ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica Juss. Var. siamensis Valeton
ชื่อวงศ์ MELIACEAE
ชื่อสามัญ Neem Tree
ชื่อท้องถิ่น
ภาคเหนือ เรียก สะเลียม
ภาคอีสาน เรียก กะเดา, กาเดา
ส่วย เรียก จะตัง
ภาคใต้ เรียก กะเดา, ไม้เดา, เดา
ลักษณะทั่วไป สะเดาเป็นยืนต้นขนาดกลาง สูง 12–15 เมตร ขึ้นได้ในป่า หรือปลูกไว้ตามบ้าน ทุกส่วนมีรสขม เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกของลำต้นสีน้ำตาลเทาหรือเทาปนดำ แตกระแหงเป็นร่องเล็กๆ ตามต้น แต่เปลือกของกิ่งอ่อนเรียบ ใบ เป็นช่อแบบขนนก ใบย่อยรูปหอก ขอบใบหยัก ใบออกเวียนกัน ตอนปลายกิ่งจะผลิใบใหม่พร้อมกับผลิดอกในฤดูหนาว ดอก เป็นช่อสีขาว ผล กลมรี อวบน้ำ ผลแก่สีเหลือง ภายในผลมี 1 เมล็ด
การปลูก สะเดาเป็นไม้ดั้งเดิมของเขตเอเชียอาคเนย์ พบทั่วไปในประเทศพม่า อินเดีย สะเดาพบในป่าเบญจพรรณและป่าแดง มัก ขึ้นปะปนกับไม้ใหญ่ สะเดาเป็นพันธุ์ไม่ปลูกง่าย โตเร็ง และเป็นพันธุ์บุกเบิกในที่แห้งแล้งได้ดี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
สรรพคุณทางยา
ใบอ่อน รสขม แก้โรคผิวหนัง น้ำเหลืองเสีย และพุพอง
ใบแก่ รสขม บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร และฆ่าแมลงศัตรูพืช
ก้าน รสขม แก้ไข้ บำรุงน้ำดี และแก้ร้อนในกระหายน้ำ
ดอก รสขม แก้พิษโลหิต พิษกำเดา แก้ริดสีดวง คันในลำคอ และบำรุงธาตุ
ลูก รสขมเย็น บำรุงหัวใจให้เต้นเป็นปกติ และฆ่าแมลงศัตรูพืช
คุณค่าทางโภชนาการ ทุกส่วนของสะเดามีรสขม นำยอดอ่อนและดอกสะเดาลวกน้ำร้อน 2-3 ครั้ง เพื่อให้หายขม รับประทานเป็นอาหารได้
คติความเชื่อ คนโบราณนิยมปลูกต้นสะเดาไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ (หรดี) เชื่อกันว่าจะป้องกันโรคร้ายต่างๆ ได้ ในบางทอ้งถิ่นเชื่อกันว่าใบและกิ่งของต้นสะเดาจะป้องกันภูตผีปีศาจได้
สะเดา เป็นไม้โตเร็ว เจริญได้ดีในแถบร้อนที่มีปริมาณน้ำฝน ตั้งแต่ 400-1,200 มม. เป็นพืชทนอากาศแห้งแล้งได้ดี สามารถขึ้นได้ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ แต่จะเจริญเติบโตเร็วในสภาพดินที่ไม่ชื้นแฉะ และปริมาณน้ำฝนไม่เกิน 800 มม.
