วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ผักกาดหอม

ผักกาดขาวหอม

ผักกาดหอมเป็นผักที่ใช้บริโภคส่วนใบ เป็นผักจำพวกผักสลัดที่มีคุณค่าทางอาหารสูง นิยมบริโภคกันแพร่หลายที่สุดในบรรดาผักสลัดด้วยกัน โดยส่วนใหญ่นิยมรับประทานสดแบะนำมาประกอบอาหารหลายชนิด คนไทยนิยมใช้ผักกาดหอมกินกับอาหารจำพวกยำต่างๆ สาคูหมู หรือข้าวเกรียบปากหม้อ เป็นต้น ประโยชน์ของผักกาดหอมนอกจากจะใช้กินเป็นผักสดที่มีคุณค่าทางอาหารสูงแล้ว ยังจัดเป็นอาหารทางตาด้วยโดยการนำมาตกแต่งอาหารให้มีสีสันสวยงามน่ารับประทานมากขี้น นอกจากนี้ผักกาดหอมยังมีคุณสมบัติในการเป็นยาอีกด้วย ความต้องการผักกาดหอมมีอยู่ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ จึงนับได้ว่าผักกาดหอมเป็นผักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่นับวันจะทวีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผักกาดหอมมีชื่อเรียกอื่นๆ ได้หลายชื่อเช่น ภาคเหนือเรียกว่า ผักกาดยี ภาคกลางเรียกว่าผักสลัด เป็นต้น ผักกาดหอมเป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูล Compositae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lactuca sataiva มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเซียและยุโรป มีปลูกในประเทศไทยมาช้านานแล้ว

ลักษณะทั่วไป

ราก รากของผักกาดหอมเป็นระบบรากแก้ว มีรากแก้วที่แข็งแรงอวบอ้วน และเจริญอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อปลูกในดินร่วนปนทรายที่มีความชื้นเพียงพอ รากแก้วสามารถหยั่งลึกลงไปในดินได้ถึง 5 ฟุต หรือมากกว่าแต่รากแก้วจะเสียหายในขณะที่ย้ายปลูก ดังนั้นรากที่เหลือจะเป็นรากแขนง ซึ่งแผ่กระจายอยู่ใต้ผิวดินประมาณ 1-2 ฟุต โดยปริมาณของรากจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหนาแน่น ไม่ค่อยแพร่กว้างออกไปมากนัก อย่างไรก็ตามการย้ายปลูกนั้นมีผลดีในการช่วยให้ผักกาดหอมประเภทหัวห่อหัวได้ดีขึ้น

ลำต้น ลำต้นของผักกาดหอมในระยะแรกมักจะมองไม่ค่อยเห็น เนื่องจากใบมักจะปกคลุมไว้ จะเห็นชัดก็ต่อเมื่อระยะแทงช่อดอก ลักษณะลำต้นผักกาดหอมจะตั้งตรง สูงชะลูดขึ้นจนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ลำต้นมีลักษณะอวบอ้วน ถ้าปลูกในที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากๆ จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 2 นิ้ว ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อสั้น แต่ละข้อจะเป็นที่เกิดของใบ

ใบ ใบแตกออกมาจากลำต้นโดยรอบ สีใบมีตั้งแต่เขียวอ่อน เขียวปนเหลือง จนถึงสีเขียวแก่ บางพันธุ์มีสีแดงหรือน้ำตาลปนอยู่ ทำให้มีสีแดง บรอนซ์ หรือน้ำตาลปนเขียว พันธุ์ที่ห่อเป็นหัวจะมีใบหนา เนื้อใบอ่อนนุ่ม ใบจะห่อหัวอัดกันแน่นคล้ายกะหล่ำปลี ใบที่ห่ออยู่ข้างในจะเป็นมัน บางชนิดมีใบม้วนงอเปราะมีเส้นใบเห็นได้ชัด ขอบใบมีลักษณะเป็นหยัก ขนาดและรูปร่างของใบผักกาดหอมจะแตกต่างกันตามชนิด

ดอกและช่อดอก ดอกผักกาดหอมมีลักษณะเป็นช่อแบบที่เรียกว่า Panicle ประกอบด้วยกลุ่มของดอกที่อยู่เป็นกระจุกตรงยอด แต่ละกระจุกประกอบด้วยดอกย่อย 15-25 ดอกหรือมากกว่า ก้านช่อดอกจะยาวประมาณ 2 ฟุต ช่อดอกอันแรกจะเกิดที่ยอดอ่อน จากนั้นจะเกิดช่อดอกข้างตรงมุมใบขึ้นภายหลัง ช่อดอกที่เกิดจากส่วนยอดโดยตรงจะมีอายุมากที่สุด ส่วนช่อดอกอื่นๆ จะมีอายุรองลงมา ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกสีเหลือง ตรงโคนเชื่อมติดกัน รังไข่มี 1 ห้อง เกสรตัวเมียมี 1 อัน มีลักษณะเป็น 2 แฉก เกสรตัวผู้ 5 อัน รวมกันเป็นยอดยาวห่อหุ้มก้านเกสรตัวเมียและยอดเกสรตัวเมียไว้

