วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

พริกกะเหรี่ยง

พริกกะเหรี่ยง มีการปลูกกันมากตามแนวชายแดนไทย-พม่าของ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปลูกในเขตพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มีการคมนาคมลำบากมากในช่วงของฤดูฝน ตรงกับ การปลูกพริกของชาวกะเหรี่ยง และเมื่อผลผลิตพริกสามารถเก็บเกี่ยว ได้ก็ไม่สามารถนำออกมาจำหน่ายได้ ต้องแปรรูปเป็นพริกแห้ง

ลักษณะเด่นพริกกะเหรี่ยง
1. มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ทนทานต่อสภาวะอากาศและโรคแมลง
2. ลำต้นใหญ่ การแตกแขนงดี สามารถให้ผลผลิตติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
3. เป็นที่นิยมทำเป็นพริกตากแห้งได้ดี คุณภาพผลสด 3 กิโลกรัม ตากแห้งได้ 1 -1.3 กิโลกรัม
4. มีความเผ็ดและหอมซึ่งเป็นลักษณะประจำพันธุ์ของพริกกะเหรี่ยง
5. โรงงานทำซอสพริกนิยมนำไปปั่นผสมกับพริกหนุ่มเขียวเพื่อเพิ่มความเผ็ดและความหอม

การเตรียมเมล็ดและต้นกล้าก่อนปลูก
1. เลือกต้นที่มีลำต้นสมบูรณ์แข็งแรง ทนทานต่อโรคและแมลง สามารถปรับตัวเข้ากับ สภาพแวดล้อม ในท้องถิ่นได้ดี ให้ผลผลิตดก ขนาดใหญ่เต็มที่และเก็บผลในรุ่นที่ 2-3
2. ผลพริกที่เลือกเก็บนั้น ควรเป็นผลที่เริ่มสุกหรือสุกสีแดงสดปราศจากโรคแมลงทำลาย นำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน หรือนำมาห่อ ในผ้าขาวบางซับ ๆ เก็บไว้ประมาณ 2-3 วัน จนมีตุ่มรากสีขาวเล็ก ๆ แล้วนำไปเพาะ

การเตรียมแปลงเพาะกล้า
การเลือกพื้นที่สำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์ต้องทำการเตรียมดินให้ละเอียดพร้อมผสมปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 2:1 แล้วคลุกเคล้า ให้เข้ากัน แล้วนำเมล็ดพริกโรยเป็นแถวห่างกันประมาณ 3 นิ้ว กลบหน้าดิน ประมาณ 1 ซม. หลังเพาะนาน 7-10 วัน เริ่มงอกหมั่น รดน้ำ ให้ชุ่มอยู่เสมออย่าปล่อยให้แปลงแห้งจนกระทั่งต้นกล้าเจริญเติบโตมีใบประมาณ 3-4 คู่ หรือต้นกล้ามีอายุประมาณ 30 วัน สามารถนำไปปลูกในแปลงปลูก

การปลูกและการดูแลรักษา
1. การปลูกพริกกะเหรี่ยงโดยนำเมล็ดพริกที่เก็บเมล็ดจากต้นแล้วนำมาตากแดดจนแห้งสนิทแล้วนำไปตำในครก หรือกระบอก ไม้ไผ่ ให้เมล็ดแตกออก นำเมล็ดมาหยอดลงหลุมที่เตรียมไว้ หลุมละประมาณ 5-10 เมล็ด ระยะปลูก 80X80 เซนติเมตร และหากปลูก แซมข้าวไร่ ระยะปลูกจะห่างตามความต้องการและสภาพพื้นที่เป็นหลัก
2. การปลูกด้วยต้นกล้า ควรมีการรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก อัตรา 800-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ หรือใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า จำนวนต้นกล้า ประมาณ 2,500-3,000 ต้นต่อไร่ ระยะปลูก 80X80 เซนติเมตร ซึ่งสามารถปลูกเป็นพืชแซม กับข้าวไร่ หรือพืชชนิดอื่นๆ
3. การปลูกพริกกะเหรี่ยงเพื่อเพิ่มมูลค่าของพริกสด สามารถทำได้โดยเกษตรกรต้องมีพื้นที่สามารถให้น้ำได้ และเป็นพื้นที่ดอนน้ำ ไม่ท่วมขัง เกษตรกรเริ่มเพาะกล้าพริกตั้งแต่เดือน กันยายน-ตุลาคม หลังปลูกแล้ว 90 วันก็จะเริ่มเก็บผลผลิต ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูแล้ง พริกสดจะเริ่มราคาแพงเนื่องจากชาวกระเหรี่ยงที่ปลูกพริกในป่า ไม่สามารถให้น้ำพริกได้ และผลผลิตก็จะหมดเร็ว ทำให้พริกสด ขาดแคลน เกษตรกรที่ปลูกพริกกะเหรี่ยงฝืนฤดู สามารถขายพริกสดได้ถึงราคา 50-80 บาท/กิโลกรัม และสามารถเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป

การให้น้ำและปุ๋ย
การให้น้ำอาศัยน้ำฝนธรรมชาติ และช่วงที่เหมาะสมในการปลูกเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน การกำจัดวัชพืชไม่ใช้สารเคมี และไม่นิยมใส่ปุ๋ยเคมีเนื่องจากจะทำให้พริกกะเหรี่ยงที่มีความหอมที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวลดลง

ศัตรูพืชที่สำคัญและวิธีการป้องกันกำจัด
1. โรค โรครากเน่าโคนเน่า และโรคกุ้งแห้ง ป้องกันโดยคัดเมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากโรค ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า รองก้นหลุมก่อนปลูก
2. แมลง เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ทำให้พริกใบหงิกงอ ลักษณะใบม้วนผิดปกติ ระบาดในช่วงแห้งแล้ง ป้องกันกำจัด โดยใช้น้ำหมัก สมุนไพร ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน หรือเชื้อราบิวเบอร์รี่

การเก็บผลผลิต
หลังย้ายปลูกประมาณ 60 วัน พริกกะเหรี่ยงเริ่มทยอยผลผลิตและสามารถเก็บผลผลิตได้โดยเลือกเก็บเมล็ดที่มีสีแดงสดเพื่อใช้ ในการแปรรูป ผลผลิตพริกสดประมาณ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นพริกแห้งได้ประมาณ 80-100 กิโลกรัมๆ ละประมาณ 80-150 บาท รายได้เฉลี่ยประมาณ 10,000-15,000 บาทต่อไร่

การจำหน่ายพริกกะเหรี่ยง
1. จำหน่ายพริกสดราคาขายขึ้นอยู่กับคุณภาพและปริมาณของพริก
2. จำหน่ายเป็นพริกแห้ง ซึ่งจะได้ราคาที่สูง กว่าพริกชนิดอื่น
3. ตลาดแปรรูปในอุตสาหกรรมการแปรรูป พริกป่น พริกคั่ว พริกดอง ซอสพริก หรือน้ำจิ้ม น้ำพริก น้ำพริกแกง อาหารสำเร็จรูป หรือกึ่งสำเร็จรูป พริกแช่แข็ง





กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...