วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

มะกล่ำตาหนู

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Abrus precatorius Linn.

ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE

ชื่อท้องถิ่น : กล่ำเครือ กล่ำตาไก่ มะกล่ำเครือ มะกล่ำแดง มะแค้ก ตากล่ำ มะขามเถา ไม้ไฟ


ลักษณะ : มีลักษณะทรงต้น ใบ ดอก และผลเหมือนมะกล่ำเผือก ต่างกันที่กลีบดอกสีชมพูแกมม่วง และเมล็ดสีแดงสด
รอบขั้วสีดำ

ส่วนที่นำมาใช้ : ราก

สรรพคุณ : ราก ขับเสมหะ แก้เสียงแห้ง ชงดื่มแก้ไอและหวัด พบว่าใบมีสารหวานชื่อ abrusosides ซึ่งมีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 30 – 100 เท่า และไม่มีพิษ เมล็ดมีสารพิษชื่อ abrin ถ้ากลืนทั้งเมล็ดไม่มีพิษ เพราะเปลือกแข็งไม่ถูกย่อยในทางเดินอาหาร แต่ถ้าขบเมล็ดให้แตกและกินเพียง 1 – 2 เมล็ด มีพิษถึงตายได้ เมล็ดอ่อนเปลือกบางมีอันตรายมากกว่า อาหารพิษ จะเกิดขึ้นหลังจากกิน 3 ชั่วโมงถึง 2 วัน มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ทางเดินอาหารอักเสบ ตับไตถูกทำลาย ควรรีบปฐมพยาบาลโดยทำให้อาเจียนและรีบนำส่งโรงพยาบาล

ต้นมะกล่ำตาหนูเป็นไม้เลื้อยตะกูลถั่ววงศ์ Papilionaceae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Abrus precatorius Linn. มีใบเป็นคู่รูปขนนก 8-15 คู่ ขอบใบเรียบ ออกดอกเป็นช่อที่ซอกใบ ผลเป็นฝักคล้ายถั่วลันเตา ภายในจะมี 3-5 เมล็ด เมล็ดกลมเรียวขนาด 6-8 มิลลิเมตร เมล็ดมีเปลือกแข็ง สีแดงสดเป็นมันมีสีดำตรงขั้วประมาณ 1 ใน 3 ของเมล็ด ตัวอย่างแสดงในรูปที่ 1 และรูปที่ 2
ภายในเมล็ดมะกล่ำตาหนูมีส่วนประกอบของ N-methyltryptophan, abric acid, glycyrrhizin, lipolytic enzyme และ Abrin
Abrin เป็นสารพิษในพืช (phytotoxin) มีสูตรโครงสร้างคล้าย Ricin แต่ Abrin มีความเป็นพิษสูงกว่า ลักษณะทางกายภาพเป็นผง หรือผงละออง มีสีขาวเหลือง สามารถละลายในน้ำได้ คงสภาพในที่มีความร้อนสูงและความเย็นจัดได้

ความเป็นพิษ

Abrin เป็นสารจากพืชที่มีพิษรุนแรง สามารถสกัดแยกสารพิษนี้ได้จากเมล็ด Abrus precatorius มีสูตรโครงสร้างและคุณสมบัติคล้าย Ricin แต่ Abrin มีความรุนแรงในการเกิดพิษมากกว่า 75 เท่า ปริมาณ Abrin ที่ทำให้มนุษย์เสียชีวิตได้คือ 0.1-1 mg/kg ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ที่สามารถนำไปทำเป็นสารเคมีเพื่อใช้ในสงคราม Abrin ประกอบด้วยโปรตีน 2 peptide chains คือ Abrin A และ Abrin B ต่อกันด้วยพันธะ disulfide ตรงตำแหน่ง Cys247 ของ A-chain กับ ตำแหน่ง Cys8 ของ B-chain
การทำงานในส่วนของ A-chain เป็นโมเลกุลขนาด 251 residues ทำหน้าที่ยังยั้งขบวนการสังเคราะห์โปรตีนของ 60s Ribosome โดยการดึง Adenine ซึ่งเป็น DNA base ในตำแหน่งที่ 4 และตำแหน่งที่ 324 ของ 28s rRNA ออก ทำให้ไรโบโซมไม่สามารถสังเคราะห์โปรตีนได้ ส่วน B-chain เป็น galactose specific lectin ที่ประกอบด้วย 268 และ 256 กรดอะมิโน ทำหน้าที่จับกับผิวของผนังเซลล์เพื่อช่วยในการรับและส่งผ่าน A-chain ให้สามารถผ่านผนังเซลล์ได้ โดย Abrin 1 โมเลกุลสามารถยังยั้งการสังเคราะห์โปรตีนได้ 1,500 ไรโบโซมต่อวินาที

ค่ามาตรฐาน

NIOSH (National Institute of Occupation Safety and Health) กำหนดค่า OELs (Occupational exposure limits) ของ Abrin ที่ เพดาน: 0.00006 mg/m3 (sensitizer)