เมล็ด เมล็ดผักกาดหอมเป็นชนิดเมล็ดเดียว (achene) ซึ่งเจริญมาจากรังไข่อันเดียว เมล็ดจะมีเปลือกหุ้มเมล็ดบาง เปลือกเมล็ดจะไม่แตกเมื่อเมล็ดแห้งเมล็ดของผักกาดหอมมีลักษณะแบนยาว หัวท้ายแหลมเป็นรูปหอก มีเส้นเล็กๆ ลาดยาวไปตามด้านยาวของเมล็ดที่ผิวเปลือกหุ้มเมล็ด เมล็ดมีสีเทาปนครีมความยาวของเมล็ดประมาณ 4 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร

ชนิดและพันธุ์ผักกาดหอม

ผักกาดหอมที่ปลูกและใช้บริโภคกันในปัจจุบันสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะคือ ผักกาดหอมห่อ ผักกาดหอมใบ และผักกาดหอมต้น ซึ่งมีลักษณะดังนี้

ผักกาดหอมห่อ (Head lettuce) เป็นผักกาดหอมที่ใบห่อเป็นหัว ซึ่งเกิดจากการที่ใบเรียงซ้อนกันหนามาก ผักกาดหอมห่อนี้แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดด้วยกันคือ

1. ชนิดห่อหัวแน่น (Crisp head) ลักษณะใบบาง กรอบ เปราะง่าย เห็นเส้นกลางใบชัดเจน ใบห่อเป็นหัวแน่นแข็งคล้ายกะหล่ำปลี เป็นชนิดที่นิยมกันมากในทางการค้าเพราะสามารถขนส่งได้สะดวก ผักกาดหอมชนิดนี้ ได้แก่ พันธุ์ เกรทเลค (Great lake), นิวยอร์ค (New york), อิมพีเรียล (Imperial), โปรกรีสส์ (Progress) เป็นต้น

2. ชนิดห่อหัวไม่แน่น (Butter head) ลักษณะห่อเป็นหัวหลวม ใบจะอ่อนนุ่มและผิวใบมัน ใบไม่กรอบเหมือนชนิดห่อหัวแน่น ใบที่ซ้อนอยู่ข้างในจะมีลักษณะเหมือนถูกเคลือบด้วยน้ำมันหรือเนยคืออ่อนนุ่มและเป็นเมือกลื่นๆ ใบข้างในซ้อนทับกันแน่นพอประมาณ สีเหลืองอ่อนคล้ายเนย เป็นผักกาดหอมชนิดที่ชอบอากาศหนาวเย็น ไม่ทนทานต่ออากาศร้อน แต่อายุการเก็บเกี่ยวจะเร็วกว่าชนิดห่อหัวแน่น พันธุ์ที่นิยมได้แก่ พันธุ์บิ๊ก บอสตัน (Big Boston), ไวท์ บอสตัน (White Boston) เป็นต้น

3. ชนิดห่อหัวหลวมค่อนข้างยาว เป็นผักกาดหอมชนิดที่ใบห่อเป็นรูปกลมยาวหรือรูปกรวย ลักษณะหัวคล้ายผักกาดขาวปลี ใบมีลักษณะยาวและแคบ ใบแข็ง นิยมกันมากในทวีปยุโรป แบ่งออกเป็น 2 พวก คือ พันธุ์ที่มีหัวขนาดใหญ่ ได้แก่ พันธุ์ปารีส ไวท์ (Paris White), ไวท์ ฮีท (White Heart) เป็นต้น และพันธุ์ที่มีหัวขนาดเล็ก ได้แก่ พันธุ์ ลิทเติ้ล เจม (Little Gem)

ผักกาดหอมใบ (Leaf lettuce) เป็นผักกาดหอมที่ใบไม่ห่อเป็นหัว นิยมปลูกกันทั่วไปในประเทศไทย ผักกาดหอมประเภทนี้ใบจะกว้างใหญ่และหยิกเจริญเติบโตออกไปทางด้านบนและด้านข้าง ไม่ห่อเป็นหัว ต้นเป็นพุ่มเตี้ย ผักกาดหอมใบจะทนต่ออากาศร้อนได้ดีกว่าประเภทอื่นๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. ชนิดที่มีสีเขียวทั้งต้น ได้แก่ พันธุ์ Grand Rapids, Simpson's Curled, Boston Curled และ Slobott เป็นต้น

