แก้วมือไว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterolobium integrum Craib.
วงศ์ : Papilionoideae
ชื่อสามัญ : flowered beggarweed
ชื่ออื่น : กะเทว, กะแท้วแดง (เลย) ; แก้วตาไว, แก้วมือไว (ภาคกลาง) ; ขี้แร็ก (ราชบุรี) ; เด่นแทว (ภาคตะวันออก) ; เขนแทว, ทับเพียว (นครราชสีมา) ; หนามเล็บแมว, หนามเหียง (ตาก)
ลักษณะทั่วไป : เป็นไม้พุ่ม ขนาดเล็ก อายุหลายปี แตกกิ่งก้านมาก ต้นตั้งสูง 63.75-100.97 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 7.37-11.05 มิลลิเมตร ลำต้นเหนียว สีเขียวอมน้ำตาล มีขนสีขาวยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ปกคลุมหนาแน่น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ (odd-pinnate) เรียงตรงข้ามกัน (opposite) ใบเป็นแบบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ (ovate-oblong) โคนใบกลม ปลายใบเว้าบุ่ม (retuse) มีติ่ง ขนาดใบยาว 1.9-2.5 เซนติเมตร กว้าง 0.9-1.3 เซนติเมตร หน้าใบ หลังใบมีขนละเอียดสั้น ๆ สีขาวปกคลุมหนาแน่น ใบสีเขียว ผิวใบนุ่ม เส้นกลางใบ (mid rib) เล็กยาวจากโคนถึงปลายใบ เส้นใบ (vein) เรียงตัวแบบโค้งจรดกัน (anastomosing) เส้นใบด้านหลังมองด้วยตาเปล่าไม่ชัดเจน ขอบใบเรียบ (entire) หูใบ (stipule) แบบรูปเข็มแหลม (filiform) สีม่วงอมแดง ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ก้านใบรวมยาว 4.22-5.92 เซนติเมตร ก้านใบย่อยยาว 1-2 มิลลิเมตร และมีขนคลุม ออกดอกเดือน มิถุนายน-มีนาคม ช่อดอกขนาดเล็กออกที่ตาข้างแบบช่อกระจะ (raceme)มีจำนวนมาก ช่อดอกยาว 1.14-1.8 เซนติเมตร ช่อดอกย่อยยาว 0.4-0.6 เซนติเมตร มี 8-26 ดอกต่อช่อ ก้านช่อดอกสั้นมาก ยาว 0.05-0.2 เซนติเมตร ดอกรูปดอกถั่ว กลีบกลาง (standard) สีเขียวอมแดง กลีบคู่ข้าง (wing) สีชมพูอมส้ม กลีบคู่ล่าง (keel) สีเขียว ฝักรูปทรงกระบอกกลม มี 10-21 ฝักต่อช่อ ฝักยาว 2.36-2.8 เซนติเมตร กว้าง 0.18-0.26 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ประโยชน์ : ส่วนยอดอ่อนและใบ เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติ สำหรับแทะเล็มของโค-กระบือ
จากเว็บ http://www.rspg.or.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น