วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ผักชี (Coriander) หรือ ผักหอมป้อม

ผักชี (Coriander) หรือ ผักหอมป้อมในภาษาอีสาน เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Coriandrum sativum อยู่ในวงศ์ Apiaceae   ผักชีเป็นพืชผักสมุนไพรที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน แต่ถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน อินเดียและเอเชียตะวันตก

ลักษณะของผักชี  ผักชีมีลำต้นผอมเพียว ใบจะติดกับลำต้นและแตกย่อยจำนวนมาก ใบหยักมีขนาดเล็กน่ารักและดูสวยงามมักถูกนำมาตกแต่งหน้าตาอาหารให้ดูสวยงาม แต่ผักชีเป็นพืชที่มีกลิ่นแรง ด้วยความที่มีกลิ่นแรงจึงมักถูกนำมาเพิ่มกลิ่นหอมในอาหารหลายๆชนิด ช่อดอกย่อยมีสีขาวอมชมพู ผลรีค่อนข้างกลมเมื่อแก่จัดจะเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล

สรรพคุณด้านยาของผักชี  
ใบผักชี  ช่วยต่อต้านอาการชัก ช่วยแก้อาการวิงเวียนศรีษะ บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้อาการกระหายน้ำ แก้หวัด แก้ไอ ช่วยย่อยในระบบทางเดินอาหาร รักษาอาการอาหารเป็นพิษ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยป้องกันเซลล์สมองจากการถูกทำลาย และยังช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา 
ต้นสดผักชี ช่วยขับผื่นหัดให้ออกเร็วขึ้น ขับเหงื่อ ขับลม กระตุ้นกระเพาะอาหารและลำไส้ให้ขับน้ำดีและน้ำย่อยให้ออกมามากขึ้นช่วยให้เจริญอาหาร ละลายเสมหะและรักษาโรคริดสีดวงทวาร น้ำมันหอมระเหยของผักชีช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ดี และยังช่วยป้องกันโรคมะเร็งที่เกิดจากการกินอาหารจำพวกปิ้งย่างได้อย่างดี
รากผักชี ช่วยขับพิษไข้อีดำอีแดง รักษาโรคหิด และอีสุกอีใส
ผล/เมล็ดผักชี  แก้ปวดฟัน รักษาแผลในปาก แก้บิด แก้อาการถ่ายเป็นเลือดถ่ายเป็นมูก แก้ริดสีดวงทวาร บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยลดความดันโลหิตได้ 

สรรพคุณด้านความงาม  ผักชีมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงช่วยลดความเสื่อมของเซลล์ชะลอความแก่   มีสารเบต้าแคโรทีนช่วยบำรุงสายตาทำให้การทำงานของสายตาเป็นไปอย่างปกติสายตาไม่ฝ้าฟาง การทานผักชีเป็นประจำก็ช่วยเรื่องการรักษาสิวเพราะจะช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว และยังมีฟลาโวนอยด์ แลคโตน ฟีโนลิก แทนนิน  วิตามินเอ เกลือแร่อีกด้วย

ผักชีกับอาหาร 
ใบผักชี  ผักชีมีรสชาติที่เข้ากันได้ดีกับอาหารที่มีรสเปรี้ยวยิ่งเมนูยำ  ต้มยำ จะสามารถชูรสได้เป็นอย่างดี ผักชียังสามารถช่วยดับความคาวได้ดี  หรือจะนำผักชีมากินเป็นกับแกล้มเพื่อตัดรสชาติก็ได้ เช่น แกล้มกับสาคู  ข้าเกรียบปากหม้อ  ไส้กรอกอีสาน นำมาสับใส่น้ำจิ้มก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำจิ้มหวาน น้ำจิ้มซีฟู๊ดก็ฮอตอร่อยไม่แพ้กัน และยังนำมาตกแต่งอาหารเพื่อความสวยงาม หรือจะใส่เพื่อเพิ่มกลิ่นหอมให้กับน้ำซุปและแกงก็ได้
รากผักชี รากผักชีโขลกกับกระเทียมพริกไทยนำมาหมักเนื้อสัตว์จะทำให้รสชาติมีชั้นเชิงกว่าเดิม  ผักชียังสามารถช่วยดับความคาวได้ดี  หรือจะนำมาโขลกกับเครื่องแกงให้เครื่องแกงมีความเข้มข้นมีรสชาติที่นุ่มลึก ตัดกับความเผ็ดจัดจ้านของสมุนไพรอื่นๆได้ดี  นอกจากนี้รากผักชียังเป็นส่วนประกอบของเครื่องพะโล้ และน้ำซุปต่างๆ เพราะช่วยดึงรสชาติของน้ำซุปออกมาได้เป็นอย่างดี

เมล็ดผักชี  สามารถนำมาเป็นเครื่องเทศได้ดียิ่งนำมาคั่วจะทำให้รสชาติของเมล็ดชัดเจนยิ่งขึ้น นำมาแกงตำให้ละเอียดใส่ในพริกแกงก็ได้ หรือจะนำไปใส่ในลาบ ก้อย แหนบ ก็จะยิ่งอร่อยมากขึ้น

ข้อควรระวัง  คนที่แพ้ผักที่มีกลิ่นฉุนไม่ควรกินผักชี   ผักชีมีกลิ่นฉุนไม่ควรกินในปริมาณมากๆเพราะจะทำให้กลิ่นตัวแรงขึ้น ผู้ที่เป็นโรคไตไม่ควรทานในปริมาณที่มากเกินไปเพราะในผักชีมีโพแทสเซียมสูงจะทำให้เกิดอันตรายได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...