2. ชนิดที่มีสีน้ำตาลทั้งต้น ได้แก่ พันธุ์ Prize Head เป็นต้น

ผักกาดหอมต้น (Stem lettuce) เป็นผักกาดหอมที่ปลูกเพื่อใช้ลำต้นรับประทานเท่านั้น มีลักษณะลำต้นอวบ ลำต้นสูง ใบจะเกิดขึ้นต่อๆ กันไปจนถึงยอดหรือช่อดอก ใบจะมีลักษณะคล้ายผักกาดหอมใบ แต่ใบจะเล็ก หนาและสีเข้มกว่า มีทั้งชนิดกลมและยาว ไม่ห่อหัว โดยทั่วไปไม่ค่อยนิยมปลูกกัน ได้แก่ พันธุ์ Celtuce

สำหรับในประเทศไทยนั้น ผักกาดใบเป็นที่นิยมปลูกและบริโภคกันมากกว่าผักกาดหอมชนิดอื่น

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ผักกาดหอมเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นดินเหนียว ดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย แต่สามารถปลูกผักกาดหอมได้ผลดีที่สุดในดินร่วน ซึ่งมีการระบายน้ำและระบายอากาศดี ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดินอยู่ระหว่าง 6.0-6.8 มีความชื้นในดินพอสมควร พื้นที่ปลูกผักกาดหอมควรให้ได้รับแสงเต็มที่ตลอดวัน เพราะผักกาดหอมต้องการแสงเต็มที่ตลอดวัน ผักกาดหอมเป็นพืชฤดูเดียวเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็นระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมนั้น ถ้าเป็นผักกาดหอมใบจะอยู่ระหว่าง 21-26 องศาเซลเซียส แต่ถ้าผักกาดหอมห่อหัวจะอยู่ระหว่าง 15.5-21 องศาเซลเซียส หากปลูกผักกาดหอมในสภาพอุณหภูมิที่สูงเกินไปจะทำให้ผักกาดหอมมีรสขมและแทงช่อดอกเร็ว แต่อย่างไรก็ตามผักกาดหอมสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์

การเตรียมดิน

แปลงเพาะกล้า การเตรียมแปลงเพื่อทำการเพาะกล้านั้น จะทำสำหรับการปลุกผักกาดหอมห่อหัว ส่วนการปลูกผักกาดหอมใบนั้นไม่ต้องทำการเพาะกล้า ทำการหว่านเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง การเตรีมแปลงเพาะกล้าโดยขุดหรือไถพลิกดินให้ลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร แล้วตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักผสมลงในดิน พรวนย่อยหน้าดินให้ละเอียดแล้วทำการโรยเมล็ดลงเพาะ ถ้าต้องการปลูกผักกาดหอม 1 ไร่ ควรเตรียมแปลงเพาะกล้าขนาดประมาณ 2-2.5 ตารางเมตร

แปลงปลูก การเตรียมดินสำหรับปลูกผักกาดหอมใบ ซึ่งเป็นการเตรียมดินเพื่อหว่านเมล็ดโดยตรง หรือเตรียมดินสำหรับการปลูกผักกาดหอมจากการเพาะกล้ามาแล้ว ควรขุดหรือไถพลิกดินลึกประมาณ 20-30 เซนติเมตร ตากดินไว้ประมาณ 7-10 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วประมาณ 2-3 ตันต่อไร่ คลุกให้เข้ากับดิน แล้วพรวนย่อยหน้าดินให้ละเอียดพร้อมที่จะทำการหว่านเมล็ดหรือนำต้นกล้ามาปลูก

การเพาะกล้า

การเพาะกล้าจะทำเมื่อปลูกผักกาดหอมห่อ เพาะกล้าในแปลงขนาด 2-2.5 ตารางเมตร สำหรับปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 50 กรัม (ประมาณ 4 หมื่นเมล็ด) หลังจากเตรียมแปลงเพาะแล้วให้หว่านเมล็ดลงบนแปลงให้กระจายไปทั่วแปลง แล้วใช้ดินที่ผสมกับปุ๋ยคอกโรยทับบางๆ คลุมด้วยฟางข้าว รดน้ำให้ชุ่ม หรือจะใช้วิธีโรยเป็นแถว ให้แต่ละแถวห่างกันประมาณ 10 เซนติเมตร ดูแลรักษาจนกระทั่งกล้ามีใบจริง 2-3 ใบ ให้ทำการถอนต้นกล้าออกบ้างเพื่อไม่ให้เบียดกันแน่นเกินไป เพราะอาจทำให้ต้นกล้าเกิดโรคโคนเน่าและต้นกล้าอ่อนแอได้ เมื่อต้นกล้ามีอายุ 25-30 หรือมีใบจริง 3-4 ใบ จึงทำการย้ายกล้าลงปลูกในแปลง

