พันธุ์มีความอ่อนแอต่อโรค
วิธีป้องกันและแก้ไข
· ไถตากดินเพื่อลดจำนวนเชื้อโรค
· เผาทำลายซากต้นที่เป็นโรค
กลยุทธ์การเพิ่มผลผลิต
1. ควรเก็บเกี่ยวขณะความยาวไหมประมาณ 6-8 ซ.ม.
2. ฝักที่ 3 และ 4 ไม่ควรไว้ไหมยาวเกินไป
จากเว็บ www.pacthai.co.th/knowleage_base/baby_corn.htm
กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น