วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หมักแงว

หมักแงว SAPINDACEAE
Nephelium hypoleucum Kurz

ชื่ออื่น คอแลน (ภาคเหนือ ภาคกลาง) ไม้ขาวลาง มะแงว หมักงาน มะแงะ หมักแวว (ภาคตะวันออก) คอแลนตัวผู้ ลิ้นจี่ป่า (ภาคตะวันออกเฉียงใต้) กะเบน คอรั้ง สังเครียดขอน (ภาคใต้)

หมักแงวเป็นไม้ต้น สูง 10–30 ม. เปลือกค่อนข้างเรียบสีน้ำตาล ใบ ประกอบแบบขนนกเรียงสลับ มีใบย่อย 1–4(–5) คู่ เรียงตรงข้าม หรือเยื้องกัน บางครั้งสลับ แผ่นใบย่อยรูปไข่ถึงรูปรี กว้าง 2–8 ซม. ยาว 6–30 ม. ปลายป้านถึงแหลม โคนมนถึงแหลม ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนคล้ายไหม ดอก เล็ก สีขาว เหลืองอ่อน หรือเขียวอ่อน กลิ่นหอม มีต่อมน้ำหวานมาก ออกเป็นช่อตามปลายกิ่งและตามง่ามใบใกล้ยอด ผล รูปกลมรี กว้าง 1–3 ซม. ยาว 2–3 ซม. มีตุ่มสีแดง เปลือกหนา เมล็ดมีเยื่อหุ้ม

หมักแงวมีการกระจายพันธุ์ในป่าดิบและป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาคของประเทศ ความสูงตั้งแต่ระดับทะเลปานกลางถึง 1,200 ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า และประเทศในภูมิภาคอินโดจีน ออกดอกเดือนธันวาคม–มีนาคม ผลแก่เดือนกุมภาพันธ์–มิถุนายน

เยื่อหุ้มเมล็ดมีรสหวานอมเปรี้ยวกินได้ เนื้อไม้ละเอียดเหนียวและแข็ง สีแดงหรือน้ำตาลแดง ใช้ทำเครื่องมือทางการเกษตร ฟืนและถ่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...