การปลูก

ผักกาดหอมสามารถปลูกได้ทั้งวิธีการหว่านเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง และการย้ายกล้าปลูก มีทั้งการปลูกแบบแถวเดียวและแบบแถวคู่ มีวิธีการดังนี้

การปลูกโดยการหว่านเมล็ด เป็นวิธีการปลูกที่นิยมใช้กับผักกาดหอมใบ โดยการหว่านเมล็ดให้กระจายทั่วทั้งผิวแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หรือโรยเมล็ดลงในแปลงเป็นแถวก็ได้ แต่ก่อนหว่านเมล็ดควรคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อรา เช่น แคปแทนหรือไธแรม เพื่อป้องกันโรคเน่าคอดิน หลังจากหว่านเมล็ดแล้วให้ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วหว่ากลบหนาประมาณ 1/2-1 เซนติเมตร แล้วคลุมดินด้วยหญ้าแห้งหรือฟางแห้งสะอาดบางๆ รดน้ำด้วยบัวฝอยละเอียด

เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2-3 ใบ ให้รีบถอนแยกต้นที่อ่อนแอทิ้ง และจัดระยะระหว่างต้นให้พอเหมาะ ถ้าแน่นทึบเกินไปกล้าผักจะตายง่าย และทำการถอนครั้งสุดท้ายเมื่ออายุได้ 3 สัปดาห์ พร้อมกับจัดระยะระหว่างต้น 20x20 เซนติเมตร หรือ 30x30 เซนติเมตร หากปลูกในช่วงหน้าร้อนควรมีการคลุมแปลงปลูกเพื่อพรางแสงแดด จะทำให้ได้ผลผลิตสูงขึ้น โดยใช้ไม้ไผ่หรือไม้ทำโครงสูง 2-2.5 เมตร แล้วใช้ไม้ไผ่พาดและมุงด้วยทางมะพร้าว

สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่ใช้หว่านในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้ประมาณ 1-2 ลิตร แต่ถ้าใช้วิธีหยอดเมล็ดเป็นแถวโดยมีระยะระหว่างแถวประมาณ 20 เซนติเมตร จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 100-160 กรัมต่อไร่

การปลูกโดยการย้ายกล้าปลูก การปลูกด้วยวิธีนี้สามารถใช้ได้กับผักกาดหอมทุกพันธุ์ ประหยัดเมล็ดพันธุ์ เป็นการปลูกโดยการเพาะกล้าในแปลงเพาะเสียก่อน เมื่อต้นกล้ามีอายุ 25-30 วันหรือมีใบจริง 3-4 ใบ จึงทำการย้ายกล้าลงปลูกในแปลงปลูก โดยเลือกเฉพาะต้นที่แข็งแรงสมบูรณ์ไปปลูก ระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถวที่เหมาะสมคือผักกาดหอมใบใช้ระยะ 25x30 เซนติเมตร ผักกาดหอมห่อหัวหัวใช้ระยะปลูก 40x40 เซนติเมตร

ก่อนย้ายกล้าประมาณ 2-3 วัน ควรงดการให้น้ำ เพื่อให้ต้นกล้าแกร่งไม่เปราะง่าย ควรย้ายกล้าในช่วงเวลาบ่ายถึงเย็น หรือช่วงที่อากาศมืดครึ้ม ก่อนทำการย้ายต้นกล้าจากแปลงเพาะกล้า ประมาณ 30 นาที ให้รดน้ำต้นกล้าพอดินเปียก เพื่อให้ง่ายต่อการถอน การย้ายควรทำด้วยความระมัดระวังเพาะต้นกล้าบอบช้ำง่าย การถอนไม่ควรใช้วิธีจับต้นดึงขึ้น ทางที่ดีควรหาแผ่นไม้บางๆ หรือเสียมเล็กๆ แทงลงไปในดินแล้วงัดขึ้นมาให้ดินเป็นก้อนติดกับต้นกล้าให้มากที่สุด แล้วรีบนำไปปลูกให้เร็วที่สุด