การขยายพันธุ์ ใช้วิธีเพาะเมล็ด ซึ่งสามารถทำได้จำนวนมาก เพราะปริมาณของผลสะเดามีมากในทุก ๆ ปี แต่ไม่สามารถเก็บเมล็ดไว้ได้นาน เพราะเมล็ดจะสูญเสียเปอร์เซ็นต์ความงอกงามได้เร็วมาก หลังจากเก็บผลสุกมาและเอาเนื้อออกหมดแล้วล้างเมล็ดให้สะอาด นำไปเพาะทันที จะงอกได้ดีมาก เมื่อสะเดาเจริญเติบโตจะติดผลเมื่ออายุ 5 ปีขึ้นไป และให้ผลผลิตเต็มที่เมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไปปริมาณของผลสะเดาจะอยู่ระหว่าง 10-50 กก./ต้น/ ปี
การใช้สารสกัดจากเมล็ดสะเดา เมื่อเวลาฉีดพ่นควรทำในตอนเย็น จึงจะได้ผลดี เพราะสารนี้จะสลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกแสงแดด
การใช้สารสกัดจากสะเดา เพื่อลดการใช้สารฆ่าแมลงจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทำให้มีความปลอดภัยต่อชีวิต ของผู้ผลิต และผู้บริโภค รวมทั้งรักษาสภาพแวดล้อมอีกด้วย
การใช้สารสกัดจากสะเดา เพื่อฆ่าแมลงศัตรูพืช
สารฆ่าแมลงเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่างหนึ่งและมีการใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินปัญหาและผลกระทบต่าง ๆ มากมายหลายด้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จึงมองหาวิธีการต่าง ๆ ในการที่จะนำมาป้อง กันกำจัดศัตรูพืชเพื่อลดการใช้สารฆ่าแมลง ทางเลือกทางหนึ่งที่น่าสนใจขณะนี้คือการใช้สารสกัดจากธรรมชาติ สารสกัดจากธรรมชาติเป็นสารที่มีคุณสมบัติใน การปราบหรือควบคุม ปริมาณการระบาดของแมลงศัตรูพืช และ ให้ผลดีเท่าเทียมกับการใช้สารฆ่าแมลง ไม่มีพิษตกค้างในผลผลิต ไม่มีพิษต่อเกษตรกรผู้ใช้และสภาพแวดล้อม สารสกัดจากธรรมชาติที่สำคัญและมีศักยภาพสูงที่จะนำมาใช้ทดแทนสารฆ่าแมลงชนิดหนึ่งคือ สะเดา
ชนิดของสะเดา
สะเดา แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. สะเดาอินเดีย มีลักษณะขอบใบหยักเป็นฟีนเลื่อย ปลายของฟันเลื่อยแหลมโคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลมเรียวแคบมากคล้ายเส้นขร ผลสุกในเดือน ก.ค.-ส.ค.
2. สะเดาไทย มีลักษณะของใบหยักเป็นฟันเลื่อย แต่ปลายของฟันเลื่อยทู่ โคนใบเบี้ยวแต่กว้างกว่า ปลายใบแหลม ผลสุกในเดือน เม.ย.- พ.ค. 3. สะเดาช้าง หรือต้นเทียม ไม้เทียม ขอบใบจะเรียบ หรือปัดขึ้นลงเล็กน้อย โคนใบเบี้ยว ปลายเป็นติ่งแหลม ขนาดใบและผลใหญ่กว่า 2 ชนิดแรก ผลสุกในเดือน พ.ค.- ส.ค.
ต้นสะเดาอินเดีย และสะเดาไทย เป็นชนิด (species) เดียวกัน แต่ต่างพันธุ์ (variety) ส่วนสะเดาช้างหรือต้นเทียม ไม้เทียม จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับสะเดาไทย และสะเดาอินเดีย แต่คนละชนิด (species) สะเดาทั้ง
3 ชนิดนี้จะมีลักษณะใบและต้นแตกต่างกันดังกล่าวมาแล้ว
แหล่งปลูก
สะเดาไทย จะพบเห็นโดยทั่ว ๆ ไป ตามหัวไร่ปลายนา บ้านคนทั่วไป ตาม 2 ข้างทางหลวง จึงมีปริมาณมาก หาง่าย ราคาถูก
สะเดาอินเดีย ค่อนข้างจะหายาก แหล่งปลูกใหญ่คือ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสองข้างทางหลวง หมายเลข 101 จากอำเภอสูงเม่น ถึงเขตอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่
