วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หงอนไก่

หงอนไก่

ชื่ออื่น ๆ : ดอกด้าย (ภาคเหนือ), หงอนไก่ดอกกลม , หงอนไก่ฟ้า (ภาคกลาง) , พอคอที (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หงอนไก่ดง (นครสวรรค์) , แชเสี่ยง (จีนแต้จิ๋ว)

ชื่อสามัญ : Will Cockcomb, Cockcomb

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Celosia argentea Linn. (C.argentea L. var, cristata Ktze).

วงศ์ : AMARANTHACEAE

ลักษณะ ทั่วไป : ต้น : เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาไม่มากนัก และไม่มีแก่นด้าย ลำต้นมีความสูงประมาณ 20 นิ้ว หงอนไก่นั้น เป็นพรรณไม้ที่กลายพรรณได้ง่าย เพราะฉะนั้นลำต้นบางต้นจึงมักไม่เป็นสีเขียวเสมอไป อาจจะเป็นสีแดง เขียว เขียวอ่อน ขาว ซึ่งก็แล้วแต่พรรณของต้นนั้น ๆ

ใบ : เป็นไม้ใบเดี่ยว จะออกรวมกันเป็นกลุ่มตามข้อลำต้น ใบมีสีเขียว จะเป็นรูปทรงมนรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ริมขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบยาวประมาณ 8-10 ซม.

ดอก : ดอกจริง ๆ ของหงอนไก่นั้น มีขนาดเล็กเป็นละอองแต่จะออกติดกันแน่น เป็นช่อใหญ่ และจะใหญ่ประมาณ 2-4 นิ้ว ลักษณะของช่อดอกนั้นจะบิดจีบม้วนไปมาอยู่ในช่อ ซึ่งจะคล้ายกับหงอนไก่ ดอกของหงอนไก่มีอยู่หลายสีเช่นสีแดง สีชมพู สีขาว สีเหลือง ฯลฯ และบางทีก็มีการผสมให้มีหลายสีในช่อเดียวกัน

ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ข้างในผลมีเมล็ด อยู่หลายเม็ดลักษณะของเมล็ด เป็นรูปกลมแบน เปลือกนอกเป็นสีดำแข็ง เป็นมัน

การขยายพันธุ์ : เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่ชอบแสงแดดจัด ขึ้นง่ายเจริญงอกงามเร็ว ปลูกขึ้นดีในดินที่ร่วนซุย
ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

ส่วนที่ใช้ : ลำต้น, ก้านและใบ, ดอก, เมล็ด ราก

สรรพคุณ : ลำต้น ใช้ลำต้นสด นำมาต้มเอาน้ำกิน เป็นยาแก้โรคท้องเสีย อาเจียนเป็นเลือด ริดสีดวงทวารมีเลือดออก กระอักเลือด ตกเลือด หรือใช้ลำต้นที่อ่อนตำให้ละเอียดใช้พอกแก้ตะขาบกัด เป็นต้น

ก้านและ ใบ ใช้ก้านและใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้ม หรือคั้นเอาน้ำกินเป็นยาระบาย แก้ริดสีดวงทวารมีเลือดออก อาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด ตกเลือด และเป็นโรคบิด หรือใช้ตำพอก บาดแผลมีเลือดออก ผิวหนังเป็นผดผื่นคัน เป็นต้น

ดอก ใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม (แห้งประมาณ 15-30 กรัม) นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้บิด ถ่ายเป็นมูกเลือด ไอ หรืออาเจียนเป็นเลือด เลือดไหลไม่หยุด ประจำเดือนมามากผิดปกติ เลือดกำเดาออก ตกเลือด ตกขาว ปวดหัว เป็นผดผื่นคัน เยื่อตาอักเสบ และเป็นโรคตาแดง
เป็นต้น

เมล็ด ใช้เมล็ดแห้งประมาณ 4.5-9 กรัม นำมาต้มน้ำหรือใช้ทำเป็นยาเม็ดกินเป็นยาแก้ความดันโลหิตสูง ตาฟางในเวลากลางคืน แก้อุจจาระเป็นเลือด บิดถ่ายเป็นมูกเลือด เลือดกำเดาออก ห้ามเลือด และผิวหนังเป็นผดผื่นคันอักเสบร้อนแดง เป็นต้น

ข้อห้ามใช้ : หญิง ที่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือนไม่ควรรับประทาน

ตำรับ ยา (สัตว์) : 1. สัตว์ปวดท้องหลังคลอดลูก ให้ใช้ดอกหงอนไก่ (C. argentea L. Var. cristata Kize) สีขาวแห้งประมาณ 60 กรัม ใบสนแผงแห้ง ประมาณ 120 กรัม กัญชาเทศแห้ง ประมาณ 60-120 กรัม นำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมสุรา ให้กิน

2. วัวและม้า ที่มีเลือดกำเดาออก ให้ใช้ดอกหงอนไก่สดประมาณ 3-4 ช่อ ดอกทานตะวัน ประมาณ 2-3 ดอก รากหญ้าคา ประมาณ 60-100 กรัม นำมาต้มผสมนำตาลทรายประมาณ 120 กรัม เอาน้ำให้กิน

3. วัวและม้า ที่ถ่ายเป็นเลือด ให้ใช้ดอกหงอนไก่สีขาวแห้ง ประมาณ 120 กรัม ดินสุกเป็นก้อนที่อยู่ตามก้นเตาถ่าน ประมาณ 60 กรัม และเหล่งแหง่เช่า ประมาณ 30-60 กรัม นำมาบดรวมกันเป็นละเอียด แล้วใส่น้ำตาลทรายขาวประมาณ 120 กรัม ผสมให้กิน

ข้อมูลทางคลีนิค : จากผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่ในช่วง 160-120/100-135 มม. ปรอทรักษาด้วยการใช้เมล็ดที่แห้งประมาณ 30 ก. นำมาต้มสกัดเอาน้ำ 2 ครั้ง แล้วแบ่งเป็น
3 ครั้งต่อวันผลปรากฏว่า หลังจากที่ได้รับแล้ว 7 วัน ผู้ป่วยมีความดันลดลงเหลือยู่ในช่วง 125-145/70-90 มม. ปรอท

ข้อมูล ทางเภสัชวิทยา : สารที่สกัดจากเมล็ด และดอกนำมาทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อ Trichomonas vaginalis ได้ดี เชื้อชนิดนี้เมื่อถูกต้มด้วยความร้อนสูงนาน 5-10 นาที ก็จะตายไป




กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...