วิธีการปลูกโดยใช้มือจับใบเลี้ยงคู่แรกใบใดใบหนึ่งแล้วหย่อนโคนลงไปในหลุม แล้วกลบดินลงไปให้เสมอระดับหลังแปลง กดดินให้จับรากพอสมควร จากนั้นใช้บัวฝอยละเอียดรดน้ำรอบๆ ต้นให้น้ำค่อยๆ ไหลไปหากันที่หลุม อย่ารดกรอกไปที่ต้น ถ้าเตรียมดินปลูกดีน้ำจะซึมไหลลงหลุมเร็วที่สุด คลุมดินรอบๆ โคนต้นด้วยฟางหรือหญ้าแห้งสะอาดบางๆ เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน เมื่อปลูกเสร็จแล้วควรทำร่มบังแดดให้ในวันรุ่งขึ้น อาจใช้กะลาครอบกาบกล้วยเสียบไม้บัง หรือใช้ไม้บังรอบๆ หรือใช้กระทงใบตอบปิดก็ได้ ควรปิดบังแดดไว้ประมาณ 3-4 วัน จึงเอาออก เพื่อช่วยให้ต้นกล้าฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

สำหรับฤดูปลูกผักกาดหอมในประเทศไทยนั้น ผักกาดหอมใบสามารถปลูกได้ตลอดปี ส่วนผักกาดหอมห่อหัวปลูกได้ผลดีในช่วงฤดูหนาวประมาณเดือนตุลาคมถึงธันวาคม

การปฏิบัติดูแลรักษา

ผักกาดหอมเป็นผักที่ต้องการการดูแลรักษาอย่างดีสม่ำเสมอ เพราะเป็นผักที่ใช้ประโยชน์จากส่วนยอดและใบ หากยอดถูกทำลายแล้วถึงแม้จะมียอดเกิดขึ้นใหม่ก็ได้ขนาดไม่เท่ายอดเดิม ดังนั้นผู้ปลูกจะต้องปฏิบัติดูแลรักษาเป็นพิเศษอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งนอกเหนือจากการปฏิบัติดูแลรักษาตามปกติ

การให้น้ำ เนื่องจากผักกาดหอมเป็นผักรากตื้นจึงไม่สามารถดูดน้ำในระดับลึกได้ จึงควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ โดยในระยะ 2 สัปดาห์ แรกหลังจากย้ายปลูกควรให้น้ำทุกวันในตอนเช้าและเย็น โดยใช้บัวฝอยละเอียดรดรอบๆ โคนต้น ไม่รดจนแฉะเกินไป และให้น้ำแบบวันเว้นวันในสัปดาห์ต่อๆ มา สำหรับผักกาดหอมใบนั้นควรจะมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ เนื่องจากอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ส่วนผักกาดหอมห่อหัวนั้นควรดูจากสภาพความชื้นในดินเป็นสำคัญ แต่ในระยะที่กำลังห่อหัวอยู่นั้นไม่ควรให้น้ำไปถูกหัวเพราะอาจทำให้เกิดโรคเน่าเละได้

การใส่ปุ๋ย ช่วงเตรียมดินควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรองพื้นประมาณ 2-3 ตันต่อไร่ เมื่อผักกาดหอมอายุได้ 7 วัน ควรใส่ปุ๋ยยูเรีย โดยละลายน้ำรดในอัตรา 1 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บ ต่อเนื้อที่ 5 ตารางเมตร รดวันเว้นวัน เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในระยะแรก

เมื่อผักการหอมอายุได้ 15-20 วัน ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 สำหรับพันธุ์ใบ และใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-13 สำหรับพันธุ์ห่อหัว ในอัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินแต่ละแห่งด้วย ผักกาดหอมต้องการธาตุโปแตสเซียมมากกว่าไนโตรเจน โปแตสเซียมจะทำให้ใบผักกาดหอมบางและไม่มีรอยจุดบนใบ ผักกาดหอมที่ได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไปจะทำให้ใบมีสีเขียว รสชาติไม่อร่อย

การใส่ปุ๋ยผักกาดหอมพันธุ์ใบควรใส่หมดในครั้งเดียวตอนเตรียมดินปลูก แต่สำหรับผักกาดหอมห่อหัวควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือครั้งแรกใส่ประมาณ 2 ใน 3 ส่วน โดยใส่ตอนปลูกแล้วพรวนดินกลบ ส่วนที่เหลือใส่เมื่ออายุได้ 21 วัน โดยโรยข้างต้นห่างๆ แล้วพรวนดินกลบ

การเก็บเกี่ยว

อายุการเก็บเกี่ยวของผักกาดหอมขึ้นอยู่กับพันธุ์เป็นสำคัญ อายุการเก็บเกี่ยวผักกาดหอมใบประมาณ 40-50 วันหลังจากหว่านเมล็ดลงแปลง การเก็บควรเลือกเก็บขณะที่ใบยังอ่อน กรอบ ไม่เหนียวกระด้าง ไม่ควรเก็บขณะต้นแก่เพราะจะมีรสขม วิธีการตัดโดยใช้มีดตัดตรงโคนต้น แล้วตัดแต่งใบเสียทิ้งไป ชุบน้ำเพื่อล้างยางสีขาวออกและสลัดน้ำออกให้หมด เพราะถ้ามีน้ำขังอยู่จะเน่าเสียได้ง่าย หลังจากนั้นนำไปจัดเรียงใส่เข่งที่รองก้นด้วยใบตองหรือใบไม้อื่นๆ ผลผลิตประมาณ 1,100-3,000 กิโลกรัมต่อไร่