อาการการเกิดพิษ

อาการและอาการแสดงของผู้ที่ได้รับพิษ Abrin ขึ้นอยู่กับลักษณะการสัมผัส (การหายใจ การรับประทาน หรือการสัมผัสทางผิวหนัง) และปริมาณที่ได้รับสัมผัส กรณีได้รับ Abrin โดยการรับประทาน สารพิษอาจมีผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย หลายระบบได้แก่

ระบบทางเดินอาหาร จะแสดงอาการภายใน 6 ชั่วโมงหลังจากรับประทาน แต่ก็มีบางรายแสดงอาการภายใน 1-3 วัน โดยจะมีอาการ ได้แก่ อาเจียร ท้องเสีย ปวดท้อง มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาเจียรเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือด และช็อกจากเสียเลือด (hypovolaemic shock)
ระบบหัวใจและหลอดเลือด ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นเร็วและผิดปกติ ในรายที่ได้รับสารพิษปริมาณมากหัวใจล้มเหลว ถึงขั้นเสียชีวิตได้
ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้มีอาการครึ่งหลับครึ่งตื่น เลื่อนลอย เพ้อ จนกระทั่งอาจไม่รู้สึกตัว
ระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้มีเลือดออกมาพร้อมปัสสาวะ แต่ปริมาณปัสสาวะน้อยเนื่องจากเซลล์ไตถูกทำลาย
ระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง มือสั่น กล้ามเนื้อหดเกร็ง ผิวหนังแดง

กรณีได้รับ Abrin โดยการหายใจ ผู้ได้รับสารพิษจะแสดงอาการภายใน 8 ชั่วโมง หลังจากได้รับสารพิษโดยระยะแรกจะมีอาการหายใจลำบาก มีไข้ ไอ มีอาการคลื่นเหียน และแน่นหน้าอก อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ซึ่งจะทำให้หายใจลำบากอย่างมาก ผิวหนังเปลี่ยนเป็นคล้ำ ในรายที่ได้รับสารพิษปริมาณมากจะทำให้ความดันเลือดต่ำ แต่หัวใจเต้นเร็วและผิดปกติ และหัวใจล้มเหลว ถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากสารพิษถูกผิวหนังอาจทำให้เกิดผื่นคัน ผิวหนังอักเสบแดง หากถูกตาจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ตา และอาจถึงกับตาบอดได้

การวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ

ผู้ได้รับสารพิษสามารถตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการได้ด้วยวิธี Enzyme-linked Immunosorbent Assay จากเลือดและของเหลวในร่างกาย และตรวจยืนยันโดยวิธี Immono-histochemical techniques

การรักษาผู้ได้รับพิษ

ปัจจุบันยังไม่มี antidote สำหรับ Abrin และยังไม่มีวิธีการรักษาที่เฉพาะเพื่อการช่วยเหลือผู้ได้รับพิษ ทั้งนี้การช่วยเหลือขึ้นอยู่กับการได้รับพิษของคนไข้
กรณีผู้ที่ได้รับสัมผัสทางผิวหนัง ควรรีบลดความเข้มข้นในการปนเปื้อนโดยการล้างผิวหนังที่สัมผัสด้วยน้ำและน้ำสบู่ปริมาณมากๆ
ถ้าผู้ป่วยได้รับพิษโดยการหายใจ การช่วยเหลือคือ การรักษาตามอาการของลักษณะผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมน้ำ และต้องรับการช่วยการหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ
ถ้าผู้ป่วยได้รับพิษทางการกิน ต้องลดปริมาณสารพิษในกระเพาะอาหารโดยใช้ activated charcoal เพื่อดูดซับสารพิษ (ล้างกระเพาะ) แล้วตามด้วยการให้ยาถ่ายจำพวก magnesium citrate และให้สารอาหารน้ำทางหลอดเลือดดำ เพื่อรักษาสมดุลย์ของเหลวในร่างกายแล้วรักษาตามอาการ ระยะเวลาที่ผู้ป่วยมักเสียชีวิตหลังจากได้รับพิษอยู่ในช่วง 36-72 ชั่วโมง ถ้าผู้ป่วยไม่เสียชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าวแสดงว่าสามารถรอดชีวิตได้

การป้องกัน

หลีกเลี่ยงการสัมผัส Abrin แต่ถ้าจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย ได้แก่ หน้ากากกันสารพิษแบบเต็มหน้า ถุงมือ แว่นตา ชุดคลุมเพื่อป้องกันสารพิษ และอุปกรณ์ช่วยหายใจ(Self-Contained Breathing Apparatus)
ดูแลสุขลักษณะล้างมือก่อนรับประทานอาหารและดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอ

จากเว็บ http://webdb.dmsc.moph.go.th


กลับสู่หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...