สะเดาช้าง พบเฉพาะในทางภาคใต้ ตั้งแต่ชุมพรลงไป จะปลูกตามขอบรั่วบ้าน แปลงปลูกยางพารา และปลูกเป็นสวนโดยเอกชน
สารประกอบทางเคมีของสะเดา
สารอินทรีย์ที่สกัดได้ จากเมล็ดสะเดามีอยู่ประมาณ 35 สาร สารอะซาดิแรดติน (Azadirachtin) ที่สักดได้จากเมล็ดสะเดาเป็นสารที่นักกีฎวิทยาให้ความสนใจที่จะนำไปใช้ทดลองป้องกันกำจัดศัตรูพืช
สารอะซาดิแรคติน
ออกฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดแมลงได้หลายรูปแบบ คือเป็นสารฆ่าแมลง สารไล่แมลง ทำให้แมลงไม่ชอบกิน อาหาร ทำให้การเจริญเติบโตของแมลงผิดปกติ ยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลง มีผลทำให้หนอนไม่สามารถ ลอกคราบเจริญเติบโตต่อไป หนอนจะตายในระยะลอกคราบ เพราะสารออกฤทธิ์มีผลต่อการสร้างฮอร์โมน ซึ่งทำให้การผลิตไข่และปริมาณการฟักไข่จะลดน้อยลง แต่สารอะซาดิแรดตินจะมีอันตรายน้อยต่อมนุษย์และสัตว์ ศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืชและสภาพแวดล้อม
ส่วนของสารสะเดาที่นำมาสกัด เมล็ดของสะเดาเป็นส่วนที่เหมาะในการนำมาสกัดเนื่องจากพบสารอะซาดิแรดติน มากกว่าส่วนอื่น ๆ เช่น ส่วนของใบ เมล็ดสะเดาควรเป็นเมล็ดที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไปและควรเป็นผลที่ยังติดอยู่กับต้น ไม่ควรนำเมล็ดที่หล่นจากต้นและมีเชื้อราเข้าทำลายมาสกัด เพราะจะทำให้ได้สารอะซาดิแรดตินต่ำ
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเมล็ดสะเดามีอยู่ 3 รูปคือ
1. น้ำมันสะเดา นำไปใช้ทำยาสีฟัน สบู่ น้ำมันจุดไฟ เป็นสารฆ่าแมลงเป็นยารักษาโรคเบาหวานและเป็นยาคุมกำเนิด
2. สารสกัดจากสะเดา นำไปใช้เป็นสารฆ่าแมลง ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าน้ำมันสะเดาเนื่องจากมีสารอะซาดิแรดตินสูงกว่า นอกจากนี้ยังมคุณสมบัติเป็นสารฆ่าเชื้อราและไส้เดือนฝอย
3. กากสะเดา นำไปใช้เป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ สารฆ่าแมลง และผสมกับปุ๋ยยูเรียทำให้ธาตุไนโตรเจนค่อย ๆ ละลายน้ำ
สะเดาชนิดไหนที่ให้สารอะซาดิแรดตินมาก
จากการทดลองพบสารอะซาดิแรดตินมากที่สุดในเมล็ดสะเดา โดยเฉพาะสะเดาอินดียพบปริมาณสูงที่สุดคือ 7.6 มก./กรัม โดย เฉลี่ย สะเดาไทยพบ 6.7 มก./กรัม โดย เฉลี่ย และสะเดาช้าง (ต้นเทียม) พบ 4.0 มก./กรัม โดย เฉลี่ย
แต่อย่างไรก็ตามปริมาณสารอะซาดิแรดตินดังกล่าวที่สกัดได้ยังมีความสัมพันธ์โดยตรงกับอายุต้น อายุเมล็ด สภาพแวดล้อมที่ปลูก การเก็บรักษาเมล็ดสะเดา ก่อนนำมาสกัดและวิธีสกัด แต่ระดับเกษตรกรแล้ว ถ้าเมล็ดไม่แก่และอ่อนเกินไป และเป็นผลที่ยังติดอยู่กับต้นสะเดาและนำไปสกัดโดยวิธีง่าย ๆ โดยใช้น้ำเป็นตัวสกัด อัตราส่วนเมล็ดสะเดา 1 กก./น้ำ 20 ลิตร จะมีสารอะซาดิแรดตินอยู่ 0.1-0.3% และจากการทดลองความเข้มข้นของสารฯ ขนาดนี้สามารถป้องกันกำจัดหนอนผีเสื้อและแมลงปากดูดได้หลายชนิด
สะเดาชนิดไหนที่เหมาะสมที่จะนำมาสกัดใช้เองและเชิงการค้า