สำหรับผักกาดหอมห่อหัวอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 60-70 วัน ควรเก็บขณะที่ห่อหัวแน่นไม่หลวม รูปร่างค่อนข้างกลมแบน ไม่ควรปล่อยให้แก่เกินไปเพราะหัวจะยืดตัวไปทางตั้งและแทงช่อดอก ทำให้เสียคุณภาพ วิธีการเก็บเกี่ยวโดยใช้มีดตัดโคนต้นแล้วตัดแต่งใบรอบนอกที่เปื้อนดินสกปรก และถูกโรคแมลงทำลายออกเล็กน้อย จากนั้นนำไปผึ้งในที่ร่มอากาศถ่ายเทดีให้แผลที่ตัดแห้งเพื่อลดการเน่าเสียขณะขนส่ง ในการเก็บเกี่ยวผักกาดหอมควรเก็บในเวลาเย็นและฝนไม่ตก ถ้าเก็บในขณะฝนตกหรือน้ำขังอยู่ตามใบจะทำให้ผักกาดหอมเน่าเสียได้ง่าย

โรคและแมลง

โรคเน่าเละ สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Erwinia sp. เป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ทำให้ผลผลิตผักกาดหอมเสียหายอย่างมาก เป็นได้ทั้งในแปลงปลูกและโรงเก็บ นอกจากนั้นยังสามารถเกิดโรคได้ในขณะวางตลาดและเมื่อผู้บริโภคซื้อไปแล้วก็อาจเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน

ลักษณะอาการ อาการทั่วไปที่เกิดกับผักกาดหอมห่อเริ่มจากแผลรอยช้ำเล็กๆ เป็นจุดฉ่ำน้ำ เมื่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสมแผลจะขยายตัวทุกทิศทางทั้งด้านยาว กว้างและลึก เนื้อเยื่อของพืชส่วนนั้นจะอ่อนยุบตัวลงและเน่าอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่วนนั้นเปื่อยและเป็นน้ำภายในเวลาอันรวดเร็ว มีเมือกเยิ้ม มีกลิ่นแรงมาก กลิ่นนี้จะเป็นกลิ่นเฉพาะของโรคนี้ หลังจากนั้นผักจะเน่ายุบตายไปทั้งต้น ซึ่งอาจแห้งเป็นสีน้ำตาลอยู่บนผิวดิน อาการเน่ามักจะเริ่มที่โคนก้านไปหรือตรงกลางลำต้นก่อน

การป้องกันกำจัด ควรปฏิบัติดังนี้

1. ในการเก็บเกี่ยวควรใช้มีดคมๆ ตัดให้ขาดเพียงครั้งเดียว เพื่อไม่ให้เกิดรอยแผลซ้ำ เพื่อป้องกันการเกิดแผลซึ่งจะเป็นทางเข้าทำลายของเชื้อ

2. หลังจาการเก็บเกี่ยวควรผึ่งผักไว้ในที่โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี เพื่อให้แผลตรงรอยตัดแห้ง และทาปูนแดงที่แผลด้วย

3. การบรรจุภาชนะต้องระวังอย่าให้เกิดการเบียด ซึ่งจะทำให้เกิดแผลช้ำหรือฉีกขาด ควรล้างหรือทำความสะอาดภาชนะเสียก่อน

4. ใช้สารเคมีปฏิชีวนะ เช่น อะกริมัยซิน อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุกๆ 7 วัน

โรคเน่าดำ นับเป็นโรคที่สำคัญของผักกาดหอม สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris พบระบาดทั่วไปตามแหล่งที่มีการปลูกผัก โดยเฉพาะในฤดูฝนหรือฤดูที่มีความชื้นสูง ชาวสวนบางแห่งรู้จักกันดีในนามของโรคใบทอง เพราะลักษณะอาการของพืชที่แสดงออกมาเมื่อเป็นมาก โดยทั้งแปลงจะมีใบแห้งเป็นสีน้ำตาลหรือเหลืองคล้ายสีทอง เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคนี้จะอาศัยอยู่ในดิน เมื่อฝนตกจะระบาดไปทั่ว นอกจากนี้เชื้อยังสามารถติดไปกับเมล็ดได้อีกด้วย

