วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553

พังกาหัวสุมดอกแดง

พังกาหัวสุมดอกแดง(Bruguiera gymnorrhiza (L.) Savigny)

วงศ์ : RHIZOPHORACEAE

ชื่ออื่น : ประสัก, ประสักแดง, โกงกางหัวสุม, พังกาหัวสุม, (กลาง); พลัก

ลักษณะทั่วไป

เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง ๒๕ - ๓๕ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ โคนต้น มีพูพอนสูงและมีช่องอากาศขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป มีรากหายใจคล้ายหัวเข่าเปลือกหยาบ สีน้ำตาลดำถึงดำ แตกเป็นร่องตามยาวไม่เป็นระเบียบ

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปไข่แกมรี ขนาด ๔ – ๙ x ๘ – ๒๐ ซม. ปลายใบแหลมสั้น ฐานใบมน ผิวใบเรียบหนา คล้ายแผ่นหนัง ใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบเขียวอมเหลือง มีเส้นใบ ๘ – ๑๐ คู่ เส้นกลางใบด้านล่างมีแดงเรื่อ ๆ ก้านใบกลมยาว ๒ – ๕ ซม. มีสีแดงเรื่อ ๆ หูใบแหลมยาว ประกบกันเป็นคู่ที่ปลายกิ่ง ยาว ๔ – ๘ ซม. สีแดง ร่วงง่าย

ดอก ออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ก้านดอกยาว ๓ – ๔ ซม. โค้งลงล่าง ดอกตูม รูปกระสวย ยาว ๒.๕ – ๓.๕ ซม. กลีบเลี้ยงสีแดงปนเขียว โคนติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกแคบ ๆ ลึกลงครึ่งหนึ่ง มี ๑๐ – ๑๖ แฉก แต่ละแฉกมีขนาด ๐.๓ – ๐.๕ x ๑.๕ – ๒ ซม. กลีบดอก ๑๐ – ๑๖ กลีบ รูปขอบขนาน สีขาวหรือ เหลืองอมเขียว ปลายกลีบเว้า หยักลึกลงเกือบถึงกลางกลีบ เป็น ๒ แฉก ปลายแหลม มีขนสั้น ๆ ปกคลุมและมีรยางค์เป็นเส้นแข็งติดที่ปลาย ๓ – ๔ เส้น ยาว ๐.๓ ซม. เมื่อ ดอกบานจะมีลักษณะคล้ายสุ่ม

ผล รูปลูกข่าว ยาว ๒ – ๓ ซม. ผิวเรียบ จะงอกตั้งแต่ผลยังติดอยู่บนต้น “ฝัก” หรือลำต้นใต้ใบเลี้ยง รูปกระสวย ขนาด ๑.๕ – ๒ x ๗ – ๒๕ ซม. เป็นเหลี่ยมหรือมีสันเล็กน้อย สีเขียวเข้มแกมม่วง เมื่อแก่จัดมีสีม่วงดำ

พบขึ้นทั่วไปในป่าชายเลนของประเทศไทย ในบริเวณที่น้ำท่วมถึงอย่างสม่ำเสมอ และดินค่อนข้างแข็งและเหนียว





กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...