สะเดาไทยเป็นพันธุ์เหมาะสมที่สุด เพราะเหตุว่าหาได้ง่ายและปลูกกระจัดกระจายมากกว่าปริมาณเมล็ด/ต้น สูงมากกว่าถ้ามีการปรับปรุงพันธุ์ และพัฒนากันต่อไป คงจะให้สะเดาที่มีปริมาณสารอะซาดิแรดติน ในเมล็ดสูงขึ้น
การเตรียมผลสะเดาเพื่อเอาเมล็ด
เก็บผลสะเดาที่มีสีเหลือง ใส่ถุงพลาสติกอบไว้ 1-2 วัน บีบเนื้อจากผลออกให้หมด นำเมล็ดที่ได้มาถูกับทรายเปียกอีกครั้ง แล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาดจะได้เมล็ดที่สะอาด นำไปตากแดด 1 วัน แล้วนำไปผึ่งลมในที่ร่มอีกให้แห้งสนิท อย่าให้มีเชื้อราเกิดขึ้น (ถ้าเกิดเชื้อราให้แยกส่วนนั้นทิ้งไป) แล้วนำไปบดใช้ต่อไป ถ้าต้องการเก็บรักษาไว้ควรเก็บเมล็ดที่สะอาดนี้ไว้ในภาชนะที่มีอากาศถ่ายเทได้ดีเช่น กระสอบตาข่ายไนล่อน, เข่ง ถ้าจะเก็บไว้ใช้นาน ๆ ต้องผึ่งในที่ร่มให้แห้งสนิท (ผึ่งไว้ 2-3 เดือน ความชื้นในเมล็ดต่ำกว่า 10%)
วิธีใช้สารสกัดจากเมล็ดสะเดา
เอาเมล็ดสะเดาแห้งที่ประกอบด้วยเปลือกหุ้มเมล็ดและเนื้อเมล็ด มาบดให้ละเอียดแล้วนำผงเมล็ดสะเดามาหมักกันน้ำในอัตรา 1 กิโลกรัม/น้ำ 20 ลิตร โดยใช้ผงสะเดาใส่ไว้ในถุงผ้าขาวบางแล้วนำไปแช่ในน้ำ นาน 24 ชั่วโมง ใช้มือบีบถุงตรงส่วนของผงสะเดา เพื่อสารอะซาดิแรดติน ที่อยู่ในผงสะเดาสลายตัวออกมาให้มากที่สุด เมื่อจะใช้ก็ยกถุงผ้าออก พยายามบีบถุงให้น้ำในผงสะเดาออกให้หมดแล้วนำไปฉีดป้องกันกำจัดแมลง ก่อนนำไปฉีดแมลงควรผสมสารจับใบเพื่อให้สารจับกับใบพืชได้ดีขึ้น
ควรใช้สารสกัดนี้ ฉีดพ่นในเวลาเย็นจะมีผลในการฆ่าแมลงได้ดี ใช้ฉีดพ่น 5-7 วันต่อครั้ง และควรใช้สลับกับสารฆ่าแมลงเป็นครั้งคราว แต่ถ้าเป็นช่วงที่แมลงระบาดอย่างรุนแรง ต้องใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่น ซึ่งจะลดความเสียหายได้รวดเร็ว
ในการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ ควรนำสารสกัดที่ได้มาผสมกับสาร Piperonyle butoxide (PB) สารนี้จะเป็นสารที่ช่วยหยุดยั้งการทำงานของน้ำย่อยบางชนิดที่จะทำให้แมลงมีการตายมากขึ้น เมื่อแมลงมากัดกินพืชที่มีสารนี้ แต่จากการทำลองสารสกัดสะเดากับเพลี้ยจักจั่นฝ้ายทำลายกระเจี๊ยบเขียว ไม่ได้ผสมสาร PB ก็มีประสิทธิภาพดีเท่าเทียมกับสารฆ่าแมลง ทามารอน อัตรา 50 ซีซี/20 ลิตร การผสมสารนี้อาจจะเพิ่มค่าใช้จ่ายแต่ควรจะพิจารณาใช้ในแหล่งที่แมลงมีความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง
สารอะซาดิแรดติน ให้ผลดีในการป้องกันกำจัดแมลงชนิดใดบ้าง
ให้ผลดี ในพวกแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ สำหรับหนอน เช่น หนอนใยผัก หนอนเจาะยอดคะน้า หนอนชอนใบ หนอนกระทู้ หนอนหนามเจาะสมอฝ้าย หนอนหลอดหอม และหนอนบุ้ง
(ไม่ได้ผล คือ มวนแดง หมัดกระโดดตัวเต็มวัย ด้วงปีกแข็ง มวนเขียว หนอนเจาะฝัก ถั่วเขียว เพลี้ยแป้งเพลี้ยหอย)
ผลของสารสกัดจากสะเดาที่มีต่อพืช
พืชผักบางอย่าง เช่นผักคะน้า, ผักกาดขาวปลี ผักกาดกวางตุ้ง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ถ้าหากใช้สารสกัดจากสะเดาที่มีความเข้มข้นมาก ๆ และมีส่วนของน้ำมันสะเดาผสมอยู่มากจะทำให้ใบผักมีสีผิดปกติ ผักใบจะด้านโดยเฉพาะด้านบนของใบที่ถูกแสงแดดจะแสดงอาการสีม่วง ถ้าผลิตผักเป็นการค้าอาจจะมีผลต่อผู้ซื้อได้