ลักษณะอาการ เชื้อสาเหตุสามารถเข้าทำลายได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ในระยะต้นกล้าหรือต้นอ่อนพืชมักจะตายทันที โดยจะพบว่าที่ขอบใบหรือใบเลี้ยงมีอาการไหม้แห้ง เส้นใบเน่าเป็นสีดำ ใบที่แสดงอาการจะบางกว่าปกติ ต่อมาใบจะแห้งเป็นสีน้ำตาลและหลุดออกจากต้น หากไม่ตายในระยะนี้ก็จะเกิดการชะงักการเจริญเติบโต ใบที่อยู่ตอนล่างๆ ของต้นจะหลุดร่วงไปส่วนใบที่เหลืออยู่จะมีสีเหลืองและเส้นใบมีสีดำ ในต้นที่โตแล้วจะพบอาการบนใบแก่ที่อยู่ส่วนล่างๆ ของต้น โดยอาการจะเริ่มเหลืองและแห้งตายบริเวณขอบใบขึ้นก่อน แล้วค่อยๆ ลามลึกเข้ามาในเนื้อใบตามแนวเส้นใบที่อยู่ระดับเดียวกันจนจรดแกนกลางของใบ ทำให้เกิดอาการเหลืองหรือแห้งสีน้ำตาลเป็นรูปตัววี (V) ขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะอาการเฉพาะของโรคนี้ ในรายที่เป็นรุนแรงเชื้อจะเข้าไปเจริญเติบโตอยู่ที่ก้านใบ เมื่อนำเอาใบเหล่านี้มาตัดหรือผ่าออกตามขวางจะเห็นส่วนที่เป็นท่อน้ำเน่าเป็นสีดำ

โรคราน้ำค้าง สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Peronospona parasitica โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่เริ่มงอกจากเมล็ดจนกระทั่งโตเป็นต้นแก่ อาการเริ่มแรกจะเกิดขึ้นที่ด้านใต้ใบ โดยจะสังเกตเห็นกลุ่มผลสีขาวหรือสีเทาของสปอร์และเส้นใยของเชื้อราเกิดขึ้นเป็นกลุ่มๆ ต่อมาด้านหลังใบตรงที่เดียวกันก็จะเกิดแผลสีเหลืองเนื่องมาจากมีเซลล์ตายขึ้น และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในที่สุด เนื้อใบตรงที่เกิดแผลจะมีลักษณะบางและขอบแผลมีขอบเขตไม่แน่นอน แต่ค่อนข้างจะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ในกรณีที่เป็นรุนแรงมีแผลเกิดขึ้นจำนวนมากทั่วไปอาจทำให้ทั้งใบเหลืองและแห้งตาย สำหรับในใบอ่อนหรือใบเลี้ยงเมื่อเริ่มมีแผลสีเหลืองขึ้นที่ด้านหลังไป ใบมักจะหลุดร่วงออกจากต้นก่อนที่จะแสดงอาการมากกว่านี้ หากเกิดโรคนี้ในระยะต้นกล้ามักจะรุนแรง ทำให้ต้นโทรม อ่อนแอ และอาจถึงตายได้

การป้องกันกำจัด เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อ ควรปลูกพืชสลับหมุนเวียนกันบนแปลง และควรปลูกให้ระยะต้นห่างกันพอสมควรไม่เบียดกันแน่นจนเกินไป ในกรณีที่เกิดโรคขึ้นกับผักในแปลงปลูกแล้วอาจป้องกันและลดความเสียหายจากโรคลงได้ โดยใช้สารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ฉีดพ่นให้กับผักทุกๆ 3-5 วันต่อครั้ง เช่น มาเน็บ 50% หรือซีเน็บอัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แคปแทน 50% อัตรา 30-45 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แคปตาฟอลหรือบราโว 75% อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นต้น

โรคใบจุดของผักกาดหอม สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Cercospora longissima อาการมักพบที่ใบแก่และใบล่างของต้น โดยอาการเริ่มแรกจะเกิดเป็นจุดเล็กๆ สีน้ำตาล โดยเริ่มจากขอบใบแล้วต่อมาจัดแผลจะขยายสู่ส่วนกลางของใบ ขอบแผลมีสีน้ำตาลเข้ม ส่วนกลางของแผลจะแห้งและเป็นจุดสีฟางข้าวทำให้ดูคล้ายตากบ เมื่อแผลลุกลามารวมกันมากๆ จะทำให้เกิดอาการใบไหม้ทั้งใบ

การป้องกันกำจัด โดยการกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกอยู่เสมอ และเก็บใบหรือส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลาย และใช้สารเคมีดังต่อไปนี้ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทึกๆ 5-7 วัน เช่น เบนโนมิล 50% อัตรา 6 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร, แมนโคเซ็บ 80% อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร , คาร์เบนดาซิม อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร, มาเน็๋บ อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร, แคปตาฟอล อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นต้น