การเก็บรักษาเมล็ดสะเดาเอาไว้ใช้
วิธีการเก็บรักษาเมล็ดสะเดาที่ดี คือเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เย็น เช่น ในตู้เย็น หรืออุณหภูมิที่ใช้เก็บเมล็ดพันธุ์พืชจะทำให้ได้สารอะซาดิแรดตินสูงแต่จากการทดลองเก็บเมล็ดสะเดาใน อุณหภูมิห้องธรรมดาที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกปริมาณสารอะซาดิแรดตินจะลดลง 29% ซึ่งมีปริมาณลดลงไม่มากนัก และถ้าคิดถึงค่าใช้จ่ายเนื่องจากกระแสไฟฟ้าก็ควรจะเก็บไว้อุณหภูมิห้อง แต่พยายามอย่าให้เชื้อราเกิดกับเมล็ดสะเดา
ส่วนการเก็บสารสกัดจากสะเดา จากการทดลองสามาาถเก็บไว้ได้นาน 9 เดือน โดยประสิทธิภาพยังเหมือนเดิม โดยไม่ต้องเติมสารอื่น ๆ ลงไป (สกัดโดยแอลกอฮอล์ และระเหยแอลอฮอล์ออก มีลักษณะเป็นตะกอนเหลวข้น สีน้ำตาล) ในต่างประเทศจะสกัดสารที่มีความบริสุทธิ์มากปัญหาก็คือเมื่อนำไปใช้จะมีการสลายตัวเร็วมาก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาสารอื่น ๆ เติมลงไปให้เกิดมีความคงทนมากขึ้น เพราะฉะนั้นการทำให้สาร อะซาดิแรดติน บริสุทธิ์มากเกินไป คงไม่จำเป็นนักเพราะจะต้องเสียต้นทุนในการหาสารคงสภาพผสมลงไป
แนวโน้มการดื้อต่อสารสกัดจากสะเดาของแมลง
สภาพการเกิดการดื้อต่อสารสกัดจากสะเดาของแมลง เมื่อเปรียบเทียบกับสารฆ่าแมลงสังเคราะห์แล้วการดื้อต่อสารสกัดสะเดาคงจะใช้เวลานานเหตุผลก็คือสารสกัดสะเดา นอกจากจะมีสารอะซาดิแรดตินแล้วยังมีสารอินทรีย์อื่น ๆ อีก 30 กว่าชนิด ซึ่งบางชนิดก็มีผลต่อแมลงด้วย และยังมีการออกฤทธิ์แตกต่างกัน และยังจะเกี่ยวกับยีนที่ควบคุมความต้านทานจะอยู่กันคนละตำแหน่งเป็นการยากที่แมลงจะสร้างความต้านทาน ต่อลักษณะหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน แต่เพื่อป้องกันการสร้างความต้านทานอาจจะเกิดขึ้น ควรจะใช้สลับกับสารฆ่าแมลงเป็นครั้งคราว
ปัญหาและข้อจำกัดของสารสกัดจากสะเดา
จากการทดลองเกี่ยวกับสารสกัดจากเมล็ดสะเดาที่ผ่านมา พอจะสรุปได้ในระดับหนึ่งว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดแมลงบางชนิดได้เท่าเทียมกับสารฆ่าแมลง และพอจะนำไปทดแทนการใช้สารฆ่าแมลงตามนโยบายการลดการใช้สารฆ่าแมลงของกรมวิชาการเกษตรได้ แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วสารสกัดจากสะเดายังมีข้อจำกัดอีกมาก เช่น เมล็ดสะเดามีเพียงบางฤดูกาล จะสะดวกต่อเกษตรกรหรือไม่ถ้าจะเก็บไว้มาก ๆ และการเก็บไว้นาน ๆ เปอร์เซ็นต์สารอะซาดิแรคตินมีโอกาสจะลดลง ตลอดจนขั้นตอนในการสกัด ถึงแม้จะเป็นวิธีการสกัดอย่างง่าย ๆ แต่เกษตรกรส่วนมากต้องการความสะดวกในการที่จะนำเอาไปใช้ดังนั้นในการที่จะผลักดันสารสกัดจากสะเดา ให้เป็นที่นิยม ของเกษตรกร จะต้องออกมาเป็นรูปการค้า และที่สำคัญต้องมีประสิทธิภาพดีในการป้องกันกำจัดด้วย ซึ่งขณะนี้สารสกัดจากสะเดา ที่จำหน่ายเป็นการค้า ก็ยังมีปัญหาในด้านประสิทธิภาพอยู่จึงจำเป็นที่จะต้องแก้ไขในเรื่องนี้ให้ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น