เพลี้ยอ่อน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lipaphis erysimi ตัวอ่อนของแมลงชนิดนี้ออกจากท้องแม่ได้โดยที่ไม่ต้องได้รับการผสมพันธุ์ ตัวอ่อนเมื่อออกจากแม่ใหม่ๆ จะพบว่ามีลำตัวขนาดเล็กมากต้องส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ลำตัวมีสีเหลืองอ่อน นัยน์ตาสีดำ ขาทั้ง 3 คู่มีสีเดียวกับลำตัว หนวดสั้น รูปร่างคล้ายตัวเต็มวัย ระยะเป็นตัวอ่อนจะมีการลอกคราบ 4 ครั้ง ตัวอ่อนมีอายุประมาณ 5-6 วัน หลังจากนั้นก็จะเป็นตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยมีทั้งพวกที่มีปีกและไม่มีปีก ระยะตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6-18 วัน ตัวเต็มวัยตัวหนึ่งสามารถออกลูกได้ตลอดชีวิตประมาณ 75 ตัว

ลักษณะการทำลาย เพลี้ยอ่อนชนิดนี้สามารถทำลายพืชได้ทั้งในระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทั้งส่วนยอด ใบอ่อนและใบแก่ ลักษณะอาการที่เห็นได้ชัดคือยอดและใบจะหงิกงอ เมื่อเพลี้ยอ่อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พืชก็จะเหี่ยว ใบที่ถูกทำลายจะค่อยๆ มีสีเหลือง แคระแกร็น นอกจากนี้เพลี้ยอ่อนยังอยู่ตามซอกใบซึ่งเป็นที่รังเกียจของผู้บริโภคที่ต้องลอกกาบใบออกทุกใบเพื่อล้างน้ำก่อนรับประทาน

การป้องกันกำจัด เมื่อพบเพลี้ยอ่อนเข้าทำลายควรใช้สารเคมีกลุ่มมาลาไธออน มีชื่อการค้า เช่น มาลาเทน, มาลาไธออน 83%, ในอัตรา 30-55 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน นอกจากนี้อาจใช้อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทำการพ่นเป็นครั้งคราว ยาชนิดนี้เป็นยาที่เหมาะสำหรับสวนผักหลังบ้าน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

หนอนคืบกะหล่ำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichoplusia ni ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อขนาดกลาง กางปีกเต็มที่ยาว 3 เซนติเมตร สีเทาดำ กลางปีกคู่หน้ามีจุดสีขาวข้างละ 1 จุด แม่ผีเสื้อจะวางไข่สีขาวนวลใต้ใบเม็ดกลมเล็กๆ ไข่จะถูกวางเดี่ยวๆ ทั่วไป ไข่มีอายุ 3 วัน จึงฟักออกเป็นตัวหนอน หนอนที่มีขนาดเล็กจะแทะผิวใบด้านล่าง หนอนในระยะนี้จะมีสีใส ต่อมามีสีเข้มขึ้น เมื่อโตเต็มที่มีสีซีดลง มีสีขาวพาดยาว หนอนเมื่อโตเต็มที่ยาว 4 เซนติเมตร อายุหนอนประมาณ 2 สัปดาห์จึงเข้าดักแด้ ดักแด้จะอยู่ใต้ใบคลุมด้วยใยบางๆ สีขาว ดักแด้ในระยะแรกจะมีสีเขียวอ่อน ต่อมามีบางส่วนเป็นสีน้ำตาล มีขนาดยาวเกือบ 2 เซนติเมตร อายุดักแด้ประมาณ 1 สัปดาห์ จึงเข้าระยะตัวเต็มวัย ซึ่งตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์

ลักษณะการทำลาย หนอนคืบกะหล่ำเป็นหนอนที่กินจุ เข้าทำลายผักกาดหอมในระยะที่เป็นตัวหนอน โดยจะกัดกินเนื้อใบจนขาดและมักจะเหลือเส้นใบไว้ หนอนชนิดนี้เมื่อเกิดระบายแล้วจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วมาก

การป้องกันกำจัด ตรวจดูไข่หรือตัวหนอนในระยะเล็กๆ หากพบให้ใช้สารกำจัดแมลงฉีดพ่น เช่น ฟอสดริล, แลนเนท เป็นต้น หากใช้ในขณะที่หนอนยังมีขนาดเล็กจะได้ผลดี หากการระบาดมีอยู่ตลอดเวลาควรพ่นสารกำจัดแมลงดังกล่าวทุกๆ 5-7 วันต่อครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...